การปรับปรุงกฏหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2009 10:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

สำนักงาน U.S. Centers for Decease Control & Prevention (CDC) ของสหรัฐฯ ประมาณว่า มีผู้บริภาคสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 67 ล้านคนป่วยเป็นผลมาจากอาหารเป็นพิษ และ ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนเสียชีวิตในแต่ละปี

สินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯ และนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากไม่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค มีข่าวสินค้าอาหารเป็นพิษ ต้องสั่งเรียกเก็บบ่อยครั้งในระยะ 2-3 ที่ผ่านมาเป็นผลให้ผู้บริโภคขาดความมั่นในใจความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่จำหน่ายเพื่อการบริโภค

กฏหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารที่สำนักงาน US Food & Drugs Administration (FDA) ใช้อยู่ในปัจจุบัน มิได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นเวลานาน ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Barack Obama จึงให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่จำหน่ายในสหรัฐฯ

สภาผู้แทนสหรัฐฯ (US House of Representatives) เสนอกฎหมาย เห็นชอบ Food Safety Enhancement Act 2009 หรือ H.R. 2749 ซึ่งเป็นกฎหมายปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยสินค้าอาหารของสหรัฐฯ และสภาผู้แทนมีมติเห็นชอบผ่านเป็นกฏหมายเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2552 และส่งต่อให้วุฒิสภาของสหรัฐฯ พิจารณาเห็นชอบเพื่อออกเป็นกฏหมายต่อไป

ความคืบหน้า

วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการสุขภาพ การศึกษา แรงงาน และ เงินบำนาญ (US Senate Health, Education, Labor & Pension Committee) เห็นชอบโดยเอกฉันท์กับกฎหมาย Food Safety Enhancement Act 2009 ฉบับของสภาผู้แทนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 และจะเสนอเข้าวุฒิสภา (US Senate) ลงมติ ซึ่งคาดว่าดำเนินการสนต้นปี 2553 และจะประกาศเป็นกฎหมายบังคับในช่วงกลางปี 2553

กฎหมาย (Food Safety Enhancement Act 2009) ฉบับวุฒิสภา หรือ S. 51 ปรับปรุงและขยายระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมจากฉบับ H.R. 2749 มีสาระสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ ดังนี้

1. บังคับให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เป็นผู้รับรองและยืนยันด้านความปลอดภัยของโรงงาน/ผู้ผลิตในต่างประเทศ (ผู้ส่งออก) และสินค้าอาหารนำเข้า

2. ให้ FDA ไปตรวจสอบโรงงานอาหารทุกแห่งที่จำหน่ายสินค้าอาหารในสหรัฐฯ โดยตรวจสอบอย่างน้อย 1 ครั้งทุก 4 ปี อีกทั้งให้อำนาจ FDA สามารถทำความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศของประเทศผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าอาหาร ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหาร

3. FDA จะใช้ Third Parties เข้ามาให้บริการการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารในต่างประเทศแทน เพื่อผู้ผลิตอาหารในต่างประเทศปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ

4. เพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนโรงงานอาหาร (Food Facilities Registration) โดยกำหนดให้โรงงานผลิตอาหารจะต้องต่ออายุการจดทะเบียนทุกๆ สองปี (ปัจจุบันไม่ต้องต่ออายุ)และให้อำนาจ FDA ในเรื่องการเพิกถอนการลงทะเบียนของโรงงานอาหาร ถ้าหากเชื่อว่าสินค้าอาหารของโรงงานจะก่อผลเสียหายต่อสุขภาพผู้บริโภคในสหรัฐฯ

5. กฎหมาย Food Safety Enhancement Act ฉบับของวุฒิสภา (S. 51) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมประจำปีจำนวน 500 เหรียญสหรัฐฯ จากโรงงานผู้ผลิตอาหารตามที่ฉบับร่างของสภาผู้แทน (H.R. 2479) ได้เสนอไว้

6. ให้อำนาจ FDA ในการออกระเบียบบังคับในเรื่องเอกสารรับรอง (Certificate) ความปลอดภัยสินค้าจากโรงงานผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัย และอำนาจในการห้ามนำเข้าสินค้าหากไม่มีใบรับรองความปลอดภัย

7. ให้อำนาจ FDA กักกันสินค้าอาหารซึ่งมีฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง (Misbranded) หรือมีสิ่งเจือปน (Adulterated)

8. เพิ่มข้อบังคับการแจ้งล่วงหน้าการส่งสินค้า (Priority Notice) ไปยังสหรัฐฯ โดยกำหนดให้ผู้ผลิต/ส่งออกอาหารในต่างประเทศต้องแจ้งรายชื่อประเทศที่สั่งห้ามนำเข้า (Refuse Entry) สินค้าชนิดที่จะส่งไปยังสหรัฐฯ

9. ให้อำนาจ FDA เรียกเก็บค่าปรับผู้ผลิต/ส่งออกอาหาร ในกรณีที่สินค้าดำเนินการผิดระเบียบ เช่น สินค้าถูก Recall และ Re-Inspection

10. ให้อำนาจ FDA เปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยใน 5 ประเทศ

อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. กฎหมาย Food Safety Enhancement Act 2009 ฉบับของวุฒิสภา (US Senate) เน้นในด้านการขยายวงความรับผิดชอบการดูแลเรื่องปลอดภัยสินค้าอาหารและให้ความสนใจในด้านการป้องกัน (Prevention) มากกว่าการแก้ ปัญหาเป็นครั้งๆ ไปดังเช่นที่ปฏิบัติในปัจจุบัน อีกทั้ง เพิ่มอำนาจให้ FDA ในด้าน Recall สินค้าอาหาร และ Inspection โรงงานผลิตอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าอาหาร

2. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหาร และสมาคมเกี่ยวกับสินค้าอาหารในสหรัฐฯ ไม่คัดค้านการเพิ่มความเข้มงวดในด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร เช่น การเสียค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

3. กฎหมายฉบับปรับปรุง จะมีผลกระทบต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิตของโรงงานเนื่องจากโรงงานจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในด้านตรวจสอบหรือรับรองโรงงานจากกลุ่ม Third Parties หรือเสียค่าปรับให้ FDA ในกรณีสินค้าไม่ถูกต้องตามระเบียบของสหรัฐฯ

4. ประเทศไทยควรพิจารณาทำข้อตกลงกับ FDA สหรัฐฯ ขอเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโรงงานของไทยในด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ตามที่กฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้รัฐบาลต่างประเทศตรวจสอบโรงงาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทย แทนการไปจ่ายค่าบริการตรวจสอบให้แก่ Third Parties ที่ FDA เป็นผู้แนะนำ

5. ควรพิจารณาเชิญเจ้าหน้าที่ FDA สหรัฐฯ มาบรรยายและให้คำแนะนำ เกี่ยวกับกฏหมาย Food Safety Enhancement Act 2009 ที่จะมีผลบังคับใช้ ให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสินค้าอาหารของไทย เพื่อเตรียมการและการปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป

6. ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการยังไม่กำหนดวันที่จะเสนอพระราชบัญญัติเข้าสภาแต่คาดว่าจะเป็นประมาณต้นปี 2553 และจะมีผลบังคับประมาณกลางปี 2553

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ