ตลาดรถยนต์ในเวียดนาม : บนถนนการพัฒนา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 11:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามมีการพัฒนามาแล้ว 15 ปี แต่สามารถครองตลาดได้เฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเป็นผู้ครองตลาด รัฐบาลเวียดนามจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขั้นที่สอง ( ภายในปี 2563 และวิสัยทัศน์ ปี 2573 ) โดยจะให้ความสำคัญในการพัฒนารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพื่อรองรับยุคยานยนต์ ( motorization ) ของเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2563 — 2568 และตั้งเป้าไกลถึงขั้นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ( CBUs) เลยทีเดียว

สถานะปัจจุบันของตลาดรถยนต์ในเวียดนาม

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ตลาดรถยนต์ทั่วโลกมียอดขายตกต่ำลง แต่ในเวียดนามไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ซีดาน ลูกค้าต้องรอนานจนถึงต้นปี 2553 ถึงจะได้รับรถยนต์ที่สั่งจองไว้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายต้องปฏิเสธ คำสั่งซื้อใหม่ เช่นคำสั่งซื้อ Corolla Altis และ Vios ของค่ายโตโยต้ามีเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตของบริษัท สื่อท้องถิ่นรายงานว่าโตโยต้าเวียดนามได้รับคำสั่งซื้อถึง 9,000 คัน และ 60% เป็นรถซีดาน แม้บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 150 คันต่อวันก็ตามแต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการเช่นเดียวกับฮอนด้าเวียดนามที่มีคำสั่งซื้อรถซีวิคและซีอาร์วีเพิ่มขึ้นจนบริษัทต้องเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 460 คันต่อเดือน แต่ลูกค้าก็ต้องรอถึงสองเดือน หรือลูกค้า Focus และ Everest ของFord ก็ต้องเข้าคิวรอ เพราะคำสั่งซื้อได้เลยหน้าประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทจนกระทั่ง บริษัทต้องจ้างพนักงานเพิ่มและเพิ่มกำลังการผลิตอีก 25% เพื่อให้สามารถผลิตได้ทันตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

ผลการจำหน่ายที่ดีเกินคาดมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และลดภาษีการบริโภคพิเศษ ( Special Consumption Tax) ลง 50% สำหรับรถยนต์ 5 ที่นั่ง และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนลง 5% เป็นต้น มาตรการจูงใจเหล่านี้จะสิ้นสุดภายในปี 2552 ทำให้เกิด "car fever" ในตลาดเวียดนามอย่างเหนือการคาดหมายของผู้ผลิต

  • การจำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในเวียดนาม ( Vietnam Automobile Manufactures Association : VAMA ) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ผลิตรถยนต์ 16 โรงงานในเวียดนาม ได้รายงานยอดขายรถในเดือนกันยายน 2552 ว่ามีถึง 11,070 คัน เพิ่มขึ้นถึง 30 % ( y-on-y) ซึ่งนับเป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่ยอดขายรถยนต์ขยายตัว ทั้งนี้เป็นผลจากขยายตัวของยอดขายรถยนต์ที่ใช้เชิงพาณิชย์ ( Commercial vehicle ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รถอเนกประสงค์ซึ่งเพิ่มขึ้น 108 % และยอดขายของรถยนต์นั่งซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 191%

แม้ว่ายอดขายในช่วงไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ธุรกิจรถยนต์ของเวียดนามในปี 2552 ยังนับว่าชะลอตัวลง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 สมาชิก VAMA ขายรถยนต์ได้ 80,374 คัน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 12% VAMA คาดว่ายอดขายรถยนต์ที่ประกอบในประเทศ ปี 2552 จะมีจำนวน 110,000 — 120,000 คัน เพราะโดยปกติแล้ว ความต้องการซื้อรถยนต์จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่ ธุรกิจและครอบครัวมักซื้อรถเพื่อใช้ในกิจการและการเดินทางช่วงปีใหม่

  • การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ( CBUs : Complete Built Units )

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศพยายามเร่งรัดการผลิตให้ทันกับความต้องการผู้บริโภคส่วนหนึ่งเลือกรถยนต์นำเข้าเพราะไม่ต้องการรอนาน จากรายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม ( GSO) การนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรก ( มค.- กย.) ของปี 2552 มีจำนวน 46,925 คัน มูลค่า 737 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5 % ( y-on-y) และคิดเป็น 1.5 % ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม (48.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินแผนการนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามทั้งปีที่ตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปี 2552 ว่าจะนำเข้าจำนวน 40,000 คัน มูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ประเทศที่ครองตลาดรถยนต์นำเข้าในเวียดนามมากที่สุดได้แก่ เกาหลีใต้ 24,916 คัน ( 63.7 %) รองลงไปได้แก่ สหรัฐ ฯ 3,680 คัน ( 9.4 %) ญี่ปุ่น 3,663 คัน( 9.3 %) จีน 2,648 คัน ( 6.8 %) ไต้หวัน 1,629 คัน ( 4.2 %) และไทย 1,465 คัน ( 3.7 %) โดยรถยนต์ที่นำเข้าประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นรถยนต์ขนาด 9 ที่นั่งลงมารองลงไปจะเป็นรถยนต์บรรทุกประมาณ 38%

สำนักงานสถิติเวียดนาม ( GSO ) คาดว่าปริมาณนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามตลอดปี 2552 จะเป็น 60,000 คัน มูลค่า 950 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ VAMA แสดงความวิตกกังวลอย่างมากว่าการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศส่วนใหญ่ และอาจเข้ามายึดกิจการรถยนต์ในประเทศในอนาคต ทั้งนี้ VAMA คาดว่าการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปของเวียดนามในปี 2552 นี้ อาจขยายตัวสูงถึง 45 % และเตือนว่าหากผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่นำเข้าได้ ไม่เพียงแต่เวียดนามจะไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ได้แล้ว ยังต้องประสบภาวะขาดดุลการค้าให้กับรถยนต์นำเข้าที่จะได้รับการลดภาษีเป็น 0% ในปี 2561 ตามพันธะของข้อผูกพันภายใต้ CEPT ของการเปิดเสรีอาเซียน ( AFTA)

การลดภาษีรถยนต์ให้สมาชิกอาเซียนตามข้อผู้พันที่เวียดนามต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเปิดเสรีภายใต้ CEPT ( Agreement on the Common Effective Preferential Tariff ) ของการเปิดเสรีอาเซียน ( AFTA ) เวียดนามต้องลดภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศในอาเซียนเหลือ 60% ในปี 2556 และ 0% ในปี 2561

การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปของเวียดนาม ปี 2552

           เดือน                จำนวน ( คัน )      ล้านเหรียญสหรัฐ
          มกราคม — มีนาคม          7,500               171
          เมษายน                  4,400                57
          พฤษภาคม                 4,800                80
          มิถุนายน                  7,000                98
          กรกฎาคม                 8,700               118
          สิงหาคม                  7,225                98
          กันยายน                  7,300               115
          รวม 9 เดือน             46,925               737
          คาดทั้งปี 2552            60,000               950

ที่มา : Generneral Statistic Office of Vietnam

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามภายในปี 2563

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (MoIT) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเป็นปีที่รุ่งโรจน์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ( passenger cars ) ของเวียดนามโดยมีสัดส่วนการใช้รถ 38 คันต่อประชากร 1,000 คน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 88 คัน ต่อประชากร 1,000 คน ภายในปี 2568 ทั้งนี้ รถต่ำกว่า 9 ที่นั่งจะได้รับความนิยมอย่างมากซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมสนับสนุนและประกอบรถยนต์ในประเทศ

Forecast for Motorization in Vietnam

            ปี           สัดส่วนการใช้รถ          ขนาดตลาด

( คัน/ประชากร 1,000 คน ) ( คัน )

          2558           28 / 1,000           235,000
          2563           38 / 1,000           347,000
          2568           88 / 1,000           836,000

เพื่อบรรลุผลดังกล่าว MoIT จึงได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ คือ

  • ให้กำหนดรถยนต์ต่ำกว่า 9 ที่นั่งเป็น strategic vehicles line ของประเทศเพื่อทุ่มเททรัพยากรการให้สิทธิพิเศษและสิ่งจูงใจด้านภาษี
  • รัฐต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนและมีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของการขนส่ง เพื่อลดการติดขัดของการจราจร รวมทั้งกฏระเบียบในการแก้ปัญหาการขนส่งและสิ่งแวดล้อม

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนาม ปี 2547 — 2553 ได้มุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์บรรทุกและรถโดยสาร ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ผลิตในประเทศสามารถครองตลาดส่วนใหญ่ของประเทศ ( 65 — 70%) โดยมีสัดส่วนการใช้ในประเทศ ( localization ) สูงการนำเข้ารถยนต์ประเภทนี้จึงมีน้อย

อย่างไรก็ตาม ความเห็นบางประเด็นในรายละเอียดของรถยนต์ยุทธศาสตร์ ( strategic vehicle line ) ในทศวรรษหน้ายังไม่ลงรอยกันในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง MoIT จึงมอบหมายให้สถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม ( Institue for Industrial Policy and Strategy ) และกรมอุตสาหกรรมหนัก( Heavy Industry Department ) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเกณฑ์ ( criteria) ของรถยนต์ยุทธศาสตร์ใน segment ของรถยนต์ส่วนบุคคลโดยเร็วเพื่อสามารถนำเสนอขอความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ภายในปี 2552 นี้

ส่องกล้องมองถนนของการพัฒนา

อุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามยังอยู่ในขั้นการประกอบรถยนต์ โดยมีอัตราการใช้ชิ้นส่วน ส่วนประกอบ และเครื่องจักรในประเทศโดยเฉลี่ยเพียง 10% ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายของ localization rate ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 40% ภายในปี 2548 และ 60% ภายในปี 2010 ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามยังไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศได้

นอกจากนี้ การที่เวียดนามต้องลดภาษีนำเข้ารถยนต์ตามข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามภายใต้ CEPT ของการเปิดเสรีอาเซียน ( AFTA) โดยลดภาษีนำเข้าเหลือ 60% ในปี 2556 และ 0% ในปี 2561 ทำให้มีโอกาสสำหรับผู้นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและตัวแทนจำหน่าย เพราะโดยปกติผู้บริโภคในประเทศเวียดนามนิยมใช้สินค้าต่างประเทศอยู่แล้ว การลดภาษีจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคพอใจซื้อมากขึ้น

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้คงเป็นไปได้ยากที่เวียดนามจะสามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ แต่อาจอยู่ในฐานะที่จะส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้โดยผู้ส่งออกเป็นบริษัทต่างชาติ ( FIEs : Foreign Invesment Enterprises ) ที่เข้ามาดำเนินการในเวียดนามและจับมือกับโรงงานผู้ผลิตในท้องถิ่น เช่นเดียวกับกรณีโตโยต้ามอเตอร์เวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามได้ดำเนินการอยู่และสามารถส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เข้าไปใน 10 ประเทศที่มีการผลิตรถยนต์โตโยต้า ( รวมทั้งประเทศไทยด้วย ) เป็นมูลค่ากว่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐ ( มค.— กค.2552 )

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ