ปี 53 อุตสาหกรรมอัญมณีฯ อุ่นเครื่องยกระดับร้านค้าคุณภาพ ได้มาตรฐานรับใบรับรอง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ในตลาด-งานแสดงสินค้าทั่วโลก จัดติวดูพลอยฟรี ชี้แหล่งวัตถุดิบโมซับบิกมาแรง
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ให้ดูแลสินค้าที่เป็นครีเอทีฟ อีคอร์โนมี โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการจ้างงานถึง 1 ล้านคนว่า ในราวกลางเดือนธันวาคมนี้ จะมอบใบรับรองคุณภาพแก่ร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่น่าเชื่อถือ ทั้งในด้านคุณภาพและราคา เพื่อเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อส่งเสริมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
พร้อมกันนี้จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ-ผู้ซื้อทั้งใน-นอกประเทศมีความเข้าใจและมั่นใจในธุรกิจอัญมณีฯ อันจะเป็นการส่งเสริมการจำหน่ายของไทยให้ยั่งยืน ด้วยการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนตลาดใหม่ เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย โปแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ บราซิล ชิลี จีนและอินเดีย รวมถึงการร่วมงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่เป็นมีการจัดแสดงตัวอย่างและเจรจาการค้าในคราวเดียวกัน อาทิ ในงานบราเซล เวิลด์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งาน Vicenza ที่ประเทศอิตาลี งานประชาสัมพันธ์พลอยไทย ในจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแผนงานจะดำเนินการต่อเนื่องและครอบคลุมในปี 2553
“การพัฒนาธุรกิจนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน ตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์จึงได้มีคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ รวม 14 คณะ อาทิ การพัฒนาตลาดใน-ต่างประเทศ และการจัดหาวัตถุดิบ การสัมมนาอาชีพ การพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาช่างไทยโบราณต่างๆ อาทิ ช่างทองสิบหมู่เป็นต้น”
ทั้งนี้เรื่องเร่งด่วนธุรกิจขณะนี้ คือ การจัดหาวัตถุดิบและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเหมืองพลอยเกิดใหม่ที่ประเทศโมซัมบิก นับเป็นแหล่งทับทิมที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณมาก โดยมีราคาจำหน่ายที่ถูก โดยในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะเปิดสัมมนาให้ผู้สนใจจะมีอาชีพการแสวงหาอัญมณีในต่างประเทศรายใหม่ ฟรี เพื่อแนะนำเทคนิคและวิธีการด้านต่างๆ ในการนำวัตถุดิบออกมา เพิ่มมูลค่าเป็นอัญมณีและเครื่องประดับ โดยที่ผ่านมาบางรายเจียระไนแล้วได้ราคาสูงกว่าเดิมถึง 5 —10 เท่าตัว
“โครงการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในพลอยดิบนำเข้า ซึ่งผ่านมติครม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในพระราชกฤษฏีกาและแก้กฎกระทรวงการคลัง ซึ่งนอกจากเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ค้าพลอยต่างชาติจากทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดียและ แอฟริกานำวัตถุดิบมาค้าในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก” นางศรีรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศให้ยั่งยืน ต้องยอมรับว่าเมื่อหักตัวเลขการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูป (ทองคำแท่ง) ที่มีสัดส่วนกว่า 60% ของการส่งออกหมวดอัญมณีฯ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ลดลงเกือบทุกตัว ยกเว้นเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้น 7.33% และเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น 0.57%แล้ว จะได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับควรจะมีแนวทางอย่างไร
“อัญมณีนับเป็นสินค้าฟุ่มเฟื่อยที่ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรง ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทุกอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สิ่งที่ควรทำ คือ การแสวงหาแนวทางในการพัฒนาที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว
ที่มา: http://www.depthai.go.th