ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. 2552 ที่ทำสถิติพุ่งสูงสุดในรอบปีนี้ มีมูลค่าสูงสุด 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และขยายตัวติดลบลดลงเหลือติดลบ 8.5% ทำให้ "พรทิวา นาคาศัย"รมว.พาณิชย์ ออกอาการมั่นอกมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้ จะขยายตัวติดลบเหลือแค่ติดลบ10% ถึงติดลบ 13% เท่านั้น
การประกาศเป้าหมายส่งออกปีนี้ ขยายตัวเหลือแค่ติดลบ 10% ถึงติดลบ 13% ถือเป็นการหักปากเซียน หลังจากที่หลายฝ่ายคาดว่าตัวเลขส่งออกไทยปี 2552 จะแย่มากถึงติดลบ20% โดยเชื่อมั่นว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 หรือ 3 เดือนสุดท้าย (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้ จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ย 3-5% และให้จับตามองที่การส่งออกเดือนต.ค. จะส่งออกได้ถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือทำสถิติมีมูลค่าสูงสุดในรอบปีนี้อีกครั้ง
ปัจจัยที่ทำให้รมว.พาณิชย์ เชื่อมั่นการส่งออกไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ได้ประเมินจากคำสั่งซื้อช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปกติและเป็นประจำของทุกปี ที่การส่งออกช่วงไตรมาส 4 จะมียอดส่งออกมากกว่าช่วงไตรมาสอื่นในรอบปี เพราะช่วงปลายปีจะมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามามาก เพื่อรองรับการขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่
ยกเว้นไตรมาส 4 ปี 2551 ที่การส่งออกขยายตัวติดลบมากถึงลบ 10.72% เพราะเป็นช่วงเริ่มเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ ซึ่งต่อมาได้ขยายผลเป็นวิกฤตการเงินโลก จนทำให้ยอดการส่งออกในเดือนพ.ย. ขยายตัวติดลบ20.89% และธ.ค.ติดลบ 14.56% ก่อนลามมาถึงปี 2552 นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลายฝ่ายเชื่อว่าพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่สัญญาณว่าการส่งออกไตรมาสสุดท้ายปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวกลับมาเป็นบวกก็ยังไม่ชัดเจน ท่ามกลางคาดการณ์เศรษฐกิจที่เติบโตแบบเปราะบาง
มองได้จาก 2 ปัจจัย คือกำลังซื้อลูกค้าตลาดต่างประเทศกลับมาเป็นปกติจริงแล้วหรือไม่เพราะหากดูยอดการส่งออกเดือนก.ย. ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงออกมา ว่ามีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบปี 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกกลุ่มทองคำที่มากถึง 1,013 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 163% เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูงมากทะลุ 1,060 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เมื่อนำการส่งออกทองคำมาหักส่วนนี้ออกไป จะทำให้การส่งออกในเดือนก.ย.นี้ ติดลบมากกว่า 10% ขึ้นไป
เพราะภาพการส่งออกเดือนก.ย.โดยรวมพบว่ายังมีหลายกลุ่มสินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวติดลบ 15.1%สินค้าที่ส่งออกลดลง เช่น ข้าวลด 12.6% ยางพาราลด 50.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลด46.3% ปริมาณลดลง 157.5% สินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 5.4% สินค้าสำคัญที่ลดลงยานยนต์และส่วนประกอบ 24.1% เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.9% สิ่งทอ 12.5% วัสดุก่อสร้าง16.8% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 5.3%
อีกปัจจัย คือหากคำสั่งซื้อสินค้าช่วงปลายปีเริ่มกลับมาเป็นปกติจริง แต่การส่งออกสินค้าไตรมาส 4 ยังต้องเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตสินค้า เพื่อมารองรับออร์เดอร์สินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการหรือไม่ สะท้อนได้จากตัวเลขนำเข้าที่ลดลงมาตลอด 9 เดือนเช่นกัน ซึ่งเดือนก.ย. การนำเข้าติดลบเพิ่ม 17.9% ทำให้ 9 เดือน ติดลบสะสม 32.7%
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าทุนและวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เดือนก.ย.สินค้าทุนนำเข้าลดลง 8.2% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปนำเข้าลดลง 38.7% ซึ่งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนการนำเข้ามากถึง 60% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย เพราะตั้งแต่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กลดการสต๊อกวัตถุดิบ โดยจะนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตก็ต่อเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อลดต้นทุนให้กับธุรกิจ
ดังนั้น การนำเข้าวัตถุดิบในเดือนส.ค.-ก.ย.จึงมีผลต่อการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในเดือนถัดไป หรือช่วงสุดท้ายของไตรมาส 4 เมื่อตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบยังลดลงแบบนี้ มีความเป็นไปได้ว่ากำลังการผลิตของผู้ประกอบการการไทย น่าจะไม่เพียงพอต่อคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาได้ทัน
เมื่อเป็นอย่างนี้การตั้งธงของกระทรวงพาณิชย์ ว่าส่งออกไตรมาส 4 จะขยายตัวเป็นบวก 3-5% จึงไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่หวังไว้ และสิ่งนี้ย่อมต้องลามไปถึงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี ต้องติดลบมากกว่าลบ 10% ถึง ลบ 13% แน่
ที่มา: http://www.depthai.go.th