เศรษฐกิจจีนปี 2552 ... ปีหฤโหดที่รอคอยอยู่ข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 13:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจปี 2551....ภาพเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะยังส่งผลกระทบไม่มากนักต่อภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 กล่าวคือ เศรษฐกิจของจีนในปี 2551 ขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับของปี 2550 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดถึง 30.07 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 4.42 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ก้าวแซงหน้าเยอรมันขึ้นมาอยู่อันดับ 3 อย่างชัดเจน และเป็นรองเพียงสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Funds: IMF) ยังระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2551 นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึงกว่าร้อยละ 20 และมีภาพรวมที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.7 ของโลก ร้อยละ 1.4 ของประเทศพัฒนาแล้ว และร้อยละ 6.6 ของประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนก็มิได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ล้วนสะท้อนภาพเชิงลบของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะแสดงผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 ถึงขนาดว่านายเวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) นายกรัฐมนตรีได้ออกมาเตือนว่า “ปี 2552 นี้จะเป็นปีที่วิบากที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะปัญหาคนว่างงาน” ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ ณ กรุงปักกิ่งของนายหม่า เจี้ยนถัง(Ma Jiantang) ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) ระบุว่า “วิกฤตการเงินโลกกำลังส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างและเชิงลึกต่อเศรษฐกิจในประเทศ”

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนก็พบว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการหดตัวลงของการค้าระหว่างประเทศ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลกำไรของภาคการผลิตและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

การขยายตัวของจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจของจีนในปี 2551 ขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 13 เมื่อปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 9 ในปี 2551 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปีของจีน

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบภาพย่อยทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของปี 2551 แล้วพบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2551 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 10.6 ในไตรมาสแรก ดิ่งลงเหลือเพียงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 และเป็นการปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า 7 ปี

ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2546-2551
          ปี 2546           ร้อยละ 10.0
          ปี 2547           ร้อยละ 10.1
          ปี 2548           ร้อยละ  9.9
          ปี 2549           ร้อยละ 10.4
          ปี 2550           ร้อยละ 13.0
          ปี 2551           ร้อยละ  9.0

ไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 10.6

ไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 10.1

ไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 9.0

ไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 6.8

จากเงินเฟ้อสู่เงินฝืด ในด้านดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของปี 2551 อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา และยังบ่งชี้ว่า ในด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนอาจประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อตามที่ต้องการ โดยเฉพาะนับแต่เดือนพฤษภาคม 2551

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ดูเหมือนว่าการดำเนินมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวส่งผลรุนแรงที่มากและนานเกินไป ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่เคยทะยานสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี ณ ระดับร้อยละ 8.7 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 1.2 ในเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการลดลงของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค 8 เดือนต่อเนื่อง และเป็นระดับที่ต่ำสุดนับแต่เดือนกรกฎาคม 2549

ตารางที่ 2 ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคของจีนในปี 2551
          กุมภาพันธ์        ร้อยละ 8.7
          กันยายน         ร้อยละ 4.6
          ตุลาคม          ร้อยละ 4.0

พฤศจิกายน ร้อยละ 2.4

          ธันวาคม         ร้อยละ 1.2

ขณะที่ภาคการค้าปลีกในปี 2551 มีมูลค่ารวม 10.85 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เมื่อเทียบกับของปี 2550 จำแนกเป็นการค้าปลีกในเมืองมูลค่า 7.37 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 22.1 และการค้าปลีกในชนบทมูลค่า 3.48 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของรัฐบาลจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่พยายามเร่งเพิ่มรายได้ของคนในชนบทและขยายระบบสวัสดิการสังคม

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการอ่อนตัวลงของกำลังซื้อและดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ส่งผลให้การขยายตัวของภาคการค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 23.3 ในเดือนกรกฎาคม เหลือร้อยละ 20.8 และร้อยละ 19.0 ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ตามลำดับ นอกจากนี้ ทางการจีนยังตรวจพบว่า ชาวจีนได้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและหันมาเพิ่มระดับการออมเป็นถึงร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2551 เนื่องความไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 6.9 ซึ่งสูงกว่าของ CPI โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก อันเนื่องจากการราคาวัตถุดิบและการเตรียมงานขั้นสุดท้ายของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิตก็ส่ออาการชะลอตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสสุดท้ายเช่นเดียวกัน โดย PPI ในเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.6 ลดลงเหลือร้อยละ 2.0 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 1.1 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นอัตรา PPI ต่ำสุดในรอบ 31 เดือนเลยทีเดียว

ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวร้อยละ 12.9 ในปี 2551 ลดลงจากร้อยละ 18.5 ในปี 2550 ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับของปีก่อนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.8 การชะลอตัวลงของภาคการผลิตดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับอีกหลายอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก ปูนซิเมนต์ สิ่งทอ และของเด็กเล่น ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนหลายล้านตำแหน่งในปี 2551 และคาดว่าปัญหานี้จะรุมเร้าเศรษฐกิจจีนมากยิ่งขึ้นในปี 2552

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนว่า หากรัฐบาลจีนไม่มีมาตรการกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศที่ดีและรวดเร็วทันการณ์พอ ผลผลิตและราคาสินค้าในจีนคาดว่าจะดิ่งลงต่อไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดในช่วงครึ่งแรกปี 2552

เงินหาย กำไรหด จากสถิติการคลังของจีน พบว่า แม้ว่ารัฐบาลจีนยังคงมีสถานะทางการคลังที่ดีมีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และสามารถเก็บรวบรวมรายได้เข้าคงคลังในปี 2551 ได้มากกว่า 6 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 880,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับของปี 2550 ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 32.4 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากการลดลงของรายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง อันเป็นผลมาจากการหดหายของผลกำไรของกิจการภาคเอกชน และมาตรการปรับลดภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ ในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก

เงินหยวนหยุดเพิ่มค่าชั่วคราว การเพิ่มค่าของเงินหยวนอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของจีนชะลอตัว กอรปกับความพยายามกำกับควบคุมและลดเม็ดเงินจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรในจีน ทำให้รัฐบาลจีนได้พยายามลดหรือรักษาค่าเงินหยวนไว้ในระดับเดิมตลอดครึ่งปีหลัง

อนึ่ง เพื่อลดแรงกดดันจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ธนาคารกลางของจีน (The People’s Bank of China) ได้ทยอยปล่อยให้เงินหยวนเพิ่มค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมประมาณร้อยละ 17 จาก 8.3 หยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 พุ่งขึ้นไปแตะ 6.8 หยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2551

การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว จากสถิติกรมศุลกากรของจีน (Customs Department) ระบุว่า การค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 2.55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี อันเนื่องจากการซบเซาของตลาดส่งออกหลักและการเพิ่มค่าของเงินหยวนของจีน ขณะเดียวกัน ธุรกิจส่งออกของจีนต่างต้องปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก อันส่งผลให้มีคนตกงานมากถึงกว่า 20 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ผู้ประกอบการจีนเองก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกับคลื่นสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกลงในเชิงเปรียบเทียบอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ยอดการเกินดุลการค้าในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 10 ของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 การเกินดุลการค้าของจีนก็ชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ต่างชาติยังคงเพิ่มการลงทุนในจีน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ก็ส่งสัญญาณที่สอดคล้องกัน แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบไม่มากต่อภาพรวมของการลงทุนของต่างชาติในจีนในปี 2551 โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของจีน (Ministry of Commerce) ระบุว่าการลงทุนโดยตรงฯ ในปี 2551 มีมูลค่าถึง 92,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับของปีก่อน ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการที่ดึงดูดการลงทุนกว่า 38,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.2 เทียบกับของปีที่ผ่านมา และสูงกว่าอัตราการขยายตัวของปี 2550 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เท่านั้น

ข้อดีอีกประการหนึ่ง ก็คือ กิจการต่างชาติลงทุนในพื้นที่ซีกตะวันตกและตอนกลางของประเทศมากขึ้น โดยขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 80 และร้อยละ 36.4 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดกลับพบว่า การลงทุนฯ ในปี 2551 ดูจะมาพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลจีน กล่าวคือ เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยถึงการหลั่งไหลของเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และยังพบว่าอัตราการขยายตัวของการลงทุนฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี จากเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 ในเดือนพฤศจิกายน เหลือเพียงร้อยละ 5.7 ในเดือนธันวาคม 2551

ตารางที่ 3 อัตราการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงต่างประเทศในจีนสะสมในปี 2551

                    ครึ่งปีแรก (เฉลี่ย)        ร้อยละ 45.6
                    ณ เดือนตุลาคม           ร้อยละ 35.0
                    ณ เดือนพฤศิกายน         ร้อยละ 26.3
                    ณ เดือนธันวาคม          ร้อยละ 23.6


ยาขนานใหญ่ในการรักษาไข้เศรษฐกิจ....ทุกสิ่งที่ชาวจีนเพรียกหา

ปรับทิศทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ นับแต่เดือนมิถุนายน 2551 รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการในการบริหารจัดการเศรษฐกิจใหม่ โดยหันไปให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ผ่านมาตรการด้านการเงินและการคลังมากมาย อาทิ การปรับลดเพดานสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จำนวนถึง 5 ครั้งนับแต่กลางเดือนกันยายน 2551 การยกเว้นภาษีเงินฝากส่วนบุคคลทุกระบบเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551 รวมทั้งการเพิ่มอัตราส่วนคืนภาษีส่งออก (Export Rebate) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Products) จำนวน 3,770 รายการ หรือประมาณร้อยละ 28 ของจำนวนรายการสินค้าระหว่างประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงการคลังก็เพิ่มอัตราส่วนคืนภาษีดังกล่าวแก่สินค้าผ้าผืนส่งออกเพิ่มเติมอีกร้อยละ 1 รวมเป็นอัตราร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือกิจการส่งออกดังกล่าว ท่ามกลางเสียงเรียกร้องมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมของผู้ส่งออกอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

มาตรการและกระแสเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนว่า กิจการของจีนมิเพียงแต่กำลังประสบกับปัญหาการชะลอตัวของตลาดภายในประเทศเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในต่างประเทศอีกด้วย

ดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศอัดฉีดงบประมาณผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่มูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 586,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างปี 2551-2553 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราวร้อยละ 7 ของจีดีพีของจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนหลายโครงการ เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและลดผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก

เร่งสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจและสวัสดิการสังคม ภายหลังการหดหายลงของแหล่งรายได้จากตลาดหุ้น เงินกองทุน และอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเฟื่องฟูในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้หันมาเร่งสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูสภาพธุรกิจ โดยแสดงความรับผิดชอบในการเป็นแกนหลักในการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มรายจ่ายของภาครัฐ และปรับปรุงระบบสวัสดิการของประเทศ ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การแพทย์ และการศึกษา โดยเมื่อต้นปี 2552 รัฐบาลจีนได้เปิดเผยแผนการลงทุนในระบบประกันสุขภาพมูลค่า 850,000 ล้านหยวน เพื่อลดความกังวลใจเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมของภาครัฐ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมากหันมาชะลอการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มระดับการออม

ปรับปรุงที่อยู่อาศัย ในการนี้ กระทรวงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและชุมชนเมือง-ชนบท(Ministry of Housing and Urban-Rural Construction: MHURC) ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 900,000 ล้านหยวนในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อก่อสร้างบ้านเช่าราคาถูกจำนวน 2 ล้านหลัง และบ้านราคาถูกอีกจำนวน 4 ล้านหลังคาเรือน รวมทั้งการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยในป่า พื้นที่เกษตรกรรม และเหมืองแก่ผู้อยู่อาศัยจำนวนกว่า 1 ล้านคน

เพิ่มเงินบำนาญและเงินอุดหนุนการซื้อที่อยู่อาศัย รัฐบาลจีนยังประกาศเพิ่มเงินบำนาญสำหรับผู้ที่เกษียณอายุให้เป็นเฉลี่ย 1,200 หยวนต่อเดือนภายใน 2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็มีข่าวลือว่า รัฐบาลจีนเตรียมประกาศให้เงินอุดหนุนการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่แก่ข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญคนละ100,000 หยวน หากมาตรการดังกล่าวคลอดออกมาจริงคาดว่าจะมีข้าราชการของจีนจำนวนหลายสิบล้านคนที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว

อุดหนุนภาคเกษตรกรรม ในช่วงปี 2551 รัฐบาลจีนได้เพิ่มระดับการประกันราคาสินค้าเกษตรจำนวน 2 ครั้ง และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2551 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศปฏิรูประบบเกษตรกรรมครั้งใหญ่ โดยอนุญาตให้เกษตรกรสามารถให้เช่าหรือถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตรขนาด1.2 ล้านตารางกิโลเมตรที่ท่านประธานเติ้ง เสี่ยวผิงเคยกำหนดแนวทางไว้เมื่อ 30 ปีก่อนได้ การปฏิรูประบบเกษตรกรรมในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ในจีน กล่าวคือ ผู้คนมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีนจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ชุมชนเมืองจะขยายตัวเร็วขึ้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่จะเกิดขึ้น และเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรแปลงใหญ่และมีเงินทุนใหม่สำหรับการประกอบธุรกิจใหม่ในอนาคต

การเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกสู่เกษตรแปลงใหญ่ยังจะนำไปสู่โอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร และผลิตภาพของสินค้าเกษตรกรรมที่ดีขึ้น ประการสำคัญ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจำนวน 700-800 ล้านคนเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 12 ปี อันจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในเมืองและเกษตรกรในชนบทของจีนลดลง

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2552 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศเพิ่มระดับการประกันราคาสินค้าเกษตรอีกร้อยละ 15.3 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของจีน (Ministry of Agriculture: MOA) ยังวางแผนเพิ่มการลงทุนมูลค่า 5,150 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เงินจำนวน 800 ล้านหยวนจะถูกจัดสรรสำหรับโครงการธัญพืชคุณภาพ ซึ่งน่าจะเพิ่มผลผลิตการเกษตรอีก 170 ล้านกิโลกรัมและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกเกือบ 300 ล้านหยวน

กระตุ้นการจ้างแรงงานและช่วยฟื้นอุตสาหกรรมหลัก โดยที่การว่างงานเป็นปัญหาที่รัฐบาลจีนกังวลใจมากที่สุด เพราะถือว่าการจ้างงานเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นอยู่และแหล่งรายได้ของประชาชน รัฐบาลจีนจึงได้จัดสรรเม็ดเงินลงทุนจำนวนหลายแสนล้านหยวนในหลายโครงการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ โดยครอบคลุมทั้งทางด้านโทรคมนาคมการก่อสร้าง สินค้าเหล็ก ปูนซิเมนต์ และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดจากการจ้างแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายล้านตำแหน่ง เพราะจากสถิติพบว่าในทุก ๆ 100 ล้านหยวนของการลงทุนในโครงการก่อสร้างทางด่วนและโครงการที่คล้ายคลึงในจีน จะก่อให้เกิดการจ้างแรงงานโดยตรง 1,800 ตำแหน่ง และการจ้างงานทางอ้อมอีก 2,100 ตำแหน่ง

ในส่วนของการสนับสนุนส่งเสริมกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งเป็นแกนหลักในการว่าจ้างแรงงานกว่าร้อยละ 75 ของการว่าจ้างแรงงานทั้งหมดของประเทศนั้น รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อพยุงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ในสินค้าหลักโดยเฉพาะปูนซิเมนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปยังวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของจีน และเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อีกร้อยละ 1-2 ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยมาตรการและโครงการที่สำคัญได้แก่

  • การเพิ่มการสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่กิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยเพียงแค่เดือนมกราคม 2552 สถาบันการเงินของจีนก็ปล่อยสินเชื่อไปแล้วถึง 1.2 ล้านล้านหยวน!
  • โครงการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกในชนบท
  • โครงการพยุงอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ โดยออกมาตรการลดภาษีการบริโภคร้อยละ 5 สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,600 ซีซี และให้เงินอุดหนุนจำนวน 5,000 ล้านหยวนแก่ประชาชนในชนบทในการจัดซื้อรถใหม่ที่มีเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1,300 ซีซี
  • โครงการ “เครื่องใช้ไฟฟ้าสู่ชนบท” และ “จักรยานยนต์สู่ชนบท” ลดภาษีการบริโภคและอุดหนุนเกษตรกรและผู้ที่รายได้น้อยในชนบทให้ซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้า (ตามแต่ประเภทสินค้า) และจักรยานยนต์ (อุดหนุนเงินประมาณ 300 หยวนต่อคัน) ภายในประเทศในราคาพิเศษ
  • การแจกเงิน 100-150 หยวนแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อเป็นของขวัญวันตรุษจีน
  • การแจกคูปองซื้อสินค้าและบริการแก่ประชาชนในประเทศ

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จีนจะออกมาแสดงบทบาทความเป็นผู้นำด้านการค้าเสรีของโลกรายใหม่ โดยเรียกร้องให้นานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เดินหน้าร่วมมือกันผลักดันการเปิดเสรีทางการค้าต่อไป อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ จีนก็ยังคงเดินหน้าคุมเข้มสินค้านำเข้าด้วยมาตรการต่างๆ สารพัด ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาในระยะหลังและอนาคตอันใกล้นี้ ก็ล้วนมีส่วนกระตุ้นและขยายการการจ้างแรงงานและการบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น และเชื่อมั่นว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนการซื้อหาสินค้าจีนของผู้บริโภคในประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ของการบริโภคโดยรวม เพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นกัน

ปี 2552....เส้นทางหฤโหดที่มังกรต้องฟันฝ่า

รัฐบาลจีนได้ประกาศเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 ไว้ที่ร้อยละ 8 ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษ และจากแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังของนายเซี่ย ซูเหริน (Xie Xuren) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Minister of Finance) เมื่อวันตรุษจีนที่ผ่านมา ระบุว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในปี 2552 กำลังเผชิญสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ การรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพเช่นเดิมจะดำเนินไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยหนึ่งในปัญหาใหญ่ได้แก่การปรับสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลทุกระดับระมัดระวังค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อรักษาดุลงบประมาณ”

จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2552 หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันจะเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งสำหรับรัฐบาลจีนในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีมุมมองในแต่ละด้านดังนี้

จีดีพีต่ำสุดในรอบทศวรรษ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายองค์กรได้ประกาศผลการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนครั้งใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิม โดยธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2552 ลงเหลือร้อยละ 7.5 จากระดับเดิมที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบของปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่ของเศรษฐกิจจีนเป็นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรตติ้งส์ (Fitch Ratings) เตือนว่า จีนกำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลงอย่างแรง (Hard Landing) และจะส่งผลให้อัตราการว่างงานขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้จีนมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบในสังคมได้ โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 6 เมื่อเทียบของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางสำนักยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบอย่างจริงจังในช่วงกลางปี 2552 เป็นต้นไป และพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนอาจจะเติบโตเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

นายหลิว หมิงคัง (Liu Mingkang) ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารจีน(China Banking Regulatory Commission) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนไม่สามารถปล่อยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 เพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมาได้ เพราะหากจีดีพีของจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6-7 สภาพเศรษฐกิจจะประสบผลกระทบอย่างรุนแรง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อัตราร้อยละ 8 เป็นตัวเลขเป้าหมายขั้นต่ำ มิฉะนั้น จะไม่สามารถกระตุ้นการจ้างงานที่มากเพียงพอและอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม

เป้าหมายเงินเฟ้อ รัฐบาลจีนได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเป้าหมายของปี 2552 ในการประชุมเศรษฐกิจส่วนกลางเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาไว้ที่ระดับร้อยละ 4 ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่สามารถควบคุมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรและพลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงนับแต่ต้นปี 2552 ซึ่งต่างจากสถานการณ์ของปี 2551 อย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มลดต่ำลงนับแต่ปลายปี 2551 ก็เป็นการปรับฐานราคาและน่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศในปี 2552

คงคลังหดหาย แต่ยังแข็งแกร่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนยอมรับในสาสน์วันตรุษจีนว่า รายได้คงคลังของจีนจะหดหายไป เนื่องจากรัฐบาลต้องตัดลดภาษีเพื่อรับมือกับสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อันอาจส่งผลให้แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในปี 2552 ขยายตัวในอัตราเลขตัวเดียวเป็นปีที่สองต่อเนื่องกัน และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

เงินหยวนหยุดเพิ่มค่า ในปี 2552 เงินหยวนที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะเพิ่มค่าขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี จะมีค่าลดลงเล็กน้อยหรือคงที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลจีนยังคงต้องการดำเนินมาตรการปรับลดเม็ดเงินที่เข้ามาเก็งกำไรในจีน และต้องการช่วยกระตุ้นการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวนับแต่ปลายปี 2551 และคงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นเงินหยวนลดค่าลงในระดับที่สูงในปี 2552 เพราะนั่นอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในระยะยาวและขัดแย้งกับตัวเลขการเกินดุลการค้าที่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก

การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศหดหาย ทิศทางการชะลอตัวของภาคการส่งออกอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนหลังสุดของปี 2551 น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2552 ได้รับผลกระทบเชิงลบเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน (มูลค่าการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของจีดีพี) จะขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อันเนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดส่งออกสำคัญของจีน

อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังจะคงรับบทเป็นตัวเอกต่อไป โดยหลายฝ่ายยังหวังว่ากิจการข้ามชาติจะจัดซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้าอื่นจากจีนมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก

ขณะที่การส่งออกของหลายมณฑลในจีนส่อเค้าว่าจะชะลอตัว หากไม่ได้รับการแก้ไขและความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนอย่างทันท่วงที โดยหนังสือพิมพ์เทเวนตี้เซ็นจูรีบิสซิเนสฮีรัล (The 21st Century Business Herald) ประมาณการณ์ว่า การส่งออกของมณฑลกวางตุ้งและเจียงซู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญของจีน จะไม่มีการขยายตัวในปี 2552 และหากพิจารณาการส่งออกของมณฑลในภาคใต้ของจีนโดยรวมแล้ว อาจพบว่ามีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังคาดว่าการนำเข้าจะลดลงในระดับที่รวดเร็วกว่าของการส่งออกอันเนื่องจากการลดลงของราคาวัตถุดิบและพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าของจีนรวมทั้งการบริหารจัดการนำเข้าของรัฐบาลจีน ซึ่งนั่นหมายความว่า จีนจะยังคงการเกินดุลการค้าในปี 2552 ไว้ได้ต่อไป แต่อาจจะมีขนาดเกินดุลที่ลดลง

ในส่วนของการลงทุนโดยตรงต่างประเทศในจีนคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง อันเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนโดยรวมของโลกและการให้ความสำคัญของธนาคารกลางของจีนกับการกำกับควบคุมเงินลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในจีน อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังเชื่อมั่นว่าจีนยังน่าจะเป็นแม่เหล็กใหญ่สุดที่สามารถดึงดูดการลงทุนของต่างชาติที่วางแผนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเซียได้ต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่า สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในจีนต่อของเอเซียจะเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2552

เน้นเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ดูเหมือนว่า การชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนกังวลใจมากที่สุด และเกรงว่าระดับการบริโภคภายในประเทศจะเติบโตในระดับตัวเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2546 รัฐบาลจีนจึงได้เร่งออกมาตรการและดำเนินโครงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากมายนับแต่ต้นปี 2552 เพื่อช่วยประคับประคองมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลใจ และยังต้องการใช้โอกาสนี้ เร่งฟื้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักเช่นเดิมให้ได้ ทั้งนี้ คาดว่า ภายในปี 2552 เราจะได้เห็นรัฐบาลจีนอัดเม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

ทางเลือกของไทยคือ “ต้องบุกจีน”

แม้ว่าปี 2552 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยขวากหนามสำหรับรัฐบาลและเอกชนของหลายประเทศ แม้กระทั่งจีน แต่รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยก็ยังควรให้ความสำคัญกับการเข้ามาทำตลาดและลงทุนในตลาดจีนด้วยเหตุผลหลายประการ

ในประการหนึ่ง จีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยกล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของไทยสู่ตลาดจีนมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย และขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่สูงถึงร้อยละ 20ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่แท้ที่จริงแล้ว สินค้าและบริการของไทยยังเข้าสู่ตลาดจีนน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาด กล่าวคือ เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของจีนในแต่ละปี การส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมีมูลค่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 เศษเท่านั้น นักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ในตลาดจีนคงช่วยยืนยันได้ว่า ยังมีตลาดอีกจำนวนมากที่สินค้าและบริการไทยยังไม่ได้เจาะเข้าไป หรือปล่อยให้ตลาดเติบโตตามยถากรรม

ประการสำคัญ เมื่อพิจารณาจากศักยภาพและความสำคัญของตลาดจีนที่มีต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ก็เชื่อมั่นได้ว่า ตัวเลขมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกของไทยสู่ตลาดจีนดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น แต่นั่นหมายถึงว่า ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันทำตลาดสินค้าและบริการของไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผมเชื่อเหลือเกินว่า ประเทศไทยเรายังจะสามารถขยายการส่งออกของไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อีกมากในอนาคต

ในอีกประการหนึ่ง ในขณะที่บรรดาตลาดหลักของไทยประสบกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง จีนยังจะเป็นประเทศที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด และเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉลี่ย 4-5 เดือน กอรปกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบ “CommandbEconomy” ที่ภาครัฐจีนยังมีบทบาทในวางแผนการพัฒนาและกำกับเศรษฐกิจอยู่สูงมาก จึงคาดว่าจีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ในระดับที่สูงกว่าของประเทศที่เป็นตลาดหลักอื่น ๆ ของ ไทย โดยจีนน่าจะยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตถึงร้อยละ 8—9 ได้ต่อไปในอีกปีข้างหน้า

จีนเป็นตลาดที่ยากในการทำธุรกิจ บ้างก็ว่าเป็นเพราะขนาดของตลาดที่ใหญ่ ความแตกต่างของภาษาของวัฒนธรรม และอื่น ๆ นักธุรกิจบางท่านถึงขนาดเปรียบเปรยว่าจีนเป็น “ตลาดปราบเซียน” ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดจีนยังมีแนวโน้มที่จะสลับซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต เราได้เห็นการผุดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่แยกย่อย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่รวดเร็วมากขึ้นทุกขณะนอกจากนี้ ในยุคแรกของการพัฒนาประเทศ เรายังได้สังเกตเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความมั่งคั่งของจีนอย่างหลากหลายมิติ อาทิ จากรัฐวิสาหกิจสู่กิจการเอกชน จากกิจการขนาดใหญ่กระจายตัวไปยังกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือแม้กระทั่งจากเพศชายสู่เพศหญิง ปัจจุบัน เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพิ่มเติม ได้แก่

  • ในเชิงภูมิศาสตร์ ขยายเข้าสู่ตอนกลางและซีกตะวันตกของจีน จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในซีกตะวันออก
  • ในเชิงระดับความเจริญ แทรกตัวเข้าไปสู่เมืองระดับรอง (2nd-Tier /3rd-Tier Cities)
มากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ (1st-Tier Cities)
  • ในมิติด้านการตลาด กระจายตัวไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นเกษตรกรและผู้คนในชนบท รวมทั้งผู้ที่เกษียณอายุ รวมนับหลายร้อยล้านคนในช่วงหลายปีข้างหน้า
  • ในเชิงประเภทอุตสาหกรรม ก็เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้นและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานและก่อให้เกิดมลพิษสูง โดยเฉพาะในมณฑลด้านซีกตะวันออกของจีน ก็จะลดความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนลงอย่างรวดเร็ว

นั่นหมายความว่า การทำตลาดในจีนมีแนวโน้มที่จะประสบกับความยากลำบากมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่วงนอกและห่างไกลจากแหล่งข้อมูล สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีเหตุผลมากมายในการไม่เข้ามาตลาดจีน อาทิ กิจการของตนเองมีขนาดเล็กเกินไปบ้าง สู้ราคาไม่ได้บ้าง กลัวถูกลอกเลียนแบบบ้าง กลัวถูกโกงบ้าง กลัวโอนผลกำไรกลับไทยไม่ได้บ้าง ยังหาหุ้นส่วนที่ดีไม่ได้ ขาดอาวุธทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในจีนที่สูง ... ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้ออ้างที่เข้าใจลำบากมากโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกต่างมาบุกตลาดจีนกันเกลื่อนไปหมด เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามเชิงรุกกับตนเอง อาทิ

  • “เรารู้จักและเคยไปสำรวจเมืองใหญ่ในจีนกี่เมืองแล้ว”
  • “หลายอย่างที่เราทำไม่ได้ แต่ทำไมผู้ประกอบการของชาติอื่นจึงทำกันได้”
  • “เพราะความไม่เป็นมืออาชีพและการขาดสายสัมพันธ์และกลยุทธ์การตลาดที่ดีของเราหรือไม่ที่ทำให้ไม่สามารถเจาะเข้าตลาดนี้ได้”
  • “ทำไมจีนต้องลอกเลียนแบบสินค้าไทย ทำไมไม่เป็นสินค้าอิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ...และหากผู้ประกอบการของจีนต้องการทำลอกเลียนแบบขึ้นมาจริง ๆ การที่เราไม่เข้าไปทำตลาดในจีน จะสามารถหยุดความต้องการเหล่านั้นได้หรือไม่”
  • “ประเทศใดในโลกที่จะออกจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นประเทศแรก”
  • “ถ้าจะไม่เข้าตลาดจีนแล้ว เราควรไปบุกตลาดที่ไหนดี”

เมื่อท่านผู้อ่านค้นหาคำตอบเหล่านั้นได้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านยังจะมีคำถามที่จะต้องถามตัวเองเพิ่มเติมอีกมากมาย อาทิ

  • “เอาสินค้าและบริการใดเข้าไปเจาะตลาดจีนดี”
  • “ช้าไปหรือไม่สำหรับการเข้ามาทำตลาดจีน”
  • “เราควรเข้าไปสู่ตลาดจีนด้วยรูปแบบธุรกิจอย่างไรดี”
  • “เราจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น และการจัดงานใหญ่ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพ อย่างเช่น “เอ็กซ์โป 2010” ณ นครเซี่ยงไฮ้ และ “เอเชี่ยนเกมส์ 2010” ณ นครกวางโจวได้อย่างไร”

คำตอบของคำถามเหล่านี้มิได้อยู่ในสายลม แต่ผมคิดว่าอยู่ที่ตัวท่านเองการตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพของตลาดจีนในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ ความอยู่รอดและการเติบโตของกิจการของไทยในทศวรรษหน้า ลองนึกถึงภาพช่วงเวลาที่ท่านผู้ประกอบการส่งผ่านกิจการในจีนที่บุกเบิกไว้ต่อไปยังลูกหลานในสัก 10-20 ปีข้างหน้าดูซิ ใบหน้าลูกหลานของท่านคงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของท่านในวันนี้ ... ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องหันมา “บุกจีน” กันอย่างจริงจัง

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผอ. สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ