อัญมณีไทยส่งแววสดใสในอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 12, 2009 17:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เผยชาวอเมริกันส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากนัก สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ขายดีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20-450 เหรียญสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญเป็นอันดับ 4 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับไปตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นางสมจินต์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้กล่าวถึงผลการหารือกับ Mr. Dominic Chandarasanti (CEO) ของบริษัท Pranda North America, Inc. ตั้งอยู่เมือง Providence มลรัฐ Rhode Island ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทกระจายสินค้าอัญมณีของบริษัท Pranda Jewelry Co.,Ltd (ประเทศไทย) ซึ่งดำเนินการมากว่า 18 ปี และยังเป็นบริษัทที่ขยายกิจการมายังสหรัฐฯ ตามนโยบาย Internationalization ของรัฐบาล

เมือง Providence มลรัฐ Rhode Island เคยเป็นแหล่งผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องเงินที่สำคัญของสหรัฐฯ แห่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง Jewelry District เป็นฐานการผลิตอัญมณีด้วยวิธีการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยลดต้นทุนสินค้าประเภทเครื่องประดับเคลือบทองและเครื่องเงิน สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้รายงานว่า New York เป็นศูนย์รวมธุรกิจอัญมณีอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยมลรัฐแคลิฟอร์เนียร์ มลรัฐ Rhode Island มลรัฐฟลอริด้า และมลรัฐเท็กซัสตามลำดับ

บริษัท Pranda North America, Inc. ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ พบว่าส่วนใหญ่ไม่นิยมซื้อสินค้าที่มีราคาแพงมากนัก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรีกว่าร้อยละ 95 ที่เหลือเป็นสุภาพบุรุษ โดยราคาสินค้าที่เหมาะสมเฉลี่ยต่อชิ้นอยู่ระหว่างราคา 20-450 เหรียญสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับไปตลาดสหรัฐฯ ในช่วงเดือน มกราคม-กันยายน 2552 มีมูลค่ากว่า 570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2551 ถึงร้อยละ 31 ซึ่งเกิดจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้บริโภค เป็นผลให้เกิดการประหยัดในการใช้จ่าย

ทั้งนี้หากผู้ส่งออกท่านใดสนใจข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ข้อมูลในเรื่องการเปิด Virtual Office, การตลาด สถานการณ์สินค้า การจ้างงาน ฯลฯ ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก หรือ E-mail : info@thaitradeny.com

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ