ขั้นตอนการแจ้งและการตรวจสินค้านำเข้าสหรัฐฯในระบบ PREDICT & ITACS

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 16:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

PREDICT (Predictive Risk-Based Evaluation for Dynamic Import Compliance Targeting)

หน่วยงาน FDA สหรัฐฯกำลังอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนระบบการตรวจสอบข้อมูลการแจ้งนำเข้าและการตรวจสินค้านำเข้าสหรัฐฯเพื่อพัฒนาระบบการสกรีนสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มวิธีการตรวจสอบข้อมูลที่เรียกว่า PREDICT (Predictive Risk-Based Evaluation for Dynamic Import Compliance Targeting) เข้าไปในระบบเพื่อให้สามารถค้นพบการนำเข้าสหรัฐฯสินค้าที่มีการเจือปนสกปรก สินค้าที่มีการปิดฉลากไม่ถูกต้อง หรือสินค้าที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆของสหรัฐฯได้มากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน เพื่อช่วยสินค้าที่มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายสหรัฐฯให้สามารถผ่านเข้าประเทศสหรัฐฯได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำเข้าในช่วงเวลาที่กำลังเกิดขึ้นจริง (real time) ที่หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯใช้มีเพียงระบบเดียวคือ OASIS (Operational and Administrative System for Import Support) ที่จะสกรีนข้อมูลการนำเข้าที่แจ้งผ่านเข้าทางระบบอิเลคโทรนิกส์ แล้วระบบจะจัดระเบียบขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ศึกษาข้อมูล (reviewer) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตัวสินค้า (inspector) และ เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบว่าได้มีการปฏิบัติอื่นๆตามกฎหมายสหรัฐฯหรือไม่ (compliance officers) ท้ายสุดจะจัดทำหมายแจ้งการตัดสินใจว่าสินค้านั้นๆ จะสามารถผ่านเข้าสหรัฐฯได้หรือไม่ หน่วยงาน FDA ของสหรัฐฯเริ่มใช้ระบบ OASIS มาตั้งแต่ปี 1998 และเป็นการใช้ตลอดทั้งวันทั้งคืน(ยี่สิบสี่ชั่วโมงเจ็ดวัน) ปัจจุบันข้อมูลแจ้งการนำสินค้าเข้าสหรัฐฯที่ผ่านเข้าสู่ระบบ OASIS มีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อการแจ้งนำเข้าผ่านทางระบบอิเล็คโทรนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น หน่วยงาน FDA ประมาณการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2008 ข้อมูลแจ้งการนำเข้าสินค้าที่หน่วยงาน FDA ของสหรัฐฯต้องศึกษามีมากกว่า 17 ล้านบรรทัด ดังนั้นจึงได้สร้างวิธีการประเมินความเสี่ยงของสินค้านำเข้าวิธีใหม่ขึ้นโดยตั้งอยู่บนหลักการของการศึกษาข้อมูลต่างๆในการแจ้งนำเข้า วิธีการนี้เรียกย่อๆว่า PREDICT ซึ่งมีแนวทางการทำงานโดยสรุปดังนี้

1. ใช้ระบบการค้นหาข้อมูลและการค้นหารูปแบบของการนำเข้าที่เป็นระบบอัตโนมัติ

2. ใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ

3. เสาะหาข้อมูลที่เป็นอัตโนมัติจากศูนย์กลางข้อมูล เช่น การจดทะเบียนและการลงบัญชีไว้ของโรงงาน/สินค้า สถานะภาพการอนุมัติที่เป็นด้านการตลาด การดำเนินการต่างๆ ที่เป็นไปตามกำหนดเวลาในการผลิตอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ เป็นต้น

หน่วยงาน FDA ของสหรัฐฯเชื่อว่าวิธีการ PREDICT จะพัฒนาความสามารถของสหรัฐฯ ในการเพ่งเล็งไปยังข้อมูลเป้าหมายที่อยู่ในการแจ้งนำเข้าที่กำลังเกิดขึ้นจริง (real time) ด้วยวิธีการ

1. ให้คะแนนข้อมูลนำเข้าในแต่ละบรรทัดตามเงื่อนไขต่างๆที่ได้มีการกำหนดไว้แล้วระบบอัตโนมัติจะผ่านข้อมูลที่ถูกต้องไปโดยไม่ให้คะแนน แต่จะให้คะแนนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือที่ถูกสงสัย

2. เพิ่มจำนวนการตัดสินใจที่เป็นไปโดยอัตโนมัติและที่กำลังเกิดขึ้นจริง(real time) ให้มากยิ่งขึ้นสำหรับสินค้าที่เจ้าหน้าที่ผู้ศึกษาข้อมูลการแจ้งนำเข้าตัดสินใจว่าให้ผ่านได้หรือออกหมายแจ้ง “may proceed” เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลามากยิ่งขึ้นในการประเมินข้อมูลการนำเข้าสินค้าอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

3. ระบบจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้ศึกษาข้อมูลการแจ้งนำเข้าได้ทราบถึงการแจ้งนำเข้ารายการที่ระบบตรวจสอบอัตโนมัติไม่ยอมให้ผ่านออกไปได้ (“may proceed”) โดยจะระบุคะแนนข้อมูลในบรรทัดนั้นๆและเหตุผลที่ได้คะแนนเท่านั้น

แหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆที่นำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการสกรีนภายใต้วิธี PREDICT จะรวมถึงประวัติ หรือ ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่และที่รู้กันแพร่หลายที่เกี่ยวข้องกับ โรงงานผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และสินค้า ข้อมูลเหล่านี้มาจาก

1. ผลลัพท์ที่มาจากการตรวจสอบที่ด่านนำเข้าและการวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในการนำเข้าที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ในบันทึกของหน่วยงานสหรัฐฯ

2. ผลลัพท์ที่ได้มาจากการตรวจสอบโรงงานผลิตทั้งในประเทศสหรัฐฯและต่างประเทศ

3. การให้คะแนนความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาจากประวัติและ/หรือประเภทของผลิตภัณฑ์นั้นๆเป็นเกณฑ์

4. ความถูกต้องของรหัสสินค้าและรหัสโรงงานผลิตที่ผู้ส่งสินค้าหรือผู้นำเข้าระบุแจ้งไว้ในการแจ้งนำเข้า

PREDICT จะแยกความเสี่ยงของสินค้าที่มีการแจ้งนำเข้าสหรัฐฯออกเป็น

1. ความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเองในตัวสินค้า แยกออกเป็น

2.1 ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เป็นไปโดยธรรมชาติของสินค้า ถูกกำหนดว่าเป็นความเสี่ยง Type 1

2.2 ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ที่ FDA ได้กระทำกับผลิตภัณฑ์สินค้าตัวอื่นๆที่ผลิตมาจากโรงงานผลิตเดียวกัน ถูกกำหนดว่าเป็นความเสี่ยง Type 2

2.3 ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่สินค้านั้นๆถูกทำให้ปนเปื้อนสกปรกและกลายเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้นเหตุของการเกิดความเสี่ยงมาจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ เช่น แป้งข้าวสาลีหรือนมผงที่ถูกปนเปื้อนด้วยสารเมลามินและกรดไซต์ยานูริค ยาปลอมที่มีส่วนผสมที่แตกต่างออกไปหรือที่ขาดหายไปความเสี่ยงนี้ถือเป็นความเสี่ยงสูงสุด ถูกกำหนดให้เป็นความเสี่ยง Type 3

สหรัฐฯ ได้ทดลองใช้วิธี PREDICT เมื่อกลางปี 2008 โดยสกรีนข้อมูลการแจ้งนำเข้าสินค้าอาหารทะเลประมาณสามหมื่นกว่าบรรทัดที่ผ่านเข้าที่ท่านำเข้าสินค้าห้าแห่งของด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ได้ผลลัพท์ว่า การใช้วิธี PREDICT ทำให้

1. สามารถเพิ่มปริมาณตรวจสอบการนำเข้าที่ท่านำเข้าได้มากขึ้น

2. สามารถทำการวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าได้มากขึ้น

3. สามารถตรวจพบสินค้าที่มีการฝ่าฝืนได้มากขึ้นทั้งจากการตรวจสอบที่ท่านำเข้าและจากการวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้า

4. จำนวนสินค้าที่ถูกปล่อยเข้าสหรัฐฯหรือ “may proceed” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.1 เมื่อเปรียบเทียบกับการสกรีนข้อมูลการแจ้งนำเข้าจำนวนเดียวกันในปีงบประมาณ 2006 ที่จำนวนสินค้าที่สามารถผ่านเข้าสู่ขบวนการ “may proceed” มีเพียงร้อยละ 5.7 ขณะที่จำนวนสินค้าที่ถูกกักไว้เพื่อการตรวจสอบลดลงจากร้อยละ 94.3 เหลือร้อยละ 60.9

หน่วยงาน FDA สหรัฐฯ กำหนดที่จะฝึกเจ้าหน้าที่ของตนให้ใช้วิธี PREDICT ในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางเดือนธันวาคม 2009 และวางแผนที่จะเริ่มนำวิธี PREDICT มาใช้จริงภายในต้นปี 2010 โดยจะนำระบบไปติดตั้งใช้ทีละด่านจนครบทั่วประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิสคาดว่าด่านนำเข้านครลอสแอนเจลิสจะเป็นหนึ่งในด่านแรกๆที่เริ่มใช้วิธี PREDICT

วิธีการที่ผู้ส่งออกต้นทางหรือผู้นำเข้าปลายทางจะช่วยให้สินค้าของตนผ่านการสกรีนด้วยวิธี PREDICT ของสหรัฐฯได้อย่างรวดเร็วก็คือ 1. ระบุข้อมูลที่ถูกต้องและสอดคล้องกันระหว่างหมายเลขโรงงานผลิต/บริษัท (MIDmanufacturer identification) และชื่อโรงงาน/บริษัทตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ FDA ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการสกรีนปัจจุบันว่า โรงงานผลิตโรงงานหนึ่งส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯจำนวน 6 ครั้ง (shipments) แต่ละครั้งจะแจ้งหมายเลขโรงงานผลิตที่แตกต่างกันออกไป การระบุหมายเลขโรงงานที่ไม่ตรงกับชื่อโรงงานและไม่ตรงกับข้อมูลที่สหรัฐฯมีอยู่ส่งผลทำให้สินค้ามีปัญหาในการนำเข้า และจะยังคงเป็นปัญหาอยู่เมื่อใช้วิธีการสกรีนแบบใหม่ เพราะในแต่ละครั้งที่ระบบอัตโนมัติพบชื่อโรงงาน/บริษัทและหมายเลขที่ขึ้นทะเบียนที่ไม่ตรงกัน ระบบ PREDICT จะตัดสินว่าโรงงานนั้นๆเป็นโรงงานใหม่และคะแนนที่ให้กับข้อมูลบรรทัดนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นทันทีซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะถูกเพ่งเล็งเพิ่มมากขึ้น FDA เชื่อว่าความสับสนในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มีประสิทธภาพของการออกหมายเลข MID เพื่อแก้ปัญหานี้ในระยะยาว FDA กำลังพิจารณาที่จะแทนที่ MID ด้วยการใช้ระบบการออกหมายเลขอื่นๆที่ดีกว่า เช่น ระบบ DUNS (Data Universal Numbering Systems) ซึ่งนักธุรกิจสามารถขอหมายเลขต่างๆได้ฟรี (ข้อมูลเพิ่มเติมดู www.dnb.com/us/)

2. ระบุรหัสสินค้าที่ถูกต้อง

2.1 ปัจจุบัน FDA กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงและสร้างรหัสสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อิเล็คโทรนิกส์ขึ้นมาใหม่ ผู้ผลิตสามารถศึกษา รหัสใหม่เหล่านี้ได้ที่ www.fda.gov/ForIndustry/ImportProgram/default.htm ถ้าข้อมูลนำเข้าระบุรหัสสินค้าแตกต่างไปจากรหัสและคำจำกัดความใหม่ที่ FDA แก้ไขหรือสร้างขึ้นมาใหม่ PREDICT จะไม่ปล่อยผ่านสินค้านั้นๆเข้าสู่ขบวนการ “may proceed”

2.2 สินค้าอาหารกระป๋องที่เป็นกรดหรือมีกรดระดับต่ำจะต้องมีรหัสสินค้าสองรหัสด้วยกันคือ

2.2.1 หมายเลข FCE (Food Canning Establishment Number) ปกติแล้วมีจำนวนตัวเลข 5 หน่วยที่ FDA กำหนดให้

2.2.2 หมายเลข SID (Scheduled Process Identifier Number) ปกติแล้วมีจำนวนตัวเลข 11 หน่วยแทนที่ ปี (4 หน่วย) เดือน (2 หน่วย) วัน (สองหน่วย) — ของขบวนการผลิต- และ ตัวเลขพิเศษอีก 3 หน่วยแทนแต่ละครั้งของขบวนการผลิตที่โรงงานแจ้งแก่ FDA ในวันที่ดังกล่าว

3. ระบุยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างถูกต้องแล้วโดยแจ้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่โรงงาน/บริษัทได้แจ้งไว้กับ FDA ด้วยความสมัครใจของตนเอง

อาจจะทำให้ PREDICT ลดคะแนนที่ให้แก่บรรทัดที่มีข้อมูลนั้นๆปรากฎอยู่ ซึ่งหมายถึงว่าการถูกเพ่งเล็งจะลดลง ข้อมูลที่ให้โดยความสมัครใจ เช่น หมายเลขการสมัคร

เพื่อแจ้งขอขึ้นทะเบียนสินค้ายาตัวใหม่กับ FDA รหัสยาของสหรัฐฯ (National drug code- NDC) และหมายเลขเครื่องมือแพทย์-“510(k) clearance” เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ PREDICT สามารถค้นหาสถานะภาพทางการตลาดในสหรัฐฯของสินค้าเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าระบบอัตโนมัติไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านั้นได้อาจจะไม่ตัดสินให้“may proceed” ข้อมูลการแจ้งนำเข้าสินค้าที่อยู่บนบรรทัดนั้นๆจะถูกส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล (review officer) พิจารณาอีกครั้งด้วยวิธี manual

4. สินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดและที่มีความเป็นกรดต่ำ

4.1 อาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำให้แจ้งขนาดของกระป๋องในช่องข้อมูลContainer dimension #1 สำหรับระบุความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง Container dimension #2 สำหรับระบุความสูง Container dimension #3 สำหรับระบุความยาว-สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นรูปเหลี่ยม

4.2 ระบุรหัส PIC (Process Indicator Code) ที่เหมาะสม

4.2.1 สินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำส่วนใหญ่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีการใช้สูตรหรือการควบคุมน้ำ ให้ใช้รหัส “E”(การฆ่าเชื้อโรคที่เป็นแบบทางการค้า)

4.2.2 สินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำและมีการฆ่าเชื้อโรคที่เป็นแบบทางการค้าและการบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากเชื้อโรคและจุลินทรีย์รวมถึงเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ ขนมพุดดิ้ง และอาหารสำหรับเด็กอ่อนเป็นต้น ให้ใช้รหัส “F” (Aseptic)

4.2.3 สินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดทุกสินค้าให้ใช้รหัส “I”(Acidified)

4.2.4 ห้ามใช้รหัส PIC อื่นๆเช่น “T” กับสินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรด และที่มีความเป็นกรดต่ำ

5. สินค้าอาหารที่ระบุไว้ในข้อมูลแจ้งการนำเข้าจะต้องเป็นสินค้าอาหารที่มีคุณสมบัติเดียวกันกับที่ได้ยื่นแจ้งขบวนการผลิตไว้กับ FDA

6. อาจจะใช้ช่อง “importer’s text description” เพื่อแจ้งข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมเมื่อจำเป็นเช่น ระบุสิ่งที่ใช้ในการบรรจุ (น้ำมัน น้ำซ๊อสมะเขือเทศ น้ำเกลือ ฯลฯ) และ/หรือ ลักษณะของสินค้า (ฝาน หั่นฝอย ฯลฯ) และ/หรือ เมื่อเป็นชื่อสินค้าที่ไม่มีรหัสสินค้าที่เข้ากันระบุไว้ใน SID

ข้อพึงระวังเมื่อสหรัฐฯนำวิธี PREDICT มาใช้

1. คุณภาพของข้อมูลสินค้าที่แจ้งแก่ FDA จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โรงงานผลิตและผู้นำเข้าจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการใส่ข้อมูลลงในการยื่นการแจ้งนำเข้าเพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อมูลที่แจ้งไปเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพหรือถูกต้องครบถ้วน

2. ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพหรือที่ขาดหายไปจะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้การนำเข้านั้นๆ ได้รับคะแนนเพิ่มมากขึ้นซึ่งหมายถึงข้อมูลต่างๆ ที่ตามหลังมาจะถูกเพ่งเล็งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

3. คะแนนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจะหมายถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆว่าการนำเข้านั้นๆจะถูก FDA กักเพื่อตรวจสอบหรือถูกนำตัวอย่างไปตรวจสอบ

4. จำนวนครั้งของความผิดพลาดของข้อมูลที่โรงงานผลิต/ผู้นำเข้าแจ้งนำเข้าไว้กับ FDA ถือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนตามกฎหมาย Freedom of Information Act ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลที่คู่แข่งขันทางการค้าหรือผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ITACS (Import Trade Auxiliary Communication System)

ITACS คือระบบอินเตอร์เน็ทของ FDA ที่จะช่วยผู้นำเข้าหรือธุรกิจใดๆก็ตามที่จะทำการยื่นแจ้งการนำสินค้าเข้าสหรัฐฯ ได้ดังนี้คือ

1. ตรวจสอบสถานะภาพของการแจ้งนำเข้าเป็นรายบรรทัด

2. ส่งต่อเอกสารต่างๆและเชื่อมโยงไปยังแต่ละบรรทัดที่เกี่ยวข้องในการแจ้งนำเข้า

3. ให้ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งสินค้านั้นๆ

4. เอกสารที่ส่งเข้าไปจะพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้ทันที

FDA ได้ทดสอบการทำงานของระบบ ITACS ไปแล้วพร้อมๆกับการทดสอบ PREDICT อย่างไรก็ดีในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องของ password ที่ผู้นำเข้าจะสามารถนำไปใช้เพื่อเข้าสู่ระบบ ITACS

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล   สหรัฐ   ICT  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ