ที่มาของปัญหาและอุปสรรคการค้ากับสหรัฐฯในปี 2009

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 16:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปี 2009 คาดการณ์ว่าปัญหาและอุปสรรคทางการค้ากับสหรัฐฯ จะมาจาก

1. สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะยังคงเป็นปัญหาและและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯมีความเห็นแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯได้เข้าสู่สภาวะ depression แล้ว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งระบุว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในสภาวะการณ์ recession ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเข้าสู่สภาวะการณ์ depression ภายในกลางปี 2009 อย่างไรก็ดี เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าสภาวะการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2009 จะยังคงถดถอยอยู่ต่อไปและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

(โดยปกติแล้วสภาวะการณ์ recession ของสหรัฐฯจะมีอายุนานประมาณ 3 ปี ในขณะที่สภาวะการณ์ depression จะมีอายุนานกว่านั้น the great depression ครั้งสุดท้ายมีอายุนานกว่า 10 ปี)

สภาวะการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯปัจจุบันส่งผลกระทบทำให้การบริโภคในตลาดสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นการบริโภคทางธุรกิจและที่เป็นการบริโภคของผู้บริโภคทั่วไป ลดต่ำลงมากกว่าช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำในทุกครั้งที่สหรัฐฯเคยประสบมา

การวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯกระทำบนพื้นฐานที่ว่าตัวเลขสถิติต่างๆ บ่งชี้ว่าสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯตกต่ำอย่างมาก

1.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ในไตรมาสที่สามของปี 2008 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวลงร้อยละ 0.5 แม้ว่าสถิติในไตรมาสที่สุดท้ายของปี 2008 ยังไม่ออกมา แต่สภาวะการณ์ตลาดและธุรกิจการค้าในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง มีการพยากรณ์ว่าในปี 2009 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวในอัตราร้อยละ 2.2 ต่อปี

1.2 อัตราว่างงาน นับตั้งแต่สหรัฐฯเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในเดือนธันวาคม 2007 จำนวนคนว่างงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6 ล้านคน และอัตราว่างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในปี 2008 ทั้งปีสหรัฐฯมีจำนวนคนว่างงานสูงถึงประมาณ 11.1 ล้านคน เฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 จำนวนการเลิกจ้างงานของสหรัฐฯสูงถึง 5.24 แสนคน ปัจจุบันอัตราว่างงานเฉลี่ยทั่วประเทศสหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นอัตราว่างงานที่สูงสุดในรอบ 16 ปี สภาวะการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและกระจายไปทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ต่อไป ในครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2009 อัตรา ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 5.89 แสนคน และเมื่อเริ่มสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม 2009 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ๆของสหรัฐฯรวมถึง Microsoft, Intel Corp., United Airlines, Eaton Corp. (โรงงานผลิตชิ้นส่วนและระบบอุตสาหกรรมต่างๆ) และ Hawker Beechcraft Corp. (โรงงานผลิตเครื่องบิน) หรือแม้กระทั่งบริษัทค้าปลีกสินค้าของใช้ในครัวสำหรับผู้บริโภคทั่วไปเช่น William Sonoma ได้ประกาศเลิกจ้างงานแล้วรวมกันกว่าหมื่นแรงงานมีการคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2009 อัตราว่างงานของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.5

1.3 อัตราว่างงานในรัฐแคลิฟอร์เนียในเดือนธันวาคม 2008 เท่ากับร้อยละ 9.3 สภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีราคาสินค้า (CPI) ในเดือนธันวาคม 2008 ลดลงร้อยละ 0.7 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม และสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปี 2007 เพียงร้อยละ 0.7 การลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 ดัชนีราคาสินค้าทุกรายการลดลงร้อยละ 12.7 ราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ราคาที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ 0.7 ราคาสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 6.4 (เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2008)

แม้ว่าราคาสินค้าในตลาดสหรัฐฯจะมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลง แต่ก็ยังคงเป็นราคาที่สูงกว่าในอดีต และยังคงไม่สามารถดึงดูดให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้การลดลงของราคาสินค้าอาจจะไม่ใช่ในระยะยาวเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯในปัจจุบันกำลังขยับตัวสูงเรื่อยๆอีกครั้ง

1.4 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Prime Rate) ปัจจุบันอยู่ที่ 3.25 เปอร์เซ็นต์ เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ เนื่องจาก Federal Reserve สหรัฐฯลดระดับอัตรา Fed Funds Rate ลงเหลือเพียงระหว่าง 0-0.25 เปอร์เซ็นต์

อัตราเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (prime mortgage rate) ระยะเวลากู้ 30 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.12 ระยะเวลากู้ 15 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.80 ลดต่ำลงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปี 2007 และเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในระดับต่ำมากแต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นกิจกรรมการซื้อขายบ้านให้เพิ่มมากขึ้นได้แต่อย่างใด

1.5 รายได้ประชากร มีแนวโน้มไปในทางลดลง ในเดือนพฤศจิกายน 2008 รายได้ประชากรสหรัฐฯที่เป็น Personal Income ลดลงร้อยละ 0.2 และที่เป็น Disposable Personal Income ลดลงร้อยละ 0.1

1.6 ความมั่นใจของผู้บริโภค ในเดือนธันวาคม 2008 ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคสหรัฐฯ (CCI) อยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 38.0 จุด ดัชนีความคาดหวังลดลงเหลือ 43.8

ส่วนใหญ่ของผู้บริโภคสหรัฐฯประเมินสภาวะการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สภาวะการณ์ตลาดแรงงาน และสภาวะการณ์ตลาดธุรกิจการค้าว่าอยู่ในขั้น เลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ความไม่มั่นใจในสภาวะการณ์เศรษฐกิจของประเทศเกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯทุกระดับรายได้ ผู้บริโภคสหรัฐฯส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ สภาวะการณ์ตกต่ำอย่างมาก (recession) หรือสภาวะการณ์ตกต่ำอย่างหนัก (depression) จึงหยุดใช้จ่ายเงินหรือใช้จ่ายเงินน้อยกว่าเดิม จะใช้จ่ายเงินเฉพาะใน การซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำงชีพเท่านั้น

1.7 การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Personal Consumption Expenditures -PEC) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างมาก ในเดือนพฤศจิกายน 2008 ลดลงร้อยละ 0.6 การใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐฯเริ่มลดลงเมื่อกลางปี 2008 และมีแนวโน้มว่าจะยังคงลดลงอยู่ต่อไปในปี 2009

การลดลงของการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐฯในขณะนี้เป็นการลดลงอย่างมากจนเกือบจะถึงขั้นหยุดการใช้จ่ายเงินลงอย่างชิ้นเชิง และ เป็นสาเหตุสำคัญสูงสุดของการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่สามของปี 2008

2. ความล้มเหลวทางการเงินของภาครัฐบาล

ในปีงบประมาณ 2008 รัฐบาลกลางสหรัฐฯขาดดุลย์งบประมาณ 455 พันล้านเหรียญฯ คาดการณ์ว่าในปี 2009 รัฐบาลกลางสหรัฐฯจะขาดดุลย์งบประมาณ 1.2 แสนล้านเหรียญฯ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเงินภาษีรายได้ที่เก็บได้ลดลงเนื่องจากอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและการคืนเงินภาษีตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายเงินจำนวนมากช่วยเหลือสนับสนุนและพยุงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯมีหนี้อยู่เกินกว่า 10.6 แสนล้านเหรียญฯ

รัฐบาลมลรัฐหลายมลรัฐประสบปัญหาขาดดุลย์งบประมาณเป็นจำนวนมากเช่นกัน ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯประสบปัญหาขาดดุลย์งบประมาณในวงเงินประมาณ 42 พันล้านเหรียญฯ

การใช้จ่ายเงินของภาครัฐบาลเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความล้มเหลวทางการเงินของภาครัฐจะส่งผลกระทบทำให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐที่จะเป็นไปในทางลดลง ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2008 การใช้จ่ายเงินของภาครัฐในระดับรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่นชะลอตัวลงอย่างมากและเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงเวลาดังกล่าว

3. ความล่มสลายของภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ

ภาคอุตสาหกรรมต่างๆของสหรัฐฯ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต เริ่มชะลอตัวในปี 2007 และมีแนวโน้มตกต่ำลงนับตั้งแต่นั้น เมื่อถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 ความตกต่ำอย่างรุนแรงทางธุรกิจเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆเกือบจะทุกภาคของสหรัฐฯ และเป็นความตกต่ำในระดับรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลกระทบทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯเลวร้ายลงมากยิ่งขึ้น

3.1 อุตสาหกรรมการเงิน

ความตกต่ำของอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯเกิดขึ้นไม่เฉพาะในสถาบันการเงินในรูปของธนาคาร แต่เกิดขึ้นในทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินเช่น ธุรกิจประกันภัย ตลาดหุ้น และธุรกิจการลงทุนทางการเงิน

สาเหตุสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของอุตสาหกรรมการเงินสหรัฐฯคือความล้มเหลวของการให้กู้เงินสำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องราคาสินค้า พลังงานและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น และการหดตัวของตลาดเงินกู้ ความล้มเหลวของภาคอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนเมื่อกลางปี 2007 และดำเนินมาจนถึงปัจจุบันส่งผลทำให้

ก. เนื้อเงินสูญหายไปจากระบบกว่า 3 แสนล้านเหรียญฯ อันเป็นผลมาจากความตกต่ำอย่างหนักของตลาดหุ้น ความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหนี้สูญที่เกิดจากการปล่อยเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และความล่มสลายของธุรกิจการเงินนอกระบบในรูปของ Ponzi scheme ที่เกี่ยวพันกับวงเงินสูงถึง 50 พันล้านเหรียญฯ

ข. สถาบันการเงินใหญ่ๆหลายสถาบันล้มละลาย ถูก take over หรือต้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมาพยุงสภาพคล่อง

ค. สถาบันการเงินลดการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้แก่ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและนักธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อตลาดการบริโภคทั่วไป

ผลกระทบสำคัญสูงสุดของความล้มเหลวของอุตสาหรรมการเงินก็คือผู้บริโภคทั่วไปและผู้บริโภคทางธุรกิจไม่สามารถหาเงินกู้เพื่อการซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคประจำวัน สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต และเงินทุนสำหรับการเริ่มต้นดำเนิน และขยายธุรกิจ

3.2 อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

วิกฤตการณ์ความล้มเหลวของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2007 และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

วิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากบ้านที่อยู่อาศัยมีการก่อสร้างและวางจำหน่ายจนล้นตลาด เป็นช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยซื้อบ้านของผู้บริโภคบางกลุ่มถึงจุดที่จะปรับ เข้าสู่อัตราปกติของตลาดที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเมื่อซื้อบ้านเป็นอย่างมากทำให้ผู้บริโภคเหล่านั้นประสบปัญหาการเงินที่จะส่งค่าบ้าน ในขณะที่ราคาบ้านตกต่ำลงอย่างมาก ผู้บริโภคไม่สามารถนำบ้านออกวางจำหน่ายและไม่สามารถนำบ้านไปกู้เงินเพื่อนำออกมาใช้จ่ายได้ ทำให้เกิดปัญหาบ้านถูกทิ้งและบ้านถูกยึดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่สถาบันการเงินที่ให้กู้เงินซื้อบ้านก็ประสบปัญหาหนี้สูญเป็นจำนวน มากเช่นกัน

ผลกระทบของความล้มเหลวของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก็คือ สถาบันการเงินประสบปัญหาหนี้สูญและขาดสภาพคล่อง อุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประสบปัญหาในการขายสินค้า

3.3 อุตสาหกรรมค้าปลีก

แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกต่างๆในสหรัฐฯจะลดราคาสินค้าลงอย่างมาก ราคาสินค้าบางรายการลดลงถึงร้อยละ 90 แต่ยอดขายปลีกสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2008 ยังคงลดต่ำลงกว่าเดือนก่อนหน้านั้นร้อยละ 2.7 และต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของปี 2007 ร้อยละ 9.8 ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายเงินอันเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

เฉพาะในปี 2009 ปีเดียว ร้านค้าปลีกประมาณ 30 ร้านได้ประกาศแผนการณ์ที่จะเลิกกิจการและปิดสาขาร้านค้าปลีก ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีร้านค้าปลีกที่หายไปจากตลาดถึง 2,265 ร้าน ในขณะที่จำนวนร้านค้าที่มีแผนว่าจะเปิดกิจการในปี 2009 มีเพียง 491 ร้าน

ในปี 2008 การเลิกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกมีจำนวน 500,000 รายหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนรวมทั้งสิ้นของแรงงานที่ถูกเลิก จ้างทั้งปี มีประมาณการณ์ว่าในปี 2009 การเลิกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 60,000 ราย

4. นโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ

ในปี 2009 มีนโนบาย กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศที่เริ่มมีผลบังคับใช้ เช่น

4.1 การสกรีนตู้สินค้าที่ส่งทางอากาศ

4.2 การกำหนดให้สินค้าบางประเภทต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรอง

4.3 พิจารณาแหล่งที่มาของสินค้าโดยใช้ระบบใหม่

4.4 ข้อกำหนดเรื่องแจ้งข้อมูลสินค้านำเข้าที่เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าเดิม

4.5 การแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากไม้

4.6 กำหนดปริมาณการแพร่กระจายของสารฟอร์มัลดิไฮด์

(ดูข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน “ประเด็นต่างๆที่กระทบต่อการค้าส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯเริ่มต้นในปี 2009 เป็นต้นไป)

สรุป

1. ปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2009 จะส่งผลทำให้

1.1 ตลาดการบริโภคอ่อนตัวอย่างมาก ทั้งที่เป็นการบริโภคของผู้บริโภคทั่วไปและการบริโภคทางธุรกิจ

1.2 การขยายตลาดส่งออกจะยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสหรัฐฯลดการใช้จ่ายเงิน และสถาบันการเงินลดการปล่อยเงินกู้

1.3 กฎระเบียบต่างๆที่มีผลบังคับใช้ในปี 2009 จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เป็นด้านการผลิตและด้านการจัดหาและการแจ้งข้อมูลต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

2. สภาวะการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน จำเป็นที่จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

3. จำเป็นต้องหากลยุทธและวิธีการใหม่ๆที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดการบริโภคของสหรัฐฯปัจจุบัน

4. แม้ว่าสถานะการณ์โดยรวมของตลาดสหรัฐฯจะไม่แจ่มใสนัก แต่เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากทั้งในเรื่องของจำนวนพื้นที่ จำนวนผู้บริโภคและขนาดเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยตลาดย่อยๆเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโอกาสการขายสินค้าในตลาดสหรัฐฯยังคงมีอยู่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ