สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าของกัมพูชา 9 เดือนแรก ปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2009 16:48 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ

องค์กรระหว่างประเทศต่างหวังว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาในปลายปี 2009 จะกระเตื้องขึ้นจากต้นปีที่เคยประมาณการไว้ โดย ADB ประมาณว่าเศรษฐกิจจะมีอัตราขยายตัว ร้อยละ 2.75 (จากต้นปีที่ประมาณว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ) ขณะที่ Economic Intelligence Unit ของอังกฤษ คาดว่าอัตราขยายตัวจะอยู่ที่ร้อยละ -1.5 (จากต้นปีที่ประมาณว่าอยู่ที่ร้อยละ-0.30 ) ส่วนไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2009 จะมีอัตราขยายตัวร้อยละ -2.75 ขณะที่เงินเฟ้อ ปี 2009 ร้อยละ 5.25 และในปี 2010 ร้อยละ 6

แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และธุรกิจการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย กัมพูชาหวังว่าข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า เช่น ASEAN China Free Trade Agreement, GMS, ASEAN-India, ASEAN-Japan, ASEAN-South Korea และ Asia-Pacific Trade Agreement(APTA) ซึ่งมีการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันจะเปลี่ยนโฉมการค้าของประเทศ และจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดญี่ปุ่น ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของกัมพูชา ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2009 กัมพูชาส่งออกเครื่อง นุ่งห่ม มูลค่า 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 98 จากช่วงเดียวกันของปี 2008 ที่มีมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงถือว่าเป็นตลาดใหญ่รองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และหากสามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น จะทำให้กัมพูชาได้รับประโยชน์อย่างมาก สำหรับสินค้าเกษตร ญี่ปุ่นยกเว้นภาษีนำเข้าให้กัมพูชาตั้งแต่ปี 2007 เช่น ข้าว และปลา ส่วนสินค้าเกษตรบางรายการกำหนดจำนวนโควต้านำเข้า

2. การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา (ม.ค-ก.ย 52)

การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา มีมูลค่ารวม 1,183.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.78 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่ารวม 1,685.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชา มูลค่า 1,140.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 42.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.44 และร้อยละ 37.67 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1,097.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตารางแสดงการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา

รายการ                            มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ                                อัตราการขยายตัว %
                     2549       2550        2551       2551         2552      2549     2550     2551     2552
                                                    (ม.ค-ก.ย)    (ม.ค-ก.ย)                             (ม.ค-ก.ย)
มูลค่าการค้ารวม      1,270.20   1,404.20   2,130.30    1,685.40     1,183.50    33.48    10.55    51.71    -29.78
การส่งออก          1,235.50   1,355.40   2,040.10    1,616.50     1,140.60    34.26     9.70    50.52    -29.44
การนำเข้า             34.70      48.80      90.20       68.90        42.90    10.51    40.63    84.84    -37.67
ดุลการค้า           1,200.80   1,306.60   1,949.90    1,547.60     1,097.70    35.10     8.81    49.23    -29.07
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากศุลกากร

2.1  การส่งออก
สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่
  • น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่าส่งออก 118.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 64.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 332.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปริมาณการใช้ลดลงทั้งภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง
  • น้ำตาลทราย มูลค่าส่งออก 116.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 49.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 77.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้ามาเพื่อบริโภคภายในประเทศ การสต็อคไว้เพื่อรอราคา และส่งต่อไปประเทศเวียดนาม
  • ปูนซีเมนต์ มูลค่าส่งออก 65.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 68.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์มูลค่าส่งออก 56.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 42.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 98.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปริมาณการก่อสร้างลดลง
  • เครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 58.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 78.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเคมีภัณฑ์ มูลค่าส่งออก 57.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 63.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีการแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันจากเวียดนาม จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้
  • เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มูลค่าส่งออก 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 11.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 35.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าปศุสัตว์ เพิ่มร้อยละ 0.23 และ 43.90 ตามลำดับ และการผ้าผืนลดลงร้อยละ 10.08

สำหรับสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ที่เคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญมีมูลค่าการส่งออก 23.2, 26.6 และ 26.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ลดลงร้อยละ 69.92 , 71.38 และ 50.85 จากช่วงเดียวกันของปี 2551

2.2. การนำเข้า

ไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 42.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 37.65 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 68.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก/ผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เ หล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และกาแฟ ชา และเครื่องเทศ

3. การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

มูลค่าการค้าชายแดนคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาที่สำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าเบ็ดเตล็ด ยานพาหนะและส่วนประกอบ และสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ขณะที่ไทยยังคงนำเข้าสินค้าผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก/ผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เ หล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และกาแฟ ชา และเครื่องเทศ

มูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด มีมูลค่า 32,753.90 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2551 ที่มีมูลค่า 39,585.07 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.26 แยกเป็นไทยส่งออก 31,042.62 ล้านบาท และไทยนำเข้า 1,711.28 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า 29,331.34 ล้านบาท ซึ่งด่านฯอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีมูลค่าการค้ามูลค่าการค้ามากที่สุด คือ 16,519.36 ล้านบาท รองลงมา คือ ด่านฯคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีมูลค่าการค้า 12,989.4 ล้านบาท

4. ความเห็นของสำนักงานฯ

ขณะที่มีหลายองค์กรระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี 2552 สำนักงานฯเห็นว่าอำนาจการซื้อของผู้บริโภคในตลาดกัมพูชายังอยู่ในขีดจำกัด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมทั้งการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและการท่องเที่ยวที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะการชะลอตัว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจ้างงาน ประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ แม้รัฐบาลจะมุ่งเน้นพัฒนาด้านการเกษตร แต่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรที่มีถึงร้อยละ 70 ของประเทศ

อีกทั้ง ในปัจจุบันสินค้าไทยยังต้องแข่งกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญทั้งจีน และเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าจากเวียดนามที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าไทยและจีน และคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งเวียดนามใช้ยุทธศาสตร์การโฆษณาสินค้าโดยเน้นคำว่าคุณภาพสูงในตลาดกัมพูชา เพื่อดึงดูดและชักชวนประชาชนกัมพูให้หันมาใช้สินค้าตน

ปัญหาข้อพิพาททางการเมือง ปัญหาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการคำนวณภาษีแบบเหมาจ่ายที่ชายแดน ซึ่งผู้ประเมินนำเอาความรู้สึกส่วนตัวชอบไม่ชอบ ขึ้นราคาภาษีตามใจตนเพื่อความสะใจ และต้องการแสดงออกทางอารมณ์ว่าเหนือกว่าไทย ทำให้ต้นทุนสินค้าจากไทยสูงอย่างไม่มีเหตุผล และเสียเปรียบสินค้าที่นำเข้าจากเวียดนาม เพราะความสัมพันธ์ของผู้นำดี การซื้อเพื่อช่วยเหลือจึงมีมาก และเสียภาษีน้อยกว่าสินค้าไทย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ