จากเหตุการณ์ที่บริษัท Dubai World ซึ่งมีรัฐบาลสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือหุ้น ได้ออกมาประกาศขอพักชำระหนี้มูลค่าเกือบ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น ทำให้ธนาคารชาติอิตาลี และประธานธนาคารกลาง (The Central Bank’s Director General) ได้ออกมาเปิดเผยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงจำกัด และไม่ก่อให้เกิดข้อกังวลต่ออิตาลีแต่อย่างใด แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมากต่อระบบการเงินของโลกก็ตาม
ในด้านการส่งออก อิตาลีส่งออกสินค้าไปสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาก กว่าการนำเข้า โดยอิตาลีส่งออกสินค้าไปสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับที่ 15 รองลงมาจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย (ส่งออกไปไทยอันดับที่ 58) มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละประมาณ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. — ส.ค.) ของปี 52 อิตาลีส่งออกไปสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 3,549 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -28.07% และมีสัดส่วนตลาดเพียง 1.4% ของการส่งออกทั้งหมดของอิตาลี สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เครื่องจักร อัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องบิน และชิ้นส่วน
ในด้านการนำเข้า อิตาลีนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอันดับที่ 68 (นำเข้าจากไทยอันดับที่ 48) มูลค่านำเข้าเฉลี่ยปีละ 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. — ส.ค.) ของปี 52 อิตาลีนำเข้าทั้งสิ้น 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -36.14% และมีสัดส่วนตลาด 0.12% ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ พลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง อัญมณี เหล็ก และเครื่องจักร
ในด้านการเงิน ธนาคารชาติอิตาลี (Bank of Italy) และสมาคมธนาคารแห่งอิตาลี (The Association of Italian Banks - ABI) ได้กล่าวว่าไม่มีความเสี่ยงต่อระบบธนาคารและการเงินของอิตาลีแต่อย่างใด เนื่องจากมีเพียงธนาคาร UniCredit เท่านั้นที่ให้เงินกู้แก่ Dubai World และในจำนวนเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงวงจำกัดและเล็กน้อยกว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งก็ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินของอิตาลีแต่อย่างใด
ในด้านการลงทุน มีผู้ประกอบการอิตาลี ประมาณ 100 ราย ที่เข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจใน สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะในดูไบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านการก่อสร้างและการสาธารณูปโภคซึ่งเข้าไปรับทำโครงการก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจสินค้าแฟชั่น การออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าฟุ่มเฟือย
ธุรกิจของอิตาลีที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริษัทที่ทำสัญญาก่อสร้างภายใต้โครงการต่าง ๆ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ ซึ่งอาจมีปัญหาความล่าช้าในการชำระเงิน และความล่าช้าของการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ก็อาจมีผลกระทบต่อนักลงทุนด้านการเงิน และนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ประกอบการอิตาลีเอง เห็นว่า ภาวะวิกฤติทางการเงินของดูไบ ได้เริ่มมาตั้งแต่ 6-7 เดือนก่อนหน้าแล้ว อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยโครงการใหญ่ ๆ ในดูไบ กว่า 90% ต้องถูกชะลอลง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติตลาดดูไบจะมีอัตราการเจริญเติบโตถึงปีละ 25-30%
ผู้ประกอบการอิตาลีที่ไปลงทุนดำเนินธุรกิจในดูไบ ได้แก่
1. PERMASTEELISA เป็นบริษัทรับก่อสร้างและตกแต่งโรงแรม Yas Island Racing โดยใช้เหล็กประเภท High Technology และคริสตัล
2. GIORGIO ARMANI มีโครงการที่จะเปิดโรงแรมหรูในตึก Burj Dubai ซึ่งดูไบ กล่าวว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก
3. VERSACE ทำธุรกิจรับตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
4. SALVATORE FERRAGAMO ให้ลงทุน เปิดบูติคเมื่อเร็ว ๆ นี้
5. POLTRONA FRAU, ATREMIDE และ GUZZINI ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่เปิดร้านและโชว์รูมในดูไบ
6. DANIELI ทำธุรกิจเครื่องจักร
7. IMPREGILO และSALINI ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
8. TODINI ทำธุรกิจก่อสร้างสาธารณูปโภค (ถนน)
9. MAPEI ทำธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง
10. DE ECCHER ทำธุรกิจก่อสร้างสาธารณูปโภค (รถไฟฟ้าใต้ดิน)
11. CIEFFE ทำธุรกิจระบบรักษาความปลอดภัยในโรงแรมต่าง ๆ
12. HARMONT & BLAIN ทำธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอิตาลียังคาดหวังว่าวิกฤติดังกล่าวจะไม่ต่อเนื่องไปถึงประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะอบูดาบี ซึ่งเป็นประเทศที่มีโครงการธุรกิจและมีศักยภาพอีกประเทศหนึ่งซึ่งคาดว่าโอกาสทางธุรกิจในอนาคตของทั้งดูไบ และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ น่าจะเติบโตได้ต่อไป จนถึง 20 ปี ข้างหน้า โดยจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยว และแหล่งช็อปปิ้งด้วย และผู้ประกอบการอิตาลีเองยังคงมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของดูไบว่ายังคงมีเสถียรภาพ และจะไม่เกิดวิกฤติในวงกว้างต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม
ที่มา: http://www.depthai.go.th