ข้อมูลตลาดสินค้าอาหาร Ready to Eat ในสหราชอาณาจักร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลการตลาด

ตลาดสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meals) ในสหราชอาณาจักรนับว่ามีการขยายตัวอย่างมากในช่วงหลาย ปีที่ผ่านมา โดยแยกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบแช่เย็น (Chilled) แบบแช่แข็ง (Frozen) และอื่นๆ (room temperature) ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายและประหยัดเวลา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ประจำวันทำให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสร่วมรับประทานอาหารพร้อมกันน้อย การเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่มีขนาด เล็กเพียง 1-2 คน ทำให้อาหารพร้อมรับประทานกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริโภคที่ไม่นิยมที่จะปรุงอาหารเอง และยังสามารถ เลือกบริโภคอาหารที่มีรสชาติหรือเมนูแปลกใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

ตัวเลขสถิติล่าสุด ตลาดอาหารสำเร็จรูปประเภท chilled และ frozen มีมูลค่า 2.08 พันล้านปอนด์ในปี 2007 หรือประมาณ 116,480 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.4 ในช่วงปี 2003-2007 โดย chilled ready meals ครองส่วนแบ่งตลาด สูงสุด โดยมีการขยายตัวของยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี จากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากมองว่า chilled ready meals มีความสดและมีคุณค่าอาหารมากกว่า frozen ready meals ทั้งนี้ การลงทุน ด้านการพัฒนาแบลนด์มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อแบลนด์ต่างๆในราคาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ premium จนถึง economy อนึ่ง premium brands มีแนวโน้มของยอดขายดีกว่า เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีกว่า ในส่วน ของ frozen ready meals มีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2005 เนื่องจากมีภาพลักษณ์ว่ามีคุณภาพต่ำกว่า และผลดี ต่อสุขภาพน้อยกว่า

2. ช่องทางการจำหน่าย
ซุปเปอร์มาเก็ต mainstream เป็นผู้จำหน่ายรายสำคัญของตลาดสินค้าอาหารสำเร็จรูป
พร้อมรับประทาน และเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีแบรนด์เนมของตนเอง (own-label) เข้ามาจำหน่ายในตลาด สินค้าอาหารแช่เย็นส่วนใหญ่
ผลิตในประเทศ โดยผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของห้างซุปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ซึ่งนับเป็นผู้กุมตลาด เช่น Mark & Spencer , Tesco,
Sainsbury’s, Asda, Waitrose, Morrison และ Iceland Foods Ltd เป็นต้น ซึ่งผลิตทั้งอาหาร British และนานาชาติ
ทั้งนี้ready meals แช่เย็น/แช่แข็งที่เป็นรายการอาหารนานาชาติมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารอินเดีย
อิตาเลี่ยน และ oriental (จีน) นอกจากนี้ ยังเป็นจุดศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งของผู้ผลิตรายสำคัญอื่นๆ อีกด้วย
เช่น Greencore, Bakkavor, Birds Eye, Northern Foods
และ Foodvest ตลาดสินค้าประเภทนี้มีการแข่งขันอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านราคา โดยแยกระดับราคาของ สินค้าตามรายได้ของ
ผู้บริโภค ราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูปมีราคาขายปลีกแยกออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ แบบ low-cost ; mid-price และ premium

ปกติห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปมักจะจ้างบริษัทผู้ผลิตอาหาร(Food catering)ให้ทำการผลิต แต่ เนื่องจากการผลิตสินค้าอาหารประเภทนี้จะต้องทำการผลิตในลักษณะเป็นโรงงานที่ต้องทำการผลิตสินค้าในปริมาณมาก เพื่อป้อนจำหน่าย ตามห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่มีเครือข่ายการจำหน่ายจำนวนมาก จึงปรากฏว่า ready meals เมนูอาหารไทยมีน้อยมากเนื่องจาก ready meals ส่วนใหญ่ผลิตจากโรงงานที่เป็นของนักธุรกิจชาติอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ใช้พ่อครัวไทย ทำให้รสชาดไม่ค่อยเหมือนอาหารไทย จึงไม่เป็น ที่นิยม ready meals เมนูอาหารไทยที่มีขายในซุเปอร์มาเก็ต mainstream ได้แก่ Thai Curry แบรนด์ Linda McCartney ขายใน Sainsbury’s โดยเป็น ready meal แบบแช่แข็ง และมีเพียงเมนูเดียวที่ขายในห้างฯ สำหรับ Tesco นั้น ไม่มี ready meal เมนูอาหารไทยขาย ทั้งนี้ บริษัท CP ประสบความสำเร็จมากในการขายเกี๊ยวน้ำกุ้งที่เป็น ready meal แบบ frozen ใน ห้าง Costco เป็นต้น

ในส่วนของสินค้าอาหารสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศ ซุเปอร์มาเก็ตเอเชียเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรายสำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูปประเภทแช่แข็ง

3. การนำเข้า

3.1 การนำเข้าจากทั่วโลก

ตาราง : มูลค่าการนำเข้าอาหารปรุงแต่งของสหราชอาณาจักรจากทั่วโลกแยกรายสินค้า ระหว่างเดือน มกราคม-สิงหาคมของปี

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ

ตอนที่/ประเภท          ชนิดสินค้า                      ปี 2008            ปี 2009         อัตราการขยายตัว
                                                มกราคม-สิงหาคม    มกราคม-สิงหาคม            %
 16        ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา ครัสเตเซีย
 1602      - ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์                  1,343.67           1,209.06            -10.02
              ** เนื้อไก่ชนิด gallus                   543.88             515.86             -5.15
  • domesticus
              ** เนื้อวัว                             262.68             235.74            -10.26
              ** เนื้อหมู                             181.57             159.08            -12.39
1604      - ปลาปรุงแต่ง
              ** ทูน่า และสคิปแจ็ก                     349.89             268.80            -23.18
1605      - สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย
              ** กุ้ง                                192.44             172.81            -10.20
 21        ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่บริโภคได้
 210420      - อาหารทารก                            85.52             115.61            +35.18
 210401      - ซุป ซุปข้น                              48.82              61.59            +26.15
แหล่งที่มา : World Trade Atlas

สำหรับอาหารปรุงแต่งจากเนื้อไก่ สหราชอาณาจักรนำเข้าจากไทยในอันดับ 1 ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ บราซิล ไอร์แลนด์ และเยอรมัน ตามลำดับ

สำหรับอาหารปรุงแต่งจากเนื้อวัว สหราชอาณาจักรนำเข้าจากบราซิลในอันดับ 1 ตามด้วยไอร์แลนด์ อาร์เจนติน่า อุรุกวัย ตามลำดับ

สำหรับอาหารปรุงแต่งจากเนื้อหมู สหราชอาณาจักรนำเข้าจากโปร์แลนด์ในอันดับ 1 ตามด้วยไอร์แลนด์ เยอรมัน และ อิตาลี

สำหรับอาหารปรุงแต่งจากเนื้อปลา สหราชอาณาจักรนำเข้าจาก Seychelles ในอันดับ 1 ตามด้วย Mauritius; Ghana ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

สำหรับอาหารปรุงแต่งจากกุ้ง สหราชอาณาจักรนำเข้าจากไทยในอันดับ 1 ตามด้วยไอซ์แลนด์ เดนมาร์ค แคนาดา และ อินโดนีเซียตามลำดับ

3.2 การนำเข้าจากไทย

อาหารปรุงแต่งเป็นสินค้านำเข้าในอันดับ 1 จากไทย ด้วยมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 398.36 ล้าน US$ ลดลงร้อยละ 2.59 โดยอาหารปรุงแต่งจากสัตว์ปีกมีมูลค่าสูงสุด 289.20 ล้าน US$ ลดลงร้อยละ 5.90 ตามด้วยอาหารปรุงแต่งจากปลาทูน่าและสคิปแจ็ก 37.74 ล้าน US$ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 และอาหารปรุงแต่งจากกุ้ง 32.23 ล้าน US$ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.26

4. การส่งเสริมการจำหน่าย

สินค้าอาหารสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่ใช้แบรนด์เนมเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างยิ่ง การโฆษณา ประชาสัมพันธ์แบรนด์เนมของสินค้า (Brand Advertising) เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ได้ลงทุนด้านการโฆษณาเป็นเงิน จำนวนมากหลายล้านปอนด์ต่อปี

5. โอกาสทางการตลาด

สินค้าอาหารสำเร็จรูปมีลู่ทางในตลาดดี แต่มีการแข่งขันที่สูง สินค้าชนิดที่มียี่ห้อและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจะเป็น สินค้าที่มีความต้องการสูง ดังนั้นทำให้ซุปเปอร์มาเก็ต และ โกรเซอรี่ (Grocery) นิยมจำหน่ายสินค้าที่มียี่ห้อเป็นส่วนมาก ก่อให้เกิด การแข่งขันการวางสินค้าของตนตามชั้นวางจำหน่ายสินค้า ของห้างซุปเปอร์มาเก็ต หรือ โกรเซอรี่ ซึ่งมีขีดจำกัด

6. รายชื่อผู้นำเข้า

ผู้นำเข้าสินค้าอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญของสหราชอาณาจักรที่เป็น Ethnic Foods ได้แก่ Chadha Oriental Foods Ltd; Chuanglee Limited; CP Foods (UK) Ltd; Harro Foods Limited; Hoo Hing Holdings Ltd; JFC (UK) Limited; Korea Foods Company Limited; Loon Fung Supermarket Ltd; Manning Impex Limited; W Wing Yip PLC; Costco Wholesale UK Limited เป็นต้น

7. ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
7.1 กฎระเบียบทางการค้า

7.1.1 ฉลากสินค้า (Labeling)— ตามระเบียบ Food Labelling Regulations1996 กำหนดให้สินค้าอาหารที่ ประกอบสำเร็จพร้อมจัดส่งถึงผู้บริโภคหรือร้านจัดจำหน่ายอาหาร จะต้องถือปฏิบัติเกี่ยวกับการปิดฉลากสินค้าดังนี้

  • ต้องระบุชื่อ ชนิดของอาหาร
  • ส่วนผสมของอาหาร
  • ระบุวันหมดอายุหรือช่วงที่เหมาะสำหรับบริโภค (“best before” or “use by” date)
  • คำแนะนำพิเศษเกี่ยวกับการเก็บรักษา
  • ชื่อ หรือชื่อทางธุรกิจ และสถานที่ตั้ง หรือสำนักงานจดทะเบียนของผู้ผลิต หรือผู้บรรจุหีบห่อ หรือผู้จัดจำหน่าย
  • แหล่งผลิตหรือแหล่งที่มาของสินค้าอาหาร
  • คำแนะนำวิธีการใช้หรือการบริโภค
  • รายชื่อของส่วนผสมอาหารที่อาจเป็นสารที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาหารแพ้ขึ้นได้ โดยกำหนดให้ส่วนผสมอาหาร 12 ชนิดที่
อาจมีผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ (Allergenic ingredients) จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนบนฉลากสินค้า ได้แก่ Cereal
containing gluten สัตว์ทะเลประเภทกุ้ง
ปู (Crustaceans) ไข่ ปลา ถั่วลิสง ลูกนัท ถั่วเหลือง นม ผักชี ผักคึ่นฉ่าย มัสตาร์ด งา (Sesame) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur
dioxide) ในระดับเกินกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลรัมหรือต่อลิตร
  • ยกเลิก กฎร้อยละ 25 หรือ “25% rule” (เป็นกฎที่ให้ข้อยกเว้นแก่ผู้ผลิตไม่ต้องระบุส่วนผสมอาหารทุกชนิดลงบนฉลาก
สินค้า หากเมื่อนำส่วนผสมอาหารแต่ละชนิดมารวมกันแล้วคิดเป็นส่วนประกอบไม่ถึงร้อยละ 25 ของสินค้าอาหารนั้นๆ) ซึ่งจะมีผลให้
ส่วนผสมอาหารเกือบทั้งหมดต้องถูกระบุไว้บนฉลากสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าอาหารได้อย่าง
ปลอดภัยมากขึ้น

7.1.2 ปัญหาเรื่องน้ำหนักไม่ครบ (Underweight) — ผู้นำเข้าสามารถถูกฟ้องร้องเกิดคดีขึ้นศาล และถูกปรับเป็น เงินค่าเสียหายจำนวนมาก หากสินค้าที่ผู้ผลิตมีน้ำหนักไม่ตรงกับที่ระบุไว้

7.1.3 การค้นพบสิ่งแปลกปลอมในสินค้าอาหาร (Contaminants) เช่น เศษก้อนกรวดหรือเศษโลหะ

7.1.4 การขาดข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า (Lack of Product Information) — ผู้ผลิตไทยไม่ต้องการเปิดเผย รายละเอียด ส่วนผสมสินค้าของบริษัท เนื่องจากเกรงว่าจะมีการลอกเลียนสินค้าเกิดขึ้น แต่สำหรับ ผู้นำเข้านั้น ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยว กับด้านโภชนาการ และความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งผู้จำหน่ายสินค้าจะต้องรับผิดชอบเต็มที่ หากผู้บริโภคเกิดอาการติดเชื้อของ โรคอาหารเป็นพิษ หรืออาการแพ้ เป็นต้น

7.1.5 ขาดข้อมูลด้าน Laboratory test เป็นข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับสินค้าอาหารที่ส่งออกไปยังตลาดต่าง ประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหราชอาณาจักรที่ค่อนข้างเข้มงวดกับมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค

7.1.6 ด้านสุขอนามัย — Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ผลิตไทยควรให้ความสำคัญ

7.1.7 เอกสารใบรับรองด้านสุขอนามัย

เอกสารการรับรองด้านสุขอนามัยอาหาร (Health Certificate) ต้องระบุรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจนและถูกต้อง หากไม่เช่นนั้นแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหราชอาณาจักรจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าเข้าประเทศได้ เช่น ระบุรายละเอียดประกอบที่ ชัดเจนว่าสินค้านั้นเป็น salted หรือ preserved เป็นต้น และเอกสารดังกล่าวจะต้องมีการลงนามของผู้มีอำนาจลงนามกำกับเอกสาร ซึ่งจะต้องเป็นชื่อของผู้ได้รับมอบตามกฎหมายให้มีอำนาจในการกำกับลงนามเท่านั้น มีฉลากกำกับสินค้าอย่างถูกต้องเอกสารรับรอง ว่าสินค้านั้น สะอาดและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เช่น ในบางกรณีได้ตรวจพบ เชื้อ Salmonella ในเครื่องแกง เป็นต้น

8. อัตราภาษีการนำเข้า

สามารถหาข้อมูลภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าทุกรายการได้ที่ website http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds /cgi-bin/tarchap?Lang=EN โดย click ที่ browse ก่อน เพื่อหา code สินค้า จากนั้นพิมพ์ code ลงไป และ click ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้า และ click ที่ customs duties

9. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะลู่ทาง/โอกาสสำหรับสินค้าไทย

จากการที่ปัจจุบันอาหารไทยกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในสหราชอาณาจักร ทำให้สินค้าอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็นที่เป็น รายการอาหารไทยมีลู่ทางโอกาสขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่จากการที่มีบริษัทผู้ผลิตที่เป็นธุรกิจของชาวต่างชาติ ทำให้สินค้าอาหารไทย ที่ผลิตออกจำหน่ายมีรสชาติที่ไม่ใช่อาหารไทยแท้ นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญของการนำเข้าสินค้าอาหารแช่เย็น คือ ทางด้านโลจิสติกส์และ ระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อความสดและช่วงเวลาในการวางจำหน่าย(Shelf life)ของสินค้าที่สั้นลง รวมทั้งปัญหากฎระเบียบ ที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปในการการตรวจสอบด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสินค้าอาหารที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศที่สาม รวมทั้ง จากการที่สินค้าอาหารแช่เย็นถูกยึดกุมส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่โดยสินค้าภายใต้แบรนด์เนมของห้างซุปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ (Mainstream Supermarket)ที่มีเครือข่ายการจำหน่ายอย่างกว้างขวางทำให้สินค้าประเภทนี้ภายใต้แบรนด์เนมของไทยไม่สามารถที่ จะเจาะขยายการจำหน่ายตามห้างซุปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่เหล่านี้ที่เป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ การหาลู่ทางร่วมลงทุนทำการ ผลิตหรือความร่วมมือทางธุรกิจในการนำเข้าและจัดจำหน่ายในตลาด สหราชอาณาจักร น่าเป็นแนวทางที่บริษัทผู้ผลิตและส่งออกสินค้า ประเภทนี้ของไทยควรให้ความสนใจเพื่อขยายลู่ทางการตลาดต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ