ข้อมูลราชอาณาจักรเดนมาร์ก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2009 13:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลทั่วไป

เมืองหลวง: กรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen)

ที่ตั้ง: เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มนอร์ดิก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรประหว่างทะเลเหนือกับทะเลบอลติก

พื้นที่: 43,098 ตารางกิโลเมตร โดยประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 406 เกาะ รวมทั้งดินแดนปกครองตนเอง คือ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และหมู่เกาะแฟร์โร (Faroe)

ประชากร: 5,519,441 คน ประกอบด้วย ชาวเดนิช ร้อยละ 90.5 และที่เหลืออีกร้อยละ 9.5 ได้แก่ ชาวเยอรมนี กรีก บอสเนีย รัสเซีย ตุรกี และอาหรับ

ภาษา: ภาษาเดนิช (Danish)

ศาสนา: ประชากรร้อยละ 97 นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran

สกุลเงิน: เดนิชโครน (Danish Krone — DKK) อัตราแลกเปลี่ยน 1 DKK เท่ากับ 6.58 บาท (ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2552)

วันชาติ: 16 เมษายน (วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)

รูปแบบการปกครอง: ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Parliamentary Democracy and Constitutional Monarchy) และเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ยังไม่เข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโร นอกจากนั้น ยังเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ

ประมุข: สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

นายกรัฐมนตรี: นาย Lars Lokke Rasmussen (Liberal Party)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ: นาย Per Stig Moller (Conservative Party)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ: (Minister of Economic and Business Affairs) Ms. Lene Espersen (Conservative Party)

สถาบันการเมือง: รัฐสภาเดนมาร์กเป็นระบบรัฐสภาเดียว (Folketing) มีสมาชิกจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (รวมผู้แทนจากหมู่เกาะ Faroe 2 คน และเกาะ Greenland 2 คน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บริหารประเทศตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาสถาบันตุลาการ ระบบการเมืองของเดนมาร์กเป็นการเมืองแบบหลายพรรคการเมือง ศาลของเดนมาร์กประกอบด้วยศาลชั้นต้นประจำท้องถิ่น ศาลสูง 2 ศาล และศาลฎีกา 1 ศาล นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีเฉพาะด้าน อาทิ คดีเกี่ยวกับการเดินเรือ/กฎหมายทะเล

การเมืองการปกครอง:

ประวัติโดยสังเขป

เดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของเดนมาร์กเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1528 (ค.ศ.985) และได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2392 (ค.ศ.1849) ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้น ราชอาณาจักรเดนมาร์กเคยครอบคลุมถึงสวีเดนและนอร์เวย์ จนกระทั่งสวีเดนแยกตัวออกไปเมื่อปี 2066 (ค.ศ.1523) และเดนมาร์กสูญเสียนอร์เวย์ให้แก่สวีเดนภายใต้สนธิสัญญา Kiel เมื่อปี 2357 (ค.ศ.1814) ภายหลังสงครามนโปเลียนยุติลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2457 — 2461 (ค.ศ.1914-1918) เดนมาร์กได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง และเมื่อปี 2482 (ค.ศ.1939) ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เดนมาร์กได้ประกาศความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี เดนมาร์กถูกกองทัพเยอรมนีเข้ายึดครองเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2483 (ค.ศ.1940) ซึ่งนำไปสู่การรวมตัวของขบวนการต่อต้านของประชาชนชาวเดนมาร์ก โดยตลอดช่วงสงครามฝ่ายเยอรมนีได้ตอบโต้ด้วยการเข้าปกครองเดนมาร์กโดยตรงจนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2488 (ค.ศ.1945) เดนมาร์กถูกปลดปล่อยโดยกองกำลังพันธมิตร และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดนมาร์กได้รับรองความเป็นเอกราชของไอซ์แลนด์ (เป็นดินแดนหรือเกาะโพ้นทะเลที่เดนมาร์กได้ปกครองมาตั้งแต่ในสมัยที่เดนมาร์กยังคงรวมราชอาณาจักรกับนอร์เวย์) ซึ่งได้ประกาศตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2487 (ค.ศ.1944) และต่อมาเดนมาร์กได้ให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่หมู่เกาะแฟร์โรและเกาะกรีนแลนด์ เมื่อปี 2491 (ค.ศ.1948) และปี 2522 (ค.ศ.1979) ตามลำดับ ในปี 2496 (ค.ศ.1953) รัฐธรรมนูญเดนมาร์กได้รับการแก้ไขซึ่งส่งผลทำให้มีบทบัญญัติใหม่ที่สำคัญในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ให้รัชทายาทสตรีมีสิทธิขึ้นครองราชสมบัติ กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียว และให้ประชาชนชาวเดนมาร์กชายและหญิงที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ คือ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2515 (ค.ศ.1972) และทรงเป็นพระประมุขแห่งเดนมาร์กลำดับที่ 52 (เดนมาร์กมีพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 1528 (ค.ศ.985)) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2552 (ค.ศ.2009)

สังคม

เมืองใหญ่ของเดนมาร์กที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด 4 เมืองตามลำดับ ได้แก่

1) กรุง Copenhagen (1.5 ล้านคน) ตั้งอยู่บนเกาะ Zealand ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ

2) เมือง Arhus (265,000 คน) ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland

3) เมือง Odense (173,000 คน) ตั้งอยู่บนเกาะ Funen และ

4) เมือง Allborg (155,000 คน) ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland

ระยะเวลาการดำรงชีพ (life expectancy) ถัวเฉลี่ยของสตรีและบุรุษในเดนมาร์กค่อนข้างจะสูง คือ 78 ปี และ 72 ปี ตามลำดับ เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการสาธารณสุขในระดับสูง และชาวเดนมาร์กมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 26,000 ดอลลาร์สหรัฐเดนมาร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีสตรีประกอบอาชีพในจำนวนที่สูงมาก กล่าวคือ ในอัตราส่วน 9 : 10 ต่อแรงงานชาย ซึ่งการมีงานทำของสตรีชาวเดนมาร์กก่อให้เกิดความรู้สึกที่ภาคภูมิใจและความเป็นอิสระในทางการเมือง สตรีชาวเดนมาร์กยังได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มาตั้งแต่ปี 2458 (ค.ศ.1915) และในทางเศรษฐกิจ สตรีชาวเดนมาร์กได้รับค่าจ้างเท่าเทียมบุรุษตามกฎหมายเดนมาร์ก

การเมืองการปกครอง

เดนมาร์กเป็นประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของเดนมาร์ก

รัฐสภาเดนมาร์ก (Folketing) เป็นระบบสภาเดียว สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (แยกเป็น 175 คนจากเดนมาร์ก 2 คนจากหมู่เกาะ Faroeและอีก 2 คนจากเกาะ Greenland ซึ่งหมู่เกาะทั้งสองเป็นดินแดนโพ้นทะเลภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544
  • เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 เดนมาร์กได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (นายกรัฐมนตรี Poul Nyrup Rasmussen ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ซึ่งรัฐสภาปัจจุบันจะครบวาระเดือนมีนาคม 2545) ผลปรากฏว่า พรรค Social Democrat ของนายกรัฐมนตรี Rasmussen พ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยได้รับเลือกตั้ง 77 ที่นั่ง จาก 179 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรค Liberal ซึ่งมีนาย Anders Fogh Rasmussen เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งรวมกัน 98 ที่นั่ง ทำให้มีเสียงข้างมากในสภา และส่งผลให้นาย Anders Fogh Rasmussen เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กคนใหม่
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรครัฐบาลประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรค Liberal ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Rasmussen ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 52 ที่นั่งจาก 179 ที่นั่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเดนมาร์ก ที่พรรค Liberal ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน 2 ครั้ง (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 พรรค Social Democrat จะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปและได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มาโดยตลอด) สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล พรรค Liberal ยังคงเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค Conservative เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี Rasmussen ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เดนมาร์กได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะครบวาระ 4 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายกรัฐมนตรี Anders Fogh Rasmussen หัวหน้าพรรค Liberals ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงได้ร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม คือ พรรค Danish People’s Party และพรรค Conservative จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Rasmussen ในครั้งนี้ได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงนโยบายประชานิยมเป็นสำคัญเพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรี Rasmussen ได้แต่งตั้งให้นาย Thor Pedersen (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรี Rasmussen หวังจะให้เป็นหัวหน้าพรรค Liberals คนต่อไป) ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ทั้งนี้ นโยบายที่รัฐบาลได้ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ได้แก่ การลดภาษีเงินได้ การลงประชามติในข้อสงวน 4 ข้อของเดนมาร์กในการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) การเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศยากจน การพัฒนาพลังงานทดแทนและสวัสดิการสังคมอื่นๆ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเดนมาร์ก

Mr. Lars Lokke Rasmussen ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเดนมาร์กแทน Mr. Anders Fogh Rasmussen นายกรัฐมนตรีคนเก่าที่ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552 เพื่อเตรียมตัวไปรับตำแหน่งเลขาธิการ NATO ในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไป Mr. Lars L?kke Rasmussen อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลชุดก่อน และเป็นรองประธานพรรค Liberal ตั้งแต่ปี 1988 นโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ได้แก่ การลดอัตราภาษีเงินได้ การเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่อง Immigration และการให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงสวัสดิการสังคมของรัฐ รวมทั้งเน้นการแก้ไขปัญหาหลักๆ ภายในประเทศ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ และการเป็นผู้นำในการประชุม UN Climate Change Conference ณ กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม 2552

เศรษฐกิจการค้า:
ดัชนีทางเศรษฐกิจ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 204.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2008)
  • GDP ต่อหัว 37,392 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2007)
  • อัตราการว่างงาน ร้อยละ 4.1 (จำนวนแรงงาน 2.8 ล้านคน)
  • งบประมาณ เกินดุล 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รายได้/รายจ่าย 52.9 และ 51.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หนี้ต่างประเทศ 21.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.4 (ปี 2008)
  • เงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (ODA) 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ส่งออก 116.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2008)
  • นำเข้า 109.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2008)
  • ประเทศคู่ค้า (ส่งออก) เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน
  • ประเทศคู่ค้า (นำเข้า) เยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ จีน สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และสหรัฐฯ
  • สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล น้ำมันและ Mineral fuel ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เนื้อสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปลาและอาหารทะเล และยานพาหนะ
  • สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ น้ำมันและ Mineral fuel พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และกระดาษและกระดาษแข็ง
  • ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2009 อยู่ในลำดับที่ 5 (ปี 2008 ลำดับที่ 3)
ลักษณะทางเศรษฐกิจ:

ในอดีตเศรษฐกิจของเดนมาร์กขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม และตั้งแต่ปี 2503 (ค.ศ. 1960) เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ผลผลิตทางอุตสาหกรรมมีความเจริญรุดหน้านำผลผลิตทางการเกษตรทำให้เดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรที่ก้าวหน้า โดยเศรษฐกิจของเดนมาร์กมีลักษณะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กได้มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี โดยที่สภาวะเศรษฐกิจของเดนมาร์กพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมจากต่างประเทศ และจากทำเลที่ตั้งของเดนมาร์กที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศนอร์ดิก และสามารถเป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศบอลติกได้ เพราะเดนมาร์กมีเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างเดนมาร์ก-สวีเดน-นอร์เวย์ หลายเส้นทาง ประกอบกับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศ โดยมีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ และมีสะพาน Oresund Bridge เชื่อมระหว่างเกาะ Zealand ของเดนมาร์กกับเมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 (ค.ศ.2000) จึงทำให้เดนมาร์กมีบทบาทในฐานะที่เป็น Trading house ในภูมิภาคยุโรปเหนือ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของเดนมาร์กประกอบด้วย 3 ภาคที่สำคัญ ได้แก่

1) ภาคเกษตรกรรมและการประมง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นภาคเกษตรกรรมแบบใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ (ใช้แรงงานเพียงร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมด)

2) ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง (ร้อยละ 24) และ

3) ภาคบริการ ซึ่งเป็นของภาครัฐ ร้อยละ 31 และภาคธุรกิจ ร้อยละ 41 ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก คือ อุตสาหกรรมสินค้าอาหาร (Food industry) โดยมีสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่ วัว ผลิตภัณฑ์ประเภทนม เนย (Diary products) เบียร์ สินค้าประมง และภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่

(1) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ ตู้แช่แข็ง/แช่เย็นในรถบรรทุก/เรือ

(2) อุตสาหกรรมเคมี (Chemical industry) เพื่อป้องกันแมลง และโรคพืช

(3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ขนมิ้งค์ (Mink)

(4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

(5) อุตสาหกรรมเภสัชกรรม (Pharmaceutical industry) ได้แก่ อินซูลิน (insulin) โดยเดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งในโลกที่ผลิตอินซูลินส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก

(6) อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ (เดนมาร์ก มีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของการออกแบบและคุณภาพ) กังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (เดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งที่ส่งออกกังหันลมดังกล่าว) (7) อุตสาหกรรม Software อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Industry) เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และ (8) อุตสาหกรรมการต่อเรือ (Shipbuilding) ธุรกิจ/อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเดนมาร์กจะมีขนาดกลาง (Medium-sized industry) โดยธุรกิจ/อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของเดนมาร์ก และธุรกิจที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น กลุ่มบริษัท A.P. Moller ซึ่งมีบริษัทเดินเรือ Maersk Line รวมอยู่ด้วย บริษัท Danfoss (Refrigeration technology) บริษัท Grundfos (ผลิต Pumps) บริษัท Novo Nordisk (Pharmaceuticals) เบียร์ Carlsberg และ Tuborg และรองเท้า Ecco เป็นต้น นอกจากนี้ เดนมาร์กยังได้สำรวจพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณมากพอที่นำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้นับตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ.1991) เป็นต้นมา

การค้าขาย ด้านการค้ากับต่างประเทศนั้น เดนมาร์กทำการค้ากับสมาชิกสหภาพยุโรปมากถึง 2 ใน 3 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมด ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเดนมาร์กในยุโรปเรียงตามลำดับ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ส่วนประเทศคู่ค้าที่อยู่นอกภูมิภาคยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเอเซีย สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ น้ำมันและ Mineral fuel พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และกระดาษและกระดาษแข็ง รายได้จากการค้าระหว่างประเทศของเดนมาร์กคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP ของเดนมาร์ก โดยร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์ของเดนมาร์กถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สินค้าส่งออกของเดนมาร์กในปัจจุบันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 70 และสินค้าเกษตรร้อยละ 17 สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล น้ำมันและ Mineral fuel ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เนื้อสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ เหล็กและเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปลาและอาหารทะเล และยานพาหนะ

นโยบายทางเศรษฐกิจ จุดมุ่งหมายของนโยบายเศรษฐกิจเดนมาร์ก คือ การทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานที่สูง การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและความมั่นคง การส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของประชาชนและความปลอดภัยทางสังคม รวมทั้งการจัดสรรเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้กับประชาชนอย่างมีเหตุผล โดยเดนมาร์กและเยอรมนีมีระดับการจ้างแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่สูงที่สุดร้อยละ 14.6 เมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ โดยเฉลี่ยร้อยละ 12.2 และสหรัฐฯ ร้อยละ 11.8

ด้านการต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศของเดนมาร์กมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ การทำนุบำรุงความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเดนมาร์กอย่างดีที่สุด และการส่งเสริมมาตรฐานและค่านิยมที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าที่เป็นธรรม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเน้นแนวนโยบายที่มีเป้าหมายที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการป้องกันความขัดแย้ง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างความประนีประนอมในบริเวณที่มีความขัดแย้งด้วยการร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE) การต่างประเทศของเดนมาร์กในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านต่างๆ ดังนี้

1. สหภาพยุโรป (European Union) เดนมาร์กได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสหภาพยุโรป และการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างบรรดาประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เดนมาร์กเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (สหภาพยุโรป หรือ EU ในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี 2516 (ค.ศ.1973) และพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปขยายสมาชิกภาพให้ครอบคลุมประเทศจากภูมิภาคฝั่งทะเลบอลติกและยุโรปตะวันออกมากขึ้น แม้ว่าเดนมาร์กจะเข้าร่วมในกิจกรรมและพันธกรณีของสหภาพยุโรปอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยเหตุผลการเมืองภายในประเทศและมติมหาชน ทำให้เดนมาร์กยังคงข้อสงวนไว้ 4 ประการในการเข้าร่วมกระบวนการรวมตัวของสหภาพยุโรป ได้แก่

1) การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU)

2) นโยบายการป้องกันร่วม

3) การเป็นพลเมืองแห่งสหภาพยุโรป

4) นโยบายด้านยุติธรรมและมหาดไทย (Justice and Home Affairs) ตลอดจนการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากในประเด็นปัญหาทางกฎหมายภายในและภายนอกสหภาพยุโรป

การลงประชามติของเดนมาร์กในการเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union —EMU) ของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 (ค.ศ.2000) รัฐบาลเดนมาร์กได้จัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าร่วมของเดนมาร์กในสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป ในขั้นตอนของการใช้เงินสกุลเดียวหรือเงินยูโร (Euro) ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 53.1 ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม EMU ขณะที่ร้อยละ 46.9 เห็นด้วย ทั้งนี้ ในการลงประชามติดังกล่าวมีประชาชนไปใช้สิทธิรวมทั้งสิ้นร้อยละ 87.8 จากประชากรจำนวนประมาณ 5.3 ล้านคน

บทบาทที่สำคัญของเดนมาร์กในกิจการความสัมพันธ์ในกรอบของสหภาพยุโรป คือ การเข้ารับหน้าที่ประธานสหภาพยุโรปของเดนมาร์ก (EU Presidency) ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002) รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (Asia-Europe Meeting —ASEM) เมื่อเดือนกันยายนปี 2545 (ค.ศ.2002)

2. ภูมิภาคนอร์ดิก (Nordic) เดนมาร์กมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนอร์ดิก ซึ่งประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ภายใต้กรอบกิจกรรมของคณะมนตรีนอร์ดิก (Nordic Council) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กระบวนการประชาธิปไตย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

3. องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เดนมาร์กเป็นประเทศสมาชิกองค์การ NATO ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2492 (ค.ศ. 1949) โดยเดนมาร์กถือว่าเป็นสถาบันกลางที่ส่งเสริมความมั่นคงทางการเมืองในยุโรป นอกจากนี้ เดนมาร์กยังได้สนับสนุนให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทที่เข้มแข็งในองค์การดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยที่องค์การ NATO จะขยายสมาชิกภาพให้ครอบคลุมบรรดาประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างรวดเร็วเกินไป ขณะเดียวกันก็ได้เสนอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหพันธรัฐรัสเซียด้วย

4. องค์การสหประชาชาติ เดนมาร์กเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2488 (ค.ศ.1945) โดยเดนมาร์กได้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญๆ กับองค์การสหประชาชาติในด้านต่างๆ เช่น การจัดส่งกองกำลังไปเข้าร่วมในกิจกรรมมากกว่ากึ่งหนึ่งของการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ การส่งเสริมภารกิจขององค์การสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือประเทศในโลกที่สาม การให้การสนับสนุนกิจกรรมขององค์การสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและความมั่นคงร่วมกัน และการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีนโยบายการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยเป็นหนึ่งในบรรดาไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้ให้ความช่วยเหลือในอัตราส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 1 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีไปยังประเทศเป้าหมาย อาทิ บรรดาประเทศในแถบทะเลบอลติก ยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเดนมาร์กให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การเคารพสิทธิมนุษยชน และบทบาทของสตรีในการพัฒนา ทั้งนี้ ความช่วยเหลือโดยตรงส่วนใหญ่จะเน้นไปยังประเทศในภูมิภาคอาฟริกา นอกจากนั้น เดนมาร์กยังได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) เพื่อส่งเสริมสันติภาพและประชาธิปไตยเป็นการเฉพาะ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก:

ความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2164 (ค.ศ.1621) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีและได้นำปืนไฟมาขาย ต่อมาชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี 2313 (ค.ศ.1770) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและเดนมาร์ก ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2401 (ค.ศ. 1858) หลังจากนั้น ทั้งสองประเทศได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยในปี 2403 (ค.ศ. 1860) เดนมาร์กได้ตั้งสถานกงสุลขึ้นที่กรุงเทพฯ และในปี 2425 (ค.ศ. 1882) ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศในยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งโดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก โดยมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนระหว่างปี 2425 (ค.ศ.1882) — 2426 (ค.ศ.1883) และได้ย้ายสำนักงานไปยังกรุงปารีส ระหว่างปี 2426 (ค.ศ.1883) - 2431 (ค.ศ.1888) กรุงเบอร์ลิน ระหว่างปี 2431 (ค.ศ.1888) — 2497 (ค.ศ.1954) และตั้งแต่ปี 2497 (ค.ศ.1954) จึงได้เปิดสำนักงานที่กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีขุนพิพิธวิรัชชการ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต และต่อมาเมื่อไทยและเดนมาร์กยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2501

(ค.ศ. 1958) ขุนพิพิธวิรัชชการ ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไอซ์แลนด์และลิทัวเนีย ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่าและกัมพูชา สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กตั้งอยู่ที่ Norgesmindevej 18, 2900 Hellerup กรุงโคเปนเฮเกน และสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยตั้งอยู่ที่เลขที่ 10 ซอยสาทร 1 ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ

  • เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเดนมาร์ก นางชลชินีพันธุ์ ชีรานนท์
  • กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน นาย Carsten Nielsen
  • กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองวีเดอร์แซนด์ นาย Ib Thomsen
  • เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย นาย Michael Sternberg
  • กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทย นาย Anders Normann
  • กงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำเมืองพัทยา นาย Stig Vagt-Andersson

สำหรับการแต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2470 (ค.ศ.1927) เป็นต้นมา รัฐบาลเดนมาร์กได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีสเอเชียติกประจำประเทศไทย (The East Asiatic (Thailand) Public Co., Ltd.-EAC) ซึ่งเป็นบริษัทจากเดนมาร์กบริษัทแรกที่ได้เข้ามาทำธุรกิจการพาณิชย์ในไทยตั้งแต่ปี 2427 (ค.ศ.1884) ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง และในการแต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน ก็ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติมาช้านานว่า จะคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของบริษัทอีสเอเชียติก (เดนมาร์ก) ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์ก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเก่าแก่เกือบ 400 ปี (จะครบ 400 ปี ในปี 2564 (ค.ศ.2021)) และได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นในบรรยากาศของมิตรไมตรีและความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกันมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเสมอมา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รัฐบาลไทยได้อนุมัติการเปิดสถานกงสุลใหญ่เดนมาร์กประจำจังหวัดภูเก็ต โดยฝ่ายเดนมาร์กประสงค์ที่จะให้สถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ ต่อมาล่าสุดในปี 2549 ฝ่ายเดนมาร์กได้ขอปิดสถานกงสุลใหญ่ฯ และได้ขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำจังหวัดภูเก็ตแทน

ความสัมพันธ์ทางการเมือง: ในกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีทางด้านการเมือง ไทยและเดนมาร์กต่างมีความเห็นสอดคล้องและร่วมมือกันด้วยดีในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง/ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี ส่วนในกรอบความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี ไทยและเดนมาร์กได้มีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบความสัมพันธ์อาเซียนกับสหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting — ASEM) รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe — OSCE) ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนและเดนมาร์กในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปได้มีท่าทีที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้กรอบความร่วมมือการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเห็นถึงความสำคัญของเวทีดังกล่าวว่าจะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปให้ดำเนินไปอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองประเทศได้สนับสนุนซึ่งกันและกันในการพัฒนาเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรปให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2539 (ค.ศ.1996) ซึ่งเดนมาร์กได้ส่งผู้แทนระดับสูงมาร่วมประชุมดังกล่าว ขณะที่เดนมาร์กก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายนปี 2545 (ค.ศ.2002) ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเดนมาร์กเข้ารับหน้าที่เป็นประธานสหภาพยุโรป (EU Presidency) ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002) ด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ:
ความสัมพันธ์ทางการค้า

เดนมาร์กเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทยกับโลก และเป็นอันดับที่ 9 ของไทยในกลุ่มสหภาพยุโรปในปี 2551 ปริมาณการค้าระหว่างไทยเดนมาร์กมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 825.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กมูลค่า 556.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากเดนมาร์กมูลค่า 269.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้า 286.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า หนังสือและสิ่งพิมพ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และเครื่องประดับอัญมณี

ในช่วง 10 เดือน (มกราคม — ตุลาคม) ปี 2552 การค้าระหว่างไทยเดนมาร์กมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 583.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กมูลค่า 419.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากเดนมาร์กมูลค่า 164.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้า 254.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หนังสือและสิ่งพิมพ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก วงจรพิมพ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องใช้เบ็ตเตล็ด สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า

สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า หนังสือและสิ่งพิมพ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ไก่แปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์พลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียง อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถจักรยานและส่วนประกอบ และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า

1. ปริมาณการค้าสองฝ่ายมีไม่มากนัก แต่ไทยก็เป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเดนมาร์กมาโดยตลอด จนถึงปี 2540 (ค.ศ.1997) ที่ไทยเป็นฝ่ายเริ่มได้เปรียบดุลการค้า

2. การติดต่อค้าขายส่วนใหญ่เดนมาร์กจะค้าขายกับกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศยุโรปตะวันตก

ด้วยกัน

3. คู่แข่งทางการค้าของไทยที่สำคัญ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีความได้เปรียบด้านการขนส่งเท่าเทียมกันกับไทย ดังนั้น ราคาและคุณภาพของสินค้าจะเป็นตัวผลักดันการขยายตลาด

4. ปัญหาการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์กส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภายใต้กรอบของสหภาพฯ เนื่องจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยได้ออกมาตรการด้าน Food Safety, Integrated Product Policy (IPP) และนโยบาย Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้งและไก่ นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังได้ตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าไทยและเรียกเก็บภาษี AD และ CVD กับสินค้าไทยด้วย

5. สินค้าอาหารของไทยหลายรายการมีการตรวจพบเชื้อโรคและสารตกค้างปนเปื้อนเป็นระยะๆ

ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน: ธุรกิจที่เดนมาร์กมีความสนใจไปลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางซึ่งเดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องดื่มเบียร์ อุตสาหกรรมอาหาร และกิจการด้านบริการโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นสาขาที่เดนมาร์กมีประสบการณ์และถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป ในช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (ค.ศ.1997) นั้นได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเดนมาร์กในระดับหนึ่ง โดยได้มีการชะลอการลงทุนลงทั้งในประเภทการลงทุนโดยตรงและการลงทุนร่วมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้าสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับโครงการลงทุนของเดนมาร์กที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of Board of Investment — BOI) ในปี 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 17,978 ล้านบาท

การท่องเที่ยว

จำนวนนักท่องเที่ยวเดนมาร์กที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยไทยในช่วงปี 2549 มีจำนวน 128,037 คน ซึ่งมีแนวโน้มว่าการเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2529-2533 (ค.ศ.1986-1990) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2534 (ค.ศ.1991) การเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวเดนมาร์กมีจำนวนลดลง หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2535-2548 (ค.ศ.1992-2005) จำนวนนักท่องเที่ยวเดนมาร์กที่เดินทางมาไทยได้มีการปรับตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2542 (ค.ศ.1999) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดนมาร์กมาไทยรวม 78,446 คน ปี 2544 (ค.ศ.2001) รวม 78,728 คน ปี 2545 (ค.ศ.2002) รวม 84,617 คน ปี 2546 (ค.ศ.2003) รวม 82,828 คน ปี 2547 (ค.ศ.2004) รวม 89,672 คน และปี 2548 (ค.ศ.2005) รวม 103,787 คน ซึ่งถือเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก รองจากสวีเดน โดยประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในความนิยมของประเทศในแถบนี้ รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเที่ยวเดนมาร์กในปี 2549 รวม 13,440 คน

ปี 2545 ระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวเดนมาร์กเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยเฉลี่ย 14.54 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเท่ากับ 2,693.04 บาท ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 3,017 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าที่พักเป็น รองลงมา คือ การใช้จ่ายเพื่อซื้อของ และอาหาร

สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ประเทศไทยได้รับรางวัล Danish Travel Award 2007 ประเภท Best Tourist Destination ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Stand By ซึ่งเป็นนิตยสารการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 ของเดนมาร์ก ปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการขยายตัวของการท่องเที่ยวของเดนมาร์กในประเทศไทย คือ การที่ประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการและรสนิยมในการท่องเที่ยวของชาวเดนมาร์กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องความสวยงามของธรรมชาติและชายทะเล ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อค่อนข้างสูง และมีความนิยมในการท่องเที่ยวชายทะเลและหาดทรายที่สวยงามอย่างมาก ประกอบกับการที่มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกระหว่างไทยกับเดนมาร์กโดยเฉพาะการมีบริการเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงโคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ ประมาณ 11 เที่ยวต่อสัปดาห์ รวมทั้งความได้เปรียบในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าประเทศเดนมาร์กค่อนข้างมาก

ลักษณะและกลุ่มนักท่องเที่ยวเดนมาร์ก โครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเอง เป็นกลุ่มตลาดระดับบน และมีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงานระหว่าง 25-34 ปี สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มประชุมกลุ่มที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว กลุ่มประชากรวที่เกษียณอายุ/ผู้สูงอายุ กลุ่มตลาดใหม่ที่เดินทางมาไทยเป็นครั้งแรก กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา และกลุ่มตลาดระดับล่าง ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับล่างส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยวโดยมาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาที่ยาวนาน

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือ เดนมาร์กได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศไทยในด้านต่างๆ มาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ตัวอย่างเช่น

กองทัพบก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชทรงไปศึกษาวิชาการทางทหารที่เดนมาร์กเมื่อปี 2434 (ค.ศ.1892) และทรงฝึกหัดรับราชการทหารอยู่ในกรมปืนใหญ่สนามของเดนมาร์ก เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงนำความรู้วิชาการทางทหารจากเดนมาร์กมาพัฒนากองทัพบกของไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้น

กองทัพเรือ นายทหารเรือชาวเดนมาร์ก คือ นาย Andreas du Plessis de Richelieu ได้รับราชการในกองทัพเรือระหว่างปี 2419-2445 (ค.ศ.1876-1902) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธิน

กิจการรถไฟ รัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานให้แก่บริษัทเดนมาร์กในการสร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในประเทศไทย คือ เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ (ปากน้ำ) ในปี 2429 (ค.ศ.1886)

กิจการไฟฟ้า นาย Andreas du Plessis de Richelieu ชาวเดนมาร์ก ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเมื่อปี 2441 (ค.ศ.1898) โดยบริษัทได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตพระนคร และต่อมาบริษัทได้โอนกิจการให้เป็นของรัฐเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493 (ค.ศ.1950) นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดกิจการรถรางขึ้นในพระนครด้วย

กิจการปูนซีเมนต์ บริษัทสยามซีเมนต์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศเดนมาร์ก และได้จ้างชาวเดนมาร์กที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารการผลิตและการบัญชีมาช่วยในการดำเนินกิจการของบริษัทในระหว่างช่วงปี 2457-2502 (ค.ศ.1914-1959) และหลังจากปี 2517 (ค.ศ.1974) บริษัทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับเดนมาร์กในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือทางด้านโบราณคดี โครงการความร่วมมือทางด้านพฤกษศาสตร์ กิจการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สยามสมาคม เป็นต้น ปัจจุบันเดนมาร์กมี 2 หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับเดนมาร์ก คือ (1) หน่วยงานการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance — DANIDA) และ (2) หน่วยงานรับผิดชอบความร่วมมือด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก (Danish Cooperation for Environment and Development — DANCED)

DANIDA เป็นหน่วยงานบริหารการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ต่างประเทศและอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในกรอบทวิภาคีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ.1961) เช่น การให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีดังกล่าวมีกำหนดสิ้นสุดโครงการในปี 2542 เนื่องจากเดนมาร์กเห็นว่าไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (รายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 2,160 เหรียญสหรัฐฯ) แม้ว่าเดนมาร์กจะมีนโยบายหยุดการให้ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีแก่ไทย แต่ไทยก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากเดนมาร์กในกรอบระดับภูมิภาค ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางสถาบันระดับภูมิภาค เช่น สถาบัน Asian Institutes of Technology (AIT) รวมทั้งโครงการให้ความช่วยเหลือภายใต้การให้เงินกู้แบบผ่อนปรน (Mixed Credits Programme) นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความช่วยเหลือและมีความร่วมมือกับ DANCED ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก โดย DANCED ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาสาขาที่เดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและโรงงาน การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมแก่ประเทศที่สามในไทย โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดจีน อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือที่เป็นทางการในการดำเนินความสัมพันธ์ในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา คือ การจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันเป็นประจำทุกปีระหว่างหน่วยงาน DANIDA กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (กรมวิเทศสหการเดิม) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ-ไทย-เดนมาร์กด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ครั้งที่ 12 (The Annual Consultation on Thai-Danish Environmental Cooperation) ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2546

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนโดยเฉพาะกับชุมชนชาวไทยในเดนมาร์ก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ณ วัดไทยพรหมวิหาร กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยสถาบันเอเชียฯ ได้นำคณาจารย์ผู้สอนในวิชาต่างๆ เช่น การแกะสลัก ศิลปะไทย การนวดแผนไทย อาหารไทยและขนมไทย รวมทั้งการจัดดอกไม้ เป็นต้น เดินทางไปทำการสอนหลักสูตรการฝึกอบรมที่เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2546

การแลกเปลี่ยนการเยือน
  • ฝ่ายไทย

ระดับราชวงศ์

  • เดือนกรกฎาคม 2440 (ค.ศ.1897) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก และเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
  • 30 มิถุนายน 2450 (ค.ศ.1907) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กครั้งที่สอง และเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง
  • ปี 2473 (ค.ศ.1930) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก
  • วันที่ 6-9 กันยายน 2503 (ค.ศ.1960) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 13-15 กันยายน 2531 (ค.ศ.1988) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • เดือนกรกฎาคม 2536 (ค.ศ.1992) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเดนมาร์ก เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 22 สิงหาคม — 3 กันยายน 2542 (ค.ศ.1999) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเดนมาร์ก และเกาะกรีนแลนด์ ลัตเวีย เอสโตเนียและลิทัวเนีย เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 19-25 เมษายน 2545 (ค.ศ. 2002) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

ระดับผู้นำรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี)

  • ปี 2522 (ค.ศ.1979) ฯพณฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • 1-3 ตุลาคม 2524 (ค.ศ.1981) ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • 16-18 เมษายน 2527 (ค.ศ.1984) ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 8-11 มีนาคม 2533 (ค.ศ.1990) ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
  • เดือนมีนาคม 2538 (ค.ศ.1995) ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเยือนเดนมาร์ก เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านสังคม (Social Summit)
  • วันที่ 22-24 กันยายน 2545 (ค.ศ.2002) ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กเพื่อเข้าประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
  • ระดับทั่วไป
  • เดือนกรกฎาคม 2526 (ค.ศ. 1983) พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเดนมาร์ก
  • วันที่ 12-14 ตุลาคม 2537 (ค.ศ. 1994) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะนักธุรกิจไทยเยือนเดนมาร์ก
  • วันที่ 17-18 มิถุนายน 2541 (ค.ศ. 1998) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์กเพื่อหารือข้อราชการกับนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก
  • วันที่ 22-24 กันยายน 2545 (ค.ศ.2002) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์ก โดยร่วมอยู่ในคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อ เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
  • วันที่ 5-7 มิถุนายน 2546 (ค.ศ.2003) นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์ก
  • วันที่ 26 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2546 (ค.ศ.2003) นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์
ฝ่ายเดนมาร์ก
  • ระดับราชวงศ์
  • เดือนธันวาคม 2442 (ค.ศ.1899) เจ้าชายวัลเดอมาร์ (Valdemar) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้า คริสเตียน ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Christian IX) เสด็จฯ เยือนไทย
  • เดือนมกราคม 2473 (ค.ศ.1930) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก (สมเด็จพระเจ้า เฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederik IX)) เสด็จฯ เยือนไทย
  • วันที่ 12-24 มกราคม 2505 (ค.ศ.1962) สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอินกริด (Her Majesty Queen Ingrid) เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 17-28 พฤศจิกายน 2506 (ค.ศ.1963) เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก (สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอินกริด เสด็จฯ เยือนไทย
  • วันที่ 30 เมษายน- 5 พฤษภาคม 2524 (ค.ศ.1981) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี (His Royal Highness Prince Henrik) เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 24-27 ตุลาคม 2536 (ค.ศ.1993) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Crown Prince Frederik) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 2-15 ธันวาคม 2536 (ค.ศ.1993) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์ เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ประจำปี 2536
  • วันที่ 14-23 พฤษภาคม 2540 (ค.ศ.1997) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์
  • เดือนกันยายน 2541 (ค.ศ.1998) เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (Her Royal Highness Princess Alexandra) พระชายาของเจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Prince Joachim) พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก เสด็จฯ
แวะผ่านไทย
  • วันที่ 18-19 มีนาคม 2542 (ค.ศ.1999) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์ เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโครงการเพื่อการพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเดนมาร์ก (DANCED)
  • วันที่ 5 ธันวาคม 2543 และวันที่ 12-13 ธันวาคม 2543 (ค.ศ.2000) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ แวะผ่านไทย
  • วันที่ 9 —10 ธันวาคม 2543 (ค.ศ.2000) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์กเสด็จฯ แวะผ่านไทย
  • วันที่ 25 มกราคม — 3 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์กพร้อมด้วยเจ้าหญิง อเล็กซานดรา และเจ้าชายนิโคไล ( Prince Nikolai) พระโอรส เสด็จฯ เยือนไทย (จังหวัดภูเก็ต) เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี พร้อมด้วยเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
  • วันที่ 12-17 กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ.2003) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก และ เจ้าหญิงอเล็กซานดรา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ 15-17 เมษายน 2548 (ค.ศ.2005) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก และเจ้าหญิงแมรี พระชายา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์กจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ พร้อมด้วยนายอันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยา ซึ่งได้จัดขึ้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2548

-วันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 (ค.ศ.2006) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จ พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงเข้าร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

-วันที่ 22-23 มิถุนายน 2549 (ค.ศ.2006) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จ พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กเสด็จฯ แวะเยือนไทย ก่อนเสด็จฯ กลับกรุงโคเปนเฮเกน ระดับผู้นำรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี)

  • วันที่ 14-17 มีนาคม 2531 (ค.ศ.1988) นายพอล ชลูเทอร์ (Poul Schluter) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก พร้อมด้วยคณะภาคเอกชนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล (Official Visit)
  • วันที่ 1-2 มีนาคม 2539 (ค.ศ. 1996) นายนีลส์ เฮลวิก พีเทอร์เซน (Niels Helveg Petersen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting -ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในฐานะ ผู้แทนของนายพอล นูรูพ ราสมูสเซน (Poul Nyrup Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก
  • วันที่ 17-18 เมษายน 2548 (ค.ศ.2005) นายอันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน (Mr. Anders Fogh Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยาเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล (Working Visit) ในระหว่างการเยือนไทย นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือข้อราชการ และเมื่อวันที่ 15-17 เมษายน 2548 นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยา พร้อมด้วยมกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กและพระชายาได้เข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์ก ซึ่งทางการเดนมาร์กได้จัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2548
ระดับทั่วไป
  • วันที่ 16-18 มกราคม 2537 (ค.ศ. 1994) นาย Niels Helveg Petersen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก และคณะพร้อมด้วยคณะภาคเอกชนเยือนไทย
  • วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) นาย Mogens Lykketoft รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก พร้อมด้วยนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทย (โดยร่วมอยู่ในคณะการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) และเข้าเยี่ยมคารวะ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ