สเปน: แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 2)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2009 16:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ในปี ค.ศ.2050 ประชากรของสเปนจำนวนถึงหนึ่งในสามจะมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อันเป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลียงไม่ได้ ในอีกไม่นานจำนวนครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ สถานการณ์เช่นนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคก็จะปรับเปลี้ยนไปด้วย ถึงแม้สเปนจะไม่ได้เป็นประเทศเดียวในยุโรปที่จะประสบกับปรากฏการณ์อย่างนี้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าสเปนจะเผชิญกับแรงสะท้อนของปัญหาอย่างหนักหนาสาหัสกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีโครงสร้างงบประมาณด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมในระดับต่ำขณะที่มีภาระที่ต้องจ่ายบำนาญเป็นค่าตอบแทนผู้เกษียณอายุอย่างมหาศาล จึงทำให้ยากที่จะสามารถรับมือกับปัญหาในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่อัตราการเสียชีวิตของประชากรยังคงต่ำมากเช่นนี้

จากระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้เกษียณอายุในอัตราสูงและการทุ่มงบประมาณพัฒนาดูแลความเป็นอยู่ของภาคประชาชนที่ดีขึ้นนั้น ทำให้ผู้เกษียณอายุในปัจจุบันมีความกังวลว่ารัฐบาลจะประสบปัญหาด้านการเงินจนไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ในอนาคต ทั้งนี้ แม้แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีผลกระทบให้เห็นบ้างแล้วจากการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณะให้แก่ระบบค่าตอบแทนผู้สูงอายุที่พุ่งขึ้นจนเกือบถึงร้อยละ 10 ของ GDP ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วยกันแล้ว ผู้เกษียณอายุของสเปนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า ดังที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ เคยกล่าวว่า “ถ้าหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรในสเปนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะยากจนแล้วล่ะก็ ผู้ยากจนโดยเฉลี่ยเหล่านั้นน่าจะเป็นพวกแรงงานอพยพหรือไม่ก็อยู่ในวัยเด็กมากกว่าจะเป็นคนเกษียณอายุ”

การขยายตัวของกลุ่มผู้สูงวัยไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณของสเปนเท่านั้น ยังส่งผลกระทบไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอางรวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารและภาคบริการทั่วไปหมด ที่จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มผู้บริโภคของตนที่อยู่ในวัยอายุ 55 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ผลกระทบจะครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ครีมทาผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงาน ที่จะต้องปรับตัวให้ได้กับสภาวะทีไม่สามารหลีกเลียงได้ และที่สำคัญรัฐบาลต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้านการเงินเพื่อรักษามาตรฐานความเป็นอยู่และการเข้าถึงสังคมของผู้บริโภคในวัยสูงอายุให้ได้

การคาดการณ์และแนวโน้ม

ในปี ค.ศ. 2007 สเปนมีประชากรทีมีอายุเกิน 100 ปีประมาณ 10,000 คน และจากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งชาติ พบว่ามีคนสูงอายุเกินกว่าวัยเกษียณ (65 ปี+) มากกว่า 7 ล้านคน โดยประชากรเพศหญิงมีอายุยืนเฉลี่ย 83.8 ปี (สูงที่สุดในยุโรป) ขณะทีประชากรเพศชายมีอายุยืนเฉลี่ยเพียง 77.2 ปี ซึ่งอายุยืนเฉลี่ยจะปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สเปนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่จำนวนคนอายุยืนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนั้นหนึ่งในสี่ของผู้สูงวัยไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้เพียงลำพัง และจะเพิ่มสัดส่วนไปถึงครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้มีอายุเกินกว่า 80 ปี

จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ ในปี ค.ศ.2007 ร้อยละ 85 ของผู้อยู่ในวัยเกษียณของสเปนอยู่อาศัยกับครอบครัวหรืออยู่บ้านของตนเอง แต่ก็มีแนวโน้มว่าบ้านพักคนชราจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะมีคนประกอบอาหารให้รับประทาน และที่สำคัญที่สุดมีบริการด้านการรักษาพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถึงร้อยละ 60 กอปรกับครอบครัวของลูกหลานที่มีแนวโน้มว่าจะขัดสนด้านการเงินจนไม่สามารถดูแลสมาชิกที่สูงอายุได้เหมือนแต่ก่อน (หมายเหตุ ขนบธรรมเนียมที่ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุและอยู่อาศัยด้วยกันคล้ายคลึงกับของไทย) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่ประชากรส่วนใหญ่เคลื่อนไปสู่กลุ่มผู้สูงอายุ ย่อมส่งผลกระทบไปทั่วทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงภาคการเงินและการสาธารณสุข

ผลกระทบ

มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสเปนเคยเขียนสรุปสถานการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ด้วยเงินบำนาญของรัฐและการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างเพียงพอ สิ่งที่ควรจะมุ่งเน้นคือการสนุกรื่นเริงในวัยสูงอายุให้เต็มที่ การมีอายุยืนยาวเป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญกับมันหาใช่สิ่งที่น่ากลัวไม่”

หากมองไปรอบๆ เมืองของสเปน จะเห็นว่าผู้สูงอายุมากมายต่างมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไปกับการ เล่นไพ่ เล่นหมากรุก หรือเล่นเปตอง ท่ามกลางไอแดดที่อบอุ่น หรือไม่ก็จูงหลานเดินเล่นในสวนสาธารณะ ถักไหมพรม พูดคุย หรือ นั่งเล่น

รัฐบาลคาดการณ์ว่าจำนวนของผู้รับบำนาญจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 ถึง 20 ในราวปี ค.ศ.2010 ส่วนการถกเถียงเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้สูงวัยก็ยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำเนื่องจากในความคิดของคนทั่วๆ ไป เห็นว่าเป็นเรื่องในอนาคตไกลตัว ดังนั้นชาวสเปนที่อายุเกินกว่า 65 ปีจำนวน 6.5 ล้านคนก็ยังไม่แสดงอาการวิตกทุกข์ร้อนแต่อย่างใด

แต่ในบางตลาดก็สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบความต้องการอันเนื่องมาจากการปรับไปสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเครื่องสำอาง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายๆ รายมีความเห็นพ้องกันว่าจะเป็นกลุ่มตลาดแรกที่จะรับรู้ได้ถึงผลกระทบก่อนคนอื่น เนื่องจากชาวสเปนจะให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองให้ดูดีและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในกลุ่มสินค้าที่พวกเขาเลือกซื้อแล้ว สินค้าหลายๆ ยี่ห้อได้เพิ่มหมวดสินค้าให้หลากหลายให้ครอบคลุมการบำรุงรักษาที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เช่น ครีมทามือและผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนผลิตภัณฑ์อีกหลายยี่ห้อที่คุณสมบัติต่อต้านความชราก็เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มตลาดทั่วไปมากขึ้น ในเมื่อผู้ที่ยังมีอายุน้อยก็ต้องการที่จะต่อสู้เมื่อมีสัญญาณบ่งบอกถึงการเป็นผู้สูงอายุมาเยือน จึงต้องการป้องกันดูแลรักษาตนเองตั้งแต่เบื้องต้น ตราสินค้าทั่วไปที่เป็นที่นิยมและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุดได้แก่ L’Oral และ Olay

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ การจ้างงานและภาคการเงินสิ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการทบทวนเกณฑ์อายุเกษียณ ก็ทำให้เกิดบรรยากาศวิตกกังวลมากขึ้นว่าจะต้องทำงานไปจนถึงอายุ 70 ปี และที่แย่ไปกว่านั้น จะต้องรับภาระจ่ายปันส่วนรายได้ให้กับรัฐในจำนวนที่มากขึ้นด้วยในช่วงที่ต้องทำงานต่อไปอีกหลายปี ( ปัจจุบันเกณฑ์เกษียณอายุอยู่ที่ 65ปี ) ซึ่งขณะนี้แม้แต่เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ก็มักจะมีปัญหาพัวพันกับระบบการจ่ายบำนาญอย่างแยกไม่ออก

ในตลาดการจ้างงานทั่วไป พบว่ามีแรงงานที่มีทักษะต่ำและอัตราค่าจ้างต่ำเป็นส่วนมาก จึงทำให้ประชากรที่อายุยังน้อยต่างขวนขวายที่จะศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเพื่อหวังว่าจะได้มีค่าจ้างเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว มันก็จะยิ่งสร้างความกดดันให้กับระบบการจ่ายบำนาญในระยะยาวมากยิ่งขึ้นไปอีก

กิจกรรมด้านสันทนาการของผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการพัฒนามากที่ควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองของสเปน ขณะนี้กิจกรรมหลักของผู้อยู่ในวัยเกษียณคือการดูโทรทัศน์และอ่านหนังสือพิมพ์ ( ผู้สูงวัยมีสัดส่วนเป็นนักอ่านมากที่สุดมากกว่าวัยอื่นๆ ) ซึ่งที่จริงแล้วกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินสำหรับใช้จ่ายสูงสุดและมีเวลาเหลือเฟือกับการไปเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง แต่กลับมีกิจกรรมให้เลือกไม่มากนัก อาทิเช่น การรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการในสวนสาธารณะใจกลางกรุงมาดริด เพื่อออกกำลังกายประจำวัน เป็นต้น

ดังนัน ผู้ผลิตทั้งหลายจำเป็นต้องตระหนักถึงความจริงที่กำลังจะมาถึงและเตรียมรับมือให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มองเห็นได้ในวันนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก นวนคร   สเปน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ