บทวิเคราะห์: โอกาสทางการค้า ไทย-อินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2009 16:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่มีการติดตามด้วยความวิตกกังวลถึงสภาวะการส่งออกที่ถดถอยลง ทำให้สิ่งหนึ่งที่ไทยต้องมีการเตรียมพร้อมตั้งรับมือคือ การหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออกภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมถึงตลาดอย่างอินเดียที่กำลังมีภาวะการเจริญเติบโตสูง เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่าหนึ่งพันสองร้อยล้านคน มากเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากจีน จึงเป็นที่จับตามองของกลุ่มคู่ค้ามากขึ้นในปัจจุบัน

แม้การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะไทยถือเป็นคู่ค้ากับอินเดียมาช้านาน แต่ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนร่วมระหว่างทั้งสองประเทศที่ผ่านมาภายใต้กรอบความร่วมมือ ถือเป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงในระยะหลายปีที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ สำหรับประเทศไทยก็ยังเป็นเพียงการเจรจาทางการค้าที่ไม่ได้ มีการจัดทำข้อตกลงร่วมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ Free Trade Agreement(FTA) ระหว่างไทย-อินเดีย และระหว่างอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเริ่มส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับอินเดียมีลู่ทางสดใส แม้ว่าในกรอบ FTA ไทย-อินเดีย จะสะดุดอยู่ แค่สินค้า Early Harvest 82 รายการและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการคืบหน้าต่อ ส่วนกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย ก็ต้องรอผลในวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปก็ตาม

แนวโน้มทางการค้าระหว่างไทย-อินเดีย

สำหรับการค้าระหว่างไทย-อินเดียในปัจจุบันพบว่าสามารถทำเงินเข้าประเทศไทยได้มากในแต่ละปี โดยในปี 2551ที่ผ่านมามียอดรวมทางการค้าอยู่ที่ 6 พันล้านเหรียญ สรอ.(เป็นการส่งออกจากไทย 3.46 พันล้านเหรียญสรอ.และเป็นการส่งออกจากอินเดีย 2.64 พันล้านเหรียญ สรอ.) ซึ่งมูลค่าการค้าดังกล่าวสำหรับประเทศอินเดียมีไม่ถึง 2% ของมูลค่าการค้าที่อินเดียทำกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สำหรับไทยแล้ว มูลค่าการค้าดังกล่าวนับว่าเป็นตัวเลขการส่งออกของไทยที่สูงเป็นอันดับที่ 14 ที่ไทยทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขการได้ดุลการค้ากับอินเดียที่ก้าวกระโดดนับแต่ปี 2546 ที่ข้อตกลง FTA ไทย-อินเดีย มีผลใช้บังคับ(ก่อนหน้านั้นไทยเสียเปรียบดุลย์การค้าอินเดียมาโดยตลอด)

สำหรับปี 2552 หากไม่มีสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจมาแทรกแล้ว มีการคาดว่าในปีนี้ ยอดการค้าระหว่างไทย-อินเดียน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปที่ 7.5 พันล้านเหรียญ สรอ.แบ่งสัดส่วนเป็นภาคการส่งออก 80% ภาคบริการ 20% แต่ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ก็ยังไม่ถึงขั้นเสียหายร้ายแรง มีรายงานตัวเลขมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย ช่วงมกราคม —ตุลาคม 2552 มีมูลค่า 3,994.02 ล้านเหรียญ สรอ.ซึ่งเทียบกับตัวเลขมูลค่า 5,250.28 ล้านเหรียญ สรอ.ของช่วงเดียวกันของปี 2551 นับเป็นการขยายตัวเชิงลบ แต่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นของไทย ตลาดอินเดียถือว่าติดลบน้อยที่สุดเพียง -4.9 % และเมื่อจัดลำดับประเทศเรียงตามมูลค่าการส่งออก อินเดียเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสูงมากเป็นอันดับที่ 12 ที่ไทยทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก(ขยับจากอันดับที่ 14 เมื่อปีที่แล้ว) และมั่นใจได้ว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงท้ายของปี 2552 นี้ จะกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองจำนวนมากและไม่ได้อิงกับค่าเงินสกุลดอลล่าห์เพียงสกุลเดียวทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรปไม่มีผลกระทบต่ออินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดคู่ค้าเพียงตลาดเดียวของประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยสู่อินเดียจะมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 12 รองจาก อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงค์โปร์ มาเลย์เซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ เรียงตามลำดับ แต่เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนการค้าที่ประเทศอินเดียค้ากับกับประเทศอื่น ๆ แล้ว มูลค่าการค้าไทย-อินเดียมีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 2% เท่านั้น คำถามที่ตามขึ้นมาคือทำไมถึงแค่สองเปอร์เซนต์เท่านั้น และชวนให้คิดต่อไปได้อีกว่าในเมื่อตลาดอินเดียมีความพร้อมที่จะรองรับการส่งออกของไทย และสินค้าไทยก็มีคุณภาพและศักยภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในอินเดีย จะมีวิธีใดที่สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าหรือเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทยสู่ประเทศอินเดียได้ ซึ่งหากสามารถเข้าใจภาวะการณ์ของตลาดอินเดีย และรู้ขีดความสามารถตนเองของผู้ส่งออกไทย และรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคู่แข่งทางการค้า ทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่ประสบความล้มเหลวก็จะสามารถตอบคำถามโจทย์ดังกล่าว

ในแง่ภาวะการณ์ของตลาดอินเดียในภาพรวม น่าจะแบ่งผู้บริโภคเป็นสองกลุ่มหรือระดับ ได้แก่กลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงระดับสูง ซึ่งมีประมาณสามถึงสี่ร้อยล้านคนทั่วอินเดีย กลุ่มผู้ซื้อระดับนี้ก็ยังต้องแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่อีกคือ กลุ่มคนรุ่นเก่าและกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนรุ่นเก่าในระดับนี้ของอินเดียมักจะค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมและติดตรึงเลือกบริโภคสินค้าตามค่านิยมเดิม โอกาสที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าแปลกใหม่ อยู่ที่ว่าสินค้านั้นสามารถเจาะเข้าถึงและสร้างการยอมรับได้หรือไม่ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ระดับนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยี และปรับตนให้ทันกับยุคสมัยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่มนี้จะนิยมความ ทันสมัย และบริโภคสินค้าแบรนด์เนมที่มีคุณภาพ และกลุ่มนี้น่าจะเป็นเป้าหมายที่ควรจับตาสำหรับผู้ส่งออกสินค้าไฮเอนด์ไทยในปัจจุบันและในอนาคต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มใหญ่ของอินเดียนับจากระดับกลางลงมาถึงระดับล่างประมาณห้าถึงหกล้านคนกลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ส่งออกสินค้าประเภท Mass Products ทั้งหลาย ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตและการพัฒนาคุณภาพสินค้าของตน เพราะมีคู่แข่งที่น่ากลัวเช่น จีน เวียตนาม มาเลย์เซีย เป็นต้น รออยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งคือ ตลาดการค้าขายในอินเดียแทบทุกชนิด จะมีการผูกขาดเบ็ดเสร็จ ผู้ประกอบการค้าของอินเดียทุกสาขา ส่วนใหญ่จะมีผู้ผูกขาดกิจการไม่ว่าจะเป็นกิจการการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลงไปถึงธุรกิจค้าปลีก โอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าไปแย่งเบียดส่วนแบ่งการผลิตหรือการตลาดค่อนข้างจะยากแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมหนักจากไทย ยังต้องยอมมาเริ่มต้นร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่นของอินเดีย แล้วอาศัยจังหวะเวลาและโอกาสขยับเข้าสอดแทรกหาส่วนแบ่งทางตลาด นอกเหนือไปจากนี้กฎระเบียบของประเทศอินเดียก็ยังเข้มงวดต่อการลงทุน การค้าขายของคนต่างชาติ และมีการออกกฎหมายสงวนสิทธิ์หลายอย่างสำหรับปกป้องคนอินเดีย ตัวอย่างเช่นกฎหมายการค้าปลีกอินเดียจะไม่อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจค้าปลีกทุกชนิด มีการยกเว้นให้ได้เพียงการค้าปลีกสำหรับสินค้าที่มีเพียงชนิดเดียวและยี่ห้อเดียว

ในด้านขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย อุปสรรคหลักใหญ่คือไม่ยอมศึกษาวิจัยตลาดคู่ค้า สินค้าที่ส่งเข้าตลาดอินเดียมักเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่เห็นว่าสร้างชื่อเสียงและจำหน่ายขายดีในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ แต่มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเมื่อนำมาใช้กับตลาดอินเดีย เนื่องจากผู้บริโภคอินเดียก็ย่อมมีรสนิยมบริโภคสินค้าแนวหนึ่ง หากสินค้าที่นำเข้าไปเสนอไม่สอดคล้องกับความนิยมก็ย่อมไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้

หากจะวิเคราะห์รูปแบบการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย ในแต่ละทิศทางดังนี้

1) การไหลออกทางการลงทุน (Off Flow) มีธุรกิจไทยหลายประเภทที่เป็นที่สนใจในอินเดียและสามารถเข้าไปแข่งขันในประเทศอินเดียได้ แม้ว่าในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการส่งเพียงสินค้าสำเร็จรูป และสินค้าต้นทุนประเภทวัตถุดิบ หรือวัตถุกึ่งสำเร็จรูปเข้าไปยังอินเดีย แต่เนื่องจากกฎระเบียบและประเพณีการค้า ทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนราคาค่อนข้างสูง แต่ธุรกิจด้านบริการ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสปา ที่พบว่าในปัจจุบันเองแม้จะยังไม่ได้มีการลงทุนทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่มีชาวไทยไม่น้อยที่เดินทางเข้าไปลงทุนและทำงานด้านสปา ส่วนธุรกิจการโรงแรมภัตตาคารอาหาร ก็พบว่าเป็นธุรกิจที่ช่วยด้านการส่งออกของไทยได้ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ วัตถุดิบประกอบอาหาร ด้านธุรกิจบริการและการจัดการ พบว่าเป็นที่ต้องการสูง นอกจากนี้ ธุรกิจการก่อสร้าง พบว่ามีแนวโน้มที่ดีในอินเดียเช่นกัน เพราะในปัจจุบันอินเดียมีนโยบายในการทำเมกะโปรเจ็กต์สร้างถนนจากเหนือจรดใต้และยังเปิดโอกาสให้บริษัทก่อสร้างจากต่างประเทศเข้าไปทำการก่อสร้าง

2) การไหลเข้าทางการลงทุน (In Flow) พบว่า อินเดียมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นTechnical Staff, ธุรกิจการท่องเที่ยว ที่พบว่านักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดยในปีที่ผ่านมามีชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวราว 5 แสนคน และคาดว่าในปีนี้จะมีการเดินทางเข้ามามากขึ้นถึง 6 แสนคน, ด้านธุรกิจการทำภาพยนตร์ อินเดียถือเป็นประเทศที่มีการผลิตภาพยนตร์มากที่สุดในโลกและมีการเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยพบว่าในปีที่ผ่านมามีการเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยถึงราว 100 เรื่องและคาดว่าในปีนี้จะมีการเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 150 เรื่อง ซึ่งอุปสรรคอย่างหนึ่งคือประเทศไทยมักติดปัญหาด้านสถานที่การถ่ายทำ และไม่มีศูนย์ประสานงาน (One Stop Service) ที่ชัดเจนเพื่อรองรับการเข้ามา ถ่ายทำภาพยนตร์ในแต่ละครั้ง

ทั้งหมดนี้ หากมองเปรียบเทียบตัวเลขทั้งด้านการเข้าไปลงทุนในอินเดียและการที่อินเดียเข้ามาลงทุนในไทยจะพบว่าไทยได้เปรียบทางดุลการค้ากับอินเดียมาตลอดนับแต่ปี 2546 แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงฐานข้อมูลจากการส่งออกจากกรมศุลกากรเพียงฐานเดียว ยังไม่นับสินค้าไทยที่ผ่านนักท่องเที่ยวอินเดียปีละห้าแสนกว่าราย และสินค้าผ่านแดนที่มีการขนส่งสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศเนปาลและภูฐาน (ซึ่งมีข้อตกลงได้รับการยกเว้นภาษีทางการค้ากับอินเดีย)แล้ววกนำกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีสินค้าไทยอีกหลายชนิดที่ผลิตในเมืองไทยแต่มีการนำเข้าผ่านประเทศอื่นเช่นสิงคโปร์ มาเลย์เซีย เป็นต้น ซึ่งถ้าเอามานับรวมก็น่าจะเป็นตัวเลขการได้ดุลการค้าอินเดียเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ในทางกลับกันในมุมมองของทางอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้เน้นมุ่งการส่งออก แต่มุ่งเน้นการจำหน่ายเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะเดียวกันเราคงไม่ได้นึกคิดไปว่า ไทยได้เปรียบเพียงแค่สินค้าส่งออกเท่านั้น แต่ภาคบริการและการลงทุนไทยกลับน่าจะเสียดุลให้อินเดียเนื่องจาก นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศอินเดีย บางส่วนเข้าไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ถอยร่นกลับไปเมืองไทยแล้วเพิ่มย้ำพร่ำบ่นวลีเจองูเจอแขก ขยายความน่ากลัวของตลาดอินเดีย ทำให้นักธุรกิจไทยรายอื่นไม่กล้าที่จะเข้าหาตลาดอินเดีย เนื่องจากประเพณีการค้าของนักธุรกิจอินเดียมักไม่ค่อยสนใจเรื่องของมิตรภาพทางการค้า แต่สนใจเรื่องผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ ค่านิยม take the most จะมีประจำใจนักธุรกิจอินเดียแทบทุกคนก็ว่าได้ พวกเขาเหล่านี้ถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุดเท่าที่ตนจะสามารถคว้ามาได้ แต่ถ้าสิทธิ์ที่ตนเองจะได้บังเอิญไปกระทบหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ไม่ใช้ความผิดของพวกเขา แต่เป็นความผิดของผู้เสียรู้เองที่บังอาจไม่ยอมรักษาสิทธิ์ของตนเอง แม้แต่ผู้ส่งออกไทยในปัจจุบันไม่น้อยกว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์ จะนิยมส่งออกสินค้าในรูปแบบราคา FOB มากกว่า เพราะต้องการตัดปัญหายุ่งยากในเงื่อนไขประเพณีการค้ากฎระเบียบการค้าของอินเดีย และการเอารัดเอาเปรียบของนักธุรกิจอินเดีย

ในทางกลับกัน ฝ่ายอินเดียซึ่งไม่ได้เน้นด้านการส่งออก เพราะอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียจะมุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศมากกว่า กระแส In Flow จากอินเดียได้หลั่งไหลไปประเทศไทยเป็นขบวนการใหญ่ เริ่มตั้งแต่การท่องเที่ยว ตัวเลขนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าไทยปีละห้าแสนกว่าราย แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องแทบครบวงจรจะเป็นของคนอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว เอเย่นต์จำหน่ายตั๋ว แม้แต่โรงแรมที่พักและร้านอาหารอินเดียก็ตามไปเปิดบริการเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวนี้ การลงทุนประกอบการค้าและบริการของนักลงทุนชาวอินเดียในประเทศไทยได้เริ่มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบทางการค้าของไทยยังไม่เข้มงวดเหมือนของอินเดีย และเมื่อนักธุรกิจไทยไม่กล้าที่จะเข้ามาทำการค้ากับอินเดีย ไม่ว่าจะในรูปแบบสำนักงานตัวแทนนายหน้า การร่วมทุนการค้ากับนักธุรกิจท้องถิ่น หรือการลงทุนเปิดกิจการของตนเองในประเทศอืนเดีย ก็เป็นสาเหตุที่นักธุรกิจอินเดียรุกกลับเข้าไปถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของการตั้งตัวแทนนายหน้าในการจัดหา จัดซื้อ จัดส่งสินค้าและวัตถุดิบสู่อินเดียอันเป็นการตัดโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทย ในส่วนนี้ปัจจุบันได้รุกลามไปถึงธุรกิจบริการและการลงทุนในประเทสไทยข้อเท็จจริงที่หลายหน่วยงานและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องยอมรับก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวครบวงจร เริ่มแต่ต้นทางคือการผูกขาดของบริษัทนำเที่ยว เอเยนต์จำหน่ายตั๋ว การจองห้องพัก รวมทั้งการลงทุนด้านโรงแรมครบวงจรซึ่งมีบริการรวมทั้งธุรกิจร้านอาหารอินเดียของกลุ่มทุนอินเดีย นอกจากนี้ก็ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับโลจิตติกส์ การ่วมทุนผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนแบบโออีเอ็มป้อนโรงงานแม่ในอินเดีย ที่น่าตกใจคือธุรกิจในวงการอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า การกำหนดราคาซื้อขายอัญมณีในตลาดไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ได้ตกอยู่ในกำมือของนักธุรกิจชาวอินเดียไปแล้ว

มีปัจจัยเพิ่มเติมนอกเหนือจากปรากฎการณ์ดังกล่าวก็คือ จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด นักธุรกิจอินเดียจำนวนไม่น้อยที่ต้องถอนตัวจากการค้าการลงทุนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่นักธุรกิจเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะกลับไปลงทุนที่อินเดียบ้านเกิดเนื่องจากระบบกฎเกณฑ์ทางราชการ และระเบียบกฎหมายของอินเดียเป็นอุปสรรคและไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเรื่องของภาษี ทำให้นักธุรกิจเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปลงทุนยังประเทศแถบเอเชีย ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนนี้ แถมยังมีแนวโน้มว่าการเคลื่อยย้ายการลงทุนจากนักธุรกิจอินเดียเหล่านี้สู่ประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสังคมธุรกิจของคนอินเดียส่วนใหญ่มักจะเป็นในรูปแบบเครือญาติหรือ การยึดติดการยึดโยงพันธมิตรทางการค้า ซึ่งก็เหมือนกับการเกาะกลุ่มพันธมิตรเพื่อเอื้อประโยชน์ในทางการแข่งขันการค้าในรูปแบบที่นิยมในอินเดีย

แนวทางในอนาคต

หากมองเฉพาะตัวเลขการส่งออก แม้ว่าการทำเอฟทีเอระหว่างไทย-อินเดีย จะส่งผลให้ไทยได้เปรียบในด้านการส่งออกถึง 100% ซึ่งถือได้ว่าเกินกว่าที่ไทยมีการคาดการณ์ไว้ จากการที่กำแพงภาษีของอินเดียลดลงจะทำให้การเจาะตลาดอินเดียของไทยง่ายขึ้น เมื่อประเทศไทยยังคงเน้นนโยบายการส่งออกสินค้าเป็นหลัก แนวทางทางการค้าระหว่างไทยและอินเดียก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นทิศทางมีอัตราการเติบโตที่น่าจะขยายตัวไปได้ดี แต่เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องสูงมาก และมีการคาดการณ์จากสถาบันทางเศรษฐกิจของโลกว่า ภายใน ค.ศ .2040 อินเดียจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลก)ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย( จุดนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยไม่อาจมองข้ามความสำคัญของอินเดียหรือชักช้ารีรอได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างก็มองอินเดียเป็นแหล่งในการค้าการลงทุนเช่นกัน ในจุดนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมพร้อมด้านการเจรจาและการวางแผนยุทธศาสตร์รับมือคู่แข่งกับคู่ค้าเหล่านี้และถือเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยไม่ควรชักช้าหรือรีรอ

สำหรับการค้าระหว่างไทยและอินเดียนั้น จากข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าไทยไม่ได้เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของอินเดียโดยไทยมีตัวเลขทางการค้าร่วมกับอินเดียน้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังประเทศอื่น หรืออยู่ที่ร้อยละ 2 ของยอดการค้าเมื่อเทียบกับคู่ค้าของอินเดียอื่นๆ ทั่วโลกเท่านั้น แม้ไทยจะมียอดการส่งออกสินค้าสู่อินเดียที่สูงขึ้นในแต่ละปี แต่ที่ผ่านมาไทยเน้นการส่งสินค้าเชิงอุตสาหกรรมมากกว่าภาคบริการ ทำให้ไทยต้องแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด ซึ่งหากไทยยังเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว อาจมีผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน เนื่องจาก

1) ประเทศอินเดียเองก็มีความสามารถในการผลิตสินค้าเองได้ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องคาดการณ์ถึงความสามารถทางการผลิตของอินเดียควบคู่กับการส่งออกของไทยร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบทางการตลาด

2) เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรมาก ย่อมมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของอินเดีย ดังนั้นไทยจึงต้องมีการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งอาจ มีผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว

ดังนั้น ในแง่ Off Flow หากมองย้อนไปถึงความต้องการของอินเดียในปัจจุบันจะพบว่าธุรกิจในภาคบริการของไทยจะมีความโดดเด่นที่จะเข้าแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ คู่ขนานไปกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ไทยอาจต้องหันมาปรับเพื่อให้สอดรับเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้ากับประเทศอินเดียที่เหมาะสมในอนาคต ในด้านบริการไทยมีธุรกิจหลายประเภทที่สามารถเข้าตีตลาดในอินเดีย และไทยเองก็มีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการทำภาพยนตร์ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจสปา ที่ไทยมีความพร้อมทั้งความสามารถของบุคคลากรและสถานที่ทำให้การตีตลาดในอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก

ในแง่การไหลเข้าทางการลงทุน (In Flow)ของภาคธุรกิจจากอินเดีย ประเทศไทยก็ไม่ควรมองข้ามแหล่งทุนมหาศาลจากนักการค้าการลงทุนจากอินเดีย รวมทั้งชาวอินเดียโพ้นทะเลที่หันกระแสการค้าการลงทุนจากอเมริกาและยุโรปจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน การวางแผนส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมให้กับนักลงทุนเหล่านี้ ก็จะสามารถดึงให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาสร้างงานและช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์

รัฐบาลและภาคเอกชน ควรมีการทำความกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียให้มากขึ้น รวมถึงทำความรู้จักกับประเทศอินเดียในมุมมองใหม่ที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วย ภาคเอกชน ภาครัฐ ของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อหารือร่วมกันในการวางกรอบของความร่วมมือความเป็นไปได้ ในการพัฒนาข้อตกลงร่วมกันต่างๆ เช่น FTA ร่วมกันขจัดปัญหา อุปสรรค และหาจุดที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ เพื่อให้ความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดียก้าวหน้าไปในทิศทางที่มั่นคง และอำนวยประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะพบว่าประเทศไทยยังคงมีทิศทางการค้าร่วมกับอินเดียที่สามารถไปได้ดี ในอนาคตและจะได้ผลประโยชน์มหาศาลหากไทยมีการศึกษาและตั้งรับที่เพียงพอ การอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเป็นแนวทางต่อไปที่จะช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกในอินเดียได้ต่อไปในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ