ตลาดสินค้าฮาลาลในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 29, 2009 12:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานะการณ์ตลาดสินค้าฮาลาลในสหรัฐฯ

1. ผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคนหรือ จำนวน 2.3 ล้านครัวเรือนหรืออัตราการขยายตัวร้อยละ 6 และคาดว่าจะมีจำนวนผู้บริโภคเพิ่มเป็นประมาณ 16 ล้านคนในปี 2557 โดยจะอาศัยหนาแน่นมากที่สุดรัฐแคลิฟอร์เนียร้อยละ 25 รัฐนิวยอร์ก ร้อยละ 16 และรัฐอิลลินอยส์ ร้อยละ 8 หรือแบ่งแยกตามเชื้อชาติได้ เป็นชาวอเมริกันมุสลิมผิวดำร้อยละ 40 มุสลิมเอเซียใต้ ร้อยละ 24 ชาวอาหรับร้อยละ 20 ชาวมุสลิมอัฟริการ้อยละ 6 มุสลิมอาเซียนร้อยละ 2 เป็นต้น

2. ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งในเขตที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น ได้หันมานำเสนอสินค้าอาหารฮาลาล เช่น ห้าง Wal-Mart ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมิชิแกนนำอาหารฮาลาล มาจำหน่ายนอกจากนั้นแล้ว ผู้ผลิตสหรัฐฯ ได้นำเสนอสินค้าฮาลาลชนิดอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาหารฮาลาล ได้แก่ สินค้า สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ยาสีฟัน และผงซักฟอก

3. ผู้ผลิตสินค้าสหรัฐฯ หันมาให้ความสนใจต่อผู้บริโภคอเมริกันมุสลิม และได้วางกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ เช่น การจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคและพฤติกรรมการบริโภค เพื่อนำมาผลิตสินค้าและวางแผนการตลาด

4. ปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐฯ ในบางมลรัฐ เช่น อิลลินนอยส์ มิชิแกน นิวเจอร์ซี่ และมินเนโซต้า ออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิม (Consumer Protection) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตอาหารแอบอ้างและหลอกลวงการใช้ตราฮาลาล ซึ่งไม่ได้ผ่านรับรองให้ถูกต้องตามกระบวนการและกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกันสินค้าอาหาร ได้แก่ หน่วยงาน FDA และ USDA ยังเข้ามามีบทบาทหรือออกกฎระเบียบบังคับในเรื่องการตรวจสอบเฉพาะอาหารฮาลาล

ปัญหาอุปสรรค

1. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯ กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นผลให้ต้นทุนการกระจายสินค้าสูง

2. สินค้าอาหารฮาลาลมีราคาสูง และประเภทสินค้าไม่ตรงตามความต้องการ จึงเป็นผลให้ผู้บริโภคมุสลิมต้องหันไปซื้อสินค้าปกติแทน ผู้บริโภคอเมริกันมุสลินมีความต้องการซื้อสินค้าและอาหารฮาลาลในราคาที่เหมาะสมและย่อยเยา

3. ผู้บริโภคมุสลิมบางกลุ่มมีความเห็นว่า หากสินค้าอาหารฮาลาลขายในราคาถูกก็จะ ถูกมองว่าเป็นสินค้าแอบอ้างฮาลาล หรือเป็นสินค้าที่ไม่ถูกต้องการกระบวนการฮาลาล

4. สินค้าฮาลาลมีจำนวนไม่มาก และไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมจะซื้อและบริโภคอาหารฮาลาล มากขึ้น หากสินค้ามีจำนวนทั่วไปหรือหาซื้อได้ง่าย

5. การรณรงค์ให้ผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมเพิ่มการบริโภคอาหารฮาลาล ยังทำได้ไม่ทั่วถึงและทำกันในเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มชาวอาหรับ และกลุ่มเอเซียใต้ ในขณะที่กลุ่มอเมริกันมุสลิมผิวดำ ซึ่งมีจำนวนมากยังขาดความเคร่งครัดในเรื่องอาหารสากล

6. ผู้นำเข้าอาหารฮาลาลในสหรัฐ และผู้บริโภคมุสลิมยังไม่มีความมั่นใจหรือไม่มีความเชื่อถือในอาหารฮาลาลที่ผลิต โดยผู้ผลิตไทยซึ่งเป็นประเทศ Non-Muslim จึงไม่สนใจที่จะซื้อสินค้าจากประเทศไทย

ช่องทางและโอกาส

1. Ms.Marian Salzman ตำแหน่ง Excutive Vice President & Chief Marketing Officer ของบริษัทที่ปรึกษา J.Walter Thompson ซึ่งเป็นกูรูด้านการทำนายแนวโน้มตลาดและการบริโภคสินค้าและทำการศึกษาตลาดผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมในสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า สินค้าอาหารฮาลาลเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง และเป็นสินค้าที่มีลู่ทางการขยายตัวสูงในอนาคต

2. ผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯ มีกำลังซื้อสินค้าประมาณ 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารฮาลาลประมาณปีละ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 (มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องประมาณร้อยละ 20-25 ต่อปี) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสและช่องว่างที่จะเพิ่มการขายสินค้าฮาลาลได้สูงในสหรัฐฯ

3. ชาวมุสลิมในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 16 ซื้ออาหารโคเชอร์ (Kosher) บริโภคหรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจาก อาหารฮาลาลหาซื้อได้ยากมาก

4. สินค้าอาหารฮาลาลไม่จำกัดเฉพาะประเภทเนื้อ (โค แกะ แพะ และ ไก่) แต่ครอบคลุมไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ ทั้งเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าของใช้ (Non-food) ได้แก่ เภสัชภัฑณ์ และ ผลิตภัณฑ์ เสริมความงามและบำรุงสุขภาพ เป็นต้น

5. เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ปัจจุบัน ร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) ลหุโทษ โรงพยาบาล โรงเรียน และกองทัพสหรัฐฯ จึงได้เพิ่มการให้บริการอาหารฮาลาลให้แก่ผู้บริโภคมุสลิมในองค์กรดังกล่าว

6. กลุ่มผู้บริโภค Non-Muslim หันมาบริโภคอาหารฮาลาลมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งได้แก่ผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อหมู หรือ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ หรือ ผู้บริโภคอาหาร Natural Food และกลุ่มบริโภคที่ได้รับคำบอกเล่าว่าอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่ดี มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

7. กลุ่มสินค้าไทยที่มีลู่ทางเข้าตลาดมุสลิมในสหรัฐฯ เป็นสินค้า Non-Meat (สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์จากประเทศไทย) ได้แก่ ผักและผลไม้แปรรูป ซ้อสปรุงอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป ขนม/ของกินเล่น เครื่องเทศ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ธัญญพืช ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและบำรุงสุขภาพ

ข้อเสนอแนะ

การวางกลยุทธ์การตลาดสินค้าอาหารฮาลาลไทยในสหรัฐฯ

1. กลยุทธ์การสร้างศักยภาพให้แก่เครื่องหมายฮาลาลของไทย (Ensure Creditability of Thai Halal Product & Certification) โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฮาลาลไทย และเผยแพร่ตรสัญลักษณ์ฮาลาลไทย เพื่อการสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพของสัญลักษณ์ฮาลาลให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าตรา/สัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายของไทยได้รับการรับรองจากหน่วยงาน Islamic Central Committee of Thailand โดยผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และ Website ของชาวมุสลิมในสหรัฐ และสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้แก่สินค้าอาหารฮาลาลไทย

2. กลยุทธ์ปรับตัวตามความต้องการตลาด:

2.1 การตลาดสินค้าฮาลาลในสหรัฐฯ ควรมุ่งผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมกลุ่ม Second และ Third Generation ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีความต้องการสินค้าหลายรูปแบบให้เลือก อีกทั้งจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์และเป็น Brnad Royalty และจะให้ความสำคัญกับ รสชาติ รูปแบบของอาหาร

2.2 เสนอสินค้าอาหารฮาลาลว่า เป็นอาหารที่เป็น Health Food ในการนำเสนอสินค้าต่อตลาด Mainstream จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าฮาลาลและอาหารฮาลาล เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีคุณประโยชน์และบริโภคได้ทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะชาวมุสลิม

3. การยุทธ์สร้างความร่วมมือกับองค์กรมุสลิมในสหรัฐ เช่น สมาคม Islam Society of North America (ISNA) โดยภาคการผลิต และองค์มุสลิมไทยพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมและเข้าร่วมกิจกรรมของชาวมุสลิมในสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการสร้างความสัมพันธ์เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังผู้ประกอบการ และชุมชมมุสลิมสหรัฐฯ ในการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฮาลาลไทย

4. กลยุทธ์การบุกตลาด

4.1 การจัดคณะผู้แทนการค้า Out-going Mission ผู้ผลิต/ส่งออกไทยไปพบกลุ่มผู้ซื้อในสหรัฐฯ ในเขตที่มีผู้บริโภคมุสลิมอาศัยจำนวนมาก เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก อิลลินอยส์ มิชิแกน นิวเจอร์ซี่

4.2 ร่วมมือและให้การสนับสนุนผู้นำเข้า ร้านชำ ในการประชาสัมพันธ์หรือแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแหล่งซื้อสินค้าอาหารฮาลาล (Distribution Awareness)

4.3 พิจารณาเข้าร่วมงาน Annual ISNA Convention จัดโดยสมาคม Islam Society of North America (ISNA) www.isna.net ซึ่งเป็นงานประชุมและแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของมุสลิมภูมิภาคอเมริกาเหนือ งานจัดเป็นประจำทุกปี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 500 คูหา และผู้เข้าชมงานประมาณ 15,000 คน คาดว่าจะจัดในเดือนกรกฎาคม 2553 แต่ยังไม่กำหนดสถานที่

4.4 การสนับสนุนข้อมูลการตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ:

1. จัดทำฐานข้อมูลผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารในสหรัฐฯ

2. การจัดหาข้อมูลตลาดเชิงลึก ซึ่งอาจจะพิจารณาซื้อข้อมูล บริษัท J.Walter Thompson ได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดทำรายงานเรื่อง "Marketing to Muslim : US Study" และจำหน่ายในราคา 3,500 เหรียญสหรัฐฯ เป็นรายงานข้อมูลเชิงลึกของตลาดผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรายงานที่ได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ในด้านพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวทางการตลาดจึงเห็นว่ากรมฯ ควรพิจารณาจัดซื้อรายงานดังกล่าวมาใช้ประกอบการวางกลยุทธ์การขยายสินค้าฮาลาลและอาหารฮาลาลของไทยไปยังสหรัฐฯ และเผยแพร่ให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยทราบ

3. ปรับปรุงฐานข้อมูลรายชื่อผู้ผลิต/ส่งออกไทยทั้งสินค้าอาหารฮาลาลและไม่ใช่อาหารฮาลาลให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้เผยแพร่ให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ