ผลกระทบการลดค่าเงินด่องต่อการส่งออกไทยในตลาดฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2009 15:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การที่เงินด่อง เวียดนามลดค่าลงมา ถึงร้อยละ 5 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ลดลงแล้วเมื่อเดือนมี.ค. ย่อมแสดงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่สั่นคลอนของเวียดนาม ว่าภาคการส่งออกยังไม่สามารถช่วยฟื้นภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างที่หวัง จึงจำเป็นต้องลดค่าเงินหรือขยายtrade brand ซื้อขายเงินด่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออกเวียดนามสำหรับผลกระทบกับการส่งออกไทยในตลาดฮ่องกง หากวิเคราะห์ สถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเวียดนามของฮ่องกง จะพบว่า

1. เวียดนาม เป็นคู่ค้าอันดับ 23 โดยมี ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.7 ของฮ่องกง ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.6

2. เวียดนามเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 24 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.3 คิดเป็นมูลค่า 953.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ( 10 เดือนแรกของปี 2552) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้า อันดับ 8 ของฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.1 คิดเป็นมูลค่า 595 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.4 ( ปลายไตรมาสที่ 3 และ 4 ดีขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ 2 ไตรมาสแรกลดลงมาก)

3. สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามมาฮ่องกง ได้แก่ Telecommunication, Audio & video Equipment, Electrical Machinery, apparatus & Appliances & Part (สัดส่วนกว่าร้อยละ 45) รองเท้า อาหารทะเลและสัตว์น้ำ ผ้าผืน อุปกรณ์สำนักงานและคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่ใกล้เคียงกับสินค้าของไทย โดยใน 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดในขณะที่ไทยส่งออกลดลงเกือบทั้งหมด

4. สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากฮ่องกง จะอยู่ในหมวดหมู่ (HS.Code) ใกล้เคียงกับสินค้าที่ส่งออกมาฮ่องกง ซึ่งแสดงว่าเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก โดยฮ่องกงใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อประเทศที่สาม ซึ่งจะคล้ายคลึงกับกรณีของไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ โทรคมนาคมส่วนประกอบ สิ่งทอ รองเท้า

ดังนั้น เมื่อค่าเงินเวียดนามลดลง ย่อมทำให้ราคาสินค้าเวียดนามถูกลง และประกอบกับค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ ย่อมทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบในเรื่องราคา โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิก โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ สิ่งทอ (ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป) รองเท้า ที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามสินค้าอาหาร อาทิ ไก่แช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้ ซ๊อสและเครื่องปรุงรสต่างๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณท์สปา (ซึ่งคงต้องลงในรายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีการลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนามในลักษณะใด ใช้เทคโนโลยีอย่างไรแตกต่างกับไทยอย่างไร)

สำหรับข้าว ซึ่งฮ่องกงถือเป็นตลาดข้าวระดับพรีเมียมของไทย โดยมีความต้องการประมาณปีละ 300,000 ตัน และประมาณร้อยละ 88 เป็นข้าวจากประเทศไทย แม้เวียดนามจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นลำดับโดยมีราคาเป็นสิ่งจูงใจ แต่ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดข้าวของเวียดนามก็ยังน้อย เมื่อเทียบกับ ไทย หรือจีน คือยังไม่ถึง ร้อยละ1 ของปริมาณความต้องการทั้งหมดของฮ่องกง เนื่องจากราคามิใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อข้าวของฮ่องกง คุณภาพและความเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งข้าวจากไทยเป็นที่ยอมรับและคุ้นเคยสำหรับผู้บริโภคฮ่องกงแล้ว

สรุป การที่เวียดนามลดค่าเงินด่อง ในระยะสั้นอาจดูเหมือนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าจากเวียดนาม แต่เมื่อวิเคราะห์ลงลึกในตลาดฮ่องกง ซึ่งถือว่าเป็นประเทศ Trading สินค้าส่วนใหญ่ที่ฮ่องกงนำเข้า เป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อส่งออกไปประเทศที่สาม ภาวะการการนำเข้าจะเป็นเช่นไร ต้องอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศที่สามว่าเริ่มฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหน เพราะ ฮ่องกงปัจจุบันการนำเข้าสินค้าก็ลดลง ถึงร้อยละ 15.2 และการส่งออกก็ลดลงถึงร้อยละ 15.8 เช่นกัน ส่วนความต้องการบริโภคภายในประเทศแม้มีไม่มาก แต่ประชากรมีกำลังซื้อสินค้ามีคุณภาพ ซึ่งสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ และหากจะแข่งขันด้านราคา ก็จะต้องเผชิญกับสินค้าจากจีนซึ่งมีราคาไม่แพงเช่นกัน

สคต.ฮ่องกง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ