ญี่ปุ่นพิจารณาที่จะเก็บภาษี green tax

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 12:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (environment tax หรือ green tax) เริ่มจากปีงบประมาณหน้า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยจะใช้กับ น้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด แก๊ซ ไฟฟ้า ถ่านหิน เป็นต้น การจัดเก็บภาษีใหม่นี้ มีเหตุผล 2 ประการ คือ (1) ต้องการเพิ่มรายได้เข้ารัฐ เพื่อชดเชยรายได้ของรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ที่จะลดไป 2.5 ล้านล้านเยน จากการที่รัฐบาลจะยกเลิกภาษีน้ำมันสำหรับรถยนต์ ตามที่สัญญาไว้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552 โดยคาดว่า ภาษีสิ่งแวดล้อม จะเก็บเป็นรายได้เข้ารัฐได้ประมาณ 2 ล้านล้านเยน และ (2) สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาล ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกภายในปี 2563 ลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2533

ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นประมาณการณ์ว่า ภาระภาษี ใหม่นี้ เมื่อชดเชยกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถูกลงและการยกเลิกภาษีน้ำมันรถยนต์ จะทำให้ครัวเรือนมีภาระเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,100 เยน (ประมาณ 420 บาท) ต่อปี แต่สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์ภาระภาษีเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4,240 เยน (ประมาณ 1,600 บาท) ต่อปี

ทางด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า สมาคมผู้ค้าแก๊ซ ได้แสดงความเห็นคัดค้านการจัดเก็บ green tax ว่าจะสร้างภาระมากต่อภาคธุรกิจ และครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์ ขณะที่บริษัทก่อสร้างบ้าน ซึ่งรับติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์เห็นว่า การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น

ในส่วนภาคการเมืองรัฐมนตรีบางคนเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่รัฐ ต้องหารายได้มาชดเชยส่วนที่หายไปเพื่อพยามรักษาวินัยทางการคลัง ในการหลีกเลี่ยงการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

แม้ว่าการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน และเป็นมาตรการที่ให้ผู้ที่มีส่วนในการสร้างมลพิษซึ่งถือเป็น Social Cost รับภาระที่เกิดขึ้น แต่จังหวะเวลาเพิ่มภาระภาษีในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประสบภาวะเงินฝืด เนื่องจากผู้บริโภคประหยัดการใช้จ่าย อันเนื่องจากสถานการณ์ การจ้างงานและค่าจ้างที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และครัวเรือนมาก และการยกเลิกภาษีน้ำมันที่ดูเหมือนกับการดำเนินการตามสัญญาของพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากรัฐดำเนินการสองเรื่องพร้อมกันเพื่อหารายได้ชดเชย ก็ไม่เกิดประโยชน์ว่าเป็นการแบ่งเบาภาระภาคเอกชน และผู้บริโภคแต่อย่างใด จึงมีความเห็นที่คัดค้าน ซึ่งรัฐบาลเองก็คำนึงความเห็นของภาคเอกชนด้วย และกำลังพิจารณาถึงเวลาที่นำภาษีมาใช้รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่กระทบต่อครัวเรือน และธุรกิจอันเนื่องจากราคาไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่จะสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Yukio hatoyama มีเจตน์จำนงชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซที่จะเกิดสภาวะเรือนกระจกภายในปี 2563 ลงร้อยละ 25 ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลคงต้องออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้บังคับ และผลจากการสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่น โดยสำนักต่างๆ ปรากฎว่ามีประชาชนประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ตอบคำถามเห็นด้วยกับเป้าหมายของรัฐบาลในการลดก๊าซมลพิษดังกล่าว ซึ่งสัดส่วนผู้สนับสนุนเพิ่มจากการสำรวจก่อนหน้านี้มาก สะท้อนถึงความตระหนักต่อสภาวะโลกร้อนของคนญี่ปุ่น

การเก็บภาษี green tax หรือมาตรการอื่นด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และสินค้าเชื้อเพลิงแล้ว ผู้ผลิตสินค้าโดยเฉพาะประเภทเครื่องใช้ อุปกรณ์ไฟฟ้ายานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องยนต์ จะต้องปรับเปลี่ยน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น อุปกรณ์และ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานธรรมชาติ และพลังงานสะอาดจะได้รับความนิยมมากขึ้น หรือแม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าที่มีส่วนประกอบ และบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย เป็นต้น จะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ควรมีข้อมูลหลักฐานที่แสดงจุดเด่นเหล่านี้ที่ชัดเจนกำกับไว้ด้วย จึงจะได้รับความมั่นใจจากผู้บริโภคตลาดญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ