นครซีอาน (Xi’an) มณฑลส่านซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2009 16:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

“นครซีอาน” ตั้งอยู่ใจกลางของแผ่นดินจีน ไม่มีทางออกสู่ทะเล ในอดีตคือเมืองธุรกิจการค้าสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมอันเลื่องชื่อเชื่อมโลกตะวันออกสู่ตะวันตก

ซีอานเป็นเมืองเอกของมณฑลส่านซี มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทั้งงานวิจัย การศึกษาระดับสูง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีล้ำยุค-ไฮเทค ซีอานเพิ่งจะเปิดออกสู่โลกภายนอกในปี 2535 โดยจีนกำหนดใช้ซีอานเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปให้ติดต่อถึงกันได้โดยทางถนนและรถไฟ

การค้าระหว่างประเทศของมณฑลส่านซี (นครซีอาน) ในปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวม 8,368 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่านซีส่งออกไปทั่วโลก 5,407 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่านซีนำเข้าจากทั่วโลก 2,961 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของมณฑลส่านซีเพิ่มขึ้นสูงกว่า ร้อยละ 12 ติดต่อกัน 6 ปี ในปี 2551 GDP ของส่านซีเพิ่มขึ้น 15.6% สูงเป็นลำดับที่ 4 ของจีน ทั้งนี้ในปีเดียวกันนี้ GDP ของซีอานเพิ่ม ร้อยละ 12.9

การค้าระหว่างไทยกับมณฑลส่านซี (นครซีอาน) ปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวม 69.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยไทยนำเข้า 64.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยส่งออก 4.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนตลาดของไทยยังน้อยอยู่มาก ในขณะที่โอกาสทางการค้าของไทยมีสูงสามารถขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกของไทยได้อีกมาก สินค้าที่ไทยส่งออกไปส่านซีในปัจจุบัน ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก แผงวงจรรวมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และผลไม้

ส่านซีมีท่าอากาศยานสำคัญ 3 แห่ง โดยเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ 1 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติซีอาน-เสียนหยาง (Xi’an Xianyang International Airport) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เปิดให้บริการทั้งเส้นทางบินภายในและระหว่างประเทศกว่า 119 เส้นทาง ไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศและเส้นทางบินตรงไปยังฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และประเทศในยุโรปบางประเทศ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นถึง 10 ล้านคนและรองรับปริมาณสินค้าในคลังสินค้าได้ 130,000 ตันต่อปี ท่าอากาศยานที่สำคัญอีก 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเมืองฮั่นจง (Hanzhong Airport) และท่าอากาศยานเมืองเหยียนอัน (Yan'an Airport) เนื่องจากเป็นมณฑลตอนในและไม่มีทางออกทะเล ส่านซีจึงมีข้อจำกัดด้านการคมนาคมขนส่ง และการเชื่อมโยงกับตลาดโลก แม้ว่าจะมีเครือข่ายทางหลวงและรถไฟเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนอย่างสมบูรณ์ก็ตาม

ในนครซีอานมีอุตสาหกรรม 36 ประเภทดำเนินกิจการอยู่ในซีอาน อาทิ อุตสาหกรรมการบินและการทหาร การผลิตเครื่องจักรกล ยานพาหนะเพื่อการคมนาคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมน้ำมัน สิ่งทอ เวชภัณฑ์ การผลิตและแปรรูปอาหาร การผลิตเครื่องดื่ม การผลิตแร่โลหะ การผลิตแร่อโลหะ อุตสาหกรรมเบาอื่นๆ ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของนครซีอานมีความแข็งแกร่งและก้าวหน้าเป็นอันดับที่สามของประเทศ

ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติชั้นนำ 29 แห่งได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในส่านซี เช่น Nissan, Toshiba, Metro, Pepsi, McDonald’s และ Nestle เป็นต้น โดยศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญที่สุดอยู่ที่นครซีอาน คิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการลงทุนรวมของส่านซี

พื้นที่ นครซีอานมี 4 อำเภอ แบ่งเป็น 9 เขต ขนาดพื้นที่รวม 9,983 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ อำเภอหลานเถียน โจวจื้อ หู่เสี้ยน และเกาหลิง และเขต 9 เขต ประกอบด้วย ซินเฉิง หลินเปย เหลียนหู ป้าเฉียว เว้ยยาง เหยียนถ่า เหยียนเหลียง หลินธง ฉางอาน

จำนวนประชากร ซีอานมีพลเมือง 7.5 ล้านคน 2.0 ล้านครอบครัว เป็นชาย 3.8 ล้านคน หญิง 3.6 ล้านคน เป็นประชากรในเขตชนบท 6.7 ล้านคน และผู้ที่มิได้มีอาชีพทางเกษตรกรรม 3.4 ล้านคน

เชื้อชาติ ซีอานมีชนกลุ่มที่เข้ามาตั้งรกรากทั้งหมด 50 กลุ่ม เป็นชนกลุ่มน้อย 49 กลุ่ม ซึ่งมีจำนวน 85,300 คน คิดเป็น 1.15 % ของประชากรทั้งนคร ส่วนมากเป็นชนกลุ่มหุยซึ่งมีจำนวน 64,216 หมื่นคน คิดเป็นสัดส่วน 75.28% ของชนกลุ่มน้อยทั้งหมด ชนกลุ่มแมนจู 9,928 คน มองโกล 3,086 คน เกาหลีเหนือ 1,133 คน จ้วง 1,201 คน ถู่เจีย 1,060 คน จั้ง 848 คน เวยอู่เออร์ 690 คน แม้ว 655 คน และชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ เขตเหลียนหู เป็นเขตที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากที่สุด ประมาณ 35,000 คน เป็นชนกลุ่มหุย 32,000 กว่าคน

ศาสนา ประวัติศาสตร์การนับถือศาสนาของชาวนครซีอานมีมานมนาน ได้แก่ พุทธ เต๋า อิสลาม คริสต์

  • ศาสนาพุทธเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ซีอานในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (2 ปีก่อนคริสตกาล) วัดสำคัญได้แก่ วัดต้าฉือเอิน วัดต้าซิ้งซ่าน วัดวั้วหลง วัดฉ่าวถัง ฯลฯ
  • ลัทธิเต๋าเผยแผ่สู่ซีอานสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 215) อารามสำคัญได้แก่ โหลกวาน วังแปดเทพ วังจ้งหยาง เป็นต้น
  • ศาสนาอิสลามเผยแผ่สู่ซีอานสมันราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 651) มัสยิดสำคัญได้แก่ มัสยิดฮว่าเจี๋ยเซี่ยง เป็นต้น
  • ศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิคเผยแผ่สู่ซีอานสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1625) ได้แก่ โบสถ์อู่ซิงเจีย เป็นต้น
  • ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์เผยแผ่สู่ซีอานสมัยปลายราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1887) โบสถ์สำคัญได้แก่ โบสถ์ตงกวานหลี่ไป้ โบสถ์หนานซินเจียหลี่ไป้ เป็นต้น

ประชากรที่นับถือศาสนาในนครซีอานมีราวแสนกว่าคน มีผู้รับใช้ศาสนากว่า 500 คน ลานแสดงกิจกรรมทางศาสนา 200 แห่ง เจดีย์ห่านป่าใหญ่ในวัดต้าฉือเอิน และมัสยิดฮว่าเจี๋ยเซี่ยงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นปูชนียสถานสำคัญของประเทศจีน

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโดยสังเขป นครซีอานเดิมเรียกว่า ฉางอัน ในบันทึกของมาร์โคโปโล นักสำรวจชาวอิตาลีได้กล่าวไว้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายไหมที่มีชื่อเสียง ที่แห่งนี้มี ประวัติศาสตร์กว่าล้านปี เริ่มตั้งแต่

  • ยุคหินเก่า โดยมี การขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณหลานเทียน
  • สมัยยุคหินใหม่ราวหกถึงเจ็ดพันปีก่อน มีการสร้างชุมชนหมู่บ้านขึ้นที่หมู่บ้านปั้นพัว ซึ่งเป็นสมัยที่สังคมเน้นการสืบเชื้อสายจากมารดา
  • ราว 3,100 ปีก่อน ราชวงศ์กว่า 12 ราชวงศ์ได้แก่ โจว ฉิน ฮั่น ถัง ได้สร้างเมืองหลวงขึ้น ณ นครซีอาน
  • เมื่อ 1,100 กว่าปีมานี้ ประเทศจีน คิดว่าตนเป็นประเทศศูนย์กลางของโลก โดยศูนย์กลางของประเทศจีนที่เรียกว่า ต้าตี้หยวนเตี่ยน ก็ตั้งอยู่ในนครซีอาน
  • สมัยราชวงศ์ฉินได้สร้างวังอาฝางที่มีชื่อเสียง และบนเขาลี่ซานอันกว้างใหญ่ ก็ซ่อนฝังหลุมพระศพจักรพรรดิ ฉินพร้อมสมบัติล้ำค่าและสิ่งมหัสจรรย์ต่างๆมากมาย
  • สมัยราชวงศ์ฮั่นและถัง ซีอานกลายเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการทูตของประเทศจีน และของโลก

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ นครซีอานมีหน้าที่นำความเจริญด้านตะวันออกของจีนมาพัฒนาด้านตะวันตก โดยการเชื่อมต่อภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ด้วยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง ข้อได้เปรียบเด่นชัดของนคร ซีอานแบ่งเป็น 3 ประการ คือ

  • หนึ่ง ซีอานมีทรัพยากรที่มีค่าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ
  • สอง ข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงและด้านการศึกษารวมถึงงานวิจัยระดับประเทศในศาสตร์ต่างๆ
  • สาม ข้อได้เปรียบแง่ศูนย์กลางข้อมูล การคมนาคม และศูนย์กลางการค้าการเงินระดับภูมิภาคที่จีนกำหนดเป้าหมายไว้

ด้านเศรษฐกิจ ข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งทำให้ซีอานเป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญทางการค้าการเงิน ข่าวสารรวมทั้งการคมนาคม นครซีอานยังเป็นจุดบรรจบกันของเขตเศรษฐกิจสำคัญสองเขต คือ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและหน้าต่างเชื่อมเขตภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือไล่ลงตะวันตกเฉียงใต้ผ่านที่ราบตอนกลางใต้แม่น้ำหวงเหอ และเชื่อมเขตตะวันออกเข้ากับเขตภาคเหนือของจีน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 นครซีอานได้เร่งพัฒนาเมืองให้เป็นสากล เป็นเมืองแห่งการค้า แหล่งวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อมที่ดี เศรษฐกิจทั้งนครพัฒนาด้วยความมั่นคง ต่อเนื่องและรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มวลรวม 127,014 ล้านหยวน รายได้เข้าคลังรวม 20,249 ล้านหยวน เป็นรายได้ของคลังในพื้นที่ 8,397 ล้านหยวน

นครซีอานเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกตอนกลาง ปัจจุบันมีบริษัทของรัฐบาลกลาง รัฐบาลมณฑล รัฐบาลนคร จัดตั้งอยู่ในซีอานจำนวน 77 , 71, และ 637 บริษัท ตามลำดับรวม 785 บริษัท จัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 80 บริษัท ขนาดกลาง 70 บริษัท ขนาดเล็ก 635 บริษัท เป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้นควบคุมอยู่ 367 บริษัท และรัฐไม่ได้ครอบครองหุ้น 418 บริษัท มีพนักงานในกิจการอุตสาหกรรมราว 1.09 ล้านคน เป็นสัดส่วน 28% ของประชากรทั้งเมืองที่มีงานทำ รายได้เข้าคลังจากภาษีกิจการอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 48.5% ของรายได้ทั่วทั้งเมืองที่เก็บเข้าคลัง มูลค่าผลิตภัณฑ์นำเข้าส่งออกภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 60% ขึ้นไปของมูลค่าการนำเข้าส่งออกทั้งหมดของเมือง ซึ่งเป็นพลังสำคัญสนับสนุนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเป็นพื้นฐานสังคมที่มีเสถียรภาพของเมืองนี้

นับแต่ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนาการการปรับปรุงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของนครซีอาน ดำเนินการ 3 ช่วง

1. แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 และ 2 เป็นขั้นตอนการสร้างโครงการสำคัญระดับประเทศ 156 รายการ มี 17 รายการที่ดำเนินการที่ซีอาน โดยกำหนดให้ซีอานเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญทางตอนในของประเทศที่เน้นด้านเครื่องจักรกลและสิ่งทอ

2. ขั้นตอนการก่อสร้างสานเสี้ยน (สานเสี้ยนหมายถึงแผนการป้องกันประเทศสมัยเหมาเจ๋อตุง ปี ค.ศ. 1960) เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหาร และอุตสาหกรรมหนัก อันเป็นขั้นตอนการวางรากฐานทางอุตสาหกรรม

3. การปรับโครงสร้างหลังการปฏิรูปและการเปิดประเทศ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมในซีอานเริ่มจากการวางแผนและกำหนดขอบเขตการจัดสร้างจากระดับประเทศก้าวเข้าสู่การเร่งพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม และระดมเงินทุน เพื่อให้เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมทั้งระบบพัฒนาก้าวหน้าต่อไป

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของนครซีอานมีความแข็งแกร่งและก้าวหน้าเป็นอันดับที่สามของประเทศ มีศูนย์กลางพัฒนาเทคโนโลยีระดับประเทศ 4 แห่ง ระดับมณฑล 34 แห่ง มีสถาบันวิจัยระดับประเทศมากมาย มีอุตสาหกรรมชั้นนำระดับประเทศต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกและโทรคมนาคม เครื่องมือวัดต่างๆ ออปติกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ

ด้านเกษตรกรรม ผลผลิตหลักทางการเกษตรคือ ข้าวสาลี และข้าวโพด พืชเศรษฐกิจได้แก่ ฝ้าย วัสดุที่ได้จากพืชน้ำมัน ผัก ผลไม้ เป็นต้น การทำเกษตร เน้นข้อได้เปรียบด้านการผลิตหลัก 4 ด้าน คือ ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ผัก และผลไม้ มีการสร้างเขตสาธิตด้านการเกษตร เขตสาธิตการเพาะปลูก เขตสาธิตงานปศุสัตว์การเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรกรรมของทั้งนครมีมูลค่า 6.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1 %

ด้านการพัฒนาประเทศ นครซีอานมีแผนพัฒนาปรับปรุงเมืองในทุกๆด้านเพื่อนำไปสู่สังคมแห่งชนชั้นกลางที่มีพลังจับจ่ายใช้สอย ปัจจุบันแผนปรับปรุงนครซีอานอยู่ในขั้นตอนที่สอง คือช่วงปี ค.ศ. 2007 - 2015 ที่เน้นการพัฒนาอย่างรอบด้านให้เห็นผลชัดเจน จะต้องบรรลุดัชนีสำคัญที่ชี้วัดความเป็นสังคมแห่งผู้มีพลังจับจ่ายใช้สอย ให้ GDP และ per capital เพิ่มขึ้นสามเท่าก่อนเวลาที่กำหนด 5 ปี สำหรับขั้นตอน ต่อไปคือปี ค.ศ. 2016-2020 ดัชนีทุกด้านที่ชี้วัดสังคมแห่งผู้มีพลังจับจ่ายใช้สอยบรรลุผล สังคมมีความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การศึกษา รวมทั้งความกลมกลืนกันระหว่างเมืองและชนบท มีสาธารณูปโภค พื้นฐานของเมืองที่สมบูรณ์แบบ สภาพแวดล้อมสวยงาม เป็นเมืองเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ประชาชนอยู่ดีมีสุข ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 มีบริษัทในเครือยักษ์ใหญ่เช่น บริษัทซีเฟย (ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน) บริษัทซีเตี้ยน บริษัทส่านจ้งชี่ บริษัทส่านกู่ บริษัทส่านฉื่อ บริษัทซีอานสือฮว้า บริษัทปี่ย่าตี๋ บริษัทตงเซิ้ง บริษัทจินฮวา บริษัทฮ่ายซิง ฯลฯ จะได้รับการสนับสนุนให้มีมูลค่าการผลิตเกินกว่าหมื่นล้านหยวน การลงทุนด้านเทคโนโลยีของนครเป็นเงิน 5,835 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 33 % และมีผลิตภัณฑ์จาก 9 บริษัทที่มีแบรนด์ดังระดับประเทศ

ด้านการท่องเที่ยว รายได้รวมการท่องเที่ยวของเมืองคิดเป็นสัดส่วน 15.7% ของมูลค่า GDP รวมของทั้งเมือง ซีอานถือเป็นแหล่งอันอุดมไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันโด่งดังระดับโลกแห่งหนึ่ง นครซีอานเป็นเมืองโบราณทางวันธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานของชนชาวจีน มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองยาวนานถึง 3,100 กว่าปี มีราชวงศ์ถึง 13 ราชวงศ์ได้แก่ ราชวงศ์โจว ฉิน ฮั่น ถัง เป็นต้น มาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่นี่ ที่แห่งนี้ยังเป็นเมืองเปิดรับต่อโลกภายนอกและเป็นศูนย์ กลางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด เส้นทางสายไหมอันเลื่องชื่อก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

มรดกทางวัฒนธรรมของนครซีอานมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีสำนักงานคุ้มครองโบราณวัตถุที่สำคัญถึง 282 แห่ง เป็นสำนักงานคุ้มครองโบราณวัตถุที่สำคัญระดับประเทศถึง 34 แห่ง ระดับมณฑล 72 แห่ง มีโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ 1.2 แสนกว่าชิ้น สุสานจักรพรรดิปิงหม่าหย่งของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้รับสมญานามเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก กำแพงเมืองซีอานที่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีขนาดใหญ่และค่อนข้างสมบูรณ์ อีกทั้งมีวังโบราณต่างๆ เช่น วังถังต้าหมิง วังฉินอาฝาง เป็นต้น

ด้านการศึกษา เป็นเมืองที่มีความเจริญด้านการศึกษาระดับสูง เป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งและมีการศึกษาวิจัยในศาสตร์ต่างๆ ทั้งเป็นเขตสำคัญทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครซีอานจัดเป็นงานแนวหน้าระดับประเทศ ที่มีงานวิจัยและกำลังการผลิตอันแข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านการบิน อุปกรณ์แปลง สัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้วัดค่าต่างๆ ICT จักรเย็บผ้า รถยนต์ขนาดใหญ่ สิ่งทอ นาฬิกา เป็นต้น ปัจจุบันเขตวิจัยระดับประเทศที่ตั้งในซีอานมี 9 แห่ง มีสถาบันการศึกษาและวิจัยระดับสูงมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาที่ได้มาตรฐานระดับสากล และมีอุปกรณ์ทดสอบ และตรวจวัดที่ได้มาตรฐานอันดับหนึ่งของประเทศ

ด้านการคมนาคม เจริญก้าวหน้า มีเที่ยวบินนานาชาติ กลายเป็นเมืองศูนย์กลางเส้นทางการบินนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ การก่อสร้างถนนหลวงใช้ ซีอานเป็นจุดศูนย์กลางสร้างระบบถนนให้มีลักษณะแผ่ขยายดังรูปร่างตัวอักษร มีการสร้างถนนเชื่อมต่อในลักษณะเป็นวงล้อมรอบเมือง เรียกว่าวงล้อมที่สอง และสามเป็นต้น ทั้งยังสร้างทางเดินเท้าแบบสะพานลอยและทางข้ามถนนใต้ดิน เขตและอำเภอต่างๆเชื่อมต่อสู่ทางด่วนยกระดับ

แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 11 ของนครซีอานมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

การจัดวางรูปแบบเมือง เนื่องจากด้านตะวันออกเป็นเขตหลินธง ด้านตะวันตกติดกับเมืองเสียนหยาง ทางใต้ติดกับฉางอาน ทางเหนือติดแม่น้ำเว้ย ดังนั้นทางภาคตะวันออกจึงต้องการจัดตั้ง เส้นทาง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแห่งแม่น้ำเว้ย โดยลากเส้นทางการพัฒนาจากจุดเริ่มต้นที่หลินธง ซินจู้ เว้ยยางหู ฉ่าวทาน ป้อมลิ่วชุน ลากยาวถึง เสียนหยาง และด้านเหนือของเส้นทางหลงฮ่าย จะพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวนานาชาติหลินธง

  • ด้านตะวันตกจะสร้างเขตก่อสร้างร่วมซีเสียน (ซีอาน เสียนหยาง) ขึ้นที่รอยต่อขนาดใหญ่ของสองฝากแม่น้ำเหยียนเฟิ่ง
  • ด้านใต้จะอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวตอนใต้ของเชิงเขาฉินหลิงอย่างเหมาะสม
  • ด้านเหนือจะบุกเบิกและพัฒนาเขตทางเหนือของแม่น้ำเว้ยร่วมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญเพื่อการผลิตและประกอบชิ้นส่วน
การแบ่งเขตประสิทธิภาพใหญ่เก้าเขต
  • ในเขตกำแพงเมืองเก่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การค้าขาย การเงิน แหล่งสันทนาการ และฟื้นฟูลักษณะเมืองโบราณห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเขตเมืองจะเน้น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกิจการค้าปลีก
  • ด้านเหนือให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นศูนย์กลางเขตอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ และมีเขตพัฒนาสหศาสตร์ที่อยู่รอบศูนย์กลางการคมนาคม
  • ด้านใต้เป็นเขตการศึกษาและวิจัย ซึ่งเป็นเขตคาบเกี่ยวกับเขตศูนย์กลางฉางอัน เขตนี้จะเป็นเขตพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและเป็นเขตที่พักอาศัยระดับสูง รวมทั้งเป็นเขตสันทนาการ
  • ด้านตะวันออกจะปรับปรุงเขตอุตสาหกรรมสิ่งทอ ครอบคลุมถึงการบูรณะเส้นทางแม่น้ำฉ่านป้า และจัดตั้งศูนย์แสดงนิทรรศการ เขตที่พักอาศัยระดับบน และเขตสันทนาการเพื่อให้เป็นไป ตามแผนแม่น้ำฉ่านป้าแห่งความงาม(ฉ่านป้าต้าสุ่ยต้าลวี่)
  • ด้านตะวันตก ใช้ซานเฉียวเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เขตคลังสินค้า และเขตพัฒนาใหม่แห่งอุตสาหกรรมไร้มลพิษและที่พักอาศัย
  • ด้านตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาบริเวณเกาเคอจี้ (เขตพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูง) เป็นเขตที่พักอาศัยระดับบนและเขตสันทนาการ ขณะเดียวกันก็สร้างเขตเซินหลิน (เพิ่มพื้นที่สีเขียว) ที่อยู่รอบเมือง
  • ด้านตะวันตกเฉียงใต้ พัฒนาเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (เกาซิน)
  • ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ อนุรักษ์เขตมรดกฮั่นเฉิง ครอบคลุมถึงโครงการซีเสียน (ซีอาน เสียนหยาง) เพื่อพัฒนาเขตท่าอากาศยาน
  • ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างเป็นที่พักอาศัยระดับสูงและเขตสันทนาการ
เขตรองรับเขตศูนย์กลางของเมืองหกเขต
  • เขตรองรับศูนย์กลางหู้เสี้ยน เน้นการผลิตรูปแบบใหม่ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก
  • เขตรองรับศูนย์กลางหลินธง เน้นการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ผลผลิตแปรรูปจากผลพลอยได้ทางการเกษตร การผลิตเครื่องจักรกล เป็นหลัก
  • เขตรองรับศูนย์กลางซินจู้ เน้นเขตสันทนาการ การท่องเที่ยวและด้านโลจิสติกส์
  • เขตรองรับศูนย์กลางเหยียนเหลียง เน้นอุตสาหกรรมการบินเป็นหลัก
  • เขตรองรับศูนย์กลางอุตสาหกรรมจิ้งเหอ เน้นการผลิตรถยนต์ การแปรรูปผลพลอยได้ทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทรัพยากร และอุตสาหกรรม fine chemistry เป็นหลัก
  • เขตรองรับศูนย์กลางฉางอัน เน้นอุตสาหกรรม ไฮเทค อุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นหลัก เพื่อให้เป็นเขตศูนย์กลางของเมือง
  • ในปี ค.ศ. 2010 จะมีเขตศูนย์กลางขนาดใหญ่ของเมืองแห่งใหม่อีกสี่แห่งได้แก่ เกาหลิน โจวจื้อ หู้จื้อ หลันเทียน

แผนการฟื้นฟูเมือง เนื่องจากมีการโยกย้ายที่ทำการของรัฐบาลออกไปด้านนอก ปี ค.ศ .2010 ภายในกำแพงเมืองโบราณที่สร้างในสมัยราชวงศ์ หมิงจะลดจำนวนประชากรลงเหลือ 380,000 คน และเน้นการอนุรักษ์และก่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามของกำแพงเมืองได้แก่ สร้างเขตประวัติศาสตร์เหลียนหู เขตถนนประวัติศาสตร์เป่ยเหยี้ยนเหมิน และเขตถนนประวัติศาสตร์ถนนสานเสวี้ย และถนนสามสาย คือถนนวัด เซียงจือ ตรอกเต๋อฟู๋ แหล่งจู๋ปา เพื่ออนุรักษ์และก่อสร้างมรดกวังต่างๆในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นต้น

การสร้างถนนหลวง สร้างเครือข่ายถนนหลวงระดับสูงตามโครงการ “ หนึ่งวงล้อมสองเส้นขวางสิบเครือข่ายโยงใย” เพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง โดยใช้เวลาเพียงสิบนาทีจากใจกลางเขตต่างๆ เดินทาง ไป ยังทางด่วนยกระดับ ใช้เวลาห้าสิบนาทีเดินทางจากใจกลางเมืองถึงใจกลางอำเภอต่างๆ ใช้เวลาหกสิบนาทีเดินทางจากใจกลางเมืองไปยังเขตชนบทที่สำคัญหรือเขตพัฒนา ศูนย์กลางการผลิต เขตท่อง เที่ยวและเขตพัฒนาทรัพยากรเหมืองแร่ และเมื่อถึงปี ค.ศ . 2010 อัตรารถโดยสารที่เข้าถึงเขตชนบทจะบรรลุถึง100% อัตรารถโดยสารที่เข้าถึงตัวหมู่บ้านชนบทจะมีถึง 95% ขึ้นไป

เส้นทางรถไฟ ปี ค.ศ .2010 เส้นทางรถไฟที่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้แก่ เส้นทางพิเศษซีอาน- เจิ้งโจว เส้นทางซีอาน- ผิงจิง ทางรถไฟทางคู่ ซีอาน- อันคัง- ฉงชิ่ง ขยายเส้นทางซีอาน- เหยียนอาน ปรับปรุงและขยายเส้นทาง ซีอาน- โฮ่วหม่า และสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ซีอาน- เป่าโถว จำนวนผู้โดยสารจะมากถึง 19.5 ล้านคนต่อปี มีขบวนรถ 145 คู่ขบวนต่อวัน ปริมาณสินค้าที่ขนส่งจะมีถึง 180 ล้านตันต่อปี

เส้นทางคมนาคมในเมือง
  • สร้างรถไฟใต้ดินสายที่สองเสร็จตามแผนการสร้างระยะที่หนึ่ง
  • เร่งสร้างถนนล้อมเมืองรอบที่สามทางตะวันออก - ตะวันตก และถนนล้อมรอบเมืองรอบที่สองสายตงเหยียน ถนนฉางเล่อ ถนนเคอจี้ เป็นต้นให้เสร็จสมบูรณ์
  • ก่อสร้างและปรับปรุงส่วนถนนภายในวงล้อมเมืองรอบที่สอง ให้ถนนและตรอกซอยเชื่อมถึงกันได้ ปรับปรุงถนนวงล้อมรอบที่สามให้เชื่อมต่อถนนในเมือง
  • สร้างฟุตบาต สะพานลอย ทางข้ามถนนใต้ดิน ที่จอดรถ และสาธารณูปโภคอำนวยความสะดวกต่างๆ

ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียเจ็ดแห่ง ทำให้เขตตั้งแต่ภายในวงล้อมรอบเมืองรอบที่สามปราศจากมลพิษจากถ่านหินและมีท้องฟ้าสดใส

การสร้างชนบทใหม่ ให้นักเรียนชนบทไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจิปาถะ เสนอให้นักเรียนจากครอบครัวยากจนเรียนฟรีพร้อมมอบเงินอุดหนุนด้านที่พักและค่าใช้จ่ายประจำวัน มีการถ่ายทอดรายการ “ ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน” เพื่อขจัดความไม่รู้ให้หมดไป ปรับปรุงระบบสาธารณสุข และระบบบริการการตรวจรักษาโรคในชนบท ปรับปรุงและขยายสาธารณสุขหมู่บ้าน 83 แห่ง ปรับปรุงและก่อสร้างถนน และเส้นทางในชนบท 4580 กิโลเมตร เพื่อใช้เวลา 20 นาทีสำหรับเดินทางถึงหมู่บ้านใกล้เคียง

แผนการศึกษา ให้เยาวชนในชนบทนับแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่นได้รับการศึกษาตามวัยที่กำหนด ปี ค.ศ. 2010 ทั้งเมืองมีอัตราการเข้าเรียนชั้นประถม และอัตราการเลื่อนชั้นเรียนถึง 99.9% อัตราการเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมต้นและอัตราความหนาแน่นในชั้นเรียนมัธยมต้นสามปีจะรักษาระดับที่ 98% ขึ้นไป

การประกันสังคม สร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยต่างๆแห่งใหม่รวม 10 แห่ง

ประปา ไฟฟ้า และก๊าซ
  • ปรับปรุงและสร้างโรงงานประปา โดยในปี ค.ศ. 2010 เขตหลักของเมืองจะมีกำลังผลิตน้ำประปาได้ 2.41 ล้านหน่วยลูกบาศก์เมตรต่อวัน
  • ปรับปรุงระบบก๊าซธรรมชาติของเมืองตามแผนระยะที่สองสำเร็จ ซึ่งตามแผนจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้วันละ 4.8 ล้านหน่วยลูกบาศก์เมตร อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของเมืองคือ 96%
  • ปรับปรุงและสร้างโรงไฟฟ้าและสถานีส่งไฟฟ้าแห่งใหม่ขึ้นเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น

บทสรุป ปัจจุบัน นครซีอานถือเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน จัดอยู่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของจีน และมีสิทธิพิเศษเทียบเท่าเมืองในมณฑลชายฝั่งอื่นๆ จึงมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดเมืองหนึ่งในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งนักธุรกิจไทยไม่อาจมองข้ามได้

สิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ซีอาน

แหล่งข้อมูล ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

ศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษากฎหมายการค้าของจีน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ