CSR หรือ Corporate Social Responsibility เป็นหลักการที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่กว้างขวางมาก เริ่มมีบทบาทได้รับความสนใจจากส่วนรวมในเยอรมนีนับจากปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในเยอรมนีดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้ง การส่งเสริมให้แนวความคิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเยอรมนีและได้รับความนิยมถือปฏิบัติกันต่อไป ในการนี้กระทรวงแรงงานฯ จึงได้จัดจ้างให้บริษัท IFOK และ PLEON GmbH สำรวจและสรุปความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้
ตามรายงานของบริษัทดังกล่าว แจ้งว่า ตามโครงสร้างประเทศเยอรมนี ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบตามมาตรการ CSR นั้น ได้มีกฏเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับและกฏหมายต่างๆ มากมายที่กำหนดบังคับให้ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาดของกิจการและการประกอบธุรกิจของกิจการต่างๆ เหล่านั้น ในกณีที่ฝ่าฝืน หรือทำให้เกิดความเสียหายจะมีบทลงโทษกำหนดไว้แล้ว มาตรการสำคัญๆ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฏหมาย ประกันสังคมที่ใช้กันมานานเกือบ 100 ปีแล้ว มีการกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้างทำประกันสังคมที่ครอบคุมการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ การป้องกัน ดูแลการมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนการประกันยามทุพลภาพชราภาพ ในด้านการประกอบธุรกิจ นโยบายหลักของรัฐบาลเยอรมัน คือ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส การคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการถนอม สงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยจะมีการออกกฏเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับเป็นระยะๆ และมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ นอกจากกระทรวงแรงงานฯ แล้ว ยังมีองค์กร NGO ต่างๆ ตลอดจนสมาคมทางการค้าคอยสอดส่องดูแล ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ รวมทั้งการให้ความร่วมมือช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ขัดกับกฏเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ในส่วนของตราสัญลักษณ์ โลโกต่างๆ นั้น หน่วยงานต่างๆ ต่างมีตราของตนเองและตราของส่วนรวมจำนวนมาก เพื่อส่วนรวมได้รับรู้ เป็นสื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อาทิ ตรา สัญลักษณ์ Bio สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ECO-Label, Green Dot สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ Fair Trade สำหรับสินค้าที่ไม่เอาเปรียบเกษตรกร เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งตราสัญลักษณ์รับรองต่างๆ ที่กล่าวมานี้ อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ CSR ได้ จึงทำให้การกำหนดตราสัญลักษณ์เฉพาะสำหรับ CSR ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าใด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนมากยังเกรงว่า จะทำให้เกิดความสับสน มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่มีความจำเป็น เพราะปัจจุบันมีตรารับรองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ CSR ดังที่กล่าวข้างต้นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในปัจจุบันจึงยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบหมายเครื่องหมาย CSR
ผู้ที่สนใจเรื่อง CSR ในเยอรมนี สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการนี้ได้ที่ www.csr-in-deutschland.de ซึ่งเป็น Home page ของกระทรวงแรงงาน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th