รายงานภาวะการค้าต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ของไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2009 16:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปริมาณการค้ารวม

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 การค้าต่างประเทศของไต้หวันคิดเป็นมูลค่ารวม 161,440.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 38.1 โดยไต้หวันส่งออกคิดเป็นมูลค่า 88,485.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.4 และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 72,955.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 42.3 ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่ารวม 15,530.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.1 โดยคู่ค้าอันดับหนึ่งของไต้หวันได้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วยมูลค่าการค้ารวม 32,580.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.18 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาได้แก่ญี่ปุ่น (มูลค่า 21,938.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.72 สัดส่วนร้อยละ 13.59) สหรัฐฯ (มูลค่า 18,596.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 37.55 สัดส่วนร้อยละ 11.52) ฮ่องกง (มูลค่า 13,107.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.34 สัดส่วนร้อยละ 8.12) และเกาหลีใต้ (มูลค่า 7,619.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 35.56 สัดส่วนร้อยละ 4.72) ตามลำดับ

การนำเข้า
  • สินค้านำเข้า

สินค้าสำคัญที่ไต้หวันนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ได้แก่สินค้าในหมวด Machinery and Electrical Equipment โดยมีมูลค่าการนำเข้า 24,508.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด (โดยในหมวดนี้สินค้าที่นำเข้ามากที่สุดคือ Electronic Products มูลค่า 12,879.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.0 สัดส่วนร้อยละ 17.7 ถัดมาได้แก่ Machinery มูลค่า 5,841.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.0 และ Electrical Machinery Products มูลค่า 2,038.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 46.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สัดส่วนร้อยละ 2.8) ถัดมาคือสินค้าหมวด Minerals ด้วยมูลค่านำเข้า 16,788.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 23.0 ลดลงร้อยละ 48.2) สินค้าในหมวด Basic Metals and Articles thereof มีมูลค่าการนำเข้า 5,753.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 64.0 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 7.9 และสินค้าหมวด Chemical Products มูลค่า 8,516.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 39.1 สัดส่วนร้อยละ 11.7) รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 4

  • ตลาดนำเข้า

แหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไต้หวันในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 คือญี่ปุ่น ซึ่งไต้หวันนำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่า 15,344.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ลดลงร้อยละ 38.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 รองลงมาได้แก่จีน (มูลค่า 10,227.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 14.0 ลดลงร้อยละ 36.8) สหรัฐฯ (มูลค่า 7,568.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 10.4 ลดลงร้อยละ 48.1) เกาหลีใต้ (มูลค่า 4,371.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 6.0 ลดลงร้อยละ 39.2) และซาอุดิอาระเบีย (มูลค่า 3,419.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 4.7 ลดลงร้อยละ 56.7)

การส่งออก
  • สินค้าส่งออก

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไต้หวันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 คือสินค้าในหมวด Machinery and Electrical Equipment คิดเป็นมูลค่า 40,214.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 31.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (ในหมวดนี้สินค้าที่ส่งออกมากที่สุดคือ Electronic Products ด้วยมูลค่า 23,317.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 26.4 ลดลงร้อยละ 27.7 และ Machineries มูลค่า 5,117.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 5.8เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8) รองลงมาได้แก่สินค้าในหมวด Basic Metals and Articles Thereof ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 8,821.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 10.0 ลดลงร้อยละ 39.7) และสินค้าหมวด Precision Instruments ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 5,887.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 52.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.7 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 3

  • ตลาดส่งออก

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ไต้หวันส่งออกสินค้าไปยังจีนมากเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นมูลค่า 22,352.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ลดลงร้อยละ 36.2 จากปี 2551 รองลงมาคือ ฮ่องกง (มูลค่า 12,695.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 14.4 ลดลงร้อยละ 26.2) สหรัฐอเมริกา (มูลค่า 11,028.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 12.5 ลดลงร้อยละ 27.5) ตามด้วยญี่ปุ่น (มูลค่า 6,593.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 7.5 ลดลงร้อยละ 23.6) และสิงคโปร์ (มูลค่า 3,554.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 4.0 ลดลงร้อยละ 39.4) รายละเอียดเพิ่มเติมตามตารางที่ 2

การค้าไต้หวัน-ไทยในปี 2552

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไต้หวันโดยมีมูลค่าการค้ารวม 2, 967.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน ลดลงร้อยละ 35.78 จากช่วงเดียวกันของปี 2551

การส่งออกไปไทย

ไต้หวันส่งออกไปไทยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2552 คิดเป็นมูลค่า 315.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 37.3 สำหรับมูลค่าส่งออกรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ไต้หวันส่งออกไปไทยคิดเป็นมูลค่า 1,610.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 38.5 โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 11 ของไต้หวัน

โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 สินค้าที่ไต้หวันส่งออกไปไทยที่สำคัญได้แก่ แผงวงจรรวม (มูลค่า 197.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 51.64) ปลาแช่แข็ง (มูลค่า 81.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.97) สื่อบันทึกข้อมูล (มูลค่า 61.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 54.74) อุปกรณ์ส่งสัญญาณภาพและเสียง (มูลค่า 43.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 46.86) และแผงวงจรพิมพ์ (มูลค่า 42.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.61)

การนำเข้าจากไทย

ในเดือนมิถุนายน 2552 ไต้หวันนำเข้าจากไทย คิดเป็นมูลค่า 232.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.2 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ไต้หวันนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 1,185.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.7 ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 12 ของไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.6 ไต้หวันเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าไทยคิดเป็นมูลค่า 424.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 51.9 รายละเอียดเพิ่มเติมดังตารางที่ 2

สำหรับสินค้าสำคัญที่ไต้หวันนำเข้าจากไทย 10 อันดับแรกในปี 2552 ได้แก่ แผงวงจรรวม (มูลค่า 207.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.94) คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน (มูลค่า 129.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.21) น้ำตาล (มูลค่า 78.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.61) เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (มูลค่า 45.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.39) แป้งมันสำปะหลัง (มูลค่า 34.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 36.71) ไดโอดและทรานซิสเตอร์ (มูลค่า 34.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.32) ยางธรรมชาติ (มูลค่า 24.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 50.98) ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (มูลค่า 17.79 ลดลงร้อยละ 34.53) ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน (มูลค่า 17.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.87) และโพลีอะซีทัล (มูลค่า 17.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.25)

ภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน

หลังจากที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปเป็นเวลาปีกว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้พยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งมาตรการเหล่านี้เริ่มค่อยๆ เห็นผลมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเริ่มกลับกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ดีจากการที่เขตการค้าเสรีต่างๆในภูมิภาคทั้ง ASEAN+C ASEAN+J และ ASEAN+3 ค่อยๆ เริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการ กำแพงภาษีที่ลดลงระหว่างกันในประเทศเหล่านี้ ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไต้หวันถูกลดลงไปไม่น้อย ยังดีที่การค้าระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะสดใส สำนักงานสถิติและงบประมาณแห่งชาติของไต้หวันจึงคาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกรวมของไต้หวันในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.98 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71 เช่นกัน

ในส่วนของการใช้จ่ายภาคเอกชนนั้น คาดว่าในปีหน้าภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะอยู่ในภาวะสดใส กระแสความหวาดวิตกจากวิกฤตการเงินโลกเริ่มจางหายไป แต่จากการที่ไต้หวันได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทางภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ในเวลาอันสั้นจึงยังไม่น่าจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคเอกชนในปริมาณมากๆ อีกทั้งภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราค่าแรงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นนัก ก็ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดที่สำคัญ จึงคาดว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.87

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าระหว่างไต้หวัน-จีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่างๆ นั้น แม้จะมีส่วนช่วยให้เอกชนมีความต้องการลงทุนมากขึ้น แต่จากการที่ภาคเอกชนยังรอสัญญาณในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แน่ชัดกว่านี้อยู่ และมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ในชั้นนี้ส่วนใหญ่จึงยังไม่มีการตัดสินใจโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16

ในด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น แม้จะมีความผันผวนของราคาวัตถุดิบในตลาดโลกทั้งในส่วนของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตร แต่จากการที่ผู้ประกอบยังคงมีการแข่งขันสูงอยู่ ทำให้ช่องว่างในการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้ามีไม่มากนัก จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไต้หวันในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87

และจากปัจจัยข้างต้นนี้ทำให้สำนักงานสถิติและงบประมาณแห่งชาติของไต้หวันคาดการณ์ในชั้นนี้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันในปี 2552 จะลดลงร้อยละ 4.04 และในปี 2553 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป ไต้หวัน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ