การว่างงานในสหรัฐอเมริกา: ปัจจุบันและในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2009 13:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานะการณ์

กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 10.0 หรือประชากรสหรัฐฯ จำนวน 15.4 ล้านคนยังคงไม่มีงานทำ แม้ว่าอัตราการว่างงานดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม (ร้อยละ 10.2) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มการจ้างงานในภาคธุรกิจบริการ และ Health Care Services ในขณะที่มีการลดการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง การผลิตสินค้า และ เกษตรกรรม เป็นตัวถ่วง ดังนั้น อัตราว่างงานที่ลดลงจึงมิได้เป็นนิมิตรหมายที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างแท้จริง

ทำเนียบขาวยอมรับว่า สถานการณ์การว่างงานของสหรัฐฯเลวร้ายเกินกว่าที่คิดนาย Jason Furman ตำแหน่ง Deputy Director of Obama’s National Economic Council กล่าวว่าการสร้างงานเพิ่มไล่ไม่ทันกับอัตราว่างงานที่ขยายตัว ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้คาดคิดไว้

เปรียบเทียบอัตราการว่างงานแยกภาคอุตสาหกรรม

     ภาคอุตสาหกรรม/บริการ              พ.ย.2551 (%)      พ.ย. 2552 (%)
1. ก่อสร้าง                                12.7               19.4
2. เกษตรกรรม                              9.5               12.6
3. การผลิต                                 7.0               12.5
4. Professional & Business Services       7.0               10.6
5. ค้าส่ง/ค้าปลีก                             6.7                9.2
6. การขนส่งและสาธารณูปโภค                   5.8                8.5
7. สารสนเทศ                               5.2                7.6
8. ธุรกิจการเงิน                             5.2                6.7
9. การศึกษาและบริการด้านสุขภาพ                3.6                5.5
10. ลูกจ้างรัฐบาล                            2.4                3.4
ที่มา: US Department of Labor

ปัญหาและการแก้ไข

1. ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น: นักวิเคราะห์เศรษฐกิจให้ข้อคิดเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯแก้ไขปัญหาการว่างงานไม่ถูกจุด จึงเป็นผลให้การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

1.1 แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Economic Stimulus Plan) มุ่งการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้บริโภคแบบชั่วคราวหรือในระยะสั้น จะเห็นได้จาก การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างซ่อมแซมถนนหนทาง เมื่อเสร็จโครงการ คนงานไม่มีงานทำ และกลับไปสู่สภาพการว่างงานอีกปัจจุบัน การว่างงานในภาคนี้เพิ่มขึ้นในอัตราสูง หรือร้อยละ 19.4

1.2 ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ซึ่งเป็นหัวใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯประสบปัญหาสินเชื่อที่ตึงตัวหรือจำกัด เป็นผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนหรือไม่เพียงพอเพื่อนำไปใช้ในการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้มิได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากรัฐบาลสหรัฐฯ

1.3 การดำรงการอยู่รอดของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ คือการลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายลง เพื่อการเพิ่มยอดขายด้วยวิธีการปลดคนงาน ถึงแม้ว่ายอดขายไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลดลง ดังนั้น ธุรกิจจะมีกำไร วิธีนี้การนี้ใช้กันมากในกลุ่มบริษัทมหาชน ซึ่งจะพยามทำตัวเลขธุรกิจให้มีกำไร เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของธุรกิจและราคาหุ้น การดำเนินวิธีดังกล่าว เป็นการเพิ่มความกดดันต่อภาวะการว่างงานที่สูงอยู่แล้วให้หนักขึ้นอีก

2. การแก้ไขปัญหา ประธานาธิบดี Barack Obama ได้เร่งรีบแก้ไขปัญหาและประกาศแผนการเพิ่มการจ้างงานให้แก่ระบบเศรษฐกิจ โดยเน้นการให้สิ่งจูงใจ (Incentive) แก่ภาคธุรกิจและภาครัฐบาลในการเพิ่มการจ้างงาน 5 ประการ คือ

2.1 การให้ Tax Credits แก่ธุรกิจขนาดย่อม (Small Business) เพื่อจูงใจให้เกิดการเพิ่มการจ้างงาน โดยจะไม่เรียกเก็บภาษี Capital Gain Tax เป็นเวลา 1 ปี ในการลงทุนโครงการใหม่วงเงินไม่เกิน 250,000 เหรียญสหรัฐฯ

2.2 ธุรกิจทั่วไป (All Business) ได้รับการขยายเวลาลดหย่อนการเสียภาษี (Taxes Reduction) ในด้าน Capital Expenditure ออกไปให้อีก 1 ปี

2.3 จะเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านการซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ทางหลวง สะพาน ท่าเรือ และ สนามบิน เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง

2.4 การให้ส่วนลด (Rebate) แก่ครัวเรือนที่ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่ใช้สินค้าประหยัดพลังงาน (Home Energy Efficient Products) และการขยายวงเงินกู้ยืมแก่ผู้ประกอบการที่เพิ่มการจ้างงานในการลงทุนผลิตสินค้าประหยัดพลังงาน (Energy Investments) เช่น การซื้อเครื่องจักร/เครื่องมือ และ การติดตั้งกังหันลม เป็นต้น

2.5 การจัดสรรเงินให้แก่หน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ตำรวจ ตำรวจดับเพลิง และ ครู เพื่อป้องกันการปลดออกจากงาน

ผลกระทบการว่างงานต่อการนำเข้าสินค้า

อัตราการว่างงานมีผลกระทบและเป็นเครื่องชี้ต่อภาวะการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งพิจารณาได้เป็น 2 ประการ คือ

1. การว่างงานสูง เป็นผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคต่ำ ธุรกิจและร้านค้าขายสินค้าได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการลดนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันอัตราการว่างงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 (มกราคม-กันยายน) การนำเข้าของสหรัฐฯ ขยายตัวไปร้อยละ 13.6 ในขณะที่การว่างงานอยู่ในระดับไม่สูงมากร้อยละ 6.1 และในช่วงเวลาเดียวกันของปีปัจจุบัน (มกราคม-กันยายน 2552) การว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.8 และ การนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลงไปร้อยละ -31.2

2. อัตราการว่างงานสูง แสดงให้เห็นถึง ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เลิกกิจการ หรือลดการผลิต และปลดคนงานออกจำนวนมาก ในมุมกลับ จะเห็นได้ว่า สินค้าจำนวนมากได้หายไปจากตลาด แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตในประเทศสหรัฐฯ จะขาดหายไป ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการต้องหันไปพึ่งการนำเข้าสินค้ามาชดเชยในส่วนที่ผู้ผลิตเลิกกิจการไป นอกจากนั้นแล้ว ผู้ผลิตสินค้าสหรัฐฯ ซึ่งลดกำลังการผลิตไปในช่วงเศรษฐกิจหดตัว มีแนวโน้มไม่เพิ่มกำลังผลิตในประเทศ แต่จะหันไปนำเข้าสินค้ามาทดแทนในส่วนที่ลดกำลังการผลิต ทั้งนี้เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการ

ข้อคิดเห็น

1. Ms. Joan Crary นักเศรษฐศาสตร์สำนัก The University of Michigan Economic Forecast เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2553 จะกระเตื้องขึ้น และคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP Growth) ในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 2.3 แต่การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น การว่างงานของสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูง ประมาณร้อยละ 10.0 และอาจจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 10.4 ในไตรมาสแรกของปี 2553

2. สถาบัน Institute for Supply Management (ISM) ของสหรัฐฯ รายงานดัชนีการสั่งซื้อสินค้าของภาคการผลิต (Purchasing Manager Index: PMI) ของเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2552 อยู่ในระดับ 55.7 และ 53.6 จุด ตามลำดับ ซึ่งเป็นดัชนีที่สูงกว่าดัชนีมาตรฐาน (50 จุด) เป็นการชี้ให้เห็นว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯขยายตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการจ้างงานในภาคการผลิตในอนาคตของสหรัฐฯ

3. การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้น และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจาก ผู้บริโภคจะเพิ่มการใช้จ่ายซื้อสินค้า เป็นผลให้ผู้นำเข้า/จัดจำหน่ายสินค้าต้องหันไปเพิ่มการนำเข้าสินค้า บริษัทที่ปรึกษา Mesirow Finance ในนครชิคาโกคาดว่า การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯในปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.7

เศรษฐกิจสหรัฐฯเสมือนได้ฝ่ามรสุมพายุซึนามิในปี 2552 และจะเข้าสู่การบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจในปี 2553 คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2553 คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวในระดับต่ำ การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น และ การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ