1. Dubai World เป็นกลุ่มบริษัทของรัฐบาลดูไบที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายสาขา อาทิ การบริหารจัดการท่าเรือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอัญมณี
2. จากการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) หลายโครงการที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการใช้เงินทุนจากธนาคารภายในประเทศยูเออี เช่น Emirates NBD, Mashreque Bank, Dubai Islamic Bank และเงินทุนจากต่างประเทศ โดยไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งยูเออีเป็นประเทศที่ได้รับเงินทุน FDI สูงถึงร้อยละ 50 ของเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตะวันออกกลาง เงินทุนที่ยูเออีได้รับจากต่างประเทศตามลำดับความสำคัญได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา อิหร่าน คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ทั้งนี้สัดส่วนการกระจายทุนจะอยู่ที่รัฐดูไบสูงถึงร้อยละ 61.87 ที่กรุงอาบูดาบีร้อยละ 23.56 ที่รัฐชาร์จาห์ ร้อยละ 9.82 ส่วนร้อยละ 4.75 เป็นเงินทุนจากต่างประเทศที่จัดสรรในรัฐอื่นๆ ของยูเออี
3. เงินทุนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ มีสัดส่วนสูงที่สุด ดังนี้
3.1 ภาคอุตสหกรรมการเงินและประกันภัยสูงถึงร้อยละ 34.36 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8%
3.2 ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วนของเงินลงทุนร้อยละ 28.97 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8%
3.3 ภาคอุตสากรรรมค้าปลีกและค้าส่ง มีสัดส่วนของเงินลงทุนร้อยละ 13.97 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 13%
3.4 ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) มีสัดส่วนร้อยละ 19 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 16%
3.5 ภาคบริการร้านอาหารและสปา แม้ว่าจะมีสัดส่วนของเงินลงทุนร้อยละ 0.13 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 65%
4. ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้บริษัท Dubai World ซึ่งมีการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงสำหรับโครงการ Mega Projects หลายโครงการโดยเฉพาะสาขาธุรกิจก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของโครงการก่อสร้างในรัฐดูไบ ต้องยกเลิกโครงการหรือชะลอการก่อสร้างหลายโครงการออกไปก่อน แม้ว่ารัฐบาลดูไบได้พยายามอัดฉีดเม็ดเงินและสร้างกระแสความเชื่อมั่น (Consumer Confidence) ในช่วงต้นปี 2552 แต่ในที่สุดแล้ว บริษัท Dubai World ได้ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่า บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางการเงิน (Re-Structuring) เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ มูลค่า 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้ขอเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไปอีก 6 เดือน
5. ความเห็นของสคต. ดูไบ
5.1 การประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นเห็นว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2552 อุตสาหกรรมก่อสร้างในดูไบ ได้ชะลอตัวลงไปมาก มีการเลิกจ้างคนงานสูงถึงร้อยละ 17 ของแรงงาน (Labor Force) รวมถึงที่ปรึกษาและผู้ชำนาญการจากต่างชาติ (Expatriates) ได้ย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่น นักธุรกิจที่เหลือส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง มาบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็ก ได้แก่ธุรกิจร้านอาหารและสปา ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวค่อนข้างสูง
5.2 หากรัฐบาลดูไบสามารถประคับประคองธุรกิจการเงินและสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นเวลาต่อเนื่องต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ก็เชื่อว่าบรษัท Dubai World จะสามารถปรับแก้สถานการณ์ภายในบริษัทได้ โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านและนักลงทุนจากต่างชาตอ เช่นยุโรป เริ่มพื้นตัวแล้ว
5.3 การลงทุนของผู้ประกอบการไทยในรัฐดูไบส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจร้านอาหารและสปา เมื่อวิเคราะห์แล้ว น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจบ้าง แต่เชื่อว่าจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่อไปได้ ส่วนบริษัทก่อสร้างของไทยขนาดใหญ่ ได้ย้ายกิจการออกจากเมืองดูไบไปแล้ว ในชั้นนี้ประเมินว่าโอกาสและลู่ทางของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ควรจะขยายไปที่กรุงอาบูดาบี ประเทศยูเออี ประเทศกาตาร์และคูเวต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าดูไบ
สคต. ดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th