การลงทุนของธุรกิจเคมีภัณฑ์เครือซิเมนต์ไทย(SCG Chemicals)ในอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 15:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กรณีศึกษา: การลงทุนของ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย (SCG Chemicals) ในอิหร่าน

ในขณะที่ภาวะการแข่งขันและการช่วงชิงอำนาจทางการค้าการลงทุนจากทั่วโลกรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การก้าวไปสู่การทำธุรกิจในต่างประเทศ (Internationalization Project) นับเป็นกล-ยุทธ์ทางการค้าที่สำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงทางธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เพิ่มเติมจากการส่งออก อันจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Comparative Advantage) ในระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งในภาพรวม จะสามารถแปรสภาพการค้าของไทยจากการเป็นประเทศผู้ผลิต (Manufacturing Base) มาเป็นประเทศผู้ค้า (Trading Nation) และ ประเทศผู้ลงทุน (Investor Country) ได้ในอนาคต

ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย (SCG Chemicals) เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีนโยบายขยายธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย SCG Chemicals ได้ร่วมลงทุนเปิดบริษัท Mehr Petrochemical Company (MHPC) ในอิหร่าน ด้วยเงินลงทุน 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นได้แก่ Alliance Petrochemical Investment (Singapore) (API) 60% SCG Chemicals Co., Ltd (SCGCh), Thailand 38% ITOCHU Corporation (ITOCHU), Japan 12% PTT Chemical Plc. (PTTCH), Thailand 10% NPC International Ltd. 40% ซึ่งบริษัท MHPC ได้เริ่มผลิตเม็ดพลาสติดในอิหร่านตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา

การลงทุนและบริหารงานในอิหร่านอาจมีความแตกต่างจากการลงทุนในประเทศอื่นๆ อยู่บ้างเนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศที่พึ่งเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับอิหร่านมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนวิธีคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นการที่บริษัท SCG Chemicals ของไทยประสบความสำเร็จในการลงทุนสร้างและบริหารโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในอิหร่าน จึงถือได้ว่าเป็นการบุกเบิกการลงทุนไทยในอิหร่าน ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน ได้รับเกียรติจาก คุณศักดิ์ชัย ปฎิภาณปรีชาวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Mehr Petrochemical จำกัด ผู้บุกเบิกการลงทุนในอิหร่านมากว่าสามปี เล่าถึงประสบการณ์การลงทุนและการบริหารงานในแง่มุมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทยที่สนใจจะก้าวสู่การทำธุรกิจในอิหร่านในอนาคต

ทำไมอิหร่าน?

คุณศักดิ์ชัย กล่าวว่า SCG Chemicals เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติก โดย SCG Chemicals นับเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย และมีจุดแข็งด้านการตลาดที่สามารถรักษากลุ่มลูกค้าและขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2000 บริษัทฯ เริ่มคิดว่าหากมีฐานลูกค้าที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ บริษัทฯ ยังไม่มีแผนการขยายกำลังการผลิต จึงควรแสวงหาสินค้าจากแหล่งผลิตสินค้าต่างๆ ดังนั้น บริษัทฯ จึงเริ่มออกสำรวจแหล่งทีมีผู้ผลิตต้นทุนต่ำตะวันออกกลางเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ และโอมาน เพื่อเจรจาหาสินค้ามาป้อนให้กับลูกค้าดังกล่าว

หลังจากที่บริษัทฯ สำรวจประเทศต่างๆ แล้ว บริษัทฯ ก็ตัดสินใจเข้าไปศึกษาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอิหร่าน ซึ่งพบว่าในขณะนั้น อิหร่านมีน้ำมันและแก็ซสำรองในประเทศในปริมาณสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนปิโตรเคมีภายในประเทศ โดยมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะนำแก๊ซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ เห็นว่านักลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอิหร่านมีน้อย จึงน่าจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจไทยในอิหร่านก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ ทำให้บริษัทฯ เปลี่ยนความตั้งใจจากนำสินค้าไปขาย เป็นการลงทุนในอิหร่านแทน ซึ่งในปีเดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้เชิญบริษัทฯ ไปศึกษาโอกาสการลงทุน โดยตั้งเป้าหมายคือทำโรงงานเม็ดพลาสติกในอิหร่าน

ทำไมโรงงานเม็ดพลาสติก?

ปัจจัยสำคัญที่บริษัทตัดสินใจทำโครงการเม็ดพลาสติกในอิหร่านก็คือสินค้าเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ มีความคุ้นเคยและมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด โดยมีความรู้ที่สั่งสมในอุตสาหกรรมนี้กว่า 20 ปี ทั้งทางด้านการผลิต ทางด้านการจัดการและทางด้านการตลาด และมีบุคคลกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกมาเป็นเวลานาน และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัทเลือกสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุดมาเป็นตัวตั้งในการศึกษาการลงทุน หรือเลือกลงทุนในสิ่งที่รู้มากที่สุดนั้นเอง

การเริ่มต้น

ทางบริษัทเริ่มศึกษาการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2002 เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศใหม่ และผู้ร่วมทุนอิหร่านก็ใหม่สำหรับบริษัทฯ เพราะฉะนั้นในช่วงต้น บริษัทฯ ใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ของในโครงการนี้ทั้งหมดประมาณ 3 ปีครึ่ง ก่อนที่จะเริ่มมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งในโครงการนี้บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาโครงการ (Feasibility Study) อย่างละเอียดในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าในแง่ของต้นทุน ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จุดคุ้มทุนในการผลิต การก่อสร้าง แหล่งเงินกู้ และกฎระเบียบกฎหมายต่างๆ ของอิหร่าน เพื่อที่ให้คุ้มค่าเงินลงทุน แล้วประเมินความเป็นไปได้ของการลงทุน พร้อมทั้งลดความเสี่ยงด้วยซื้อประกันคุ้มครองการลงทุน เมื่อทำการศึกษาในทุกๆ ด้านอย่างรอบคอบแล้ว บริษัทฯ จึงตัดสินใจลงทุนในอิหร่าน

การบุกเบิก

คุณศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายหลังจากที่บริษัทฯ ตัดสินในลงทุนในอิหร่านแล้ว เนื่องจากคุณศักดิ์ชัยได้เดินทางเยือนอิหร่านหลายครั้ง และมีส่วนร่วมในการวางแผน และศึกษาความเป็นได้ของโครงการในทุกๆ ด้านตั้งแต่ต้น คุณศักดิ์ชัยจึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหอกในการบุกเบิกบริษัทร่วมทุนใหม่นี้

อุปสรรค

อุปสรรคในช่วงแรกของโครงการฯ ที่สำคัญ คือขาดความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง เช่น สถานที่ในการก่อสร้างโรงงาน ความพร้อมในนิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคที่ใช้ในการผลิตตลอดจนท่อลำเลียงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

บุคลากร

ภายหลังจากที่ได้เซ็นสัญญาร่วมทุน ก็เริ่มเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาที่จะก่อสร้างโรงงาน ซึ่งบุคลากรต่างๆ ที่บริษัทฯ คัดเลือกจะเป็นพนักงานจากไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกันและมีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไป โดยแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญทางด้านที่เคยรับผิดชอบ เช่นด้านวางแผน ด้านงานก่อสร้าง ด้านการตลาด โดยในช่วงต้น คุณศักดิ์ชัยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในฐานะรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทร่วมทุนฯ ขณะที่กรรมการผู้จัดการเป็นชาวอิหร่าน ในฐานะผู้แทนจากรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนฯ

วัฒนธรรมการทำงานของชาวอิหร่าน

จากประสบการณ์การทำงานกับชาวอิหร่านที่ผ่านมา คุณศักดิ์ชัยกล่าวว่าวัฒนธรรมการบริหารจัดการและการทำงานในอิหร่านที่ชัดเจนสองประการ ประการแรก คือวัฒนธรรมการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจที่ผู้นำสูงสุด โดยกรรมการผู้จัดการมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งงาน ทำให้รูปแบบการทำงานผูกขาดอำนาจการตัดสินใจที่กรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ซึ่งการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจนี้ จะไม่มีการแบ่งงานการตัดสินใจให้หัวหน้างานระดับรองลงมาเลย นอกจากนี้ เนื่องจากการตัดสินใจเป็นแบบรวมศูนย์ที่ผู้บริหารสูงสุด ทำให้ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ หรือสร้างระบบการทำงานแต่อย่างใด ดังนั้น การทำงานในลักษณะวิเคราะห์ปัญหาหรือหาทางออกร่วมกันจึงไม่มี ประการที่สอง คือ ลักษณะการทำงานของพนักงานชาวอิหร่านที่เป็นตัวของตัวเองสูง ชาวอิหร่านถนัดที่จะทำงานแบบไม่เกี่ยวข้องกันและกัน และขีดเส้นในการทำงานระหว่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ทุกคนถนัดที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่าจะชำนาญงานหลายด้าน กล่าวคือพนักงานชาวอิหร่านจะต้องการที่จะรู้ในสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งจะหาพนักงานชาวอิหร่านที่มีความรู้และสามารถทำงานหลากหลายได้ยาก ทำให้การประสานงานหรือการทำงานที่ต้องใช้ความร่วมมือหรือการทำงานเป็นทีมทำได้ค่อนข้างยาก

การปรับตัว

คุณศักดิ์ชัยเล่าว่า ในช่วงแรก เมื่อเข้ามาพบสภาพและวิธีการทำงาน ตลอดจนวิธีคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวของชาวอิหร่านก็ค่อนข้างอึดอัด แต่ก็รู้ว่าเป้าหมายผู้ร่วมทุนอิหร่านกับไทยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการทำงานและมุมมองในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดบริษัทฯ หากฝ่ายไทยเห็นว่าบริษัทร่วมทุนฯ กำลังจะมีปัญหา ก็จะใช้วิธีโต้แย้งด้วยเหตุผลหรือประสานงานให้ผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจขึ้นไปช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ หรือสร้างเครือข่ายกับบุคคลสำคัญในอิหร่านจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปของทางอิหร่าน เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง เพราะปัญหาหลายๆ เรื่อง บริษัทฯ ไม่สามารถแก้ได้เอง เช่น ปัญหาการก่อสร้างโรงงานในเขตอุตสาหกรรม หากโรงงานสร้างเสร็จ แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม ก็ไม่สามารถเดินโครงการตามแผนได้

วัฒนธรรมองค์กรใหม่

ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย (SCG Chemicals) นับได้ว่าเป็นบริษัทของไทยที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง เป็นระบบ และให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคุณศักดิ์ชัยได้พยายามปรับระบบการทำงานแบบพึ่งพิงกับตัวบุคคลของอิหร่านมาเป็นการทำงานแบบมีระบบงานที่ชัดเจน ซึ่งในช่วงต้นได้พยายามที่จะนำเสนอกฎระเบียบต่างๆ ของเครือซิเมนต์ไทยมาปรับใช้ในอิหร่าน ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ภายหลังที่คุณศักดิ์ชัยได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ตามวาระ คุณศักดิ์ชัยได้ลงระบบต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม ตั้งแต่ระบบพื้นฐาน เช่น การกำหนดค่าจ้าง การพัฒนาบุคลากร การกำหนดเส้นทางอาชีพ ระบบการสัญญาจ้างบุคลากร โดยที่คุณศักดิ์ชัยเชื่อว่าบริษัทฯ ควรให้ความสำคัญแก่การเลือกสรรพนักงาน และเมื่อรับพนักงานเข้ามาแล้ว ก็ต้องมีระบบที่จะพัฒนาพนักงาน เพื่อให้พนักงานอยู่กับบริษัทฯ ได้ยาวนาน นอกเหนือจากค่าจ้างที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ คุณศักดิ์ชัยมีความเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของบริษัทร่วมทุนฯ ขึ้นกับระบบงานที่ดี บุคลากรที่ดี แต่การจะทำให้พนักงานชาวอิหร่านมีความรักบริษัทเหมือนกับที่พนักงานที่เมืองไทยรักบริษัทและ มีแนวคิดและความรู้สึกเช่นเดียวกับแบบที่มีในไทย เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร คุณศักดิ์ชัยกล่าวว่า หากพนักงานเข้ามาร่วมงานในบริษัท และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ก็จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พนักงานอยู่กับบริษัทได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ การสร้างระบบต่างๆ จะต้องเริ่มจากระบบบุคคลากร เพราะระบบบุคคลากรเป็นพื้นฐานหลักที่นำมาซึ่งบุคลากรที่ดี บุคลากรที่ดีก็จะมาช่วยสร้างระบบที่ดี พอระบบดี บุคลากรก็สามารถเดินตามระบบไปสู่เป้าหมายได้

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ การเปลี่ยนแปลงพนักงานอิหร่านที่นิยมทำงานแบบตัวใครตัวมัน มาเป็นการทำงานแบบเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณศักดิ์ชัยเชื่อว่าการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องทำงานเป็นทีมและมีการประสานงานที่ดี เพราะว่าไม่มีบริษัทไหนในโลกที่จะประสบความสำเร็จได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งคุณศักดิ์ชัยทราบดีว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนหรือช่องว่าง (Gap) ที่สำคัญของพนักงานชาวอิหร่าน ดังนั้นคุณศักดิ์ชัยจึงพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า MHPC Corporate Culture: LIST ในบริษัทร่วมทุน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสนใจพนักงาน และถึงแม้ว่าพนักงานในบริษัทจะใหม่ บริษัทก็ใหม่ แต่พนักงานทุกคนต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Learning: L) และเมื่อเรียนรู้แล้วขอให้พนักงานปรับปรุง (Improvement: I) โดยยังไม่ต้องก้าวไปถึงขึ้นที่พัฒนาสิ่งใหม่ๆ (Innovative) การปรับปรุงก็คือให้พนักงานพยายามคิดว่าในหน้างานของตัวเองที่ทำอยู่ในแต่ละวัน มีโอกาสใดที่จะปรับปรุง ในจุดไหนบ้าง ขอให้พนักงานช่วยกันคิด ช่วยกันปรับปรุงและสร้างระบบขึ้นมา จากนั้นคือการมีน้ำใจในการทำงานหรือ (Spirit: S) ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้พนักงานทำงานแบบมีน้ำใจหรือการช่วยเหลืองานของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งโดยทั่วไปในสภาพงานจริง การขีดเส้นการทำงานเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นหากในโรงงาน บางเวลา บางจุดมีปริมาณงานมาก พนักงานควรต้องเข้าไปช่วยแบ่งเบางาน เพื่อให้เป้าหมายขององค์กรลุล่วง เรื่องสุดท้ายคือเรื่องการทำงานเป็นทีม (Teamwork: T) โดยคุณศักดิ์ชัยพยายามสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรให้มีการทำงานแบบเป็นทีม และจัดกิจกรรมกีฬาให้พนักงานเข้ามามีกิจกรรมร่วมกัน โดยหวังว่าจะสามารถสร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน ลดการทำงานแบบเฉพาะตัว เพิ่มความกระตือรือร้น ความร่วมไม้ร่วมมือเป็นทีม และเพิ่มความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันได้

ข้อเสนอแนะแก่นักลงทุนไทย
คุณศักดิ์ชัยให้ข้อเสนอแนะแก่นักลงทุนไทยที่สนใจจะลงทุนในอิหร่าน ดังนี้
  • ให้เลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญและถนัดมากที่สุด เพราะว่าเราไม่สามารถเอาการบริหารจัดการอย่างเดียว มาใช้ในประเทศที่เราไม่รู้จักได้ เราจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญของเราในทุกๆ ด้านมาแก้ไขปัญหาในเหตุการณ์จริงๆ ซึ่งความรู้ ความชำนาญในแง่ลึกของตัวสินค้าหรือบริการนั้นๆ จะทำให้โอกาสให้การลงทุนประสบความสำเร็จสูงขึ้น นอกจากนี้ แม้จะมีเงินก็ไม่สามารถที่จะหาผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นได้ เพราะไม่สามารถหาคนที่สอดคล้องกับความต้องการได้
  • ความพร้อมในเรื่องบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรให้บุคลากรไทยร่วมงานและวิเคราะห์งานตั้งแต่ต้น เพื่อให้ทราบถึงจุดที่มีความเสี่ยงต่างๆ และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ จะต้องพยายามให้เวลาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้พนักงานท้องถิ่นให้มากที่สุดเพื่อพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง
  • มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เนื่องจากการทำงานในอิหร่านและไทยมีความแตกต่างกัน ดังนั้น นักลงทุนหรือผู้บริหารจะเทียบมาตรฐานที่เคยทำงานอยู่ในเมืองไทยหรือประเทศอื่นๆ มาใช้ในอิหร่านไม่ได้เสมอไป
  • สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือคนคาดว่าอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์ ก็เพื่อให้บุคคลที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเราได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา หรือขอความช่วยเหลือจากคนในกลุ่มนี้ได้
  • การสรรหาผู้ร่วมทุน ควรทำการศึกษาในแนวลึกว่าผู้ร่วมทุนรายใดมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับองค์กรเรามากน้อยแค่ไหน และมีความเชี่ยวชาญทางด้านไหนที่จะช่วยผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ
  • การลงทุนในอิหร่าน นอกเหนือจากผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของตัวเงินแล้ว ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัฐบาลอิหร่านได้ สร้างความเชื่อมั่นในสายตาของรัฐบาลอิหร่าน ทำให้รัฐบาลอิหร่านเห็น ศักยภาพของบริษัทไทย ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่าย สามารถพัฒนาความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และพัฒนาการร่วมมือต่อไปในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ