รายงานภาวะการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในเขตของสคต.โอซากา ในระยะ 9 เดือนของปี 2552 (มกราคม-กันยายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 20, 2009 14:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ขอรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ในพื้นที่ของสคต.โอซาการวม 17 จังหวัดคือ โอซากา เกียวโต วากายาม่า นารา ชิ อิชิกาว่า โตยาม่า มิเอะ ไอจิ กิฟุ ชิซึโอกะ คากาว่า โทกุชิม่า เอฮิเมะ โคจิ เฮียวโกะ ในระยะ 9 เดือนของปี 2552 สรุปได้ดังนี้

1. การส่งออกสินค้าทั้ง 17 จังหวัดยังประเทศไทยมีมูลค่า 8,920.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 14,262.05 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 37.45 ทั้งนี้สินค้าขาออกจากญี่ปุ่นไปยังไทยจะผ่านทางท่าเรือในเขตที่สคต.โอซากาดูแลคิดเป็นร้อยละ 59.48 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดจากประเทศญีปุ่นมายังประเทศไทยในช่วงเดียวกัน (มูลค่า 14,998.76 ล้านเหรียญสหรัฐ)

2. การนำเข้าสินค้าทั้ง 17 จังหวัดจากประเทศไทยมีมูลค่า 5,154.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 7,681.70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 32.90 ทั้งนี้ สินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะส่งมาที่ท่าเรือในเขตที่สคต.โอซากาดูแลคิดเป็นร้อยละ 44.43 ของปริมาณการนำเข้าประเทศไทยทั้งหมดมายังญี่ปุ่นในช่วงเดียวกัน (มูลค่า 11,600.46 ล้านเหรียญสหรัฐ)

3. สัดส่วนของสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่ส่งออกมาประเทศไทย ได้แก่ เครื่องจักร (ร้อยละ 29.2) อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ (ร้อยละ 23.4) สินค้าส่วนประกอบ (ร้อยละ 19.2) ชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 11.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 9.9) สินค้าจำพวกวัตถุดิบ (ร้อยละ 1.4) อาหาร (ร้อยละ 0.4) และเชื้อเพลิง (ร้อยละ 0.3) อื่นๆ (ร้อยละ 4.5)

4. สัดส่วนของสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่นำเข้าจากประเทศไทยได้แก่ ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ (ร้อยละ 19.4) อาหาร (ร้อยละ 18.7) เครื่องจักร (ร้อยละ 13.1) สินค้าส่วนประกอบ (ร้อยละ 12.8) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 12.3) ชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 4.4) วัตถุดิบ (ร้อยละ 3.8) เชื้อเพลิง (ร้อยละ 0.9) และอื่นๆ (ร้อยละ 14.6)

จากสถิติดังกล่าวจะแสงดให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงขาดดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกจากญี่ปุ่น(เฉพาะในเขตที่สคต.ดูแล) มายังประเทศไทยในระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2552 มีการลดลงร้อยละ 23.6 ขณะที่การนำเข้าของญีปุ่นจากไทยในปี 2551 ลดลงร้อยละ 38 จากการนำเข้าทั้งหมด

สภาวะการณ์โดยทั่วไป

1. ยอดขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เช่น ไดมารู ทากาชิมาย่า อิเซตัน และมัตซูซากายะ ลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 14 โดยสินค้าที่ลดลงจะเป็นประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า อัญมณี งานศิลปะในขณะที่ยอดขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตลดลงเล็กเพียงร้อยละ 2.4 โดยสินค้าที่ลดลงได้แก่ อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ และปลาลดลงร้อยละ 1.8 และเสื้อผ้าลดลงร้อยละ 6.1 ของยอดขายทั้งหมด

2. อัตราการว่างงานทั่วประเทศญี่ปุ่นลดลงอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานในเขตคิงกิ (โอซากา เกียวโต เฮียวโก นารา ชิกะ และวากายาม่า) อยู่ที่ร้อยละ 6.7 ของประชากร

3. จำนวนบริษัทที่ล้มละลายในเขตคิงกิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 โดยมีหนี้สินทั้งหมดประมาณ 10 ล้านเยน บริษัทส่วนใหญ่เป็นธุรกิจส่วนตัวและเป้นธุรกิจขนาดเล็ก

4. มูลค่าการส่งออกของเขตคิงกิลดลงร้อยละ 29 โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องจักร ร้อยละ 72 เหล็กและเหล็กกล้า ร้อยละ 49 แร่ธาตุ ร้อยละ 47 และเซมิคอนดักเตอร์ ร้อยละ 11 มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 32.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ ร้อยละ 53 ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 58 โลหะร้อยละ 59 แต่สินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นคือ ยารักษาโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ของการนำเข้าทั้งหมด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ