มาตรฐานสารฟอร์มัลดีไฮด์สินค้าไม้ประกอบ (Wood Composite) ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2009 16:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

สารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารเคมีที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตไม้ประกอบ (Composite Wood) เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีต้นทุนต่ำ และสารเคมีดังกล่าวในสินค้าจะระเหิดสารพิษออกมา หากสารพิษมีระดับสูง จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อหายใจเข้าไป จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

สโมสร Sierra Club (www.sierraclub.org) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีชื่อเสียงในด้านส่งเสริมการคุ้มครองสภาพแวดล้อม ได้ยื่นเรื่องและเรียกร้องให้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ U.S. Environment Protection Agency (U.S. EPA) จัดทำระเบียบมาตรฐานเพื่อควบคุมการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ในสหรัฐฯ

อนึ่ง ปัจจุบัน รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐเดียวในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายบังคับควบคุมปริมาณระดับสารฟอร์มัสดิไฮด์สินค้าไม้ประกอบที่จำหน่ายในรัฐมา ตั้งแต่ปี 2549 กำหนดระดับสารฟอร์มัลดิไฮด์ 0.18 parts per million สำหรับสินค้าParticleBoard และ 0.21 parts per million สำหรับสินค้าMDF Board

สารฟอร์มัลดีไฮด์สารฟอร์มัสดิไฮด์

วุฒิสมาชิก นาง Amy Klobuchar พรรคดีโมแครตของรัฐมินเนโซต้า และ วุฒิสมาชิกนาย Mike Crapo พรรครีพับริกันของรัฐไอดาโฮ จึงได้ร่วมเสนอพระราชบัญญัติกำหนดมาตรฐานสารฟอร์มัลดีไฮด์สินค้าไม้ประกอบ (Formaldehyde Standards for Composite Wood Products Act (S.1660) เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา

อนุกรรมาธิการวุฒิสภา (Senate Panel) ผ่านร่างพระราชบัญญัติกำหนดมาตรฐานสารฟอร์มัสดีไฮด์สำหรับสินค้าไม้ประกอบ (Standards for Composite Wood Products Act) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา และจะนำเสนอ ให้วุฒิสภาเห็นชอบในต้นปี 2553 และคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555

กฎหมาย กำหนดมาตรฐานของระดับสารฟอร์มัลดีไฮด์มีได้ในระดับไม่เกิน 0.09 parts per million ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่เข็มงวดที่สุดในโลก หรือเท่ากับของประเทศญี่ปุ่น และสูงกว่า มาตรฐานของ EU (0.14 parts per million) โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบ (Composite Wood) ซึ่งได้แก่ ไม้ Particleboard (PB) ไม้ Medium Density Fiberboard (MDF) และ ไม้ Hardboard รวมไปถึง สินค้าสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนจากไม้ประกอบ เช่น เฟอร์นิเจอร์ และ Decorative Surface ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่รวมแผ่นไม้อัดใช้ในการก่อสร้าง

กฎหมายมอบอำนาจสำนักงาน U.S. Environmental Protection Agency (EPA) เป็นผู้ควบคุมและดูแลในด้าน การทดสอบสินค้า (Testing) และ การออกใบรับรอง (Certification) โดยกลุ่ม Third Party และ การติดฉลากสินค้า (Labeling) รวมไปถึง การบันทึกและเก็บข้อมูลของโรงงานผู้ผลิต และประสานงานกับ US Customs and Border Protection (CBP) เพื่อการตรวจสอบสินค้า

ปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้าไม้ประกอบเป็นมูลค่าประมาณ 635 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ ในช่วง มค.- ตค. 52 ซึ่งลดลงไปร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมี แคนนาดา (ร้อยละ 34) จีน (ร้อยละ 25) และ ชิลี (ร้อยละ 12) เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ และ สหรัฐฯนำเข้าผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบจากประเทศไทยเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 0.05 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 72

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. สหรัฐฯ มีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบ (Composite Wood) เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างบ้าน เนื่องจากราคาของไม้ซุงและไม้แปรรูปสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงนิยมหันไปใช้ไม้ประกอบซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่ามาใช้ไม้ท่อน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกไม้ประกอบของไทยไปยังสหรัฐฯ

2. ระเบียบมาตรฐานฟอร์มัลดีไฮด์จะมีผลกระทบต่อสินค้าไม้ประกอบนำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งจากประเทศไทย เนื่องจาก หากพบว่ามีสารฟอร์มัลดีไฮด์ในสินค้าเกินกว่าระดับที่กำหนด จะไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าในสหัฐฯ

3. ระเบียบมาตรฐานฟอร์มัลดีไฮด์มีผลต่อต้นทุนในการผลิต เนื่องจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตในการจ้างบริษัทให้บริการทดสอบซึ่ง EPA สหรัฐฯ แนะนำ ให้มาตรวจสอบและออกหนังสือรับรองสินค้า

4. ขอให้กรมฯ พิจารณาเผยแพร่ให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทย สมาคมสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่กฏหมายมีผลบังคับ

5. ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสมาคม Composite Panel Association (www.pbmdf.com) และสคต.ชิคาโกจะติดตามและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ