การค้าของญี่ปุ่น การค้ากับไทย ช่วง6 เดือนแรกของปี 2552 และแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2009 15:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

ในช่วงครึ่งแรก(มกราคม-มิถุนายน)ของปี 2552 นี้ มูลค่านำเข้าสูงกว่ามูลค่าส่งออกเล็กน้อย ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 631.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกมูลค่า 250,922.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 37.3 นำเข้ามูลค่า 251,553.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2551 ร้อยละ 32.3

การส่งออก : ตลาดเอเซียโดยเฉพาะจีนเริ่มฟื้นตัว

การส่งออกในช่วงต้นปีดิ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จนถึงระดับต่ำสุด มูลค่า 37,952.1ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยลดจากเดือนกุมภาพันธ์ 2551ถึงร้อยละ 41.8 และเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา แม้มูลค่าส่งออกแต่ละเดือนในปีนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2551 แต่เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเป็นรายเดือนปรากฏว่า มูลค่าส่งออกในช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีมูลค่า 47,606.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งอัตราการลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2551 ชะลอลงเหลือร้อยละ 28.6 มูลค่าส่งออกช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2552 จึงลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 37.3

การส่งออกของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้นโดยมีสาเหตุสำคัญจากการฟื้นต้วในตลาดเอเชีย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าในตลาดจีนที่ปรับตัวขึ้น อันเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน การส่งออกไปจีนลดลงมกราคม-กรกฎาคม ลดลงเพียงร้อยละ 25.9 น้อยกว่าตลาดส่งออกสำคัญตลาดอื่นๆ ของญี่ปุ่นสัดส่วนมูลค่าส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.5 จากสัดส่วนร้อยละ 15.6 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 จนทำให้จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา แทนสหรัฐฯ ที่เคยเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 ของญี่ปุ่นมาโดยตลอด ซึ่งมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 7 เดือนแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 44.0

ระยะ 6 เดือนแรกปี 2552 นี้ สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงมากเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2551 เช่น สินค้ายานยนต์ และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 56.0 เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ (HS 84) ลดลง ร้อยละ 40.3 เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ (HS 85) ลดลงร้อยละ 34.7 เหล็กและเหล็กกล้าลดลงร้อยละ 34.3 ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2552 การส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นจาก

เดือนพฤษภาคม 2552 ถึงร้อยละ 31.1 และเครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน)ของปีนี้ ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2551 คือ เรือโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 และผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6

การนำเข้า : นำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงลดลง สินค้าแฟชั่นราคาไม่แพงขยายตัว

ในช่วงมกราคม-มิถุนายน 2552 มูลค่านำเข้าของญี่ปุ่นลดลงจากระยะเดียวกันของปี ที่แล้วร้อยละ 32.3 สินค้าเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่านำเข้า ลดลงถึงร้อยละ 47.6 โดยน้ำมันดิบ และน้ำมันปิโตรเลียมกลั่นแล้ว ลดลงกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อป้อนอุตสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่มูลค่าลดลง เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 28.8 เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 24.5 สินแร่ลดลงร้อยละ 35.3 ยานยนต์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 41.6 เหล็กและเหล็กกล้าลดลงร้อยละ 54.1 ยางและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 35.3 ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นบางอย่าง และสินค้าแฟชั่นคุณภาพปานกลางที่ราคาไม่แพงได้รับความนิยมมากขึ้นในญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 รองเท้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 เนื้อสัตว์/ปลา ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ผลไม้สดและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2

จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น มูลค่านำเข้าจากประเทศจีนลดลงจากครึ่งแรกของปีที่แล้วร้อยละ 18.4 ลดน้อยกว่าแหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในแถบตะวันออกกลางที่มูลค่านำเข้าลดลงถึงร้อยละ 40-60 มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า จากจีนเพิ่มขึ้นส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22.3 จากสัดส่วนร้อยละ18.8 ในปี 2551

แหล่งนำเข้าอื่นที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 6.93 มูลค่านำเข้าครึ่งแรกปีนี้ลดลงเพียงร้อยละ 11.6 เนื่องจากญี่ปุ่นนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น มาเลเซียมีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 3.20 มูลค่านำเข้าจากมาเลเซียลดลงร้อยละ 26.5 โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงในอัตราต่ำกว่าแหล่งนำเข้าสำคัญอื่น และสินค้าจากมาเลเซียที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบรวมทั้งต้นไม้และดอกไม้ บราซิลมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 1.26 มูลค่านำเข้าลดลงเพียงร้อยละ7.2 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง และกาแฟ จากบราซิลเพิ่มขึ้น เวียดนามมีสัดส่วนนำเข้า ร้อยละ 1.26 มูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 26.9 เวียดนามมีสินค้าหลายประเภทที่มูลค่าสูงขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ รองเท้าและเครื่องหนัง เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 2.87 สูงขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งแรกปี 2551 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 2.74 มูลค่านำเข้าจากไทยครึ่งแรกของปีนี้ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 29.1

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยระยะ 6 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการค้าลดลงจากปี 2551 ทั้งการส่งออกและนำเข้า ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยมูลค่า 8,508.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 40.8 นำเข้าจากไทย มูลค่า 7,223.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่แล้วร้อยละ 29.1 ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทย 1,285.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นไปไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป มูลค่าลดลงมากตามสถานการณ์การส่งออกของไทย สำหรับการนำเข้าจากไทยนั้น นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 70 ส่วนใหญ่นำเข้าลดลง น้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 90 จากปี 2551 ที่นำเข้ามากเป็นพิเศษอันเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สินค้าอาหารหลายรายการเพิ่มขึ้น

การนำเข้าจากไทย ส่วนแบ่งตลาดอาหารไทยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

จากปัญหาปริมาณการผลิตอาหารในตลาดโลกไม่เพียงพอกับความต้องการ เมื่อปี 2551โดยเฉพาะธัญพืช และปํญหาการปนเปื้อนสารเคมีในอาหารบางประเภท ส่งผลให้ญี่ปุ่นตระหนักถึงความมั่นคงด้านอาหาร มีการรณรงค์ให้เพิ่มการบริโภคอาหารที่ผลิตภายในประเภทมากขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 เป็นต้นมา ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกปี2552 นี้ มูลค่านำเข้าสินค้าประเภทอาหารรวมจากทุกแหล่งนำเข้าของญี่ปุ่นจากลดลงจากปี 2551 เกือบทุกประเภท เช่น ธัญพืช ที่มูลค่าลดลงจากปีที่แล้วมาก ถึงร้อยละ 35.8% โดยเฉพาะ ข้าวสาลี ข้าวบารเลย์ และแป้งสาลี ที่ราคาในปี 2551 สูงมาก กอรปกับคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวภายในประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ส่วนสินค้าอาหารประเภทอื่นที่มูลค่านำเข้าลดลง เช่น อาหารแปรรูปลดลงร้อยละ 9.1 ผลิตภัณฑ์อาหารเบ็ดเตล็ดลดลงร้อยละ 4.1 ปลาและอาหารทะเลลดลงร้อยละ10.8 เนื้อสัตว์ ลดลงร้อยละ 2.6 ผักสดและแปรรูปลดลงร้อยละ 3.0 เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อสัตว์/ปลาปรุงแต่งและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ผลไม้สดและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2

สำหรับสินค้าอาหารจากไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพมากขึ้น แม้การนำเข้าอาหารโดยรวมของญี่ปุ่นลดลงจากปีที่แล้ว แต่การนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลายรายการยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2551 เช่น เนื้อสัตว์ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 อาหารทะเลแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 กุ้งปูสดแช่เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 ผลิตภัณฑ์อาหารเบ็ดเตล็ดซึ่งรวมทั้งเครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ผักสดและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 และอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารจากไทยบางรายการมีมูลค่าลดลง เช่น น้ำตาลลดลงร้อยละ 28.7 เนื่องจากปีนี้ญี่ปุ่นกลับไปนำเข้าจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นซึ่งผลผลิตน้ำตาลของออสเตรเลียในปี 2551 ลดลงมากจากปัญหาภัยแล้ง เนื้อปลาสดเนื้อปลาแช่เย็น/แช่แข็งลดลงร้อยละ 45.9 ปลาหมึกแช่เย็น/แช่แข็งลดลงร้อยละ 10.2 ข้าวลดลงร้อยละ 16.0 ผลไม้กระป๋องลดลงร้อยละ 15.8 เป็นต้น

ในส่วนสินค้าอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลงตามสถานการณ์การส่งออกของญี่ปุ่น ที่สำคัญ เช่น รถยนต์รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 47.4 เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ลดลงร้อยละ 19.9 แผงวงจรไฟฟ้าลดลงร้อยละ 22.1 อุปกรณ์สำหรับต่อภายในวงจรไฟฟ้าลดลงร้อยละ 35.6 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์ลดลงร้อยละ 12.5 ยางและผลิตภัณฑ์ยางลดลงร้อยละ 39.9 พลาสติกและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ15.5 อัญมณีและเครื่องประดับลดลงร้อยละ 30.6

สินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดที่มูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูปร้อยละ 8.8 เครื่องสำอางและน้ำหอมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 รองท้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เป็นต้น

การส่งออกมาไทย : สินค้าทุน และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปบางชนิดเริ่มฟื้นตัว

สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยช่วง มกราคม-มิถุนายน 2552 มีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ถึงร้อยละ 40.8 สินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูป วัตถุดิบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ และส่วนประกอบยานยนต์ ตามภาวะการส่งออกของไทยขณะที่สินค้าบางประเภทมีมูลค่าพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 ปลาและอาหารทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เครื่องสำอางและน้ำหอมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9

อย่างไรก็ตาม สินค้าทุน และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ญี่ปุ่นส่งออกไปไทยบางชนิด เริ่มฟื้นตัวขึ้นในเดือนมิถุนายน 2552 กล่าวคือ มูลค่าโน้มพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนๆในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และเมื่อเปรียบเทียบการส่งออกมาไทยเดือนมิถุนายน 2552 กับเดือนเดียวกันของปี 2551 มูลค่าลดลงร้อยละ 30.3 ซึ่งเป็นอัตราการลดที่ชะลอลง โดยเฉพาะเครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ หนังฟอก/ย้อม เป็นต้น

ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น : GDP ไตรมาส 2 เริ่มเป็นบวก

ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวจากสภาวะการถดถอย โดย GDP ในช่วงไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ของปี 2552 ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7 ต่อปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสหลังจาก ที่มีค่าติดลบร้อยละ 11.7 ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2552 และดิ่งลงร้อยละ 13.1 ในช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2551 และเมื่อเมื่อพิจารณาอัตราขยายตัวต่อรายไตรมาส ปรากฎว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ปี 2552 นี้ ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 0.9

เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากการส่งออกเริ่มฟื้นตัว และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.1 และการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 55 ของ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในระยะ 3 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจาการใช้จ่ายเพื่อซื้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางการญี่ปุ่นได้ออกมาตรการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ซื้อรถ eco-car และมาตรการให้“eco-point” แก่ผู้ซื้อเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ที่ประหยัดพลังงาน เป็นแต้มสะสมนำไปแลกของรางวัลได้

ในส่วนของ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เริ่มฟื้นตัวขึ้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีอัตราขยายตัวต่อเดือนเป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2552 จากระดับต่ำสุด ที่ 69.5 (เฉลี่ยปี 2548 = 100) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นระดับ 81.0 ในเดือนมิถุนายนนี้อย่างไรก็ตาม การผลิตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ประมาณร้อยละ 20 นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ลดลงร้อยละ 4.3 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และการลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงลดลงร้อยละ ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 โดยลดลงในอัตราร้อยละ 9.5

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น : การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ในปีหน้า

แม้หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการภาคเอกชนหลายรายเห็นว่ายังต้องใช้เวลากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแท้จริงสถาบันวิจัยเอกชน 28 สถาบันประเมินว่าGDP ของญี่ปุ่นทั้งปีจะหดตัวร้อยละ 3 ในปีงบประมาณ 2552 (เมษายน2552-มีนาคม 2553) และเชื่อว่าในปีงบประมาณ 2553 การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่นัก จะมีค่าเป็นบวกร้อยละ 1.1 เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือภาวะการจ้างงาน ที่อัตราการว่างงานยังโน้มสูงขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี และเป็นที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.9 ภายในปี 2553 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดเป็นประวัติการ เนื่องจาก ภาคธุรกิจต้องการลดต้นทุน ในเวลาเดียวกัน ค่าจ้างเฉลี่ยยังคงลดลง โดยค่าจ้างรวมโบนัสและค่าล่วงเวลาในเดือนมิถุนายน 2552 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.1 ที่จะส่งผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน และดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารสดและพลังงานลดลงร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาภาวะเงินฝืด

ในส่วนธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเห็นว่าการดิ่งลงของภาวะเศรษฐกิจหยุดลงแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปีงบประมาณนี้ โดยคาดว่า GDP ปีงบประมาณ 2552 (เมษายน 2552 - มีนาคม 2553) จะหดตัวลงร้อยละ 3.4 ต่อปี เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการยังไม่ดีนัก

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ผู้บริโภคญี่ปุ่นจึงจะยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย สินค้าที่มีโอกาสขยายตัวได้ จึงเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงนัก เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน และที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพ และความปลอดภัย

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ