ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Social Responsibility: SR) ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 12:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Social Responsibility : SR) เป็นกระแสการดำเนินธุรกิจที่องค์กรธุรกิจกำลังตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิด และวิธีการที่ให้ความสำคัญในเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาสังคม หรือการแสดงสำนึกต่อสังคมเพื่อเป็นการตอบแทนประโยชน์ที่ได้รับจากสังคมและชุมชน หรือแสดงความสำนึกในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจำนวนมากจึงเริ่มพัฒนาองค์กรในแนวคิดธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งหมายถึง การมีนโยบายพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน ควบคู่ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “องค์กรควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ พัฒนา และ มุ่งไปที่การสร้างให้องค์กรมีความ “ดี” ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและคืนกำไรให้แก่สังคม”

กระแส CSR ในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมและปฏิบัติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไม่กว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ หรือ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการดำเนินการเป็นที่แพร่หลายมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ผู้นำในการดำเนินการตามแนวคิด CSR ในสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ (Multi National Corporations: MNCs) ของสหรัฐฯ อาทิเช่น McDonald, Starbuck, Proctor & Gamble, Nike, Coca-Cola, Baxter, Wal-Mart, Target เป็นต้น

รูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Social Responsibility :SR )

ปัจจุบันในการเปิดเสรีการค้าในโลกแม้จะมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้านการค้าอยู่มากมาย แต่บางกรณีก็ยังไม่ครอบคลุม หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้องค์กรธุรกิจที่มุ่งดำเนินการเพื่อผลกำไรนั้นอยู่ภายใต้จรรยาบรรณที่ดีได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้อง มีผู้นำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และในขณะเดียวกันก็จะเป็นตัวสร้างกระแส CSR ที่เป็นตัวแปรสำคัญในโลกการค้าในปัจจุบันให้เกิดขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่ที่กฎหมายและข้อกำหนดทางการค้าเข้าไปดูแลไม่ถึง

องค์กรเอกชน (NGO) และ รัฐบาล ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการการจัดทำ SR ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง สมาคม American Society of Association Executives (ASAE) และ The Center for Association Leadership ของสหรัฐฯ รายงานรูปแบบของ SR ที่ได้รับความนิยมดำเนินการในโลกในปัจจุบัน มี 12 รูปแบบ คือ (1) Energy Star, (2) European Ecolabel, (3) Fair Trade Certified, (4) Global Report Initiative, (5) Green Globe 21, (6) ISO Standard 14000, (7) ISO Standard 24000, (8) Marine Stewart Council, (9) Forest Stewardship Council, (10) Leadership in Energy and Environment Design (LEED), (11) United Nation Globe Compact และ (12) Principle for Responsible Investment

รูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (Social Responsibility :SR )ในสหรัฐฯ

รูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (SR )ที่ภาคธุรกิจสหรัฐฯนิยมดำเนินการ มี 5 รูปแบบ ดังนี้

1. Energy Star เป็นโปรแกรมให้คำแนะนำการประหยัดพลังงานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดของสหรัฐฯ (Environmental ProtectionAgency : EPA) www.energystar.gov ซึ่งจะเน้นด้านการประหยัดพลังงานไฟฟ้าโดยมอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้ตรวจสอบและกำกับดูแล (Certified & Monitor)ประเภทสินค้าที่แนะนำให้มีมาตรฐาน Energy Star ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า/อบผ้า เครื่องทำความร้อนเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และ หลอดไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าผลิตที่ตรงตามมาตรฐาน สามารถใช้เครื่องหมาย Energy Star ติดไปกับสินค้าได้

2. Fair Trade USA (www.transfairusa.org ) ให้การรับรองสินค้าที่ผลิตได้จ่ายค่าตอบแทน/ค่าจ้างการผลิตโดยยุติธรรม ให้โอกาสการทำงานเท่าเทียมกันแก่กลุ่มผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและความปลอดภัยของแรงงาน สินค้าแนะนำให้มีมาตรฐาน Fair Trade เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ กาแฟ ชา สมุนไพร โกโก้ ช็อคโคเลท ผลไม้สด ดอกไม้สดน้ำตาล วานิลา และ ข้าวสาร

3. Marine Stuart Council (www.msc.org) เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดย MSC ซึ่งธุรกิจประมงทั่วโลกยอมรับ เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา องค์กรออกเครื่องหมายรับรองสินค้าประมงและอาหารทะเลให้แก่ผู้ประกอบการ

4. Leadership in Energy and Environmental Design (LEED): www.usgbc.org เป็นมาตรฐาน Green Building Rating System โดยให้ความสำคัญในด้าน การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงาน กำกับดูแลโดย US Green Building Council

5. Forest Stewart Council (www.fsc.org) เป็นมาตรฐานที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ แก่ผู้ประกอบการที่สนับสนุนการรักษาทรัพยากรป่าไม้ FSC เป็นมาตรฐานที่รู้จักแพร่หลาย มีประเทศทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ ขอการรับรองมาตรฐาน

ผลกระทบของ CSR ต่อแหล่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ

การดำเนินการ CSR ของภาคเอกชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้นำเข้า จะส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศคู่ค้าหรือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าให้สหรัฐฯ ปัจจุบัน ผู้นำเข้าที่ยึดหลักดำเนินการ CSR จะสรรหาสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Sourcing with Social Responsibility) เช่นกัน ผู้นำเข้า/ผู้ซื้อจะนำประเด็นด้านต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety) การจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (Compensation) เวลาการทำงาน (Working Hours) การใช้แรงงานผู้เยาว์ (Underage Labor) การเลือกที่รักมักที่ชัง (Discrimination) ว่าเป็นไปตามกฎหมายของท้องถิ่น ถูกต้องตามหลักการณ์ CSR หรือไม่ เข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจในการสั่งซื้อหรือประกอบธุรกิจร่วมกัน

ในระยะสั้น การดำเนินการด้าน CSR อาจเพิ่มต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจและราคาสินค้าผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ เนื่องจากธุรกิจผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค เนื่องจากภาคธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเปลี่ยน พัฒนาองค์กร แต่ในระยะยาว CSR จะช่วยลดต้นทุนดำเนินการของธุรกิจเพราะองค์การมีคุณภาพในการจัดการมากขึ้นในด้าน การประหยัดพลังงาน การลดขยะเป็นต้น

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. การดำเนินการด้าน CSR เป็นเรื่องของความสมัครใจและความพร้อมของภาคธุรกิจภาครัฐบาลของสหรัฐฯ ไม่กำหนดกฎหมายหรือระเบียบบังคับ โดยภาครัฐยังไม่มีบทบาทในการกระตุ้นให้เอกชนต้องดำเนินการ หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิด CSR การดำเนินการด้าน CSR จะแตกต่างกันไปตามประเภทและขนาดของธุรกิจ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะดำเนินการเพียง 1- 2 รูปแบบเท่านั้น เช่น กลุ่มอาหารทะเล จะดำเนินการเฉพาะมาตรฐาน Marine Stewart Council หรือกลุ่มเฟอร์นิเจอร์จะเลือกมาตรฐาน Forest Stewart Council ในขณะบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Wal-Mart, Starbuck หรือ McDonald’s ดำเนินการเกือบทุกรูปแบบ

2. การดำเนินการด้าน CSR นอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วผลพลอยได้ที่ตามมา คือ สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ และสามารถดำเนินธุรกิจกับกลุ่มผู้นำเข้าทั้งรายเก่าและเป็นลู่ทางเชื่อมโยงไปสู่คู่ค้ารายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR และต้องการทำการค้ากับผู้ประกอบการที่มีมาตรฐาน CSR เท่านั้น เพราะให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า โดยเฉพาะผู้นำเข้ารายสำคัญของสหรัฐฯ เช่น Wal-Mart และ Target

3. ปัจจุบัน บรรยากาศการค้าโลกให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Green Environment) อันเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการผลักดันให้องค์กรธุรกิจหันมาให้ความสนใจและดำเนินการในเรื่อง CSR เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการขององค์กรและถือเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่เพิ่มขีดความสามารถเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ

4. แนวคิด CSR อาจเป็นเงือนไขใหม่ที่ถูกนำมาใช้บังคับในการทำการค้ากับประเทศต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีรูปแบบหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กรธุรกิจไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวความคิดดังกล่าว หาไม่แล้วก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจข้ามชาติ หรือการค้าระหว่างประเทศนั้น การพัฒนาแนวคิด การทำ CSR เข้ามาใช้ในองค์กรของตนในเวลานี้จะนำประโยชน์ให้กับองค์กรมากกว่าการต้องทำรีบเร่งทำเพราะถูกบีบจากบริษัทต่างชาติที่กำหนดไว้ว่าจะดำเนินธุรกิจกับองค์กรที่มาตรฐานด้านแรงงาน สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อมฯ เท่านั้น

กรมส่งเสริมการส่งออก ในฐานะภาครัฐฯ ควรผลักดัน ส่งเสริม และให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และต้องการทำการค้ากับผู้ซื้อรายใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น การจัดทำสัมมนา เชิญองค์กร NGO หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจผลถึงความสำคัญของ CSR และกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ