สถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการขยายสินค้าผลไม้ไทยในตลาดจีนตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 11, 2009 14:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากผมได้มีโอกาสให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่ใส่ใจกับการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนจำนวนหลายคณะที่เดินทางเข้ามาสำรวจลู่ทางการค้าและขยายโอกาสทางธุรกิจในนครเซี่ยงไฮ้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อาทิ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ คณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้ส่งออกผลไม้ของไทย รวมทั้งเจอะเจอใครหลายคนทั้งที่อยู่ในวงการและนอกวงการอาหารก็มักเอ่ยถามถึงเรื่องผลไม้ไทยในตลาดจีนกันทั่วหน้า จนกระทั่งล่าสุด ผมได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่อง “FTA หนุนส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ของไทยสู่ตลาดโลก” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารผู้ส่งออกเมื่อเดิอนกันยายน ที่ผ่านมา ทำให้ผมอยากเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยสานต่อการพัฒนาผลไม้ไทยในตลาดจีน โดยผ่านการนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขยายตลาดผลไม้ไทยในจีน

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตเน้นตลาดจีนด้านซีกชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่มณฑลเหยหลงเจียง ซึ่งอยู่เหนือสุดของจีน เรื่อยลงมาถึงมณฑลซานตง มณฑลเจียงซูมณฑลมณฑลเจ๋อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งนอกจากจะถือเป็นตลาดนำเข้าผลไม้ลำดับที่ 2 ของจีนที่มีศักยภาพสูงมากแล้ว ยังเพื่อประโยชน์ของความชัดเจนในการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งก็เพราะพื้นที่เหล่านี้อยู่ในเขตอาณาของ สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้ที่ผมรับผิดชอบโดยตรงอยู่ด้วย

1. พฤติกรรมและความต้องการผลไม้ไทยในจีน

จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผลไม้สดรายใหญ่ของโลก ในเชิงปริมาณ ณ ปี 2550 จีนมีอัตราการบริโภคผลไม้สดเฉลี่ยคนละ 45 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันที่อยู่ในระดับเฉลี่ยคนละ 55 กิโลกรัมต่อปี และของประเทศพัมนาแล้วที่คนละ 83 กิโลกรัมต่อปี

พัฒนาด้วยกันที่อยู่ในระดับเฉลี่ยคนละ 55 กิโลกรัมต่อปี และของประเทศพัมนาแล้วที่คนละ 83 กิโลกรัมต่อปี

ด้วยจำนวนประชากรจำนวนกว่า 1,330 ล้านคนและเศรษฐกิจของจีนเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนจำนวนมากมีรายได้มากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ชนชั้นกลางได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มรู้สึกว่าผลไม้นำเข้ามิได้มีราคาแพงดังเช่นในอดีตอีกต่อไป กล่าวคือ ชาวจีนแต่ละคนใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคผลไม้เฉลี่ยประมาณ 23 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเพียงคนละ 15 บาทต่อปีเมื่อ 3 ปีก่อน

จากสถิติ จากข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่า ตลาดผลไม้นำเข้า โดยเฉพาะของไทยมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งช่วยตอบข้อสงสัยของหลายคนเกี่ยวกับเรื่องขนาดของตลาดผลไม้ไทยในจีนว่าใหญ่มากน้อยแค่ไหนได้เป็นอย่างดี ประการสำคัญ ข้อมูลแนวโน้มการขยายตัวของความต้องการผลไม้นำเข้าดังกล่าวยังสะท้อนว่าตลาดผลไม้นำเข้าในจีนมีศักยภาพสูงมาก ส่วนจะเป็นของผู้ส่งออกผลไม้ไทยสักเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของไทยในเชิงเปรียบเทียบกับผลไม้ของจีนและของต่างชาติในอนาคต

แต่จากสถิติที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ในระยะหลัง การขยายตัวของการนำเข้าผลไม้ไทยในตลาดจีนมีอัตราต่ำกว่าของผลไม้ต่างชาติ และขาดเสถียรภาพ กล่าวคือ บางปีมีการขยายตัวสูง บางปีต่ำประการสำคัญ อัตราการขยายตัวของการนำเข้าในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นเร็วกว่าของเชิงมูลค่า ซึ่งสะท้อนว่าเรายิ่งขายผลไม้เข้าตลาดจีน ยิ่งมีราคาต่อหน่วยที่ต่ำลง หรือมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่คนจีนมีฐานะและใช้เงินจับจ่ายใช้สอยซื้อหาผลไม้ต่างชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีนได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด ซึ่งถือเป็นผลไม้หลักที่สามารถใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงผลไม้อื่นให้เป็นที่รู้จักได้อนาคตขณะที่มะม่วง ส้มโอ ขนุน มะขามหวาน แก้วมังกร ชมพู่ และเงาะเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลไม้ไทยได้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีนในระดับหนึ่ง แต่ยังมีผู้บริโภคชาวจีนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักผลไม้ไทยอย่างแท้จริง ต่อไปนี้เป็นข้อมูลสรุปสถานการณ์พฤติกรรมและความต้องการผลไม้ไทยบางประเภทในตลาดจีน

1.1 ลำไย

1) ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกลำไยที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนทำให้ลำไยไทยได้รับความนิยมในการบริโภคมากที่สุดในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ผ่านมา ชาวจีนนิยมบริโภคลำไยหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปผลสดและอบแห้ง รวมทั้งผลลำไยอบแห้งแบบมีเปลือกที่มีเม็ดใหญ่ รสหวาน และสด โดยมีความเชื่อว่า ชาวจีนส่วนใหญ่เห็นว่าลำไยเป็นผลไม่ที่มีแคลอรี่สูงขณะที่บางส่วนเชื่อว่าการบริโภคลำไยช่วยให้มีสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น

2) จากสถิติของตลาดหลงอู๋ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของนครเซี่ยงไฮ้พบว่า ในปี 2550 ตลาดหลงอู๋มีนำเข้าลำไยจากประเทศไทยรวมประมาณ 5,264 ตันขณะที่นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยรวม 8,440 ตัน คู่แข่งสำคัญได้แก่ จีนและเวียตนาม โดยจีนมีแหล่งเพาะปลูกลำไยในหลายมณฑล เช่น มณฑลกวางตุ้ง กวางสี และฝูเจี้ยน ขณะเดียวกันเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงก็เป็นตลาดค้าส่งลำไยอบแห้งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดในแถบตอนกลางด้านซีกตะวันออกของจีน

ดังนั้น ในการแข่งขันในตลาดจีนนั้น ผู้ส่งออกลำไยไทยต้องแข่งขันด้วยคุณภาพเพราะปัจจุบันลำไยของไทยมีคุณภาพและภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค การรักษาคุณภาพและปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไปเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ เรายังไม่ตรวจพบผู้ส่งออกไทยรายใดที่ทำตลาดแบรนด์ลำไยอบแห้งในตลาดระดับบน

3) ประการสำคัญก็คือ เนื่องจากทางการจีนได้กำหนดมาตรฐานควบคุมคุณภาพสำหรับผลไม้นำเข้าที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่คุณภาพของผลผลิตลำไยของไทยยังไม่ได้มาตรฐานบ่อยครั้งที่ตรวจพบว่า ลำไยการส่งออกมีปัญหาสารตกค้าง เนื่องจากยังมีเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามวิธีการเกษตรและการผลิตดีที่เหมาะสม (GAP & GMP) รัฐบาลและเอกชนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาครัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ขณะที่ภาคเอกชนควรศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าของจีน ทั้งนี้ ข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่นำเข้าจากประเทศไทย

1.2 ทุเรียน

1) ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนตอนใต้โดยประมาณว่า ในมณฑลต่างๆ ซึ่งอยู่ในเขตดูแลของ สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้ มีปริมาณการบริโภครวมประมาณ 20,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย และมณฑลเจียงซูที่บริโภคประมาณ 3,000-4,000 ตันต่อปีในแต่ละแห่ง

2) ผู้บริโภคจีนต้องการบริโภคทุเรียนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตมาก ราคาทุเรียนต่ำกว่าช่วงอื่นๆ และช่วงฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) เพื่อให้พลังงาน แต่เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีน้อย ทำให้ทุเรียนมีราคาแพง ส่งผลให้อุปสงค์ในช่วงนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

3) ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ในเขตร้อนชื้น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ สามารถปลูกทุเรียนได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายประเทศจะมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทุเรียนและพยายามพัฒนาพันธุ์ทุเรียนในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะเวียตนามและจีน แต่ทุเรียนของไทยยังคงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีน

4) ชาวจีนคุ้นเคยกับทุเรียนไทยพันธุ์หมอนทอง ส่วนพันธุ์อื่นๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในระยะหลัง ผู้ประกอบการนำเข้าทุเรียนพันธุ์ก้านยาวเข้ามาบ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยม

5) จากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้คนที่อาศัยในเซี่ยงไฮ้นิยมบริโภคทุเรียนสุกที่มีรสชาติหวานมัน แต่ไม่หวานจัด อย่างไรก็ดี การขาดความเข้าใจในการคัดเลือก เสนอขาย และปลอกทุเรียนของผู้จำหน่ายและลูกค้า รวมทั้งระบบลอจิสติกส์ที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้กลุ่มลูกค้ารับรู้และความเข้าใจว่าทุเรียนที่พร้อมรับประทานต้องรอจน “ก้นแตก” เสียก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการปลอก (คนจีนบางส่วนปลอกทุเรียนโดยการทุ่มลงกับพื้น) และเพื่อให้ทุเรียนที่สุกยังคงขายได้ ทำให้ผลไม้ดูไม่สวยงามขณะจำหน่าย และชาวจีนส่วนใหญ่บริโภคทุเรียนที่สุกเกินไป ทำให้บริโภคได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะดียวกันสมาชิกในครอบครัวชาวจีนบางส่วนที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียนสุกที่รุนแรง ก็พลอยไม่นิยมบริโภคทุเรียนไปด้วย

6) ในห้วงปี 2551 สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้ร่วมกับโลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่อื่นในเมืองหลัก โดยเฉพาะนครเซี่ยงไฮ้ได้พยายามดำเนินกิจกรรมสาธิตการปลอกชิมและคัดเลือกทุเรียนผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง

7) ราคาทุเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายนอยู่ที่ประมาณ 12 หยวนต่อกิโลกรัมขณะที่ทุเรียนนอกฤดูกาลมีราคาประมาณ 20 หยวนต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ราคาทุเรียนยังผันแปรตามปริมาณผลผลิตและคุณภาพในแต่ละปีอีกด้วย

2. การนำเข้า

นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 รัฐบาลจีนได้กำหนดอากรนำเข้าผลไม้กำหนดไว้ร้อยละ 0 ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและจีน ซึ่งกำหนดให้อากรนำเข้าสินค้าในพิกัดศุลกากร 07 และ 08 โดยมีแนวโน้มการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าอย่างไรก็ดี ผลไม้จากต่างประเทศยังคงถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 13

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 จีนนำเข้าผลไม้ไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 121.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 45 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบัน การนำเข้าผลไม้ของไทยมีลักษณะกระจุกตัวในเชิงภูมิศาสตร์ โดยส่วนใหญ่นำเข้าผ่านภาคใต้ของจีน โดยเฉพาะตลาดเจียงหนานในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของไทย เนื่องจากทำเลอยู่ใกล้กับประเทศไทย และมาตรฐานในการดำเนินพิธีการศุลกากรของจีนผ่านด่านในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ตลาดผลไม้ของไทยในจีนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่

ขณะที่การนำเข้าผลไม้ไทยโดยมายังนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยทั้งหมด จะต้องผ่านตลาดนำเข้าและค้าส่งผลไม้หลงอู๋ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 การนำเข้าผลไม้ไทยของนครเซี่ยงไฮ้มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าลำไยจากไทยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 105 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ผลไม้ไทยที่มาทำตลาดในแถบนครเซี่ยงไฮ้และเมืองใกล้เคียงส่วนใหญ่ยังคงนำเข้าผ่านนครกวางโจว และขนส่งทางรถบรรทุกมายังตลาดเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาทิ Lotus Super Center, Carrefour และ Wal-Mart นำเข้าผลไม้ไทยผ่านตลาดหลงอู๋ นครเซี่ยงไฮ้มากขึ้น แต่มีปริมาณที่ไม่สม่ำเสมอขณะที่ผู้นำเข้าผลไม้อื่น อาทิบริษัท Tian Yi จำกัดก็เริ่มสนใจนำเข้าผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนผ่านเมืองอี้อู ทั้งนี้ การนำเข้าทุเรียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ส่วนตลาดทางภาคเหนือของประเทศจีน อาทิ ปักกิ่งและเทียนจินเริ่มมีการนำเข้าผลไม้ไทยโดยตรงบ้างแต่ยังไม่มากนัก ขณะที่ตลาดอีสานจีน ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง จี้หลินและเหยหลงเจียง ยังไม่มีการนำเข้าผลไม้ไทยโดยตรงจากไทย แต่หลายเมืองพยายามพัฒนาศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการกระจายผลไม้ไทย

3. ปัญหาอุปสรรคในการขยายการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน

ปัญหาอุปสรรคในการขยายการส่งออกผลไม้ไทยมายังตลาดจีน ได้แก่

3.1 ปัญหาด้านเอกสาร ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเป็นเรื่องข้อจำกัดในปฏิบัติงานอาทิ ลายเซ็นต์ในใบสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ตรงกับตัวอย่างที่แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ และเอกสารประกอบการนำเข้าทุเรียนไม่ครบถ้วน

3.2 ปัญหาด้านลอจิสติกส์ ปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเพาะปลูก (ยาฆ่าแมลง และสารเร่งโต) ช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว เรื่อยไปจนถึงกระบวนการระหว่างการขนส่งและระหว่างรอการขายซึ่งผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้องทำให้ผลไม้ไทยที่นำเข้าเพื่อกระจายไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากจุดนำเข้า เสื่อมคุณภาพลง ส่งผลเสียกับภาพลักษณ์สินค้าผลไม้ไทย

3.3 ปัญหาด้านการตลาด แม้ว่าผลไม้ไทยจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน แต่ผู้บริโภคทั่วไปชาวจีนรู้จักผลไม้ไทยอย่างผิวเผินอาทิ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงวิธีการปลอกและการบริโภคผลไม้ไทยที่เหมาะสมบางคนยังแยกไม่ออกระหว่างผลไม้ของไทยบางประเภท อาทิ ทุเรียนและขนุน และน้อยคนมากที่จะสามารถแยกออกระหว่างผลไม้ประเภทเดียวกันของไทยและของต่างชาติ รวมทั้งความนิยมในผลไม้ไทยก็ยังจำกัดอยู่ในบางภูมิภาคเท่านั้น ส่งผลไม้ไทยมีอุปสงค์จำกัด และไม่สามารถขยายปริมาณการนำเข้าผลไม้จากไทยได้มากเท่าที่ควร กอรปกับการแข่งขันจากผลไม้อื่นในจีนที่เข้มข้นขึ้นในอนาคตและการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของรัฐบาลอื่นที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการบริหารปริมาณการนำเข้าเนื่องจากความต้องการของตลาดไม่คงที่ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้ผลไม้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างแท้จริง

3.4 ปัญหาด้านสุขอนามัย ในระยะหลัง รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยกับสินค้านำเข้าเข้มงวดขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะประเด็นสารตกค้างและมดแมลงที่ติดมากับผลไม้ไทยล่าสุด นับแต่ต้นปี 2552 หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าของเซี่ยงไฮ้ (Shanghai CIQ) ได้ปรับปรุงขั้นตอนในการสุ่มตัวอย่างผลไม้นำเข้า โดยกำหนดให้เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุผลไม้นำเข้าไปยังจุดที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อกำกับขั้นตอนการดึงตัวอย่างผลไม้ของเจ้าหน้าที่ CIQ อันส่งผลให้เจ้าหน้าที่ CIQ ต้องเก็บตัวอย่างสินค้าจากหลายจุดในตู้คอนเทนเนอร์ แทนที่จะเป็นเพียงด้านหน้าของตู้คอนเทนเนอร์ดังเช่นในอดีต การปรับปรุงขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้ผลไม้บางอย่างของไทยโดยเฉพาะลำไยที่ผ่านการอบซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาจประสบปัญหามาตรฐานด้านสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น

3.5 ปัญหาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจีน แม้อัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางชนิด เช่น ผลไม้ จะลดเหลือศูนย์ก็ตาม แต่จีนยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าในอัตราร้อยละ 13 สำหรับผลไม้สด และร้อยละ 17 สำหรับผลไม้แปรรูป ทำให้ผู้นำเข้าต้องผลักภาระไปให้พ่อค้าขายส่งและขายปลีก ส่งผลให้ราคาผลไม้ของไทยสูงกว่าผลไม้และผลไม้แปรรูปมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง เมื่อเทียบกับของท้องถิ่น

3.6 ปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งนำเข้า จีนเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ การมีจุดกระจายสินค้าน้อยแห่ง ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ทั้งในแง่การขยายตลาดและระดับคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะการมีจุดกระจายผลไม้ในบริเวณภาคใต้ของจีนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้และอยู่ไกลจากแหล่งบริโภคในภูมิภาคอื่น อาทิ บริเวณภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันตก มิได้สร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าไทยในเชิงของการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผลไม้ท้องถิ่น

ปัจจุบัน การนำเข้าผลไม้ของไทยมีลักษณะกระจุกตัวในเชิงภูมิศาสตร์ โดยส่วนใหญ่นำเข้าผ่านภาคใต้ของจีน โดยเฉพาะตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากมาตรฐานในการดำเนินพิธีการศุลกากรของจีนผ่านด่านในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ตลาดผลไม้ของไทยในจีนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจีนบางรายมีอิทธิพลเหนือตลาด กำหนดระบบฝากขายกับผู้ส่งออกของไทย แทรกแซงราคาสินค้า และทำให้การพัฒนาตลาดผลไม้ในภูมิภาคอื่นชะงักงันนอกจากนี้ การกระจายผลไม้ทางถนนจากภาคใต้ไปยังตลาดในภูมิภาคอื่นของจีนยังต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของผลไม้ไทยในตลาดปลายทางด้อยลงและมีราคาเพิ่มขึ้น

3.7 ปัญหาด้านการแข่งขัน ผู้ส่งออกผลไม้ไทยส่วนใหญ่มีกิจการขนาดเล็ก มีเงินทุนจำกัด รวมทั้งยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในจีน ทำให้กำหนดกลยุทธ์และวิธีการดำเนินธุรกิจที่ไม่เหมาะสมกับการผลักดันผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน กอรปกับการขาดการสนับสนุนส่งเสริมและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม รวมทั้งการผลักดันผลไม้ของรัฐบาลอื่นเข้าสู่ตลาดจีนอย่างจริงจังและเป็นระบบ อาทิ การเปิดไฟเขียวให้ไต้หวันนำเข้าผลไม้ผ่านช่องทางพิเศษ อาจส่งผลเสียต่อผลไม้ไทยในระยะยาว

4. ผลกระทบที่ไทยได้รับ กรณีจีนเปิดไฟเขียวให้ไต้หวันนำเข้าสินค้าผลไม้ผ่านช่องทางพิเศษ

4.1 ระยะสั้น

1) ในระยะแรก การส่งออกผลไม้ของไต้หวันเข้าตลาดจีนถือว่าเป็นการทดลองศึกษาตลาดเป็นหลัก โดยส่งผ่านเข้ามาทางเมืองเซี่ยเหมินเป็นหลัก และยังมีปริมาณผลไม้ส่งออกไม่มากนักกอรปกับผลไม้ไต้หวันที่มีต้นทุนและราคาแพง เมื่อเทียบกับของไทย ทำให้ต้องพยายามทำการตลาดในกลุ่มเป้าหมายระดับบน นอกจากนี้ คนจีนส่วนใหญ่ก็มิได้มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อการบริโภคและรับแจกผลไม้ไต้หวัน

2) ในเชิงของชนิดสินค้า เนื่องจากผลไม้ที่ไทยและไต้หวันส่งเข้ามาทำการตลาดในจีนคล้ายกัน ได้แก่ มะม่วง แก้วมังกร ฝรั่ง มะละกอ ชมพู่ สับปะรด มะพร้าว มะเฟือง และน้อยหน่า ผลไม้เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในเชิงมูลค่า ไทยส่งผลไม้เหล่านี้เข้าสู่ตลาดจีนในสัดส่วนค่อนข้างน้อย (ทั้งนี้ ไทยส่งออกลำไย ทุเรียน และมังคุดในสัดส่วนค่อนข้างสูง) อย่างไรก็ดี ผลไม้ชนิดอื่นของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมในระดับหนึ่ง

3) การขนส่งผลไม้ไต้หวันมายังตลาดจีนยังเป็นปัญหาใหญ่ กล่าวคือ รัฐบาลจีนยังคงกำหนดใช้นโยบาย “การติดต่อ 3 ทาง (เล็ก)” ได้แก่ การค้า การเดินทาง และการติดต่อทางไปรษณีย์ ซึ่งโดยนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ดินแดนใกล้เคียงกับช่องแคบไต้หวันเป็นเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันตกของช่องแคบไต้หวัน โดยใช้เกาะจินเหมินเป็นตัวเชื่อม ทำให้การขนส่งสินค้าจากไต้หวันมาสู่จีนยังคงมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ และทำให้ต้นทุนการขนส่งแพงขึ้นเป็นเท่าตัว

4) จากข่าวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 gGood Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้ไต้หวันรายใหญ่สุดของนครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจากการดำเนินประสบปัยหาขาดทุนถึง 100 ล้านเหรียญไต้หวันในระยะเวลา 3 ปีของการประกอบการ โดยนายหลิน จื้อ หง กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลของการปิดกิจการว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  • การขาดการสนับสนุนที่ดีจากไต้หวัน ดังจะเห็นได้จากงบประชาสัมพันธ์ผลไม้ไต้หวันในตลาดเซี่ยงไฮ้ที่จำกัด ทำให้ผู้บริโภคยังไม่รู้จักผลไม้ไต้หวันมากพอ
  • ราคาแพงเกินไป
  • ผู้ประกอบการบางรายเอาผลไม้จีนปลอมเป็นผลไม้ไต้หวัน ทำให้ผลไม้ไต้หวันเสียภาพลักษณ์และไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงได้จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทำให้พอสรุปได้ว่า ในระยะแรก ผลกระทบในเชิงการแข่งขันของผลไม้ไต้หวันที่ผ่านช่องทางพิเศษที่มีต่อผลไม้ไทยยังอยู่ในระดับจำกัด

4.2 ระยะยาว

1) ความรวดเร็วในการดำเนินพิธีการศุลกากรโดยการผ่านช่องทางพิเศษของผลไม้ไต้หวันและระยะทางที่ใกล้จีน เมื่อเทียบกับของไทยบวกกับระบบการจัดการด้านลอจิสติกส์ที่ดี ทำให้คุณภาพผลไม้ไต้หวัน ณ ตลาดปลายทางดีกว่าของไทย ขณะเดียวกันด้วยกำลังซื้อของผู้คนที่อาศัยในจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลไม้ที่มีคุณภาพดี (ชดเชยกับราคาที่แพง) ได้รับการยอมรับและมีตลาดที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสำหรับสินค้าไทยในการพัฒนาขึ้นสู่ตลาดระดับบนในจีนในระยะยาว

2) ด้วยพื้นที่การเพาะปลูกผลไม้ของไต้หวันที่จำกัด การสั่งสมเทคนิคและประสบการณ์ในการเพาะปลูกและทำการตลาดของผู้ประกอบการไต้หวัน และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของจีนและไต้หวัน ตลอดจนความคล้ายคลึงทางภาษาและวัฒนธรรม จึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการไต้หวันจำนวนมากจะหันมาลงทุนทำฟาร์มเพาะปลูกผลไม้ในจีนในอนาคต ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้นทุนการผลิตผลไม้ของผู้ประกอบการไต้หวันในจีนจะลดต่ำลง และอาจสร้างปัญหาในเชิงของการแข่งขันกับผลไม้ไทยได้ในระยะยาว

5. ข้อเสนอกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยในตลาดจีน

สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปัญหาทั้งระบบและดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเน้น 4 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่

  • “รักษาความนิยมในผลไม้หลักและสร้างความนิยมในประเภทผลไม้รอง” (Push the Major, Pull the Minor)
  • “ขยายพื้นที่บริโภค” (Area Expansion)
  • “เสริมสร้างภาพลักษณ์” (Image Building) และ
  • “ขยายโอกาสการบริโภค” (Consumption Opportunity Increase) ทั้งนี้ โดยสามารถดำเนินการผ่านกลยุทธ์และมาตรการสำคัญ ดังนี้

5.1 การจัดจ้างบริษัทการตลาดมืออาชีพ (Professional Marketer) เพื่อเพิ่มการบริโภคและเสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้ไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รัฐบาลไทยควรพิจารณาดำเนินการจัดตั้งองค์กรกลางที่เป็นมืออาชีพเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลปริมาณ พัฒนาพันธุ์ และระบบการผลิตผลไม้ในประเทศเพื่อการส่งออก กำกับมาตรฐานสินค้าส่งออก กำหนดราคา (รายสัปดาห์/เดือน) พัฒนาระบบลอจิสติกส์เพื่อการส่งออก กำหนดปริมาณการส่งออก โดยจำแนกตามภูมิภาค (มณฑล) รวมทั้งว่าจ้างมือการตลาดเพื่อพัฒนาตลาดส่งออกและดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และอย่างใกล้ชิด จำแนกตามสินค้าเป้าหมายต่อไป

ทั้งนี้ โดยอาจศึกษาแบบจำลองการพัฒนาสินค้าผลไม้ของบางประเทศ เช่น ส้มซันคิส (Sunkist) ของสหรัฐฯ และกีวี (Kiwi) ของนิวซีแลนด์ ที่มีองค์กรมืออาชีพบริหารจัดการผลไม้เข้าสู่ตลาดปลายทางทั้งระบบและครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่งและเก็บรักษา การกำหนดปริมาณและราคาขาย การสร้างและขยายตลาด การเสริมสร้างภาพลักษณ์ บริการหลังการขาย และอื่น ๆ ขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนควรเร่งพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่เข้าสู่ตลาดจีน และกำหนดมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ขยายตลาดโดยตรงไปยังตลาดใหม่ที่เป็นรูปธรรม

1) กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product Strategy) ควรพิจารณาเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าส่งออก ระบบการตรวจสอบและกำกับควบคุมคุณภาพสินค้าส่งออก รวมทั้งพัฒนารูปแบบสินค้าส่งออก ควบคู่ไปกับการสร้างตราสินค้าทั้งในระดับประเทศและผู้ส่งออก ตลอดจนการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศจีน เพื่อลดข้อจำกัดอันเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว

เนื่องจากกฎระเบียบและการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพผลไม้นำเข้าของจีนมีแนวโน้มที่จะเข็มงวดยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ส่งออก เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลไม้ส่งออกของไทยโดยเร็ว ทั้งในแง่ขนาด รูปลักษณ์ระดับสารตกค้าง และบรรจุภัณฑ์

ต่อประเด็นดังกล่าว การจัดตั้งหน่วยงานและกลไกเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับควบคุบมาตรฐานสินค้าผลไม้ส่งออกอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

2) กลยุทธ์ด้านราคา (Pricing Strategy) ควรเปลี่ยนมุมมองมาให้ความสำคัญกับการส่งออกเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ โดยบริหารปริมาณและคุณภาพผลผลิตส่งออกอย่างจริงจังเพื่อให้ผลไม้ไทยบางประเภท โดยเฉพาะมะม่วงและมังคุด สามารถกำหนดราคาจำหน่ายต่อผลมากกว่าต่อน้ำหนัก และผลักดันให้ผู้ส่งออกไทยติดต่อกับช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ที่เข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคระดับสูงให้มากขึ้น พร้อมพัฒนาการส่งออกผลไม้พร้อมรับประทาน เพื่อยกระดับราคาสินค้าในตลาดจีนที่เหมาะสม อาทิ นครเซี่ยงไฮ้

3) กลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ (Logistics Strategy) ควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยว และรักษาคุณภาพของผลไม้ในระหว่างการขนส่งและรอการขาย รวมทั้งเร่งสร้าง ขยาย และพัฒนาเครือข่ายกระจายสินค้าที่มีคุณภาพในบริเวณภาคเหนือและตอนกลางของจีนเพื่อให้สามารถขยายตลาดผลไม้สดได้กว้างขวางมากขึ้น ยกระดับคุณภาพ และลดต้นทุนสินค้าไปสู่ตลาดบริเวณดังกล่าว

ประการสำคัญ รัฐบาลไทยควรสนับสนุนส่งเสริมและหรือร่วมดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นผู้นำเข้าผลไม้ที่ได้รับอนุญาต เพื่อลดการพึ่งพาและสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้นำเข้าจีน รวมทั้งลดความสูญเสียของผู้ประกอบการไทยและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยอันเกิดขึ้นจากระบบฝากขาย โดยเฉพาะในตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางตุ้ง

4) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาด (Promotional Strategy) เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มการบริโภคผลไม้ไทยในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้กำหนดวิสัยทัศน์ที่ต้องการขับเคลื่อน “อาหารไทยเข้าสู่บ้านจีน” (Thai Foods to Chinese House) โดยมุ่งหวังที่จะขยายโอกาสการบริโภคอาหารไทยในช่วงเวลาที่ชาวจีนใช้เวลาอยู่ภายในบ้านเรือนของตนให้มากขึ้นและเพิ่มกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขึ้นสู่ตลาดระดับบน โดยใช้ประโยชน์จากเทศกาลสำคัญของจีนและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมากมาย

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังควรร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของจีนในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ

  • การประชาสัมพันธ์ให้ชาวจีนรู้จักและยอมรับในผลไม้ไทยกว้างขวางมากขึ้น อาทิ การจัดประกวดแข่งขันการบริโภคผลไม้ไทย และการจัดประกวดและมอบรางวัลผู้นำเข้าผลไม้ดีเด่นประจำปี รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิประโยชน์การนำเข้าผลไม้ไทยแก่ผู้นำเข้าของจีน
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่และศูนย์ค้าส่ง/ปลีกในตลาดเป้าหมายสำคัญ(In-store Promotion) อาทิ โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และคาร์ฟูร์ ซึ่งหนึ่งในสินค้าสำคัญที่กำหนดให้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้แก่ ผลไม้สดและแปรรูปของไทย และในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่

o เทศกาลใหญ่ประจำปี ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม จะมีเทศกาลทางวัฒนธรรมจำนวนมาก อาทิ วันไหว้พระจันทร์ (กันยายน) และวันชาติ (ตุลาคม) รวมทั้งมหกรรมสำคัญอาทิ เทศกาลท่องเที่ยว (กลางเดือนกันยายน) และการแข่งขันกีฬาสำคัญ

o มหกรรมอาหารไทย (Thai Food Festival) โดยร่วมมือกับร้านอาหารไทยโดยเฉพาะที่ได้รับรางวัล Thai Select ของกรมส่งเสริมการส่งออก และโรงแรมห้าดาวอย่างต่อเนื่องโดยสนับสนุนส่งเสริมให้แต่ละแห่งนำเสนออาหารและขนมหวานที่ทำจากผลไม้ไทยเป็นพิเศษ เช่น ยำส้มโอ ยำมะม่วง และข้าวเหนียวมะม่วง

o งานแสดงสินค้าด้านอาหารและสินค้าทั่วไป โดยจัดกิจกรรมสาธิตการคัดเลือกปลอกและทดลองชิม รวมทั้งการเจรจาการค้าในสินค้าผลไม้สดและแปรรูปของไทย เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และความนิยมให้กับผู้บริโภคจีน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการบริโภคของผลไม้ไทยในจีน

o มหกรรมผลไม้ไทยในนครเซี่ยงไฮ้ โดยจัดกิจกรรมแนะนำและส่งเสริมการตลาดผลไม้ไทยเป็นช่วง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเป็นรายประเภทผลไม้ อาทิ “สุดยอดมังคุดไทยในนครเซี่ยงไฮ้” เพื่อสร้างกระแส “I Love Thai Fruits” (ในผลไม้แต่ละประเภท) ซึ่งจะช่วยให้ชาวจีนรู้จักและผูกพันกับผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น

5.2 การแก้ไขปัญหาด้านภาษี (Tax Issue) ควรเจรจาขอให้รัฐบาลจีนพิจารณาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผลไม้และสินค้าที่เกี่ยวข้องในประเทศในอัตราเดียวกับที่เรียกเก็บจากสินค้าต่างประเทศ หรือยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแก่สินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการ “การปฏิบัติเยี่ยงชาติ” (National Treatment) ขององค์การการค้าโลก

5.3 การแก้ไขปัญหาการมีอิทธิพลเหนือตลาด (Market Influencer) ควรกำหนดมาตรฐานและควบคุมปริมาณการส่งออก จำแนกตามภูมิภาคของจีน โดยเริ่มจากตลาดหลักและขยายต่อไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะสามารถช่วยแก้ไขปํญหานี้ได้ในระยะยาว

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

กงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ