แคนาดาประกาศขึ้นบัญชีแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 20, 2009 16:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานฯ โตรอนโต ได้รับข้อมูลจากหน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency หรือ CFIA เกี่ยวกับการขึ้นบัญชีแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลสดและแปรรูปจากประเทศต่าๆ ทั่วโลก รวมทั้งจากประเทศไทย เนื่องจากผลการสุ่มตรวจสินค้านำเข้าตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัย กฎเกณฑ์และข้อบังคับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลของประเทศแคนาดา ที่ระบุในกฎหมาย Fish Inspection Act 1985 และ Fish Inspection Regulation 1978 ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในประเทศแคนาดา

ในจำนวนสินค้าอาหารทะเลสดและแปรรูปที่ถูกขึ้นบัญชีแจ้งเตือนกานำเข้านี้พบว่ามีสินค้าจากไทย ประเภทอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ถูกขึ้นบัญชี AIL จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 42 รายการ โดยในจำนวนนี้ 29 รายการเป็นการขึ้นบัญชีระหว่างปี 2002-2008 และอีก 13 รายการเป็นการขึ้นบัญชี 2009 ทั้งๆ ที่สินค้าบางรายการเป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตของไทยที่ผ่านการรับรองด้านมาตรฐานสุขอนามัยจากหน่วยงาน CFLA ของแคนาดา ตามรายชื่อแนบท้ายบันทึกข้อความร่วมมือจากรัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลไทย เรื่อง "The Equivalence of Fish and Fishery Products Inspection and Control System" ลงนามเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1997

ประเด็นปัญหา และข้อบกพร่องที่ตรวจพบในสินค้านำเข้าจากไทย ได้แก่ ปัญหาความไม่ได้มาตรฐานของสินค้า (FIR Requirements) มาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ (Container Intergrity/Can Coding) มาตรฐานน้ำหนักสุทธิ (Net Wet Determination) และปัญหาการตรวจพบสารผสมอาหาร (Sulphite/Nitrofulrans) เป็นต้น

ทั้งนี้ การขึ้นบัญชีดังกล่าว เป็นเพียงการแจ้งเตือนผู้นำเข้าให้ทราบถึงข้อบกพร่องของสินค้านำเข้าในแต่ละ Lot เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย กฎเกณฑ์และข้อบังคับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเล ที่กำหนดของแคนาดาตามที่ประกาศในกฎหมาย 2 ฉบับข้างต้น การสุ่มตรวจนี้เป็นการสุ่มตรวจประจำปี (Annual Sampling Plan) โดยตรวจจากตัวอย่างร้อยละ 5 ของสินค้านำเข้าเป้าหมาย

มาตราการดำเนินการของหน่วยงาน CFA หลังจากการขึ้นบัญชีดังกล่าว ได้แก่ แจ้งผู้นำเข้าทราบเพื่อทำการแก้ไขปรับปรุง หากไม่ได้รับการแก้ไขสินค้ารายการดังกล่าวจะถูกย้ายไปอยู่ในบัญชีสินค้าที่จะต้องได้รับการตรวจสอบเฉพาะ Mandatory Inspection List (MIL) เป็นจำนวน 4 Lots หรือ Shipments และหากสินค้าไม่ผ่านการตรวจสอบในระดับ MIL นี้สินค้ารายการดังกล่าวจะถูกขึ้นบัญชีในทะเบียน Enhanced Inspection List (EIL) ซึ่งอาจนำไปสู่การสั่งห้ามนำเข้าหรืออนุญาตให้นำเข้าได้ขึ้นอยู่กับผลของการตรวจสอบ

การขึ้นบัญชี AIL ของสินค้านำเข้าไทยดังกล่าว หน่วยงาน CFIA ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการสุ่มตรวจสินค้านำเข้าทุกชนิดจากทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าส่งออกของไทยต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงว ถูกกักกัน เรียกเก็บ ตลอดจนการห้ามนำเข้าในอนาคต อันจะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของไทย

ดังนั้น ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทย จึงควรปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยกฎเกณฑ์ และข้อบังคับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลของประเทศแคนาดาอย่างเคร่งครัด

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก http://active.inspection.gc.ca

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ