ข้อมูลเศรษฐกิจของกัมพูชา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2009 13:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปี 2551 กัมพูชามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth)ร้อยละ 6.0 (ปี 2550 ร้อยละ 10.2) จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7 เนื่องจากภัยแล้งและอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประชากรร้อยละ 70 ของประเทศ รวมถึงการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ รองเท้า ที่ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา และการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการใช้มาตรการ Safeguard ต่อสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน

IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของกัมพูชา ในปี 2552 จะเติบโตร้อยละ - 0.5 และจะขยับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2553 ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงเพราะปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่กระทบผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา คือ เกาหลีและจีน ทำให้หลายโครงการชะลอตัวและบางโครงการถอนการลงทุน ประกอบกับภาครัฐได้เข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินแม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้าง จะลดลงอย่างมาก ก็ไม่จูงใจให้มีการก่อสร้าง ตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่า จะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2552 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ชะลอโครงการโดยไม่มีกำหนดตามสภาวะของตลาดหลักทรัพย์โลกที่มีการอ่อนตัวลงตามวิกฤติเศรษฐกิจโลก

รายได้ต่อหัวของประชากร ในปี 2551 เฉลี่ย 598 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคน เพิ่มร้อยละ 7.17 จากปี 2550 ซึ่งเฉลี่ย 558 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน

อัตราเงินเฟ้อ ในปี 2551 ร้อยละ 22.7 และคาดว่าในปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 7 เพราะการเพิ่มของราคาสินค้าหมวดอาหาร ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินเรียล อ่อนค่าลงขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นตามไปด้วย

โครงสร้างอาชีพ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ประมาณร้อยละ 70 ภาคบริการประมาณร้อยละ 17 ภาคอุตสาหกรรมโรงงานประมาณร้อยละ 8 และภาคการก่อสร้างประมาณร้อยละ 5

อัตราการว่างงาน ผลการสำรวจจำนวนประชากรที่จัดทำในปี 2551 พบว่ามีจำนวนแรงงานที่พร้อมเข้าสู่การจ้างงาน 8.6 ล้านคน หรือร้อยละ 58.8 ของจำนวนประชากรรวมทั้งประเทศ โดยอัตราการว่างงานของกัมพูชาไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากประชากรมากกว่าร้อยละ 70 มีอาชีพทำการเกษตร ซึ่งไม่ได้ทำงานตลอดทั้งปี เป็นการทำงานช่วงระยะที่มีการเพาะปลูกซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และมีการประกอบอาชีพอื่นเสริมเช่นการรับจ้าง การค้าขาย การทอผ้า และการหาของป่า ในเวลาที่ว่างจากการเพาะปลูก

จากรายงานของ World Vision พบว่าประชากรกัมพูชามีอัตราเติบโตร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งจะทำให้จำนวนประชากรถึงปี 2553 มีจำนวน 15 ล้านคน โดยมีกำลังแรงงานเข้าสู่ตลาดปีละ 165,000 คน

อัตราดอกเบี้ย ในปี 2551 เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ย เงินกู้เฉลี่ยร้อยละ 15.9 ต่อปี ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 3.6 และ เงินฝากประจำร้อยละ 3.25-8.00 ต่อปี สำหรับเงินสกุลเรียล อัตราดอกเบี้ย เงินกู้เฉลี่ยร้อยละ 22.5 ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 5.1 และ เงินฝากประจำร้อยละ 6.70-9.50

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

Items                                     2548      2549       2550       2551      2552E
Nominal GDP (million US$)                6,240     7,359      8,753     10,571     11,241
Real GDP (% increase)                   13.30%    10.80%     10.20%      6.80%     -0.50%
GDP per Capita (US$)                       380       404        558        598        635
Real GDP per Capita (% increase)        16.40%    16.00%     14.70%     20.20%      6.30%
Riel/Dollar Parity (year average)        4,127     4,050      4,003      4,043      4,300
Inflation in Riel (year average)         5.80%     4.70%      5.90%     19.70%      4.00%
Inflation in Dollar (year average)       3.80%     4.40%      7.10%     22.70%      7.00%
Budget Revenue (% GDP)                  10.20%     9.80%     11.50%     10.80%     11.10%
Budget Expenditure (% GDP)              12.40%    13.80%     14.40%     14.60%     14.70%
Current Public Deficit (% GDP)           2.00%     1.00%      2.60%      1.30%      1.00%
Overall Public Deficit (% GDP)          -2.20%    -4.00%     -2.90%     -3.80%     -3.60%
Export of Goods (% GDP)                 46.20%    50.80%     47.30%     48.80%     43.10%
Import of Goods (% GDP)                 62.40%    65.30%     62.80%     60.40%     58.10%
Trade Balance (% GDP)                   16.20%   -14.50%    -15.50%    -16.70%    -15.00%
Current Account Balance (% GDP)         -9.40%    -7.20%     -7.80%     -8.80%     -7.10%
Net Foreign Reserves (million US$)         834     1,097      1,374      1,617      1,877
Money — M1 (% GDP)                       4.90%     5.40%      5.70%      6.60%      7.60%
Money — M2 (% GDP)                      14.40%    17.90%     26.80%     34.20%     41.20%
Exchange Rate (Riel:Bath)                  103       110        113        130        140
Population (million)                      13.8      14.2       14.5       14.7       15.1
Labor Force (% Population)              46.90%    47.80%     48.70%     58.80%     59.50%
Unemployment (% Population)                2.5       2.4        2.5        2.8      9.50%
ที่มา : -  EIC, Cambodia Economics Today, special Issue January 2009, Monthly Bulletin of
Statistics of MEF


SWOT Analysis ศักยภาพของกัมพูชา
จุดแข็ง Strength

1. มีพรมแดนติดกับไทย เวียดนาม และลาว ทำให้มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงกับนานาประเทศได้สะดวก

2. รัฐบาลมีเสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนมั่นใจในเรื่องการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน

3. มีความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรแร่ธาตุ ทรัพยากร ธรรมชาติ เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร และ แรงงานมีราคาถูก

4. มีนโยบายให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยอำนวยความสะดวกและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

5. มีแหล่งดึงดูดด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก ได้แก่ นครวัด และนครทม

6. มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และเปิดกว้างเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

7. ได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

8.เป็นสมาชิกของอาเซียน (AFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีการปฏิรูปกฎหมายและกฏระเบียบให้สอดคล้อง มีความเป็นสากลมากขึ้น

จุดอ่อน Weakness

1. ไม่มีการปฏิบัติตามกฏระเบียบ การส่งออก-นำเข้า ใช้การเจรจา และดุลพินิจหรือ connection เป็นสำคัญ ทำให้เกิดความแตกต่างกันในเรื่องต้นทุนธุรกิจ

2. ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ถนน อยู่ระหว่างการพัฒนา เส้นทางขนส่งไม่เอื้อต่อการค้า ทำให้เป็นต้นทุนที่สูงของผู้ประกอบการ

3. ระบบการเงิน การธนาคาร และกระบวนการยุติธรรมของศาล ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีประสิทธิภาพ

4. ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และความเชี่ยวชาญ

5. อุตสาหกรรมภายในประเทศมีจำนวนน้อย ต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าเป็นหลัก ทำให้การถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิต (Technology Transfer) เป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการศึกษาวิจัยด้านการตลาด

6. ขาดระบบการจัดเก็บข้อมูล สถิติ และการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย ข้อมูลตลาด สินค้า

7. กฎระเบียบทางการค้ามีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงบ่อย

8. มีการคอร์รัปชั่นสูง

9. การลงทุนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า

10. ต้นทุนการขนส่งสูง เพราะมีการขนสินค้าเฉพาะขาเข้า ส่วนการขนกลับมีน้อย

11. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก และมีต้นทุนดอกเบี้ยสูง

โอกาส Opportunity

1. สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากนานาประเทศ เช่น MFN GSP

2. สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความร่วมมือ WTO APEC ASEAN GMS ACMECS

3. การท่องเที่ยวร่วมกัน

4. แหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติ

5. ฐานการผลิตสินค้าเกษตร

6. เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน

7. ประชาชนนิยมสินค้าไทย

8. แรงงานจำนวนมาก

อุปสรรค Threat

1. มีความขัดแย้งทางการเมืองกับประเทศไทย ทำให้คนทั้งสองประเทศมีทัศนคติที่เป็นด้านลบต่อกันนักธุรกิจไทย ไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามาทำการค้า หรือทำการลงทุนในกัมพูชา

2. ขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ

3. การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเป็นไปอย่างล่าช้า

4. ขาดแคลนเงินรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก

5. การปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การลดภาษีการนำเข้าตามกรอบความตกลงของอาเซียน (AFTA) เป็นต้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ