สหราชอาณาจักรมีจำนวนประชากรผู้นับถือศาสนาอิสลามในปัจจุบันจำนวนเกือบ 2 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ที่ผ่านมาสินค้าฮาลาลจำกัดการวางจำหน่ายอยู่เฉพาะในร้านค้าย่อยในเขตที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบัน มีผู้ค้าปลีกที่ทั้งจัดจำหน่ายและผลิตสินค้าอาหารฮาลาล รวมทั้งเครือข่ายร้านค้าขนาดใหญ่ (supermarket) ได้เพิ่มความสนใจสินค้าและจัดจำหน่ายสินค้าฮาลาลเพิ่มมากขึ้น
ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลทั้งอาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารพร้อมบริโภค (convenience food) มีมูลค่าประมาณ 460 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งหากรวมสินค้าประเภทนำกลับบ้านได้ (takeaway) มูลค่าทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 700 ล้านปอนด์ โดยชาวมุสลิมในสอ. นี้บริโภคเนื้อแกะ (Mutton) ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของเนื้อแกะที่ผลิตได้ในสอ.ทั้งหมด บริโภคเนื้อแกะและเนื้อไก่รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82 ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด โดยอัตราการเติบโตของผู้บริโภคชาวมุสลิมขยายตัวถึง 15 เท่าของระดับการขยายตัวโดยเฉลี่ยของ สอ. นอกจากนนี้การบริโภคอาหารฮาลาลยังมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ชุมชนชาวมุสลิมเท่านั้น บุคคลที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามก็หันมาบริโภคเนื้อสัตว์ฮาลาล เนื่องจากความเชื่อเรื่องความสดและสะอาด
ยอดการจำหน่ายเนื้อสัตว์ฮาลาลคิดเป็นร้อยละ 11 ของการจำหน่ายเนื้อสัตว์ทั้งหมดในสอ. ร้านค้าปลีกใน สอ. มีลู่ทางการจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลสูง โดยในบางร้านค้านั้น มีผู้ซื้อเป็นชาวมุสลิมถึงร้อยละ 40 ของผู้ซื้อทั้งหมด แสดงถึงโอกาสทางการตลาดของสินค้าฮาลาลทั้งในรูปของสินค้าอุปโภคและบริโภคหลากหลายรายการ
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ฮาลาลในสอ. ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานหลักในการดำเนินการ มีก็แต่เพียงหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งต่างดำเนินการในส่วนของตน การนำเข้าสินค้าผิดประเภท (import fraud) และได้รับการโจมตีจากองค์กรพิทักษ์สัตว์
ลักษณะสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นที่นิยมในสอ. ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ และเนื้อไก่สด รวมทั้งอาหารแปรรูปและอาหารกึ่งแช่แข็งที่ทำจากเนื้อสัตว์ อาหารกระป๋องที่ทำจากเนื้อวัว แกะ แพะและไก่ อาหารจ่านด่วน (fast food) หรืออาหารสำเร็จรูป (ready to eat) รวมทั้งอาหารแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ (takeaway) นอกจากนี้ สินค้าอาหารว่างฮาลาลที่ได้รับการปรุงแต่งสีสันให้มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นยังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ chocolate bar ที่เป็นฮาลาล เยลลี่ฮาลาลรสผลไม้ เป็นต้น
อาหารฮาลาลอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น คือ สินค้าอินทรีย์/อาหารที่ปลอดสารพิษ (organic food) ที่มีการรับรองตราฮาลาลอย่างเป็นทางการ
ตามข้อมูลของ Mintel เนื้อสัตว์ฮาลาลมีมูลค่าร้อยละ 11 ของเนื้อสัตว์ที่ขายในสอ. ทั้งหมด ในขณะที่จำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามในสอ. คิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรในประเทศ หรือประมาณ 1.5 — 1.9 ล้านคน ทั้งนี้ สาเหตุที่ปริมาณเนื้อสัตว์ฮาลาลมีอัตราการขายมากกว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามในสอ. เพราะผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลามก็นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ฮาลาลเช่นกัน ด้วยมีความเชื่อว่าเนื้อสัตว์ฮาลาลสดและมีกรรมวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะมากกว่าเนื้อสัตว์ธรรมดา ดังนั้น สินค้าฮาลาลในสอ. จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ชาวมุสลิมรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารฮาลาลสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทั้งนี้ แนวโน้มของการให้บริการอาหารฮาลาลจานด่วนที่เหมาะสมกับชีวิตสมัยใหม่ ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น อาทิ ร้านไก่ย่างโปรตุเกส Nando’s ซึ่งมีสาขาทั่วสอ. รวม 142 สาขา มี 41 สาขา (หรือร้อยละ 29) ในย่านมุสลิมใช้ไก่ฮาลาล นอกจากนี้ แมคโดแนลในสอ. เองก็มีนโยบายที่จะเริ่มให้บริการแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อสัตว์ฮาลาลในปี 2551 ด้วย
ในขณะที่ชาวมุสลิมรุ่นเก่ายังคงเลือกใช้บริการจากร้านขายเนื้อสัตว์ฮาลาล (butcher) ท้องถิ่นที่ได้รับการรับรองและความไว้วางใจมาเป็นเวลานาน ผู้บริโภคชาวมุสลิมรุ่นใหม่หันมานิยมใช้จ่ายในร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ แสดงถึงการโอกาสการขยายตัวของร้านค้าปลีกที่มีหลายสาขา (large chain supermarkets) ซึ่งร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เองก็ได้แสดงความตื่นตัวที่จะให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้นด้วย
จุดอ่อน
- ประเด็นการปลอมแปลงใบรับรองสินค้าฮาลาลใน สอ. และการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้ผลิตโดยฮาลาลอย่างถูกต้อง หรือที่เรียกว่าฮาราม (unlawful) แต่พิมพ์ตัวอักษรอาหรับและอ้างว่าเป็นอาหารฮาลาลยังคงมีอยู่ ประกอบกับการตรวจสอบและรับรองฮาลาลในทุกขั้นตอนนั้นค่อนข้างยากลำบากและสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค สถานะปัจจุบัน สินค้าอาหารฮาลาลไทยยังไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับใน สอ. ซึ่งตรารับรองฮาลาลนั้นมีอิทธิพลมากในหมู่ผู้บริโภคชาวมุสลิมในการเลือกซื้อสินค้า
- ในสอ. Food Standard Agency ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารที่นำเข้ามายัง สอ. อย่างมาก แม้สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่ไทยส่งออกมายัง สอ. โดยเฉพาะสัตว์ปีกนั้นจะเป็นที่นิยมในผู้บริโภคใน สอ. แต่ประเด็นเรื่องโรคไวรัสไข้หวัดนกยังสร้างความกังวลต่อผู้บริโภคอยู่เป็นระยะๆ
- ในปัจจุบัน มีประเด็นเรื่องการฆ่าสัตว์โดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งในแต่ละองค์กรรับรองฮาลาลได้ตีความแตกต่างกันไป โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการทำให้สัตว์สลบ (stun) ก่อนเชือด โดยชาวมุสลิมบางกลุ่มเชื่อว่าการวางยาสลบสัตว์ด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ซึ่งไม่มากจนถึงขั้นฆ่าสัตว์ให้เสียชีวิต เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี ชาวมุสลิมบางกลุ่มแย้งว่า แม้จะเป็นการวางยาสลบในระดับอ่อนก็ถือเป็นการผิดหลักศาสนาอิสลามและไม่ควรจัดเป็นสินค้าอาหารฮาลาล
- แม้ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่การโฆษณาส่งเสริมการขายยังมีขอบเขตที่จำจำกัด ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับตราสินค้าและมีตราการรับรองสินค้าอาหารฮาลาลอย่างเด่นชัดเพื่อเสริมความมั่นใจของผู้ซื้อชาวมุสลิม
- จุดอ่อนสำหรับไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารฮาลาลคือการที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างตุรกีหรือมาเลเซีย ดังนั้น ในการพิจารณายุทธศาสตร์การส่งออกอาหารฮาลาล ของไทย จะต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรมุสลิมที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับในแต่ละท้องถิ่น เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงและการยอมรับของผู้บริโภคในท้องถิ่นในที่สุด
จุดแข็ง
- สินค้าอาหารไทยเป็นที่นิยมและรู้จักอย่างแพร่หลายใน สอ. และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาศักยภาพของอาหารไทยควบคู้กับแนวโน้มรสนิยมผู้บริโภคชาวมุสลิมรุ่นใหม่ในสอ. ที่มีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว จะเห็นว่าอาหารฮาลาลของไทยน่าจะมีโอกาสจำหน่ายได้ดีในสอ.
คู่แข่งขัน
- ขณะนี้ สินค้าอาหารฮาลาลของไทยยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในตลาด สอ. เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิม เช่น ตุรกี และมาเลเซีย จากในอดีตที่อาหารประเภทฮาลาลสามารถหาซื้อได้ในร้านค้าเฉพาะที่ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมเท่านั้น แต่ในปัจจุบันแนวโน้มนี้เปลี่ยนไป สินค้าอาหารฮาลาลได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีการจำหน่ายสินค้าฯ มากขึ้น
- มาเลเซียถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในสอ. เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเลเซียได้นำร่องภาคเอกชนมาเลเซียเข้ามาเจาะตลาดอาหารฮาลาลอย่างแข็งขัน โดยได้เข้าร่วมงานนิทรรศการ World Food Market ปี 49 ที่ลอนดอนด้วย
โอกาส
- สินค้าอาหารฮาลาลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม และบุคคลทั่วไป เนื่องจากภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพและสุขอนามัย โดยสินค้าไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวใน
สอ. ไม่มีองค์กรพิเศษของรัฐที่ทำหน้าที่รับรองอาหารฮาลาล ดังนั้น องค์กรที่ให้การรับรองอาหารฮาลาลจึงเป็นองค์กรอิสระของชุมชนมุสลิม โดยองค์กรอิสระที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่ชาวมุสลิมและมีการหารือ (consultation) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสอ. ซึ่งมีบริการรับรองอาหารฮาลาล ได้แก่ Halal Food Authority (HFA), UK Halal Corporation (UKHC), Islamic Cultural Centre (ICCUK) , Muslim World League และ Muslim Food Board เป็นต้น การให้บริการหลักๆ ขององค์กรเหล่านี้คือการตรวจสอบให้การผลิตและการกรรมวิธีเชือดให้สอดคล้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยใน สอ. สินค้าอาหาร ฮาลาลต้องเป็นไปตามระเบียบของ Food Safety Act 1990 ของ EU และ รวมทั้งถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม (Islamic Shariah) ในกรณีเนื้อสัตว์ฮาลาล จะต้องเป็นไปตามระเบียบของ Slaughterhouses Act 1974
การนำเข้าสินค้าอาหารในสอ. กำหนดให้เป็นไปตามระเบียบของ Food Safety Act 1990 ของสหภาพยุโรป โดยมีข้อห้ามหลักคือ (1) ห้ามนำเข้าสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (2) ห้ามนำเข้าสินค้าที่ไม่เหมาะกับการบริโภค (3) ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีสารที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภค
การนำเข้าอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาลหรือไม่ก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ Imported Food Regulation ค.ศ. 1997 ซึ่งใช้บังคับการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ โดยสินค้าประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองสุขภาพ (health certificate)
การติดฉลากบนสินค้าเป็นความรับผิดชอบของผู้ส่งออก หรือผู้จำหน่ายสินค้า โดยการติดฉลากของสินค้าในสอ. ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระเบียบของ Food Labelling Regulation ค.ศ. 1996 กำหนดให้ (1) สินค้าทุกชนิดต้องมีการระบุชื่อของสินค้าอย่างชัดเจน (2) ต้องมีการระบุส่วนผสมหรือส่วนประกอบทุกชนิด (3) มีวันที่ผลิตและวันที่หมดอายุบนฉลาก (4) ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้บรรจุหีบห่อ ผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่ายในยุโรป (5) หากสินค้านั้นๆ มีข้อจำกัดในการเก็บรักษาหรือใช้งานเป็นพิเศษ ต้องระบุรายละเอียดดังกล่าวลงบนฉลากด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน
ที่มา: http://www.depthai.go.th