การจดทะเบียนพาณิชย์และบริษัทในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2009 16:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. บทนำ

การจดทะเบียนพาณิชย์และบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายในไต้หวัน จะทำให้กิจการได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาล และมีความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการมากขึ้น ขณะเดียวกันหากดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้จดทะเบียน ถือว่ามีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเหรียญไต้หวัน(NT$) แต่ไม่เกิน 3 หมื่นเหรียญไต้หวัน(NT$) และถูกให้ปิดกิจการ โดยการจดทะเบียนธุรกิจในไตห้ วัน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ

1. กฎหมายการจดทะเบียนพาณิชย์ (Business Registration Act) ธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายนี้ ได้แก่ ธุรกิจประเภทเจ้าของกิจการคนเดียว(Sole ownership) และห้างหุ้นส่วนสามัญ(Partnership) โดยไม่ถือว่าเป็นนิติบุคคล

2. กฎหมายบริษัท (Company Act) ธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายนี้ ได้แก่ ธุรกิจในรูปแบบบริษัท(Company) ซึ่งในไต้หวัน แบ่งบริษัทเป็น 4 ประเภท คือ Unlimited company, Limited company, Limited partnership และ Company limited by shares โดยบริษัทที่ผ่านการจดทะเบียนจัดตั้งจะมีสภาพเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้บริษัทประเภท Limited company เป็นรูปแบบบริษัทที่มีการก่อตั้งมากที่สุดในไต้หวัน

จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐการ(Ministry of Economic Affairs, MOEA)ของไต้หวัน ในเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่า มีบริษัทที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 575,827 บริษัท โดยมีเงินทุนจดทะเบียนรวมกันทั้งสิ้น 18,437,443 ล้านเหรียญไต้หวัน(NT$) ขณะที่ข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 750,072 ราย เงินทุนรวม ประมาณ 140,558 ล้านเหรียญไต้หวัน (NT$) และมีบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียน(รับรอง)เพื่อดำเนินธุรกิจในไต้หวัน 3,274 ราย เงินทุนประมาณ 81.281 ล้านเหรียญไต้หวัน (NT$) และสำนักงานตัวแทนต่างประเทศ 3,047 แห่ง

          ประเภทของบริษัท            จำนวน (แห่ง)          ทุนจดทะเบียน (ล้านเหรียญไต้หวัน)
      Unlimited company                22                           416
      Limited partnership              10                            55
      Limited company               421,955                      1,981,475
      Company limited by shares     151,626                     16,299,994
              รวม                   573,613                     18,281,940
ข้อมูล ณ เดือน มกราคม 2552

โดยหลักการแล้ว ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์และบริษัทในไต้หวันมิได้แตกต่างกับประเทศอื่นมากนัก ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้มีความคล่องตัว ลดขั้นตอนทางกฎหมายที่มีความยุ่งยาก และมีความสอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันมากขึ้น เช่นในกรณีเงินทุนขั้นต่ำของการจดทะเบียนบริษัท จากเดิมในการจดทะเบียนบริษัทประเภท Company limited by shares กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 500,000 เหรียญไต้หวัน (NT$) และ การจดทะเบียนบริษัทประเภท Limited company กำหนดเงินทุนขั้นต่ำไว้ที่ 250,000 เหรียญไต้หวัน(NT$) ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มียกเลิกการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไปแล้ว

2. การจดทะเบียนพาณิชย์
2.1 ขอบเขต และความหมายของการจดทะเบียนพาณิชย์

ในกฎหมายไต้หวัน การจดทะเบียนพาณิชย์ หมายถึง “การจดทะเบียนในกิจการซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะ/รูปแบบเจ้าของคนเดียวและห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น”

พาณิชยกิจประเภทใดก็ตามจำเป็นต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ทั้งสิ้น แต่มีพาณิชยกิจบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (มาตรา 4) คือ

1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย

2. ผู้ประกอบอาชีพเป็นชาวนา ทำป่าไม้ ทำประมง ทำปศุสัตว์ (แบบครอบครัว)

3. ผู้ประกอบอาชีพหัตถกรรมแบบครัวเรือน

4. กิจการขนาดเล็กอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานส่วนกลางที่กำกับดูแลควบคุม

5. กิจการที่รายได้ประจำเดือนต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำของภาษีกิจการ

2.2 สถานที่รับจดทะเบียน
หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 ส่วน

1. ส่วนกลาง กระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs)

2. ส่วนภูมิภาค รัฐบาลท้องถิ่นระดับเมืองเทศบาล อำเภอ (City/County government) โดยระดับเมืองเทศบาล และอำเภอต้องได้รับการมอบหมายจากกระทรวงเศรษฐการก่อนที่จะเปิดหน่วยงานสำหรับการจดทะเบียน

2.3 ประเภทของการจดทะเบียนพาณิชย์

2.3.1 การจดทะเบียนตั้งใหม่ ต้องมีรายการจดทะเบียน ดังนี้

(1) ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ

(2) โครงสร้างองค์กร

(3) ชนิดประกอบกิจการ

(4) จำนวนเงินทุน

(5) ที่ตั้ง

(6) ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ประเภทของการออกทุน และจำนวนเงินทุนของผู้รับผิดชอบ

(7) ผู้เป็นหุ้นส่วน และสำเนาชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ประเภทของการออกทุน จำนวนเงินทุน และหนังสือสัญญาร่วมทุน

(8) รายละเอียดอื่น ๆ ที่หน่วยงานส่วนกลางซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกำหนด

2.3.2 การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ถ้าผู้ประกอบพาณิชยกิจ มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ตามรายการข้างล่างนี้ ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องยื่นขอทำการเปลี่ยนแปลงจดทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงในรายการที่จดทะเบียนไว้เดิม

รายการที่ต้องยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง มีดังนี้

1. แต่งตั้ง/ถอดถอนผู้จัดการ

2. เปลี่ยนรายชื่อผู้ถือหุ้น

3. เพิ่มหรือลดเงินทุน

4. ย้ายที่อยู่สำนักงาน

5. เปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เลิกประกอบกิจการในบางประเภทและ/หรือเพิ่มใหม่ และรายการอื่นๆ

6. การเปลี่ยนแปลงเงินทุนโดยการโอนให้ผู้อื่น

7. การเปลี่ยนแปลงเจ้าของ เป็นต้น

2.3.3 การจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจประสงค์จะเลิกประกอบกิจการ จะต้องยื่นขอจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเลิกประกอบพาณิชยกิจ

2.3.4 การจดทะเบียนหยุดพักประกอบพาณิชยกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจประสงค์จะหยุดพักประกอบกิจการตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องยื่นขอจดทะเบียนหยุดพักประกอบกิจการก่อนการหยุดพักกิจการ โดยระยะเวลาของการหยุดพักสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

2.3.5 การจดทะเบียนอื่นๆ เช่น การจดทะเบียนย้ายสถานที่ประกอบพาณิชยกิจ การจดทะเบียนโอน/ควบกิจการ เป็นต้น

2.4 ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์

1. ขอรับเอกสารอนุญาต ตามกฎหมายไต้หวัน การขอจัดตั้งสถานประกอบการใดๆ จำเป็นต้องได้รับเอกสารอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแล จึงจะสามารถยื่นเรื่องขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าประเภทธุรกิจดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะกิจการต้องห้ามหรือไม่

2. ยื่นแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียน ผู้รับผิดชอบกิจการต้องกรอกคำร้องขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ หากมีผู้ยื่นแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ โดย ยื่นเรื่อง ณ หน่วยงานในเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้การจดทะเบียนพาณิชย์มีหลายประเภท แต่โดยทั่วไปเอกสารที่ต้องใช้ได้แก่

1. คำขอจดทะเบียน

2. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ หรือ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการ

3. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ หลังจากได้รับคำร้องขอ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะใช้เวลาตรวจสอบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วันทำการ กรณีที่ต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม (หากต้องมีการส่งเอกสารเพิ่มเติม จะแจ้งให้ทราบภายใน 5 วันการ นับจากวันที่ยื่นคำร้อง)

4. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์ การขอดำเนินการตาม กฎหมายจดทะเบียนพาณิชย์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประเภทของการดำเนินการดังต่อไปนี้

1) จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่/จัดตั้งสาขาย่อย ครั้งละ 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

2) ขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

3) ขอให้ออกใบรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ ครั้งละ 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

4) จดทะเบียนผู้จัดการ ครั้งละ 500 เหรียญไต้หวัน(NT$)

5) ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ฉบับละ 300 เหรียญไต้หวัน (NT$)

6)จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ซึ่งนอกเหนือที่ระบุไว้ข้างต้น ครั้งละ 500 เหรียญไต้หวัน (NT$)

5. ออกใบทะเบียนพาณิชย์ หากถูกต้องครบถ้วน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำการประกาศและออกใบทะเบียนพาณิชย์ให้ผู้ยื่นคำร้องต่อไป

3. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
3.1 ความหมายและประเภทของบริษัท

จากบทบัญญัติของกฎหมายบริษัท มาตรา 1 ระบุว่า บริษัท คือ “นิติบุคคลที่จัดตั้งและจดทะเบียน ภายใต้กฎหมายบริษัทเพื่อทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร”

ทั้งนี้ ตามกฎหมายบริษัทของไต้หวัน ได้มีการแบ่งประเภทของบริษัท(ตามความรับผิดทางกฎหมาย) ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. Unlimited company คือ องค์กรธุรกิจซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดไม่จำกัด ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของบริษัทโดยไม่จำกัดจำนวน

2. Limited company คือ องค์กรธุรกิจซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนของบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปโดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินมูลค่า (จำนวนเงิน) ที่ลงทุนในบริษัท และผู้ลงทุนไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินใด ๆ ของบริษัท

3. Limited partnership คือ องค์กรธุรกิจที่มีบุคคล 2 คนขึ้นไปมาร่วมกันลงทุนประกอบกิจการแสวงหากำไรแบ่งปันกัน โดยมีผู้ลงหุ้น 2 จำพวก ดังนี้คือ (1) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น และ (2) หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

4. Company limited by shares คือ บริษัทซึ่งเกิดจากการรวมทุนของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือโดยรัฐบาล หรือผู้ถือหุ้นที่มีสภาพนิติบุคคล (หนึ่งคนขึ้นไป) ซึ่งทุนทั้งหมดของบริษัท ถูกแบ่งเป็นส่วนๆ ให้อยู่ในรูปแบบหุ้น โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ นอกจากนั้นต้องมีจำนวนกรรมการของบริษัทไม่น้อยกว่า 3 คน และบริษัทประเภทนี้สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยต้องขออนุญาตต่อบริษัทหลักทรัพย์ไต้หวัน(Taiwan Stock Exchange Corporation, TWSE)

3.2 ขั้นตอนของการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท

โดยหลักการ การจัดตั้งบริษัทไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จะประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ได้แก่ ผู้เริ่มก่อการ เงินทุน และหนังสือบริคณห์สนธิ(Memorandum of Association) โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท(กรณี Company limited by shares) ดังนี้

1. ผู้เริ่มก่อการร่วมจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้น ได้แก่ ชื่อบริษัท สถานที่ตั้ง วัตถุประสงค์ ชื่อผู้เริ่มก่อการ อาชีพผู้เริ่มก่อการ ชนิดของหุ้นที่ออกจำหน่าย จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น เป็นต้น

2. ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีการจองซื้อหุ้นทั้งหมด

3. เรียกเก็บค่าหุ้นจากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น

4. ประชุมผู้เข้าชื่อขอซื้อหุ้นเพื่อจัดตั้งบริษัท เลือกตั้งกรรมการและเลือกผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

5. กรรมการผู้มีอำนาจจัดทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทและดำเนินการจดทะเบียนบริษัทภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันประชุมตั้งบริษัท

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด ได้แก่

1. คำขอจดทะเบียนบริษัท

2. รายการจดทะเบียนจัดตั้ง

3. หนังสือบริคณห์สนธิ

4. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัทของผู้เริ่มก่อการ

5. สำเนารายงานการประชุมของกรรมบริษัท

6. หนังสือยิมยอมรับตำแหน่งของกรรมการและผู้ตรวจสอบ

7. รายละเอียดผู้เริ่มก่อการ คณะกรรมการบริษัท และผู้ตรวจสอบ

8. หนังสือรายงานผลการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี

9. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการ

10. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจ)

11. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3.3 ประเภทของการจดทะเบียนบริษัท

3.3.1 การจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อมีการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ต้องยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกับหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 6) นอกจากนั้น กิจการบางอย่างที่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบ และได้รับหนังสืออนุญาต จึงจะทำการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้

3.3.2 การจดทะเบียนรับรอง (Recognition) สำหรับบริษัทต่างประเทศ หากประสงค์จะดำเนินธุรกิจในไต้หวัน ต้องทำการจดทะเบียนก่อน จึงจะดำเนินการธุรกิจและจัดตั้งบริษัทย่อยได้

3.3.3 การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง หากบริษัทประสงค์จะเปลี่ยนแปลงข้อความในรายการที่จดทะเบียนไว้ เช่น แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ เปลี่ยนแปลงกรรมการ การเพิ่มทุนการลดทุนบริษัท ต้องยื่นขอเปลี่ยนแปลงภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงในรายการที่จดทะเบียนไว้เดิม

3.3.4 การจดทะเบียนเลิกบริษัท การเลิกประกอบกิจการ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้รับผิดชอบบริษัทต้องยื่นคำร้องขอยกเลิกการประกอบกิจการ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเลิกบริษัท

3.3.5 การจดทะเบียนควบบริษัท หากมีการควบรวมของบริษัทใดๆ ต้องไปยื่นจดทะเบียนภายใน 15 วัน หลังจากบริษัทควบเข้ากันแล้ว

3.4 ค่าธรรมเนียม

1. คิดตามทุนจดทะเบียน 1 เหรียญไต้หวันต่อทุนจดทะเบียน 4,000 เหรียญไต้หวัน แต่ถ้าค่า จดทะเบียนไม่ถึง 1,000 เหรียญไต้หวัน คิดเป็น 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

2. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่/เพิ่มทุน 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

3. จดทะเบียนจัดตั้งสาขาย่อย สาขาละ 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$)

4. จดทะเบียนรับรองบริษัทต่างชาติ ครั้งละ 1,000 เหรียญไต้หวัน (NT$) เป็นต้น

3.5 สถานที่รับจดทะเบียน
หน่วยงานที่รับเรื่องจดทะเบียนบริษัทของไต้หวัน ได้แก่
1. กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ (Department of Commerce, MOEA)

ที่อยู่ 15 Fuzhou St., Taipei, 10015, Taiwan, R.O.C.

โทรศัพท์ +886-2-23212200, 886-2-412-1166

http://gcis.nat.gov.tw

2. สำนักงานส่วนภูมิภาค เขตภาคกลาง กระทรวงเศรษฐการ (Central Region Office,MOEA)

ที่อยู่ No. 4, Sheng Fu road, Nan Tou City, R.O.C.

โทรศัพท์ +886-49-2359171 โทรสาร +886-49-2350642

http://www.cto.moea.gov.tw

3. สำนักพัฒนาเศรษฐกิจ เทศบาลนครไทเป (Department of Economic Development, Taipei City Government)

ที่อยู่ 1F, No.1 Shifu Rd., Xin Yi Dist., Taipei, 110, Taiwan, R.O.C.

โทรศัพท์ 886-2-2720-8889

อีเมล์ ooca@mail.taipei.gov.tw

http://www.ed.taipei.gov.tw

4. สำนักพัฒนาเศรษฐกิจ เทศบาลนครเกาสง (Department of Economic Development, Kaohsiung City Government)

No. 2, Sihwei 3rd Road, Lingya District, Kaohsiung City,

โทรศัพท์ +886-7-336-8333 ต่อ2197/2198 โทรสาร+886-7-331-6042

http://borkcg.kcg.gov.tw

5. สำนักงานบริหารเขตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก กระทรวงเศรษฐการ (Export Processing Zone Administration, MOEA)

โทรศัพท์ 07-3611212 โทรสาร 07-3612751, 07-3645991

อีเมล์ od00@epza.gov.tw, eservices@epza.gov.tw

http://www.epza.gov.tw

6. สำนักอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Science park administration, National Science Council)

ที่อยู่ No.2, Hsin-Ann Rd., Hsinchu Science Park, Hsinchu, 300, Taiwan, R.O.C.

โทรศัพท์ +886-3-577-3311 โทรสาร +886-3-577-6222

http://www.sipa.gov.tw

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1. กฎหมายการจดทะเบียนพาณิชย์ (Business Registration Act) ค.ศ. 1937 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552)

2. กฎหมายบริษัท (Company Act) ค.ศ. 1929 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552)

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Law & Regulations Database of The Republic of China, Ministry of Justice http://law.moj.gov.tw

Ministry of Economic Affairs(MOEA) www.moea.gov.tw

Taiwan Stock Exchange Corporation (TWSE) www.twse.com.tw

Department of Investment Services, MOEA www.dois.moea.gov.tw

Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) www.taitra.com.tw

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ไต้หวัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ