ช่องทางการตลาดและการกระจายสินค้าภาพยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 29, 2009 12:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การนำเสนอภาพยนต์เพื่อให้ผู้กระจายสินค้าภาพยนต์พิจารณา

อุตสาหกรรมภาพยนต์และโทรทัศน์ของสหรัฐฯมีมูลค่าปีละประมาณ 80 พันล้านเหรียญฯ บริษัทผู้ผลิตภาพยนต์รายใหญ่จำนวนหนึ่งถือครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ในมือ บริษัทเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้ผลิตภาพยนต์แล้วยังมีบริษัทกระจายภาพยนต์ของตนเองเพื่อนำภาพยนต์เหล่านี้ออกฉายสู่สาธารณชน การที่บริษัทโรงถ่ายภาพยนต์ใหญ่ๆมีบริษัทกระจายสินค้าของตนเอง ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจเพราะเมื่อภาพยนต์เรื่องใดไม่ทำเงิน โรงถ่ายจะต้องรับผิดชอบการขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดไว้คนเดียว ดังนั้นโรงถ่ายภาพยนต์ในสหรัฐฯในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้บริษัทกระจายสินค้าที่ไม่ใช่ของตนเองเพิ่มมากขึ้น บริษัทกระจายภาพยนต์ในสหรัฐฯนอกจากจะทำหน้าที่กระจายภาพยนต์แล้วบางบริษัทยังทำธุรกิจให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้สร้างเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนต์และแบ่งปันรายได้จากภาพยนต์นั้นตามสัดส่วนที่ได้มีการตกลงกันไว้

บริษัทผู้สร้างภาพยนต์รายอื่นๆรวมถึงผู้สร้างภาพยนต์อิสระที่ไม่มีบริษัทกระจายภาพยนต์ของตนเองจะนำเสนอภาพยนต์ของตนให้ผู้กระจายภาพยนต์พิจารณาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย มีการกล่าวกันว่าการสร้างภาพยนต์หนึ่งเรื่องง่ายกว่าการหาผู้กระจายภาพยนต์นั้นออกสู่ตลาด ความสำเร็จในการเข้าถึงผู้กระจายภาพยนต์ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ (1) การวางแผนการประชาสัมพันธ์ภาพยนต์ที่ตนสร้างขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายในหมู่สื่อและประชาชนทั่วไป(การสร้าง “buzz”)เพื่อให้เป็นที่สนใจของวงการ (2) เลือกติดต่อบริษัทผู้กระจายภาพยนต์ที่ตรงเป้าโดยการศึกษาและทำความเข้าใจถึงการทำธุรกิจและประวัติการทำธุรกิจของบริษัทผู้กระจายภาพยนต์ต่างๆว่ามีความเชี่ยวชาญหรือเน้นการทำธุรกิจไปที่ภาพยนต์ประเภทใด และเชี่ยวชาญหรือถือครอง niche market ใด (3) มีภาพยนต์ที่เสร็จสมบูรณ์อยู่ในมือพร้อมที่จะให้บริษัทผู้กระจายภาพยนต์พิจารณา (4) ศึกษาและทำความเข้าใจตลาดการบริโภคที่เป็นตลาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับภาพยนต์ที่ต้องการเสนอขาย (5) รู้ความต้องการของตนเองว่าต้องการเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางการกระจายภาพยนต์ประเภทใด

ประเภทของช่องทางในการกระจายสินค้าภาพยนต์เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

การกระจายภาพยนต์เข้าสู่ช่องทางประเภทต่างๆที่นิยมปฏิบัติกันปกติแล้วจะอยู่บนพื้นฐานของกลยุทธในการกำหนดเวลาและลำดับของการกระจายภาพยนต์เข้าสู่ตลาดการบริโภค- sequential distribution ที่จะรักษาความสนใจของผู้บริโภคให้ต่อเนื่องและนานพอที่จะทำรายได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ทำการตลาดจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อตัดสินว่าจะเริ่มต้นที่ช่องทางใดที่จะสามารถสร้างโอกาสทำรายได้ให้แก่ภาพยนต์เรื่องนั้นได้มากที่สุด

กลยุทธในการกำหนดเวลาและลำดับของการกระจายสินค้าภาพยนต์เข้าสู่ตลาดที่นิยมใช้กันทั่วไปมาเป็นเวลานานคือ เริ่มต้นที่ช่องทางการกระจายสินค้าหลักคือโรงภาพยนต์ ตามติดมาด้วยการปลอ่ ยออกสู่ตลาดค้าปลีกในรูปของการขายหรือการให้เช่า DVD หลังจากนั้นจะเปน็ การนำออกเสนอฉายทางสถานีโทรทัศนที่เป็นช่องเคเบิ้ลหรือส่งผ่านสัญญาณดาวเทียมที่เป็นสำหรับตลาดระดับบน และท้ายสุดเป็นการฉายออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ธรรมดา

ปัจจุบันช่องทางการกระจายภาพยนต์ออกสู่ตลาดค้าปลีกและสู่ผู้บริโภคในวงกว้างในเวลาที่รวดเร็วมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่ชั้นสูง และขนาดของกลุ่มผู้บริโภคที่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี่ชั้นสูงเหล่านี้ในชีวิตประจำวันที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้วิธีการกระจายภาพยนต์เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไปจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เกิดกลยุทธการตลาดแบบใหม่ที่เป็นการย่นระยะเวลาและ/หรือเปลี่ยนลำดับการกระจายสินค้าจากระบบหนึ่งเข้าสู่อีกระบบหนึ่ง โรงภาพยนต์อาจจะไม่ใช่ช่องทางหลักของการกระจายสินค้าอีกต่อไป แม้ว่าขณะนี้การกระจายสินค้าภาพยนต์ส่วนใหญ่ยังคงเริ่มต้นที่โรงภาพยนต์ แต่มีภาพยนต์หลายๆเรื่องที่เริ่มต้นการกระจายสินค้าที่ช่องทางการกระจายสินค้าอื่นก่อนการออกฉายในโรงภาพยนต์หรือในบางกรณีพร้อมๆไปกับการออกฉายในโรงภาพยนต์อย่างไรก็ดี กลยุทธการกระจายสินค้าแบบใหม่นี้เพิ่งจะถูกนำมาใช้ในตลาดสหรัฐฯได้ไม่นานและยังไม่มีงานวิจัยศึกษาว่าเป็นกลยุทธการตลาดที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตหนังและสามารถเข้าไปแทนที่ระบบการกระจายสินค้าแบบดั่งเดิมได้อย่างเต็มที่

ช่องทางการกระจายภาพยนต์ไปยังผู้บริโภคในปัจจุบันได้แก่

(1) โรงภาพยนต์ ทั้งที่เป็นโรงภาพยนต์ชั้นหนึ่งและโรงภาพยนต์ชั้นสอง โดยปกติแล้วการฉายภาพยนต์เรื่องใหม่ๆจะเริ่มที่โรงภาพยนต์ชั้นหนึ่งเท่านั้น

(2) ร้านจำหน่ายและ/หรือให้เช่าวิดิโอ

(3) สถานีโทรทัศน์ปกติและสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการผ่านทางเคเบิ้ลหรือสัญญาณดาวเทียม

(4) สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลที่ต้องชำระเงินค่าดู (Pay Per View, Movie Channel)

(5) การเช่าหนังผ่านทางระบบ Internet (Netflix-มีภาพยนต์ต่างประเทศให้เช่าจำนวนมาก)

(6) การฉายผ่านทางคอมพิวเตอร์ (ระบบ Internet, YouTube)

(7) การหยอดเงินเช่าจากตู้ที่ติดตั้งตามหน้าร้านค้าปลีกและตลาด (ปัจจุบันมีตู้หยอดเหรียญฯให้เช่าภาพยนต์เพียงครั้งละ 1 เหรียญฯต่อหนึ่งเรื่อง ตั้งอยู่ทั่วไป)

(8) โทรศัพท์มือถือ

ขณะนี้การตลาดและกระจายสินค้าในรูปแบบที่ (5) ถึง (8) กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภครุ่นใหม่ในวัยหนุ่มสาว ปัจจุบันมีเว็บไซด์ในสหรัฐฯเกินกว่า 50 ไซด์ที่มีภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ให้ผู้บริโภคดู เช่า หรือดาว์นโลด เว็บไซด์เหล่านี้มีทั้งที่เป็นของสถานีโทรทัศน์เครือข่ายเช่น สถานีโทรทัศน์ ABC ผู้ประกอบธุรกิจขายรายการให้ดู (pay televisions) เช่นสถานีโทรทัศน์ช่อง HBO ไซด์ที่เป็นเครือข่ายการสมาคมเฉพาะกลุ่ม (social networking) เช่น MySpace ธุรกิจค้าปลีกเช่น AMAZON.Com ธุรกิจให้เช่าภาพยนต์ เช่น NETFLIX ระบบเครื่องเล่นเกมส์ต่างๆเช่น PlayStation, Xbox และธุรกิจรูปแบบใหม่ๆที่ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะเช่น Hulu และ TV.com

ขั้นตอนคร่าวๆของการกระจายภาพยนต์เข้าสู่โรงภาพยนต์

ขั้นตอนที่ 1 การหาสินค้า

เมื่อบริษัทกระจายสินค้าสนใจภาพยนต์เรื่องใดจะต่อรองและทำข้อตกลงกับโรงถ่ายเจ้าของภาพยนต์เพื่อให้ได้สินค้ามากระจายเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ทางเลือกในการทำข้อตกลงโดยปกติแล้วมีอยู่สองรูปแบบด้วยกันคือ

1. การเช่า - leasing ที่ผู้กระจายสินค้าภาพยนต์ตกลงจ่ายชำระเงินจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อลิขสิทธิ์นำหนังออกฉาย โดยปกติแล้วการทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์จะรวมถึงการยินยอมให้ผู้กระจายสินค้ากระจายภาพยนต์เหล่านั้นออกทางสื่อประเภทอื่นๆที่รวมถึงแผ่นดีวีดี การฉายผ่านทางสถานีโทรทัศน์เครือข่ายหรือสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ล หรือแม้กระทั่งการนำเสียงไปบันทึกลงในซีดี การทำโปสเตอร์ เกมส์ ของเล่น หรือสินค้า เป็นต้น

หรือ

2. การแบ่งปันผลประโยชน์- profit-sharing ระหว่างผู้กระจายสินค้าและโรงถ่าย โดยแบ่งปันเปอร์เซ็นต์กำไรสุทธิจากรายได้ของหนัง โดยปกติผู้กระจายสินค้าจะได้ส่วนแบ่งระหว่าง 10- 50 เปอร์เซ็นต์

ขั้นตอนที่ 2 การวางกลยุทธ์ด้านการตลาด

เมื่อบริษัทผู้กระจายสินค้าได้ลิขสิทธิ์ภาพยนต์เรื่องใดแล้วจะเริ่มวางกลยุทธการตลาดที่จะนำภาพยนต์เรื่องดังกล่าวเข้าสู่ตลาดโดยอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆดังนี้คือ

1. ความมีชื่อเสียงของโรงถ่ายเจ้าของหนัง

2. ความมีชื่อเสียงของดารา

3. ความ”ดัง-buzz”ของภาพยนต์ (ข่าว ข้อวิจารณ์ และความคาดหวังที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้นก่อนที่ภาพยนต์เรื่องนั้นจะออกสู่สายตา)

4. กลุ่มผู้ดูเป้าหมาย

5. ฤดูกาล (ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเนื้อหาของภาพยนต์เรื่องนั้นๆ)

ภาพยนต์ที่มีศักยภาพสูงคือภาพยนต์ที่สร้างโดยโรงถ่ายที่มีชื่อเสียง มีเนื้อเรื่องที่ดี และมีดารานำแสดงที่มีชื่อเสียง ผู้กระจายภาพยนต์จะนำเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้มาพิจารณาเพื่อตัดสินจำนวนของสำเนาภาพยนต์เรื่องนั้นที่จะกระทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายไปฉายในที่ต่างๆ การทำสำเนาภาพยนต์หนึ่งเรื่องสำหรับฉายในโรงภาพยนต์จะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,500.00 เหรียญฯ ต่อหนึ่งสำเนา

ขั้นตอนที่ 3 การขายต่อภาพยนต์

บริษัทผู้กระจายสินค้าจะต่อรองขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ-buyers ที่ทำหน้าที่แสวงหาสินค้าและต่อรองกับบริษัทผู้กระจายสินค้า โรงภาพยนต์ส่วนใหญ่จะใช้ผู้ซื้อ-buyers เป็นตัวกลางต่อรองกับบริษัทผู้กระจายสินค้า โรงภาพยนต์เครือข่ายขนาดใหญ่จะจ้าง buyers เป็นลูกจ้างประจำในขณะที่โรงภาพยนต์ขนาดเล็กจะใช้การทำสัญญาจ้างเป็นครั้งๆไป ผู้ซื้อภาพยนต์ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพในการทำรายได้ของหนังเรื่องนั้นๆแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังคำนึงถึงโอกาสในอนาคตที่จะได้ภาพยนต์ดีๆจากผู้กระจายภาพยนต์ ดังนั้นบางครั้งผู้ซื้อภาพยนต์จะซื้อภาพยนต์ที่โรงภาพยนต์อาจจะไม่สนใจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้กระจายภาพยนต์ และภาพยนต์ที่มีศักยะภาพสูงก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จและทำรายได้ให้แก่ผู้สร้าง

ขั้นตอนที่ 4 การซื้อภาพยนต์ไปฉาย

วิธีการที่โรงภาพยนต์จะซื้อภาพยนต์ไปฉายมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีคือ

(1) การประมูล โรงภาพยนต์จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อลิขสิทธ์นำหนังออกฉาย กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้ที่โรงภาพยนต์ได้รับจากการฉายหนังเรื่องนั้นๆ

(2) การคิดเปอร์เซ็นต์และแบ่งจากรายได้การจำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนต์ระหว่างเจ้าของโรงภาพยนต์และผู้กระจายภาพยนต์ ตามแต่จะตกลงกันในรายละเอียด

ขั้นตอนที่ 5 การจ่ายชำระเงินและการคืนภาพยนต์

เมื่อสิ้นสุดการฉายภาพยนต์ โรงภาพยนต์จะจ่ายเงินในส่วนที่ได้มีการตกลงกันว่าจะเป็นของผู้กระจายภาพยนต์และคืนสำเนาภาพยนต์ที่นำมาฉาย

การกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางใหม่ๆสำหรับผู้สร้างหนังรายย่อยหรือผู้สร้างหนังอิสระ

การเข้าถึงช่องทางกระจายภาพยนต์ในระบบปกติเพื่อเข้าสู่โอกาสการฉายภาพยนต์ในโรงภาพยนต์ เป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบากสำหรับผู้สร้างภาพยนต์รายย่อยๆหรือผู้สร้างอิสระส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินทุนและอิทธิพลมากพอ ช่องทางกระจายภาพยนต์หรือการนำภาพยนต์ออกสู่สายตาของสาธารณะชนที่เป็นทางเลือกอื่นของผู้สร้างภาพยนต์กลุ่มนี้ ได้แก่

1. พิพิธภัณฑ์

2. สวนสาธารณะ

3. ห้องประชุมมหาวิทยาลัย

4. ห้องประชุม/โรงยิม โรงเรียนมัธยมปลาย

5. ร้านค้าปลีกเครื่องมือและอุปกรณ์การถ่ายภาพยนต์

6. ร้านขายคอมพิวเตอร์ที่มีจอขนาดใหญ่ที่ปกติไว้ใช้ในการฝึกการใช้คอมพิวเตอร์ที่ร้านขายเช่น ร้านขายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Apple ที่มียี่ห้อเป็นที่รู้จักกันดี มีสินค้าที่ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ มีลูกค้าเข้าร้านจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีซอฟแวร์สำหรับใช้ในการตัดแต่งหนังพร้อม จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่มีความพร้อมสูงที่จะเป็นช่องทางกระจายสินค้าแบบไม่เป็นทางการของผู้สร้างหนังสมัครเล่นหรือผู้สร้างหนังอิสระต่างๆ

7. ร้านอาหารที่มีห้องพิเศษสำหรับเลี้ยงแขกจำนวนมาก

8. สถานที่ทางศาสนา (สำหรับภาพยนต์ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง)

9. องค์กรไม่หวังผลกำไร (สำหรับภาพยนต์ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง)

10. ร้านขายเสื้อผ้าสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ ที่เป็นร้านที่มีนโยบายการตลาดแบบล้ำหน้าและที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง

11. สุสาน (สุสานในเมืองใหญ่ๆในสหรัฐฯส่วนใหญ่จะมีเนื้อที่กว้างขวางและมีการจัดตกแต่งสถานที่สวยงาม สุสานบางแห่งอาจจะมีเนื้อที่ไม่มากนักแต่อยู่ในทำเลที่ดีเช่น สุสานด้านหลังของโรงถ่ายภาพยนต์ Paramount ที่มีการปิกนิกและฉายภาพยนต์ทุกๆเย็นวันศุกร์ เป็นต้น)

12. โรงภาพยนต์/โรงละครขนาดเล็กในคอมมูนิตี้

13. country clubs

14. ห้องสมุดสาธารณะ

ผู้สร้างภาพยนต์อิสระสามารถใช้ช่องทางต่างๆข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้นในการแนะนำสินค้าและการเริ่มต้นการกระจายภาพยนต์ของตน ทั้งนี้จำเป็นต้องเลือกสถานที่ที่เหมาะสมและเข้ากับเนื้อหา ประเภทของภาพยนต์ และกลุ่มผู้ดูเป้าหมาย กลยุทธทางการตลาดที่นำมาใช้เมื่อนำภาพยนต์ออกฉายในสถานที่เหล่านี้อาจจะรวมถึง

1. การส่งคำเชิญผ่านทางระบบอิเลคโทรนิกส์ เช่น e-mail และโปสการ์ด ไปยังกลุ่มนักธุรกิจ/สื่อมวลชน/ผู้บริโภคเป้าหมาย

2. การขอการสนับสนุนจากธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเครื่องดื่มนำมาบริการผู้เข้าชม

3. เตรียมความพร้อมที่จะให้ข้อมูลเบื้องหลังการถ่ายโดยนำทีมงานครบชุดรวมถึงผู้ผลิต ผู้กำกับ และดารา ไปให้ข้อมูลและตอบคำถามแก่ผู้เข้าชมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน

4. เตรียมความพร้อมที่จะแจกสิ่งของสำหรับใช้ในการส่งเสริมการขาย เช่น ภาพ โปสเตอร์หนัง นามบัตร เป็นต้น

5. ทำการประชาสัมพันธ์การฉายภาพยนต์ไปยังสื่อต่างๆในท้องถิ่น

พฤติกรรมผู้บริโภคสหรัฐฯในการเลือกช่องทางกระจายภาพยนต์

สิ่งที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการตัดสินใจเลือกช่องทางกระจายภาพยนต์คือคุณภาพของภาพยนต์เรื่องนั้นๆ โรงภาพยนต์จะเป็นทางเลือกอันดับแรกสำหรับภาพยนต์ที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูง

ประเภทของภาพยนต์ที่ผู้บริโภคสหรัฐฯนิยมในปัจจุบันพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดของภาพยนต์ประเภทต่างๆในปี 2008 (Nash Information Service LLC) เรียงตามลำดับได้ดังนี้คือ หนังตลก (comedy) หนังแอ๊คชั่น (action) หนังผจญภัย (adventure) หนังชีวิต (drama) หนังตื่นเต้น (thriller/suspense) หนังรักแบบตลก (romantic comedy) หนังสยองขวัญ (horror) หนังเพลง (music) หนังสารคดี (documentary) การแสดงคอนเสริท์ต่างๆ (concert/performance)

บริษัทผู้กระจายสินค้าภาพยนต์

กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้กระจายสินค้ารายใหญ่

บริษัทผู้กระจายสินค้าภาพยนต์รายใหญ่เรียงตามส่วนแบ่งตลาดของปี 2008 ได้แก่ Warner Brothers, Paramount Pictures, Sony Pictures, Universal Studios, 20th Century Fox, Buena Vista, Lionsgate, Fox Searchlight, Summit Entertainment และ Focus Features บริษัทอื่นๆ ในกลุ่มนี้ได้แก่ Viacom, Miramax,

กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้กระจายสินค้าขนาดกลาง

บริษัทผู้กระจายสินค้าภาพยนต์รายย่อยเช่น First Look, Focus Features, Freestyle Releasing, IDP, IFC Films, Magnolia Pictures, Piturehouse, SPC, ThinkFilm, Weinstein Co.

กลุ่มที่ 3 บริษัทผู้กระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางใหม่ๆ

(1) CineMuse (www.cinemuse.com)

(2) The Filmmakers Channel-On Line Pay-Per View Distribution www.thefilmmakerschannel.com

(3) Break.com

(4) YouTube

(5) Revver — www.revver.us

(6) First Showing LLC - www.firstshowing.net

การส่งเสริมภาพยนต์ของต่างประเทศในสหรัฐฯ

ประเทศที่มีการส่งเสิรมการฉายภาพยนต์ของตนในสหรัฐฯ(รัฐแคลิฟอร์เนีย) ได้แก่

1. อินเดียเป็นประเทศที่ให้ความสนใจอย่างจริงจังที่จำทำการส่งเสริมภาพยนต์ของตนเองในตลาดสหรัฐฯ หน่วยงาน Indian Film Festival of Los Angeles (www.indianfilmfestival.org) เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่จัดเทศกาลภาพยนต์อินเดียขึ้นในนครลอสแอนเจลิสเรียกว่า Indian Film Festival of Los Angeles (IFFLA) ที่ ArcLight Hollywood ในเดือนเมษายนของทุกๆปี การจัดงานในปี 2008 มีการนำภาพยนต์ออกมาฉายรวมทั้งสิ้น 30 เรื่อง (ภาพยนต์ที่นำออกมาฉายต้องผ่านการสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกจากกรรมการ) ในปี 2009 มีการจัดประกวดภาพยนต์อินเดีย และกำหนดจัดงานครั้งต่อไปในระหว่างวันที่ 20-25 เมษายน 2510

การดำเนินงานของ Indian Film Festival of Los Angeles ไม่ได้มุ่งไปที่การฉายภาพยนต์อย่างเดียวแต่หากรวมถึงการดำเนินการอื่นๆที่จะเป็นการส่งเสริมภาพยนต์อินเดียในตลาดสหรัฐฯเช่น การจัดประกวดภาพยนต์ และการจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้สร้างภาพยนต์รายใหม่ๆเป็นต้น

2. เกาหลี จัดฉายภาพยนต์ของตนในโรงหนังที่เป็นของนักธุรกิจเกาหลีและสำหรับชุมชนเกาหลี และที่ Korean Cultural Center Los Angeles

3. ญี่ปุ่น (Japan Film Festival-www.jffla.org) กำหนดจัดงานครั้งต่อไป (ครั้งที่ 3) ในเดือนเมษายน 2010

4. ลาตินอเมริกาโดย Latino International Film Institute — www.latinofilm.org องค์กรไม่หวังผลกำไรเจ้าของงาน Los Angeles Latino International Film Festival

5. เม็กซิโก (Hola Mexico Film Festival-www.holamexicoff.com) เริ่มจัดเทศกาลภาพยนต์เม็กซิโกในสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในปี 2008 การจัดงานจะกระทำในฤดูร้อนในเมืองใหญ่ๆทั่วสหรัฐฯเช่น ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ค และชิคาโก

6. โปแลนด์ Polish Film Festival (www.polishfilmla.org) จัดงานครั้งสุดท้ายวันที่ 22 เมษายน— 3 พฤษภาคม 2009 กำหนดจัดงานครั้งต่อไปซึ่งเป็นครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน -2 พฤษภาคม 2010

สถานที่สำหรับฉายภาพยนต์ต่างประเทศ

แหล่งฉายภาพยนต์ต่างประเทศในนครลอสแอนเจลิสที่สำคัญที่สุดคือโรงภาพยนต์ ArcLight Hollywood (www.archlightcinemas.com), 6360 W. Sunset Blvd., Los Angeles, CA 90028 นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนต์หรือองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ให้บริการชนกลุ่มน้อยเช่น

1. Korean Cultural Center Los Angeles

2. Naz 8 (www.naz8.com)

เทศกาลภาพยนต์ (Film Festival) หรือตลาดภาพยนต์ (Film Market)

เทศกาลภาพยนต์ที่เรียกว่า “Film Festival” เป็นงานสำหรับส่งเสริมภาพยนต์ต่อผู้บริโภคเฉพาะตลาด (niche market) ในขณะที่ “Film Market” เป็นงานสำหรับนักธุรกิจในวงการภาพยนต์เพื่อขายภาพยนต์เข้าสู่ช่องทางการกระจายสินค้าต่างๆ

Film Festival และ Film Market ที่สำคัญในสหรัฐฯเรียงตามลำดับเวลาจัดงานได้แก่ เดือนมกราคม

1. Sundance Film Festival (www.sundance.org), Park City, UT

2. Palm Springs International Film Festival (www.psfilmfest.org) , Palm Springs, CA เดือนมิถุนายน

3. Los Angeles Film Festival (www.lafilmfest.com) , Los Angeles, CA เดือนกรกฏาคม

4. Comic-Con International (www.comic-con.org), San Diego, CA เดือนกันยายน

5. Telluride Film Festival (www.telluridefilmfestival.com), Telluride, CO เดือนพฤศจิกายน

6. American Film Market (www.afma.com), Santa Monica, CA ฤดูใบไม้ร่วง

7. New York International Independent Film and Video Festival (www.nyfilmvideo.com), New York City, NY

เทศกาลภาพยนต์ในสหรัฐฯมีอยู่หลายเทศกาลด้วยกัน แต่ละเทศกาลเหมาะสำหรับภาพยนต์ที่แตกต่างกัน เทศกาลภาพยนต์ในสหรัฐฯที่ผู้กระจายสินค้าภาพยนต์สหรัฐฯให้ความสนใจมากที่สุดได้แก่ Sundance ซึ่งเป็นเทศกาลที่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับผู้สร้างหนังอิสระหรือนักแสดงหน้าใหม่ที่จะผลักดันตนเองเข้าสู่วงการ และ AFM-American Film Market สำหรับการขายภาพยนต์ให้แก่ผู้กระจายภาพยนต์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้เทศกาลภาพยนต์ในเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ เช่นที่ Seattle, Atlanta, San Francisco, Los Angeles (Los Angeles Film Fest) และ Southwest สามารถเป็นแหล่งนำเสนอสินค้าที่ดีมากเช่นกัน

เทศกาลภาพยนต์อื่นๆในสหรัฐฯเช่น

1. USA Film Festival (www.usafilmfestival.com)

2. U.S. International Film & Video Festival (www.filmfestawards.com)

3. Tribeca Film Festival (www.tribecafilm.com)

4. Miami International Film Festival (www.miamifilmfestival.com)

5. Arizona International Film Festival (www.filmfestivalarizona.com)

6. Aspen Filmfest (www.aspenfilm.org)

7. Ann Arbor Film Festival (www.aafilmfest.org)

8. Boulder International Film Festival (www.biff1.com)

9. Beverly Hills Film Festival (www.beverlyhillsfilmfestival.com)

10. California Next Gen Film Festival (www.nextgenfilmfest.org)

11. California Independent Film Festival (www.caindiefilmfest.org)

12. Chicago International Film Festival (www.chicagofilmfest.com)

13. Eerie Horror Film Fest (www.eeriehorrorfest.com)

14. Great Lakes Independent Film Festival (www.greatlakesfilmfest.com)

15. Fort Lauderdale International Film Festival (www.fliff.com)

16. Long Beach International Film Festival (www.longbeachfilmfestival.com)

ที่มา

1. How Movie Distribution Works by Jeff Tyson

2. The Last Picture Show? Timing and Order of Movie Distribution Channels, Thorsten Henning-Thurau, Victor Henning, Henrik Sattler, Felix Eggers & Mark B. Houston

3. Movie Industry Marketing

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ