สินค้าอาหารไทยรุกตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอรมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 16:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กรมส่งเสริมการส่งออกมีนโยบายส่งเสริมให้สินค้าอาหารไทย โดยเฉพาะ Thai Authentic Food วางจำหน่ายในตลาด Mainstream ของเยอรมันให้แพร่หลายยิ่งขึ้น นอกเหนือจากที่วางจำหน่ายตามร้าน Asia Food Shop เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวเยอรมัน โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยร่วมกับผู้นำเข้าและซุปเปอร์สโตร์/ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ของเยอรมันที่มีสาขาจำนวนมาก กระจายไปตามเมืองต่างๆ สำหรับปี 2552 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ร่วมกับบริษัท Kreyenhop & Kluge GmbH & Co.KG ผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเซียรายใหญ่ในเยอรมัน ซึ่งนำเข้าสินค้าจากไทยกว่า 600 ชนิด คิดเป็นมูลค่ายอดนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย 15 ล้านยูโร หรือประมาณ 750 ล้านบาท จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทย ร่วมกับ Superstores / Hypermarkets ในเยอรมนี จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ ห้าง Real เมือง Krefeld, ห้าง Plaza เมือง Kiel , ห้าง Dodenhof เมือง Posthausen, ห้าง Globus เมือง Saarbrucken, ห้าง E-Center เมือง Porta Westfalica, , ห้าง Famila เมือง Oldenburg,ห้าง Globus เมือง Cologne ห้าง HIT เมือง Leipzig, Frankfurt และห้าง Marktkauf เมือง Wheil am Rhein เป็นต้น

รูปแบบการจัดกิจกรรม
  • กิจกรรมส่งเสริมการขายกำหนดจัดขึ้นห้างละ 2 วัน คือวันศุกร์และเสาร์ ระหว่างช่วงเวลา 10.00 - 18.00 น. ซึ่งจะมีลูกค้าเข้ามาชิมและเลือกซื้อสินค้ามากเป็นพิเศษ โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 5,000 - 8,000 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของเมืองที่จัดแต่ละแห่ง โดยซุปเปอร์มาร์เก็ต/ห้างที่จัดกิจกรรมจะเป็นห้างระดับกลาง กลุ่มลูกค้า 80% ที่เข้าชิมในช่วงกลางวัน จะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะดี มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มคนทำงานรายได้ปานกลางและวัยรุ่น จะเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงเย็นและค่ำ ซึ่งรายการอาหารยอดนิยมที่นำมาสาธิตให้ชิมเช่นเหมือนปีที่ผ่านมา คือแกงเขียวหวานไก่ และผัดไทยกุ้งสด โดยสำนักงานฯ ได้คัดเลือกพ่อครัว/แม่ครัวคุณภาพ ที่มีความรู้ ความชำนาญมาสาธิตปรุงอาหารให้ลูกค้าชิมและคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุดิบ/เครื่องปรุงส่วนผสม พร้อมอธิบายวิธีการปรุงอาหารไทยอย่างละเอียดแต่ไม่ซับซ้อนเป็นภาษาเยอรมัน และในบริเวณรอบๆ เคาน์เตอร์ปรุงอาหาร จะมีการจัดมุมพิเศษอย่างโดดเด่นสวยงาม เพื่อวางจำหน่ายสินค้าไทยใน
ราคาพิเศษ ให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้า หลังจากได้ทดลองชิมแล้ว
  • เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่นำมาแจกให้ลูกค้า อาทิ โบรชัวร์สูตรปรุงอาหารไทยแบบเข้าใจง่ายเป็นภาษาเยอรมัน

หนังสือทำเนียบรวบรวมร้านอาหารไทยในเยอรมันที่ได้รับเครื่องหมาย Thai Select (Thai Select Restaurant Directory) Handout อธิบายคำจำกัดความ Thai Select และหนังสือ Taste Thai ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก รวมทั้ง ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยคุณภาพในเยอรมันให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมันเพื่อสนองตอบนโยบายครัวไทยสู่โลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สินค้าที่นำมาวางจำหน่าย
  • สินค้าที่วางจำหน่ายในห้างแต่ละแห่ง มีจำนวน 60-100 ชนิด ขึ้นอยู่กับขนาดของห้าง/ซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่ง อาทิ ซอสปรุงรส กะทิ เครื่องแกงสำเร็จรูป ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลไม้และอาหารกระป๋อง จากบริษัท Exotic Food, กะทิ อาหารกระป๋อง ซอสปรุงรส จากบริษัท Thai World สินค้าอาหารแช่แข็ง จากบริษัท Thai Agri, ถั่วเขาช่อง จากบริษัท Lily Industry, บะหมี่สำเร็จรูปจากบริษัท Thai President Food, ข้าวจากบริษัทเจียเม้ง บริษัท Blue Peacock บริษัท Kaset บริษัท 4-Elephants บริษัท Eagle และบริษัท Royal Umbrella , น้ำส้มสายชู จากบริษัท Golden Mountain, สินค้าอาหารแช่แข็ง จากบริษัท Little Chef, แป้งทอดกรอบจากบริษัท Tippy สินค้าเกษตรอินทรีย์ ประเภท ข้าวหอมมะลิ กะทิ ภายใต้ชื่อสินค้า Bioasia และ Green Sun
  • สินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อสูงสุด ได้แก่

1). น้ำจิ้มไก่

2). กะทิ

3). ข้าวหอมมะลิ

4). เครื่องแกง

5). เส้นก๋วยเตี๋ยว

6). ของขบเคี้ยวทานเล่น

7). บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

8). ผลไม้กระป๋อง

ผลตอบรับจากลูกค้า
  • กลุ่มลูกค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมชิมอาหารและจับจ่ายซื้อสินค้ากว่า 75 % รู้จักและเคยรับประทานอาหารไทยมาแล้ว ส่วนใหญ่ชื่นชอบในรสชาติของอาหาร และทราบว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไม่อ้วนเพราะใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงประกอบไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด ลูกค้าบางรายชื่นชอบในคุณประโยชน์และ
รสชาติของสมุนไพรไทย อาทิ ผักชี ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกระเพรา เป็นต้น และสนใจซื้อไปเป็นเครื่องปรุงดัดแปลงประกอบอาหารพื้นเมืองของตนเองด้วยเช่นกัน
  • กิจกรรมปีนี้ ได้กระจายไปจัดตามห้าง/ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองเล็กๆ ด้วย ซึ่งในบางเมืองยังไม่มีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ ซึ่งบางแห่งจำนวนลูกค้าที่เข้ามาชิม ประมาณ 10 % แจ้งว่าเคยรับประทานแกงเขียวหวานไก่และผัดไทยมาแล้ว แต่รสชาติและหน้าตาอาหารจะแตกต่างไป ซึ่งอาจปรุงโดยพ่อครัวจีนหรือเวียดนาม ที่เปิด

กิจการร้านอาหาร โดยตั้งชื่อร้านและทำเมนูเป็นอาหารไทย แต่เจ้าของและคนครัวไม่มีคนไทยเลย แต่หลังจากที่ได้ชิมอาหารสูตรต้นตำหรับและใช้วัตถุดิบไทยแท้ จะชื่นชอบมากและขอรับสูตรปรุงอาหารพร้อมซื้อวัตถุดิบไปทดลองปรุงรับประทานที่บ้าน โดยเฉลี่ยลูกค้าประมาณ 95 % ที่เข้าชิม จะซื้อวัตถุดิบเครื่องปรุงอย่างน้อย 2 - 3 ชนิดทันที ผู้บริโภคบางราย เปรียบเทียบราคาสินค้าและให้ความเห็นว่าสินค้าจากเวียดนามและจีน จะราคาถูกกว่าสินค้าไทยประมาณ 5-8 %และคิดว่าวัตถุดิบต่างๆ อาทิ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรสต่างๆ สามารถใช้ทดแทนกันได้ น่าจะมีความอร่อยเหมือนกัน แต่หลังจากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับส่วนผสมและวิธีการปรุงอาหารไทย ก็ยินดีซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ได้รสชาติที่อร่อยเป็นไทยแท้

ผลตอบรับจากห้างที่จัดกิจกรรมฯ
  • ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ห้างแต่ละแห่งได้รับความพึงพอใจและประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยยอดขายสินค้าไทยในช่วงจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 % ทั้งนี้ทุกห้างประสงค์และยินดีที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับสำนักงานฯ อีก โดยบางแห่งขอให้จัดกิจกรรมพิเศษนี้ขึ้นทุกๆ 3 เดือน โดยห้าง/ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เข้าร่วม
กิจกรรมได้จัดโปรโมชั่นจำหน่ายสินค้าไทยในราคาพิเศษไปตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมพิเศษสาธิตปรุงอาหารไทย
  • ถึงแม้ว่าในปีนี้เยอรมันประสบวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักเช่นกัน แต่จากการสอบถามไปยังห้างแต่ละแห่ง และผู้นำเข้าให้ความเห็นว่า ความนิยมการบริโภคอาหารไทยและแนวโน้มการจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดเยอรมันไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความตระหนกในช่วงแรก และประหยัดในการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย แต่สำหรับสินค้าอาหาร อาจจะไปรับประทานอาหารนอกบ้านลดน้อยลง ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อวัตถุดิบไปปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น ในเรื่องดังกล่าวนี้ได้สอบถามเกี่ยวกับผลกระทบไปยังร้านอาหารไทยในเขตดูแล โดยเฉลี่ยร้านอาหารไทยกว่า 80 % ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวอย่างเด่นชัด
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
  • กิจกรรมส่งเสริมการขายในปีนี้ประสบผลสำเร็จเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคเยอรมันในวงกว้างมากขึ้น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม เพื่อจะให้สินค้าไทยวางจำหน่ายอยู่บนชั้นสิ้นค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต/ห้างเยอรมันทุกระดับ ทุกเมืองอย่างถาวร และหลากหลายชนิดขึ้น
  • ในปีงบประมาณ 2553 สำนักงานฯ จะได้ขยายการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยร่วมกับผู้นำเข้าเยอรมันให้มากยิ่งขึ้น โดยจะไปจัดร่วมกับบริษัทผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท Frische Paradies (ยอดนำเข้าสินค้าไทย 4 ล้านยูโรต่อปี) และบริษัท Heuschen & Schrouff (ยอดนำเข้าสินค้าไทย 40 ล้านยูโรต่อปี) รวมทั้งการขยายไปจัดกิจกรรมสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ มากขึ้น อาทิ สินค้าอาหารสำเร็จรูปชนิดใหม่ๆ สินค้าผักผลไม้สดไทย โดยจัดสาธิตปอกผลไม้ไทยและให้ลูกค้าชิม สินค้า Ready to eat และสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
  • สำนักงานฯ จะจัดประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัทผู้นำเข้าที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อกำหนดรูปแบบและวางกรอบแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และได้รับประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งจะได้เชิญผู้บริหารของบริษัทผู้นำเข้าและ Food Superstores/Hypermarkets เดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX 2010 เพื่อเลือกซื้อสินค้าชนิดใหม่ๆ รวมทั้งรับทราบภาวะตลาดสินค้าอาหาร และพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ส่งออกไทยโดยตรง นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางรายให้ข้อเสนอในการจัดกิจกรรมสัมมนาระหว่างผู้นำเข้าสินค้าไทยจากประเทศต่างๆ ในช่วงงาน THAIFEX เพื่อรับทราบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สภาวะตลาดสินค้าไทยในแต่ละประเทศ รวมทั้งการจัด Mini Fair พบปะกับผู้ส่งออกโดยตรง เป็นต้น
  • สำนักงานฯ ได้พยายามผลักดันและกระตุ้นให้ผู้นำเข้า สั่งซื้อสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพจากไทย (Functional Food) เข้าสู่ตลาดเยอรมันให้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา บริษัทผู้นำเข้า Kreyenhop ได้นำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยโดยมีตราสินค้า Bioasia และ Green Sun ทั้งนี้จะพิจารณาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าดังกล่าวและผลักดันไปยังผู้นำเข้ารายอื่นๆ เช่นกัน
  • การจัดพิมพ์โบรชัวร์สูตรอาหารไทยที่พัฒนาให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดที่นิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางอินเตอร์เน็ต การลงโฆษณาใน Newsletter ของห้างและเว็บไซต์ของบริษัทผู้นำเข้า เป็นต้น
  • สินค้าอาหารไทยถึงแม้จะได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าเยอรมัน แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างทั่วถึง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปของการสาธิตให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารไทยอย่างแท้จริงเช่นนี้นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอาหารไทยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยได้เป็นอย่างดี จึงเป็นกิจกรรมที่ควรจัดอย่างต่อเนื่อง และกระจายไปยังเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้สินค้าอาหารไทยได้วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของเยอรมันอย่างถาวร เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายการส่งออกสินค้าไทยในเยอรมนี ทั้งนี้ผู้ส่งออกจะต้องคำนึงเรื่องคุณภาพของสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานของ EU ด้วย และควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด ได้แก่ สินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย Fairtrade เป็นต้น
  • ผู้ส่งออกไทยควรมีส่วนร่วมในการร่วมมือกับผู้นำเข้าในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายฯ เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์สินค้าที่เป็นแบรนด์ของตนเอง โดยประสานงานมาที่สคต. ที่จัดกิจกรรมดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ