สินค้าของเล่นในตลาดแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 16:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเรียกคืนสินค้าที่มีสารเคมีในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายยังคงเป็นหัวข้อข่าวทางสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แม้ว่าผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นจะมีความพยายามในการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน 2552 กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา เรียกคืนสินค้าของเด็กเล่นชุดหั่นและอบขนมคุ๊กกี้ที่ทำด้วยไม้ (Slice-and-bake set) กล่องของเล่นเพื่อพัฒนาการเด็กด้านรูปทรงเรขาคณิต (shape-sorting cubes) และของเล่นประกอบด้วยฆ้อนไม้และแท่นไม้ (Pound-apeg) รวมมากกว่า 26,000 ชิ้น ที่วางจำหน่ายในตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 — พฤศจิกายน 2552 หลังจากตรวจพบสารแบเรียม (Barium) บนพื้นผิวสินค้าเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนในปี 2551 มีการเรียกคืนสินค้าของเล่น 2 ชนิด เช่นกัน หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาตรวจพบว่า มีสารแบเรียมบนพื้นผิว โดยสินค้าทั้งจากการเรียกคืนครั้งเก่าและใหม่นี้ ผลิตจากประเทศจีน การเรียกสินค้าคืนจากตลาดทำให้เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก

สำหรับอันตรายที่เกิดจากสารแบเรี่ยม (Barium) นั้น สามารถทำปฎิกริยาต่อร่างกาย ตั้งแต่ระดับต้น คือทำให้วิงเวียนศรีษะ อาเจียณ จนถึงระดับเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงโรคโรคความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ตลาดของเล่นเด็กในแคนาดา

ตั้งแต่เดือนมกราคม — ตุลาคมปี 2552 ประเทศแคนาดา มีการนำเข้าสินค้าของเล่นจากประเทศต่างๆ คิดเป็นมูลค่ารวม 2,852.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ถึง 14.89 % โดยนำเข้าจากประเทศไทย เป็นอันดับที่ 6 คิดมูลค่า 29.62 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 1 ได้แก่ประเทศจีนคิดเป็นมูลค่า 1,873.80 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 2 คิดเป็นมูลค่า 632.79 ล้านเหรียญสหรัฐ

แนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าของเล่นในแคนาดา

แม้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นกลุ่มผู้ซื้อของเล่นให้กับเด็กและสมาชิกในครอบครัว แต่ปัจจุบันเด็กเล็กๆ สามารถแสดงความต้องการของเล่น ซึ่งเป็นผลมากจากโฆษณา และเอาตามอย่างเพื่อนๆ แม้แต่การได้ไปเห็นของเล่นนั้นๆ ตั้งวางแสดงอยู่ในร้านของเล่น ต่อเมื่อเด็กโตขึ้น อิทธิพลของพ่อแม่ผู้ปกครองในการตัดสินใจซื้อของเล่นให้เด็ก จะค่อยๆ หายไป ทำให้การดึงดูดใจในการตัดสินใจซื้อมากจาก 2 ปัจจัย คือ

1. การออกแบบ คุณสมบัติ คุณภาพ และราคา เช่น ตุ๊กตาที่มีรูปลักษณ์หรือเป็นตัวแทนของตัวแสดงนำในภาพยนต์หรือวิดิทัศน์

2. คุณค่าทางการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก โดยวัดจากสิ่งที่ของเล่นชิ้นนั้นๆ สามารถให้ความรู้หรือสอนอะไรให้แก่เด็กได้บ้าง ตังอย่างเช่น การสร้างกำแพงอิฐ สามารถสร้างทักษะการนับหรือการใช้สี หรือการสร้างรูปทรงต่างๆ ของเล่นบางอย่างได้รับการตระหนักถึงคุณค่าจากรุ่นพ่อแม่ ซึ่งของเล่นเหล่านี้จะอยู่คงทนมากกว่าของเล่นที่ผลิตออกมาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหากผู้ส่งออกไทยสามารถมองหารูปแบบที่เหมาะสมกับปัจจัยทั้ง 2 ข้อดังกล่าว จะเป็นแนวทางหนึ่งในการขยายการส่งออกของเล่นมายังแคนาดามากขึ้น

นอกจากนี้ผู้ส่งออกไทยควรศึกษาสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพิจารณาในการเลือกซื้อและตัดสินใจซื้อของเล่นให้ลูกหลาน เพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นข้อพิจารณาในการผลิตและพัฒนาของเล่น ได้แก่

1. ฉลากและเอกสาร หรือคู่มือ ระบุข้อมูลที่ควรมี จากมุมมองของผู้ซื้อ ซึ่งประกอบด้วย

  • ชื่อ ของเล่น
  • บริษัทผู้ผลิต ตราสินค้า และใบอนุญาตผลิต และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • อายุของเด็กที่เหมาะสมในการเล่นของเล่นนั้นๆ
  • ในกล่องบรรจุอะไรมาบ้าง เช่น มีห่วงสำหรับโยน 20 ห่วง เสาฐาน 1 เสา รวมทั้งกฎในการใช้หรือทำความสะอาด เป็นต้น
  • การรับรองมาตรฐานความปลอดภัย เช่น รับรองมาตรฐานความปลอดภัย โดยสถาบัน... หรือผ่านการทดสอบความปลอดภัยแล้ว เป็นต้น
  • Universal Product Code (Bar Code) และราคา

2. อายุที่เหมาะสมสำหรับของเล่น ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกของเล่นบนชั้นที่มีมากมายการตัดสินใจซื้อจะมาจากการประเมินส่วนตัวและข้อความที่ได้รับจากการโฆษณา รวมทั้งจากข้อมูลในทางบวก ที่เพื่อนๆ หรือคนรู้จักเคยซื้อหรือมีประสบการณ์บอกเล่ามา หากต้องการกลั่นกรองปัจจัยลึกๆ ของกระบวนการตัดสินใจซื้อ พบว่าปัจจัยที่ดีที่สุดคือจากสัญชาตญาณและข้อมูลบนฉลาก นอกจากนั้น การเลือกซื้อของเล่นอาจจะเลือกซื้อของเล่นที่สามารถขยายความสนใจจากกลุ่มอายุอื่นๆ โดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ ให้ก้าวร้าวหรือเป็นไปในทิศทางที่ไม่ควรจากการเล่นของเล่นร่วมด้วย ถือเป็นมูลค่าเพิ่มของของเล่นชนิดนั้น

3. การจัดแบ่งระดับของอายุ โดยส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์ของเล่น จะมีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มอายุที่เล่นของเล่นนั้นได้ เช่น สินค้านี้ แนะนำสำหรับเด็กอายุ 18 เดือน จนถึง 3 ขวบ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการทำวิจัย ลำดับของอายุ ขนาดของของเล่น ระดับทักษะ และวุฒิภาวะ ของเด็กเนื่องจากการพัฒนาการของเด็กไม่เท่ากัน และการจัดระดับอายุที่เหมาะสมกับของเล่นนั้น ก็ต่างกันไปตามชนิดของของเล่น

4. ผู้ส่งออกไทยควรศึกษาตลาดและตามให้ทันความต้องการของตลาด สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการตอบรับจากตลาดแคนาดาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาสินค้ามีผลต่อการจัดสินใจซื้อของพ่อแม่และผู้ปกครอง

ท้ายที่สุด ผู้ส่งออกไทยควรพึงระวังไว้เสมอว่า การสุ่มตรวจสินค้าของรัฐบาลแคนาดานั้น เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะมีผลให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า อาจทำให้เกิดความล่าช้า เสียเครดิตต่อผู้นำเข้า ขาดทุน และอาจทำให้ตัดโอกาสในการส่งออกสินค้าของเล่นมายังประเทศแคนาดาสำหรับตัวเองและบริษัทผู้ส่งออกไทยรายอื่นๆ อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ