สิงคโปร์กับสหภาพยุโรป (European Union : EU) ต่อการเจรจา FTA แบบทวิภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2009 15:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความสัมพันธ์

1. สิงคโปร์กับ EU ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้น โดยมีแผนการความร่วมมือในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตและการค้นคว้าวิจัย ที่จะช่วยส่งเสริมต่อไปยังด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

2. สาขาสำคัญที่สิงคโปร์กับ EU จะร่วมมือกัน ได้แก่ Transport Engineering —Aerospace และ Biomedical Sciences (BMS) -Clean Energy นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในด้านการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรร การศึกษา และศิลปะอีกด้วย

3. จากรายงาน ของ International Enterprise Singapore ปี 2551 ปรากฎว่า EU เป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของสิงคโปร์มีส่วนแบ่งตลาดในสิงคโปร์ร้อยละ 12.3 และประเทศคู่ค้ารองลงมาได้แก่ มาเลเซีย(ร้อยละ 10.8) จีน(ร้อยละ 9.9) สหรัฐฯ(ร้อยละ 9.6) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 8.0) ฮ่องกง(ร้อยละ 6.4) ญี่ปุ่น(ร้อยละ 5.9) เกาหลีใต้(ร้อยละ 4.8) ไต้หวัน(ร้อยละ 3.5) และไทย(ร้อยละ 3.4) การค้ารวมระหว่างสิงคโปร์กับ EU ปี 2551 มีมูลค่า 105.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากมูลค่า 65 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2546 ทั้งนี้ อัตราการเจริญเติบโตทางการค้าโดยเฉลี่ยร้อยละ 9.5 ต่อปี (การเจริญเติบโตสูงกว่าการค้าระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) EU ส่งออกมายังสิงคโปร์มูลค่า 45 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 17) สินค้าสำคัญที่มาจาก EU ได้แก่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การคมนาคม และเคมีภัณฑ์ EU นำเข้าจากสิงคโปร์ประมาณ 16 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และถือว่าสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าและ gate way สู่ตลาดเอเชีย นอกจากนี้ EU เป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์มาก ถึงปี 2550 มีบริษัทจาก EU จำนวน 7,000 รายในสิงคโปร์

ท่าทีของสิงคโปร์

1. สิงคโปร์มีความคิดเห็นที่จะมีข้อตกลงทวิภาคีกับ EU (ข้อตกลง EU-Singapore FTA) โดยตรงและถือเป็นกรณีด้านการค้าและธุรกิจที่สิงคโปร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมกันกับ EU และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ แม้ว่า เมื่อปี 2551 สิงคโปร์ได้ช่วยเป็นตัวเชื่อมให้ ASEAN มีการเริ่มต้นประสานงานเพื่อจัดทำโครงสร้างของข้อตกลง ASEAN — EU FTA แล้วก็ตาม ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้ขอการสนับสนุนจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ EU ให้ส่งเสริมการจัดทำ EU-Singapore FTA โดยนำไปเสนอต่อภาครัฐและ European Commission ให้เห็นชอบต่อไป

2. สิงคโปร์เห็นว่า EU-Singapore FTA จะสามารถทำผลประโยชน์โดยตรงให้แก่ทั้งสองประเทศ ได้แก่ การผ่อนปรนด้านภาษี, การส่งเสริมระบบสิทธิพิเศษ, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และความสะดวกรวดเร็วในการเข้าสู่ตลาดของบริษัท EU และสิงคโปร์

3. สหภาพยุโรปเป็นที่น่าสนใจของสิงคโปร์อย่างมาก เนื่องจาก แนวทางที่สหภาพยุโรปจะเลือกดำเนินการในอนาคตจะมีผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างมาก เพราะสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ต้องพึ่งพาตลาดยุโรป

ความร่วมมือด้านอื่นๆระหว่างสิงคโปร์กับ EU

1. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 สิงคโปร์และ EU ได้ลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) หัวข้อ Information and Communication Technology (ICT) ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ลงนามกับ EU ทำให้แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ดีของทั้งสองประเทศ ทั้งในด้านผู้ชำนาญการ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การลงนามฯโดยฝ่ายสิงคโปร์ คือ Mr. Lim Hng Kiang, Minister for Trade and Industry และฝ่าย EU คือ Ms. Viviane Reding, European Union Commission for Information Society and Media MOU นี้แสดงถึงโครงสร้างกว้างๆสำหรับการค้นคว้าวิจัยและความร่วมมือด้าน ICT ระหว่างบริษัทจากยุโรปและสิงคโปร์ รวมถึงสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยของภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานด้านการค้นคว้าวิจัยทั่วไปอื่นๆ ซึ่ง MOU จะทำให้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้าน ICT และ สร้างเครือข่ายระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะผ่าน EU Research Programme and Funds

2. The European Union (EU) Centre ได้จัดตั้งในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2551 เป็นความร่วมมือระหว่าง National University of Singapore (NUS) และ The Nanyang Technological University (NTU) ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก European Commission ศูนย์ฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีความเข้าใจในสถาบัน EU รวมถึงนโยบาย และตำแหน่งหน้าที่ของ EU ต่อเรื่องต่างๆจากภูมิภาคและทั่วโลก รวมถึงหน้าที่สำคัญของ EU ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความสัมพันธ์กับสิงคโปร์

ที่มา : Ministry of Trade and Investment, Singapore และ

International Enterprise Singapore

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ