Quelle กิจการ Mail Order แจ้งล้มละลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2009 16:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2552 บริษัท Quelle ผู้ประกอบการประเภท Mail Order ต้องแจ้งกิจการล้มละลาย เนื่องจากไม่มีนายทุนมาซื้อหรือร่วมลงทุนในกิจการสืบต่อไป ทั้งๆ ที่ล่าสุดรัฐบาลเยอรมันได้อนุมัตให้เงินทุนจำนวนกว่า 50 ล้านยูโรสำหรับการจัดทำแคตตาล็อคสินค้าหนากว่า 1,300 หน้า รวบรวมสินค้าต่างๆ กว่า 70,000 ชนิดเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้าและผู้สนใจโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ

Quelle เป็นกิจการที่ก่อตั้งมานานกว่า 82 ปีแล้ว โดยนายกุสต๊าฟชิคเคแด๊นซ์ (Gustav Schickedanz) ได้นำความคิดของอเมริกามาใช้ในเยอรมนี เริ่มจากการขายส่งสินค้าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องเขียน อีก 4 ปีต่อมาจึงได้ก่อตั้งเป็นบริษัท Quelle ทำการขายสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ ในปี ค.ศ. 1923 อีก 1 ปีต่อมาได้กลายเป็นบริษัทผู้นำด้านการขายสินค้าแบบ Mail Order ในปี ค.ศ. 1936 บริษัทมีลูกค้าจำนวน 1 ล้านคนและเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปี ค.ศ. 1939

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานของบริษัทรวมทั้งรายชื่อของลูกค้าได้ถูกทำลายลง ต่อมาในปี ค.ศ. 1948 จึงได้มีการก่อตั้งกิจการขึ้นใหม่และมียอดขาย 315,000 มาร์ค ในปีถัดมาเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านมาร์ค และได้มีการเปิดร้านขายสินค้าแห่งแรกที่เมืองฟวร์ท ในปี ค.ศ. 1955 บริษัทมีลูกค้าจำนวน 2 ล้านคนอีกครั้ง ในปีเดียวกันได้เปิดบริการด้านธนาคารเพื่อลูกค้าสามารถซื้อสินค้าเงินผ่อนได้ด้วย ยอดขายของกิจการเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านมาร์คในปีค.ศ. 1958

หลังจากที่ได้ควบผู้ประกอบการเล็กๆ อื่นๆ จำนวนหนึ่งเข้าในกิจการแล้ว ทำให้ยอดขายของกิจการเพิ่มสูงขึ้น และในปี 1972 แตะที่ระดับ 5,000 ล้านมาร์ค ในปี ค.ศ. 1961 ได้เพิ่มแผนกกล้องถ่ายรูป ซึ่งต่อมากลายเป็นกิจ Foto-Quelle หลังจากนั้น ได้เพิ่มการขายบ้านสำเร็จรูป และกิจการท่องเที่ยว อีกด้วย

นายกุสต๊าฟ ชิคเคแด๊นซ์ ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1977 มีอายุได้ 82 ปีการบริหารกิจการในปีต่อๆ มายังคงดำเนินการโดยครอบครัวชิคเคแด๊นซ์ จนถึงปีค.ศ. 1986

บทบาทของการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เนตได้สร้างปัญหาให้กับ Quelle เพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา การปรับปรุงแคตตาล็อค ด้วยการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านแฟชั่น เช่น การจัดทำ Collection ของ Karl Lagerfeld ในปี 1966 ที่ในช่วงนั้นแคตตาล็อคสินค้ามีความหนากว่า 980 หน้าบรรจุสินค้าจำนวนกว่า 80,000 ชนิด ในปี

ค.ศ. 1999 ได้มีการควบกิจการกับห้างสรรพสินค้า Karstadt ในปีต่อๆ มากิจการยังคงประสบการขาดทุน ถึงกระนั้นก็ตาม ในปี 2007 บริษัทยังคงครองอันดับ 1 ในยุโรป มีคนงานกว่า 20,000 คน มียอดขาย 4,200 ล้านยูโร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2007 ได้เปลี่ยนชื่อกิจการเป็นPirmondo และเป็น Arcandor AG เมื่อมิถุนายน 2008 หลังจากที่ได้พยายามหาผู้สนใจมาร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการไปดำเนินการต่ออยู่นานแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ Arcandor จึงต้องแจ้งกิจการล้มละลายในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2009 โดยแยกส่วนของกิจการที่ประกอบด้วยกิจการ ห้างสรรพสินค้า Karstadt กิจการ Mail-Order และการท่องเที่ยว ออกจากกัน

ปี 2007 ยอดขายกิจการมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 21,000 ล้านยูโร ในจำนวนนี้ประมาณ 60% หรือ 8,450 ล้านยูโรได้จากกิจการท่องเที่ยว ยอดขายจากห้างสรรพสินค้า Karstadt และร้านจำหน่ายเครื่องกีฬาประมาณ 2,860 ล้านยูโร (ปี 2006 มียอดขาย 2,940 ล้านยูโร) และจากกิจการ Quelle จำนวน 2,890 ล้านยูโร (2,780 ล้านยูโรในปี 2006)

ในปี 2008 ยอดขายทั้งสิ้นของกิจการลดลงเหลือ 19,900 ล้านยูโร ลดลงจากปีก่อน 200 ล้านยูโร หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว กิจการประสบการขาดทุนเป็นจำนวน 745.7 ล้านยูโรนอกจากนี้ยังมีหนี้สินที่ต้องชำระอีกกว่า 800 ล้านยูโร เหล่านี้ได้ทำให้ต้องแจ้งกิจการล้มละลายในที่สุดเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2009

การแจ้งล้มละลายได้ทำให้คนงานของ Quelle ที่สำนักงานใหญ่ เมืองนูเรมเบอร์ก(Nuernberg) ต้องว่างงานทันที นอกจากนี้แล้ว ไม่ช้าก็เร็วบรรดาร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงต้องพลอยปิดกิจการไปด้วยเนื่องจากขาดลูกค้าที่เป็นคนงานของ Quelle ที่มีจำนวนถึง 4,000 คน เพื่อช่วยเหลือคนงานเหล่านี้ กรมแรงงาน จะใช้ส่วนหนึ่งของที่ทำงานใหญ่ Quelle เป็นที่ทำงานดูแลและจัดหางานใหม่ให้คนงานที่ว่างงานเหล่านี้ ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ Mail Order ได้แก่ การขนส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยซึ่งจะส่งผลต่อการว่างงานอีกจำนวนมากในเยอรมนี

สินค้าของ Quelle และ Karstadt ที่มีแหล่งกำเนิดในแถบเอเชีย ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตจากจีน และจำนวนหนึ่งที่มาจากประเทศไทย การจัดหาจะดำเนินการโดยบริษัทตัวแทนในประเทศฮ่องกง ซึ่งในแต่ละปีสินค้าสำหรับ 2 กิจการนี้จะมีการขนส่งทางเรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 ตู้ ส่งไปยังท่าเรือฮัมบูรก์ และท่าเรือในเมืองอื่นๆ ของเยอรมนี

สำหรับกิจการห้างสรรพสินค้า Karstadt ที่ปัจจุบันมีจำนวน 126 สาขา คนงาน 28,000 คน ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง หลังจากที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้าง ลดจำนวนสาขาลงกว่า 40 แห่ง รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายออกบ้าง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว การอยู่รอดของห้างสรรพสินค้าในเยอรมนีมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ค่อนข้างยากและมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีภาระค่าจ้างคนงาน ด้านภาษี เบี้ยประกัน ตลอดจนค่าสวัสดิการสังคมที่สูงมาก ทำให้ในระยะยาวไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าขนาดเล็ก ที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่างในราคาที่ต่ำกว่าราคาในห้างฯ มาก ทำให้ยอดการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้ามีแนวโน้มลดลงตลอดมา และจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนต้องปิดกิจการลงในที่สุด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ