สรุปสถานะการณ์อุตสาหกรรมยางและตลาดสินค้าทำจากยางของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 15:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ยางเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของสหรัฐฯหลากหลายสินค้าดังนั้น อุตสาหกรรมยางของสหรัฐฯจึงประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมย่อยๆจำนวนมาก อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมยางของสหรัฐฯสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ (1) elastomers/rubber polymers (ทั้งที่เป็นยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์) (2) ล้อยาง (3) ผลิตภัณฑ์สินค้ายางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ล้อยาง เช่น สายยาง สายพาน ถุงมือยาง อุปกรณ์กีฬา ประเก็นรถยนต์ และรองเท้า เป็นต้น

อุตสาหกรรมยางและการผลิตสินค้าจากยางของสหรัฐฯกระจายอยู่ทั่วสหรัฐฯ แต่จะหนาแน่นในรัฐแคลิฟอร์เนีย โอไฮโอ เท็กซัส อินเดียน่า เพนซิลวาเนีย ฟลอริด้า มิชิแกน และจอร์เจีย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ยกเว้นอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางที่เกือบจะทั้งสิ้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

อุตสาหกรรมการผลิตสินค้ายางของสหรัฐฯปัจจุบันมีมูลค่าโดยรวมปีละประมาณ 21 พันล้านเหรียญฯ สภาวะการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมเป็นไปในทางลดลง เนื่องมาจาก

1. การแข่งขันจากสินค้าพลาสติกที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าไปแย่งตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าบางรายการที่เดิมทำจากยาง

2. การแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและมีราคาจำหน่ายถูกกว่า

3. บริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

4. ความตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตรถยนต์ซึ่งตลาดหลักในการบริโภคยาง ส่งผลทำให้ความต้องการยางเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่างๆ เช่น หลังคาบ้าน พื้นบ้าน ล้อยาง และชิ้นส่วนรถยนต์ ลดลง

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมผลิตสินค้ายางของสหรัฐฯยังคงดำเนินอยู่ได้เนื่องจาก

1. สินค้าสำคัญๆหลายรายการยังคงจำเป็นต้องใช้ยางเป็นวัตถุดิบ

2. สหรัฐฯเป็นประเทศผู้นำในการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยี่สูงหลายรายการที่ใช้วัตถุดิบยางและส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก

3. การผลิตยานพาหนะทั้งที่เป็นรถยนต์และเครื่องบินมีแนวโน้มพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆและใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยี่การผลิตที่แตกต่างจากเดิม ชิ้นส่วนประกอบเหล่านี้รวมถึงที่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำจากยาง

2. ตลาดยางดิบ (ยางธรรมชาติ- Natural Rubber)

แม้ว่าในปัจจุบันประมาณร้อยละ 70 ของยางที่ใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เป็นยางสังเคราะห์ (synthetic rubber) แต่การผลิตสินค้าสำคัญๆหลายรายการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตยานพาหนะขนส่งทางบกและทางอากาศทั้งสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ที่เป็นการบริโภคทางธุรกิจและทางการทหาร จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่เป็นยางธรรมชาติ (natural rubber) เนื่องจากสหรัฐฯไม่มีแหล่งผลิตยางธรรมชาติของตนเองทำให้สหรัฐฯเป็นประเทศผู้นำเข้ายางธรรมชาติอย่างแท้จริง และอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐฯเป็นประเทศผู้บริโภคยางดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก

ตลาดการบริโภคยางธรรมชาติในตลาดสหรัฐฯที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหรือประมาณร้อยละ 80 ของการบริโภครวมทั้งสิ้นคือตลาดการบริโภคที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตล้อยาง-tire ที่เหลือเป็นการบริโภคในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆที่ไม่ใช่ล้อยาง ซึ่งส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 40 ของการบริโภคในกลุ่มนี้ ยังคงเป็นการบริโภคในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าต่างๆสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และที่ไม่ใช่ล้อยาง เช่นพวกสายพานต่างๆ เป็นต้น

สถิติการบริโภคยางของสหรัฐฯในปี 2005 และ 2006
                                              2005                        2006
     ประเภทของการบริโภค                ประมาณการณ์ปริมาณบริโภค         ประมาณการณ์ปริมาณบริโภค
                                             เมตริกตัน                     เมตริกตัน

ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์

1. ในการผลิตล้อยาง                     845,008      1,050,010        806,007     1,046,010
2. ในการผลิตสินค้ายางอื่นๆ                314,002        905,009        263,002       995,009

มีประมาณการณ์ว่าในปี 2007 สหรัฐฯบริโภคยางในปริมาณ 2.94 ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้เป็นการบริโภคยางธรรมชาติประมาณ 1.018 ล้านเมตริกตัน และยางสังเคราะห์ประมาณ 1.9 ล้านเมตริกตัน การบริโภคในปี 2008 ประมาณการณ์ว่าเท่ากับ 2.97 ล้านเมตริกตัน เป็นการบริโภคยางธรรรมชาติ 1.046 ล้านเมตริกตัน และยางสังเคราะห์ประมาณ 1.9 ล้านเมตริกตัน การบริโภคยางในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มไปในทางลดลงทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ภาคธุรกิจของสหรัฐฯย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ

การนำเข้า

มูลค่านำเข้ายางธรรมชาติของสหรัฐฯในแต่ละปีสูงเป็นอันดับสองรองจากมูลค่าการนำเข้าล้อยาง มูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติของสหรัฐฯในปี 2008 เท่ากับประมาณ 2.85 พันล้านเหรียญฯ ขยายตัวร้อยละ 34.78 และคิดเป็นร้อยละ 13.99 ของการนำเข้าสินค้ายางรวมทั้งสิ้น

เกือบจะทั้งสิ้นหรือประมาณร้อยละ 80.21 ของมูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติของสหรัฐฯ เป็นการนำเข้ายางดิบ (ในจำนวนนี้ร้อยละ 85.23 เป็นการนำเข้ายางดิบเกรด 20) อัตราขยายตัวร้อยละ 61.41 รองลงมาร้อยละ 11.47 เป็นการนำเข้าแผ่นยางรมควัน

แหล่งอุปทานนำเข้ายางดิบที่สำคัญของสหรัฐฯคืออินโดนิเซียที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสหรัฐฯในปี 2008 ไว้ร้อยละ 60.15 รองลงมาคือประเทศไทยถือครองส่วนแบ่งตลาดไว้ร้อยละ 22.04 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งอุปทานยางดิบที่เป็นยางแผ่นรวมควันที่สำคัญสูงสุดของสหรัฐฯถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไว้มากที่สุดคือประมาณร้อยละ 70 ในขณะที่อินโดนิเซียเป็นแหล่งอุปทานยาง Technically Specified Natural Rubber (TSR) ที่สำคัญของสหรัฐฯถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไว้มากที่สุดเช่นกันคือประมาณกว่าร้อยละ 70

3. ตลาดล้อยาง(tires)สหรัฐฯ

อุตสาหกรรมการผลิตล้อยางในตลาดสหรัฐฯ มีทั้งที่เป็นล้อยางสำหรับสำหรับเครื่องบินรถยนต์ ยางใน และอุปกรณ์ในการซ่อมยาง โดยผลิตจากวัตถุดิบทั้งที่เป็นยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ และล้อยางเก่าที่นำไปหล่อดอกใหม่ (retreading/rebuilding tires)

อุตสาหกรรมการผลิตล้อยางสำหรับยานพาหนะ (tires industry) เป็นอุตสาหกรรมสำคัญสูงสุดของอุตสาหกรรมยาง (rubber industry) ประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของอุตสาหกรรมยางมาจากการผลิตสินค้าล้อยาง (tires) และประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งสิ้นของอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางมาจากการผลิตล้อยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ประมาณร้อยละ 30 เป็นมูลค่าการผลิตล้อยางสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสาร และประมาณร้อยละ 5 เป็นมูลค่าการผลิตล้อยางสำหรับรถแทร็กเตอร์ รถใช้ในการเกษตรและรถใช้ในโรงงานผลิตสินค้า

สหรัฐฯเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตยางขนาดใหญ่หลายบริษัทด้วยกันและเคยเป็นประเทศผู้นำในการผลิตล้อยาง แต่ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตใหญ่ๆเหล่านี้ไม่ได้เป็นธุรกิจของสหรัฐฯอย่างแท้จริงอีกต่อไปแต่เป็นธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯหรือเข้าไปเปิดบริษัทในเครือของตนขึ้นในประเทศสหรัฐฯ แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะยังคงมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐฯแต่บริษัทแม่มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศต่างๆหลายประเทศด้วยกันรวมถึงในประเทศไทย นอกจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่แล้วบริษัทผู้ผลิตอื่นในสหรัฐฯหลายรายก็มีโรงงานผลิตของตนในต่างประเทศรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มาจากนโยบายของบริษัทเหล่านี้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายโดยการย้ายฐานการผลิตออกไปตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบและใช้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตในประเทศสหรัฐฯ

สภาวะการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯปัจจุบันที่รวมถึงความตกต่ำอย่างหนักของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯและการลดการบริโภคสินค้าราคาแพงของผู้บริโภคสหรัฐฯ ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้าหลายๆชนิดที่ทำจากยางโดยเฉพาะล้อยางในตลาดสหรัฐฯไม่แจ่มใสนักและทั้งการผลิตและการบริโภคมีแนวโน้มไปในทางลดลง

แนวโน้มตลาด

สมาคมผู้ผลิตยาง (Rubber Manufacturers Association) รายงานว่าผลผลิตล้อยางสำหรับรถยนต์ในปี 2008 มีจำนวนประมาณ 261 ล้านหน่วยลดลง 21 ล้านหน่วยต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 9 และพยากรณ์ว่าในปี 2009 สหรัฐฯจะผลิตล้อยางออกมาน้อยกว่าในปี 2008 เกินกว่าร้อยละ 7 ทั้งนี้การผลิตล้อยางใหม่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในสหรัฐฯพยากรณ์ว่าจะลดลงร้อย 22 การผลิตล้อยางใหม่สำหรับรถบรรทุกขนาดเบาลดลงเกินกว่าร้อยละ 31.1 และล้อยางใหม่สำหรับรถบรรทุกสินค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลงประมาณร้อยละ 30 การผลิตล้อยางสำหรับใช้เปลี่ยนล้อยางเก่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 3.5 การผลิตล้อยางสำหรับใช้เปลี่ยนล้อยางเก่ารถบรรทุกขนาดเล็กลดลงร้อยละ 8 และล้อยางสำหรับใช้เปลี่ยนล้อยางเก่ารถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 12

บริษัทผู้ผลิตยางรายใหญ่ๆทุกบริษัทของสหรัฐฯพยากรณ์ยอดการผลิตและการค้าในปี 2009 ว่าจะเป็นไปในทางลดลงเช่นกัน

การลดลงของการผลิตในประเทศสหรัฐฯมีสาเหตุมาจาก

1. วัตถุดิบราคาสูงขึ้น

2. บริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่สินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีน

3. อุตสาหกรรมการผลิตล้อยางผูกติดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ตัวขับเคลื่อนความต้องการในตลาดคือรถใหม่ และ การเปลี่ยนยางใหม่

3.1 การผลิตยางใหม่ลดลงเนื่องจาก

  • อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯปัจจุบันอยู่ในสภาวะการณ์การตกต่ำอย่างหนัก บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯประสบปัญหาด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจ
  • ความต้องการของตลาดการบริโภคล้อยางของธุรกิจอื่นที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ลดลง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายเงิน ภาคธุรกิจปิดกิจการ ลดขนาดธุรกิจ หรือหยุดการขยายกิจการลงชั่วคราว

3.2 การผลิตยางเก่าลดลงเนื่องมาจากการบริโภคที่ลดลง

  • สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ตกต่ำที่สุดในรอบ 26 มีประมาณการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ของสหรัฐฯในปี 2008 ลดลงร้อยละ 15
  • ความต้องการเปลี่ยนยางลดน้อยลงเนื่องจากเทคโนโลยี่การผลิตดีขึ้นอายุใช้งานนานขึ้นกว่าจะถึงเวลาเปลี่ยน
  • ผู้บริโภคสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงการเดินทางและระยะทางขับรถสั้นลง กระทรวงคมนาคมสหรัฐฯรายงานว่าในปี 2008 ระยะทางรวมทั้งสิ้นของการเดินทางด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯลดลงร้อยละ 3.6 หรือลดลงประมาณ 115 พันล้านไมล์ โดยระยะทางเดินทางลดลงมากที่สุดในพื้นที่ชนบทคือร้อยละ 4.2 ระยะทางเดินทางในเมืองลดลงร้อยละ 3.2 และผู้บริโภคสหรัฐฯใช้รถโดยสารสาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ลักษณะของธุรกิจบริษัทผู้ผลิตล้อยางในสหรัฐฯ

บริษัทผลิตล้อยางที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 100 บริษัท และมีโรงงานผลิตประมาณ 160 โรงงาน ส่วนใหญ่ของโรงงานผลิตเป็นโรงงานขนาดใหญ่ผลิตล้อยางทุกประเภท มูลค่าการผลิตในสหรัฐฯประมาณ 13 พันล้านเหรียญฯ บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 4 บริษัทถือครองส่วนแบ่งตลาดไว้ร้อยละ 75 บริษัทผู้ผลิตอื่นๆประมาณ 35 บริษัทมีรายได้ต่อปีโรงงานละเกินกว่า 100 ล้านบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯได้แก่

บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯได้แก่

  • The Goodyear Tire & Rubber Company เป็นบริษัทผลิตล้อยางขนาดใหญ่บริษัทเดียวที่ปัจจุบันยังคงเป็นของสหรัฐฯมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯที่ 1144 East Market Street, Akron, OH 44316-0001, www.goodyear.com มีโรงงานผลิตอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สินค้าที่ผลิตรวมถึง ล้อยาง airsprings, belts and hoses, conveyor belts, industrial hose และ power transmission, ยอดขายในปี 2008 ประมาณ 19.5 พันล้านเหรียญฯขาดทุน 77 ล้านเหรียญฯ ผลิตยางน้อยลงร้อยละ 8.4 (ปี 2007 บริษัทมีกำไร 602 ล้านเหรียญฯ) นโยบายลดการผลิตล้อยาง ตัดรายจ่ายและเปลี่ยนแนวทางการลงทุนไปทำอย่างอื่นที่เหมาะกับสภาวะตลาดปัจจุบัน
  • Bridgestone/Firestone, Inc บริษัท Bridgestone ของญี่ปุ่นซื้อบริษัท Firestone Inc. ของสหรัฐฯและเอาไปรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Bridgestone Group ของญี่ปุ่น สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯคือ Bridgestone Americas Inc. ตั้งอยู่ที่ 535 Marriott Drive, Nashville, TN 37214, www.bridgestoneamericas.com ผลิตสินค้าล้อยางและยางสำหรับใช้ในการก่อสร้างเช่นยางปูหลังคา เป็นต้น มีโรงงานผลิตเฉพาะในสหรัฐฯ 14 แห่ง ไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย ในปี 2008 จำนวนล้อยางที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯลดลงยกเว้นยอดจำหน่ายล้อยางสำหรับเปลี่ยนล้อยางเก่าที่เป็น ultra-high-performance ยอดจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 15.6 พันล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 6 (ตัวเลขยอดจำหน่ายเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนมาจากสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น อัตราการลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยน) พยากรณ์ว่ายอดจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯจะเป็นไปในทางลดลงอยู่ต่อไป
  • Michelin North America, Inc. เกิดขึ้นจากการที่บริษัท International Rubber Company ของสหรัฐฯถูกซื้อเข้าเป็นบริษัทในเครือของ Compagnie General des Etablissements Michelin ของฝรั่งเศส สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯตั้งอยู่ที่ Greenville, S.C 29602-9001 ผลิตล้อยางสำหรับยานพาหนะทุกชนิดรวมถึงเครื่องบิน มีโรงงานผลิตในสหรัฐฯประมาณ 17 แห่ง บริษัทแม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย
  • Cooper Tire & Rubber Company เป็นบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 701 Lima Avenue, Findlay, OH 45840, www.coopertire.com มีโรงงานผลิตในสหรัฐฯ 4 โรงงาน ไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย
แหล่งผลิตในสหรัฐฯ

รัฐที่เป็นที่ตั้งของบริษัทและโรงงานผลิตภัณฑ์ล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางสำหรับรถยนต์เป็นจำนวนมากคือรัฐอลาบาม่า อาร์คันซอร์ จอร์เนีย อิลินอยส์ อินเดียน่า แคนซัส มิสซิสซิปปี้ นิวยอร์ค นอร์คาโรไลน่า โอไฮโอ โอคลาโฮมา เพนซิลวาเนีย เซ้าทคาโรไลน่า เทนเนสซี่ และเวอร์จิเนีย

ช่องทางกระจายสินค้า

ธุรกิจค้าส่งสินค้าล้อยางของสหรัฐฯเป็นการขายส่งให้แก่ร้านค้าปลีกที่เป็นศูนย์เปลี่ยนยางร้านซ่อมรถยนต์ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และรวมถึงการขายให้แก่โรงงานผลิตรถยนต์ บริษัทผู้ผลิตล้อยางทุกบริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าส่งด้วย ธุรกิจค้าส่งส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่โรงงานผลิตจะรับซื้อจากโรงงานผลิตและจากผู้นำเข้านำไปขายส่งให้แก่ผู้ค้าปลีกและในบางบริษัทจะขายให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ด้วย

ราคาในตลาดค้าส่งมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากตลาดค้าส่งล้อยางถูกถือครองโดยธุรกิจค้าส่งรายใหญ่ไม่กี่รายที่แข่งขันกันเองเช่น The Goodyear Tire & Rubber Company, Bridgestone Corporation, Compagnie Generale des Establissements Michelin, Cooper Tire & Rubber Company, Sumitomo Corporation และ American Tire Distributors, Inc.

ประมาณการณ์มูลค่าของตลาดค้าส่งล้อยางของสหรัฐฯในปี 2008 ว่าเท่ากับ 1.75 หมื่นล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 2

ตลาดค้าปลีกในปี 2008 มีมูลค่าเท่ากับประมาณ 2.34 หมื่นล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 6.3 ผู้ค้าปลีกรายใหญ่คือ Discount Tire Co., Sumitomo Corporation, และ Les Schwab Tire Center

การนำเข้าสหรัฐฯ

ในปี 2008 สหรัฐฯนำเข้าล้อยางรวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.7 พันล้านเหรียญฯหรือประมาณร้อยละ 47.52 ของยอดนำเข้ารวมทั้งสิ้นของสินค้ายาง และมีอัตราขยายตัวร้อยละ 4.24

1. เกือบจะทั้งสิ้นของมูลค่าการนำเข้าล้อยาง หรือประมาณร้อยละ 96.34 เป็นการ นำเข้ายางใหม่ (new pneumatic tires) ในจำนวนนี้

1.1 ร้อยละ 54.35 เป็นมูลค่านำเข้าล้อยางสำหรับรถยนต์ ส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุปทานในจีน ญี่ปุ่นและคานาดา ตามลำดับ

1.2 ร้อยละ 30.83 เป็นมูลค่านำเข้าล้อยางสำหรับรถขนส่งและรถบรรทุกส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุปทานในคานาดาและจีนในส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกันคือประมาณร้อยละ 28.27 และ 26.01 ตามลำดับ รองลงมาเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย

2. ร้อยละ 2.38 ของมูลค่านำเข้าเป็นการนำเข้ายางใช้แล้วและที่หลอมใหม่ แหล่งอุปทานสำคัญคือจีน ศรีลังกา และเม็กซิโกในส่วนแบ่งตลาดนำเข้าที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 21.46, 20.38 และ 18.77 ตามลำดับ

3. ร้อยละ 1.26 ของมูลค่านำเข้าเป็นการนำเข้ายางใน กว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่านำเข้าเป็นการนำเข้าจากจีน

การนำเข้าจากจีน

แหล่งอุปทานล้อยางสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่สำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบันคือจีน มีประมาณการณ์ว่าในปี 2008 สหรัฐฯนำเข้าล้อยางจากจีนประมาณ 46 ล้านเส้นในมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญฯ มูลค่าการนำเข้าจากจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ มีสถิติว่าในระหว่างปี 2004 — 2008 ปริมาณการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 215 และมูลค่าการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 295 ในขณะที่ปริมาณการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวลดลงร้อยละ 25 ส่งผลทำให้สหภาพแรงงานผู้ผลิตเหล็กของสหรัฐฯเคลื่อนไหวต่อต้านและยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 ให้รัฐบาลสหรัฐฯตั้งโควต้าจำกัดการนำเข้าจากจีนที่เป็นล้อยางสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกขนาดเบา รถมินิแวน และรถสปอร์ตยูทิลิตี้ โดยให้นำเข้าได้ในระดับเดียวกับการนำเข้าจากจีนในปี 2005 และให้ขยายตัวได้ในอัตราร้อยละไม่เกิน 5 ต่อปีภายในระยะเวลา 3 ปี

(สาเหตุที่สหภาพแรงงานผู้ผลิตเหล็กของสหรัฐฯเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าล้อยางนำเข้าจากจีน สืบเนื่องมาจากการผลิตล้อยางจำเป็นต้องใช้เหล็กเส้นเป็นส่วนประกอบ ผลกระทบใดๆที่เกิดขึ้นกับการผลิตล้อยางจะส่งผลกระทบต่อแรงงานผลิตเหล็กด้วยเช่นกัน)

การนำเข้าจากไทย

ประเภทของสินค้าผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศไทยที่สหรัฐฯนำเข้าในมูลค่าสูงเป็นอันดับสามรองจากสินค้ายางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ถุงมือยางคือสินค้าล้อยางใหม่

มูลค่าการนำเข้าจากไทยเรียงตามลำดับมูลค่านำเข้าได้ดังนี้

                    รายการ                 มูลค่านำเข้า      อัตราขยายตัว       % ส่วนแบ่งตลาด
                                          (ล้านเหรียญฯ)      2007/2008        นำเข้าสหรัฐฯ
1. ล้อยางใหม่สำหรับ
    รถขนส่งและรถบรรทุก                         201.50           2.66             6.99
    รถยนต์นั่ง                                  132.20          74.90             2.60
    เครื่องบิน                                   28.14          16.07            46.03
    จักรยาน                                     8.93          89.96            16.23
    รถที่ใช้ในอุตสาหกรรม/การก่อสร้าง                 8.31           5.05             1.54
    รถที่ใช้ในการเกษตร                            7.89         126.07             3.60
    รถมอร์เตอร์ไซด์                               3.95          50.71             2.72
2. ล้อยางใช้แล้วหรือหลอมใหม่                        8.39          52.42             3.62
3. ยางใน                                       1.81          64.43             1.47


4. ตลาดถุงมือยาง

ตลาดถุงมือยางในสหรัฐฯแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ ตลาดถุงมือยางทางการแพทย์ (medical gloves) และตลาดถุงมือยางสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ (industrial gloves

ก. ตลาดถุงมือยางเพื่อการแพทย์

ตลาดถุงมือยางเพื่อการแพทย์ของสหรัฐฯรวมถึงถุงมือใส่ตรวจคนไข้ ถุงมือผ่าตัด ถุงมือสำหรับทันตกรรม ถุงมือสำหรับบุคคลในอาชีพที่ให้บริการฉุกเฉิน (High-Risk gloves) และปลอกใส่นิ้วมือ (finger cot) มีมูลค่าการค้าต่อปีเกินกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญฯ

สหรัฐฯมีบริษัทผู้ค้าสินค้าถุงมือทางการแพยท์หลายรายแต่เกือบจะทั้งสิ้นมีฐานการผลิตตั้งอยู่นอกประเทศสหรัฐฯ ธุรกิจรายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯที่ค้าสินค้าถุงมือทางการแพทย์คือ Johnson & Johnson, General Electric Company, Medtronic, Inc., Baxter International Inc., Covidien Ltd.

กฎระเบียบ (ดูข้อมูลโดยละเอียดได้ที่ www.fda.gov/cdrh/devadvice/, และ www.fda.gov/cdrh/ocer/guidance/1661.html

สหรัฐฯถือว่าสินค้าถุงมือเพื่อการแพทย์เป็นสินค้าภายใต้การควบคุมของ USFDA ซึ่งกำหนดให้มี

1. การจดทะเบียนโรงงานผลิต สำหรับโรงงานผลิตในต่างประเทศจะรวมถึงการมีตัวแทนโรงงานอยู่ในสหรัฐฯด้วย

2. แจ้งรายการสินค้าเหล่านั้นกับ USFDA ก่อนทำการนำเข้าสหรัฐฯ (การแจ้ง Premarket Notification 510)

3. ปิดฉลากสินค้าตามที่ USFDA กำหนด

4. ผลิตตามมาตรฐานการผลิตที่ USFDA กำหนด

5. ต้องทำรายงานแจ้ง USFDA เมื่อสินค้าในความรับผิดชอบที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯก่อให้เกิดอันตรายใดๆกับผู้บริโภค

6. เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2009 เป็นต้นไปสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯจะต้องมาจากระบบการผลิตที่มีสินค้า เสียหายได้ไม่เกินร้อยละ 2.5 (acceptable quality level-AQL of 2.5)

การนำเข้า

ในปี 2008 มูลค่านำเข้าสหรัฐฯสินค้าถุงมือยางทางการแพทย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญฯ ขยายตัวร้อยละ 17.33

แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญของสหรัฐฯคือมาเลเซียและประเทศไทย และมีแนวโน้มว่าการนำเข้าจากจีนกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มาเลเซียถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าถุงมือเพื่อการแพทย์ที่ไม่ใช่ถุงมือสำหรับการผ่าตัดไว้มากที่สุดคือประมาณร้อยละ 50 รองลงมาคือประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าปีละเกินกว่าร้อยละ 20 การนำเข้าจากจีนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันจีนถือครองส่วนแบ่งตลาดไว้มากเป็นอันดับที่สามหรือประมาณร้อยละ 14

เกินกว่าร้อยละ 80 ของการนำเข้าถุงมือยางสำหรับใช้ในการผ่าตัดของสหรัฐฯเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยและมาเลเซียที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไว้เท่าๆกันคือประเทศละประมาณเกินกว่าร้อยละ 40

โอกาส

1. อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นตลาดการบริโภคถุงมือเพื่อการแพทย์ของสหรัฐฯจึงเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่

2. ตลาดการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความต้องการบริโภคถุงมือทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ถุงมือสำหรับการผ่าตัดได้ขยายตัวเข้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคในสายอาชีพใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพอื่นๆในสหรัฐฯที่ เดิมไม่ใส่ถุงมือในระหว่างการประกอบอาชีพหันมาใส่ถุงมือในการประกอบอาชีพ เช่น ตำรวจ ผู้อยู่ ในอาชีพหน่วยกู้ภัย เป็นต้น นอกจากนี้สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก คนงานที่อยู่ในห้องทดลองเหล่านี้จำเป็นต้องใส่ถุงมือยางในระหว่างปฏิบัติการ

3. ถุงมือยางเลเท็กซ์มีราคาถูกกว่าถุงมือที่ไม่ใช่เลเท็กซ์

ปัญหาและอุปสรรค

1. ตลาดสหรัฐฯนิยมถุงมือที่เป็น powder-free latex และที่ทำจากยาง nitrile

2. การผลิตและการบริโภคถุงมือที่ปลอดสารเลเท็กซ์มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางจากยางธรรมชาติและโรยด้วยแป้ง (hydrolyzed cornstarch) สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางรายในหลายรายที่อาการแพ้จะรุนแรงจนถึงชีวิต บางมลรัฐในสหรัฐฯเช่นอริโซน่าจึงออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางเลเท็กซ์ ประเภทนี้ โรงพยาบาลหลายๆแห่งในสหรัฐฯเลือกที่จะหยุดใช้ถุงมือยางเลเท็กซ์เหล่านี้เช่นกัน

3. ฐานการผลิตสินค้าถุงมือยางที่ใช้ในตลาดสหรัฐฯเกือบจะทั้งสิ้นตั้งอยู่นอกประเทศสหรัฐฯ

ข. ตลาดถุงมือยางที่ไม่ใช่เพื่อการแพทย์

รวมถึงถุงมือยางสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภทด้วยกันและในแต่ละประเภทของอุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกันออกไป

ถุงมือยางสำหรับใช้ใส่ในธุรกิจบริการอาหารอยู่ภายใต้การควบคุมของ USFDA แต่ในกฎระเบียบที่น้อยกว่าถุงมือทางแพทย์ ถุงมือยางสำหรับใช้ใส่ในการทำความสะอาดที่อยู่และของใช้ต่างๆที่ไม่มีการติดฉลากว่าเป็นถุงมือเพื่อการแพทย์ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม

5. โอกาส ปัญหา อุปสรรค ในอุตสาหกรรมยางสหรัฐฯ
โอกาส

1. นอกจากโอกาสการส่งออกแล้วประเทศไทยยังมีโอกาสในการเป็นฐานผลิต ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมี

  • แหล่งผลิตยางธรรมชาติขนาดใหญ่ ในขณะที่สหรัฐฯไม่มีแหล่งวัตถุดิบในประเทศและต้องนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์
  • นิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยสำหรับเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯ
  • แรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ
  • ค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำกว่าการผลิตในประเทศสหรัฐฯ

2. แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางสังเคราะห์ได้เองและร้อยละ 70 ของยางที่ใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเป็นยางสังเคราะห์ แต่การผลิตสินค้าสำคัญๆหลายรายการที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมขนส่ง การป้องกันประเทศและการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯยังคงจำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการผลิต

  • ยางธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางรถบรรทุก การก่อสร้าง และระบบการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ เนื่องจากในการผลิตล้อยางสำหรับรถบรรทุก สำหรับอากาศยาน และสำหรับการก่อสร้างต่างๆ จำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นส่วนผสมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งล้อยางสำหรับอากาศยาน จำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัยในการใช้ ยางสังเคราะห์ที่สหรัฐฯผลิตได้เองเป็นจำนวนมากไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยางธรรมชาติในการผลิตสินค้าเหล่านี้ได้
  • ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำหรับใช้ในการแพทย์หลายรายการโดยเฉพาะ อย่างยิ่งถุงมือยางสำหรับใช้ในการแพทย์ ลักษณะประชากรสหรัฐฯมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดต่อเรื่องของความสะอาดและปลอดภัยจากการติดเชื้อโรค และมีแนวโน้มว่าเป็นอุตสาหกรรมที่จะมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งตามจำนวนประชากรและลักษณะของประชากรสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาและอุปสรรค

1. ยางเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคของผู้บริโภคทั่วไปหลากหลายรายการที่ความต้องการของผู้บริโภคในสินค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯในปัจจุบันจึงมีผลกระทบต่อโอกาสการเติบโตของการบริโภค ทั้งที่เป็นการบริโภคทางธุรกิจและการ บริโภคส่วนบุคคล และส่งผลกระทบต่อโอกาสการขยายตัวของตลาดการผลิตด้วย

2. ความตกต่ำอย่างหนักของอุตสาหกรรมการผลิตและการบริโภครถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดการบริโภคยางที่ใหญ่ที่สุด

6. แหล่งข้อมูล

1. สมาคมโรงงานผลิตยาง (Rubber Manufacturers Association) www.rma.org

2. กระทรวงคมนาคม (U.S. Department of Transportation) www.dot.gov

3. สมาคมอุตสาหกรรมล้อยาง (Tire Industry Association) www.tireindustry.org

4. World Trade Atlas

5. www.goodyear.com

6. www.bridgestoneamericas.com

7. www.census.gov

8. The Rauch Guide to the U.S. Rubber Industry

9. www.epa.gov

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ