กฏระเบียบการนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ในฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2009 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาในประเทศ

อุตสาหกรรมยาในประเทศฟิลิปปินส์นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีมูลค่าการผลิตและการตลาดมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น รวม 88 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญทางด้านการสาธารณสุข จึงมีการจัดสรรงบประมาณในเรื่องยาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยอุตสาหกรรมยาในประเทศฟิลิปปินส์ ครอบคลุมถึง กลุ่มผู้ผลิตยา ตัวแทนจำหน่าย กลุ่มผู้ผลิตยาในประเทศ และกลุ่มผู้นำเข้าและผู้ส่งออกยา

2. กฏระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาในประเทศฟิลิปปินส์

สำนักงานอาหารและยา เป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธรารณสุขฟิลิปปินส์ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแล ออกกฏระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีกฏระเบียบในด้านต่างๆ ดังนี้

2.1 Licensing of Firms

ผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา คือ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้นำเข้ายา ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการจากสำนักงานอาหารและยา หรือ Bureau of food and Drugs (BFAD)

2.2 Brand Clearance

สำนักงานอาหารและยา เป็นผู้อนุมัติชื่อยี่ห้อของยาก่อนการจดทะเบียนและการวางจำหน่าย เพื่อตรวจสอบชื่อยานั้นๆ ว่ามีความหมายตรงกันหรือสอดคล้องกันหรือไม่ นอกจากนั้นเพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ผลิตและจำหน่ายยาในชื่อเดียวกันแล้วหรือไม่

2.3 Product Registration

การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาประเภทต่างๆ ในด้านส่วนผสมของยานั้นๆ วิธีการใช้ การบรรจุ โดยเมื่อผู้ประกอบการผ่านการจดทะเบียนในผลิตภัณฑ์ยานั้นๆ แล้ว ต้องดำเนินการจดทะเบียนต่อในทุกๆ 5 ปี

2.4 Product Labeling

กฏระเบียบเกี่ยวกับการปิดป้ายฉลากยา วันที่ผลิต วันหมดอายุ และคุณสมบัติของยา เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

2.5 Price Control

กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ยาในประเทศ เป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงเกินไปนัก แต่ไม่ได้มีการควบคุมราคายาโดยตรง และมีการสนับสนุนให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตได้ในประเทศ และให้ผู้ผลิตแข่งขันกันในด้านราคา เพื่อให้ประชาชนทุกระดับชั้น เข้าถึงยาได้มากขึ้นและทั่วถึงกัน

3. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ

ประเทศฟิลิปินส์มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศประมาณ ปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งมีการส่งออกยาไปยังต่างประเทศด้วย ผู้ประกอบการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยาก่อนการนำเข้าและต้องมีเอกสารใบอนุญาตการเป็นตัวแทนจำหน่ายยาประเภทนั้น และใบอนุญาตินำเข้ายา

4. อัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยา

การนำเข้าระหว่างกันในกลุ่มอาเซียน ภาษีนำเข้า 0% และ MFN 3% VAT 12%

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ