มะม่วงเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น เพราะรสชาดที่กลมกล่อมทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อบริโภค และอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร วิตามินและเกลือแร่ ความนิยมบริโภคมะม่วงจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และตลาดก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะมะม่วงสด แต่ขยายไปสู่มะม่วงแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น ไอสครีม โยเกิร์ต Pudding ผลไม้แห้ง การบริโภคเป็นสลัด การใช้ปรุงอาหารและการใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ รวมทั้งมีการขายมะม่วงสดผ่าน TV Shopping ทำให้มีลูกค้าประจำที่รอคอย และสั่งซื้อล่วงหน้าจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คนญี่นิยมยังบริโภคมะม่วงในรูปผลไม้สดมากกว่าแปรรูป หากประมาณการณ์จากปริมาณขายของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า คาดว่า มีมะม่วงสดขายในตลาดไม่น้อยกว่า 13,500 ตันต่อปี และความต้องการยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว กรมส่งเสริมการส่งออก ได้ร่วมกับห้างขนาดใหญ่ และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคมะม่วงและผลไม้ไทยชนิดอื่นๆ จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ แนะนำวิธีบริโภคเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวญี่ปุ่นเข้าใจและคุ้นเคยกับมะม่วง และผลไม้ของไทยมากขึ้น
ตลาดมะม่วงในญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และด้วยราคาขายปลีกที่สูงกว่าที่อื่นๆ ทำให้เป็นที่หมายปองของแหล่งผลิตจากทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรญี่ปุ่น(MAFF) ก็เริ่มคุ้นเคยกับผลไม้เมืองร้อน ทำให้ ล่าสุด เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2552 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ญี่ปุ่น (MAFF) ได้ออกประกาศ ยกเลิกการห้ามนำเข้ามะม่วงสด พันธุ์ Tommy Atkins จากประเทศโคลัมเบีย และ แก้วมังกรสดหรือชื่อทางการ Hylocereus undatus จากประเทศเวียดนาม โดยกำหนดให้ ผลไม้ดังกล่าวต้องผ่านกรรมวิธีการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment) เพื่อกำจัดแมลงในผลไม้ (Mediterranean fruit fly; Oriental fruit fly and Melon fruit fly) เช่นเดียวกับมะม่วงที่ส่งออกจากประเทศไทย เริ่มนำเข้าได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2552
ญี่ปุ่นปลูกมะม่วงในจังหวัดทางภาคใต้ แหล่งใหญ่อยู่ที่ จังหวัดมิยาซากิ และโอกินาวา ผลผลิตประมาณปีละ 650-850 ตัน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการและความนิยมบริโภคที่ขยายตัวทุกปีมะม่วงที่ผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดราวๆ เดือเมษายน เป็นต้นไป และมีราคาขายปลีกค่อนข้างสูง ราวๆ โลกรัมละ 3,900 — 4,900 เยน หากเป็ผลที่คัดคุณภาพพิเศษบรรจุกล่อง อาจมีราคาขายสูงถึงผลละ 10,000 เยน(ประมาณ 3,600 บาท) เมื่อวางขายจึงนิยมบรรจุกล่อง สำหรับขายเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ
มะม่วงสดที่บริโภคกันในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมาจากการนำเข้า แหล่งนำเข้าที่ญี่ปุ่นยินยอมให้นำเข้าได้ในรูปผลสด มีหลายประเทศ แต่แหล่งผลิตหลักๆ ที่ครองตลาดในญี่ปุ่น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก อเมริกา ไทย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และล่าสุด เปิดให้นำเข้าจากโคลัมเบีย
ในปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงสด จากทุกประเทศรวม 11,589.3 ตัน มูลค่า 48.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระหว่างมกราคม-กันยายน 2552 นำเข้าแล้ว 10,278.8 ตัน มูลค่า 40.38 ล้านเหรียญฯ แหล่งนำเข้าครองตลาดโดยมะม่วงจาก เม็กซิโก จำนวน 5,049.6 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1 ของปริมาณที่นำเข้าช่วง 9 เดือนแรกในปี 2552 รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 23.3) ไทย(12.1 %) ไต้หวัน( 9.6 %) และบราซิล
มะม่วงจากฟิลิปปินส์ นับว่าได้เปรียบมากที่สุด เพราะมีผลผลิตและส่งออกไปญี่ปุ่นตลอดทั้งปี ลักษณะผลคล้ายมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่ผิวของเปลือกหนากว่า เนื้อคล้ายมะม่วงแก้วแต่มีความหวานน้อยกว่ามากและมีรสอมเปรี้ยว ขณะที่มะม่วงเม็กซิโก ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดมาโดยตลอด มีฤดูกาลระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม ชนิดที่ส่งออกไปขายและได้รับความนิยมมาก คือ พันธุ์แอปเปิ้ล ผลกลม เปลือกหนา ผิวสีแดงและหวานน้อย ความสวยของสีผิวมะม่วงที่ผสมระหว่างเขียวและแดง เป็นที่ชื่นชอบและดึงดูดความสนใจของชาวญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่วนมะม่วงจากแหล่งอื่นๆ เช่น อมริกา มีฤดูกาลระหว่างกันยายน-ตุลาคม มะม่วงออสเตรเลียระหว่างพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และมะม่วงไต้หวันระหว่างมิถุนายน-กรกฏาคม
ญี่ปุ่นได้ทะยอยเปิดให้นำเข้ามะม่วงสดจากไทยมานานเกือบ 20 ปีแล้ว เริ่มจากพันธุ์หนังกลางวัน (งาช้าง) จากนั้นก็มีพันธุ์อื่นๆ ตามมา ได้แก่ น้ำดอกไม้ แรด พิมเสนแดง และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้ามะม่วงสดจากไทยได้เพิ่มขึ้นอีก 1 พันธุ์ คือ พันธุ์มหาชนก ปัจจุบัน มะม่วงไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นในรูปผลสด ได้จึงมีรวม 5 พันธุ์ โดยมีเงื่อนไขว่า ก่อนผลไม้จะส่งออก ต้องผ่านขบวนการกำจัดแมลงวันผลไม้ โดยการอบด้วยการใช้อากาศร้อนที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ หรือ Modified Vapor Heat Treatment (MVHT) ด้วยวิธีเพิ่มอุณหภูมิภายในสุดของผลที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส เป็นเวลา นาน 20 นาที พร้อมมีใบรับรองมาตรฐานและการอบไอน้ำตามขบวนการที่กำหนด
ญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงสดจากไทย 1,482.5 ตัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.8 ของปริมาณนำเข้า มูลค่า 7.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2551 และช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 นำเข้าจากไทย 1,248.6 ตัน ส่วนแบ่งตลาด 12.1% มูลค่า 6.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ว่ามะม่วงไทยจะเข้าตลาดญี่ปุ่นมาเกือบครบ 20 ปี แล้ว แต่ปริมาณและมูลค่าส่งออกมะม่วงไทยไปญี่ปุ่น ก็ค่อนข้างผันแปรและยังไม่สามารถผลิตเพื่อให้ส่งออกได้ทั้งปี มะม่วงไทย และบางพันธ์ของไทยได้หายไปจากตลาด พันธุ์ที่ตลาดรู้จักกันดี และเป็นที่นิยม คือ พันธุ์น้ำดอกไม้ สำหรับพันธุ์มหาชนก ซึ่งญี่ปุ่นเปิดให้นำเข้าได้มากถึง 3 ปีแล้ว มีลักษณะผิวสีแดงอมเขียว มีขนาดและรูปลักษณ์ รวมทั้งรสชาดคล้ายคลึงกับมะม่วงจากจังหวัดมิยาซากิ และมะม่วงเม็กซิโก จึงได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตมาก แต่ก็ยังส่งออกไปญี่ปุ่นไม่มาก
ชาวญี่ปุ่นชอบทานผลไม้อยู่แล้ว โดยสตรีจะชอบผลไม้รสหวานอมเปรี้ยว และ Juicy มากกว่าผลไม้ที่มีรสใดรสหนึ่งนำเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังจะยินยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลไม้ที่มีรูปลักษณ์สวยงามและที่มั่นใจว่ามีรสชาดตามที่คาดหวัง ด้วยเหตุนี้ ราคามะม่วงที่ผลิตจากจังหวัดมิยาซากิ จึงสามารถขายได้ในราคาสูงกว่ามะม่วงนำเข้าถึงกว่า 10 เท่า เพราะมะม่วงเหล่านี้สามารถจัดทำข้อมูลของผลไม้ให้ผู้ซื้อได้รู้จักอย่างละเอียด เหมือนการทำบัตรประจำตัว หรือพาสปอร์ตของผลมะม่วงแต่ละลูก คนซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตที่ใด (Traceability system) โดยเกษตรกรรายไหน มีความหวานระดับใด และมีรสชาดดีที่สุดวันไหน (สุกพอเหมาะสำหรับบริโภค) ชาวญี่ปุ่นยกย่องมะม่วงและผลไม้ว่ามีรสชาดกลมกล่อม และอร่อยกว่าของแหล่งอื่นๆอยู่แล้ว ดังนั้นหากผู้ผลิตไทยสามารถพัฒนาคุณภาพ และจัดวางระบบให้ไปสู่การทำข้อมูลของผลไม้ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ เหมือนที่จังหวัดมิยาซากิ ก็จะสามารถยกระดับมะม่วงและผลไม้ของไทย ไปสู่ความเป็นเลิศ ที่ไม่ใช่เพียงจะทำให้ขายได้ราคาสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว แต่หมายรวมถึงตลาดที่จะแพร่ขยายไปอีกหลายเท่าเช่นกัน
ตลาดมะม่วงในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดเฉพาะการขายเป็นผลสุก มะม่วงดิบสำหรับทานเป็นสลัดเพราะคนญี่ปุ่นมีนิสัยชอบคิดค้นต่อ เมื่อชื่นชอบผลไม้ชนิดใด ก็อยากให้มีบริโภคอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจะคิดค้นเมนูใหม่ๆ ปัจจุบันจึงมีอาหาร ขนมและของว่างที่มีมะม่วงเป็นส่วนผสมจำนวนมากในญี่ปุ่น เป็นการตอกย้ำถึงความนิยมบริโภคมะม่วงของชาวญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นศักยภาพและความต้องการของตลาดที่ยังขยายได้อีกมาก ตราบที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกมะม่วงคุณภาพดี รสชาดอร่อย และปลอดภัยไร้สารตกค้างไปจำหน่าย ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีแหล่งผลิตใหม่ๆ ที่ไหนเข้ามาแข่งขัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th