ภาวะเศรษฐกิจเวียดนามปี 2552 และคาดการณ์ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 12:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจปี 2552 ขยายตัว แต่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง

เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยขยายตัว 4.5% และ 5.8% ในไตรมาสที่สามคาดว่าไตรมาสสุดท้ายจะเติบโตถึง6.8% ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี 2552 เป็น 5.2% เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้

รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 เป็น 6.5% และในอีก 5 ปีข้างหน้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ( ปี 2554 — 2558 ) ตั้งเป้าให้ขยายตัว 7 — 8% ต่อปี

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามปี 2552 เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มาตรการที่สำคัญ คือ การอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อ ( ณ เดือนพฤศจิกายน 2552 ) เพิ่มขึ้นถึง 36 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งเกินเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ทั้งปีที่ 30% ซึ่งในปี 2552 นี้ นอกเหนือจากจีนแล้วมีเพียงเวียดนามประเทศเดียวในเอเชียที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อพุ่งขึ้นอย่างมาก

แม้เวียดนามจะประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นตลาดในประเทศและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย แต่การใช้มาตรการทางการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 กลับมีผลทำให้ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และโดยที่สำรองเงินตราต่างประเทศที่รัฐบาลมีอยู่พอเพียงสำหรับการนำเข้าเพียง 3 เดือน ( อ้างตามที่ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามประกาศ ) ประกอบกับเกิดภาวะเงินเฟ้อเนื่องจากราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลาทำให้รัฐบาลต้องประกาศปรับลดเงินเวียดนามด่องลง 5.44% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร

***เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามได้ประกาศมาตรการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ คือ :

  • ลด official mid — rate ลงประมาณ 5.44 % ( จาก 17,034 ด่องเป็น 17,961 ด่อง ) และลดช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่กำหนดให้เคลื่อนไหวได้ในแต่ละวัน จาก 5% เป็น 3% เพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดมืดกับทางการแตกต่างกันน้อยลง
  • ปรับ base rate เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 8% (มีผล 1 ธันวาคม 2552) เพื่อลดการเติบโตของสินเชื่อ
ขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐ.......ปัจจัยที่กดดันให้ลดค่าเงินด่อง

ในปี 2552 เงินตราต่างประเทศจากแหล่งที่มาสำคัญของเวียดนามลดลง ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการส่งออก การนำเงินเข้ามาลงทุนในโครงการ FDI การท่องเที่ยว และการส่งเงินจากเวียดนามโพ้นทะเล อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ขณะที่รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐขาดแคลนอย่างหนัก

การขาดดุลการค้า

มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 เป็น 51.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.4%( y-y) ขณะที่การนำเข้าเป็น 61.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.9% ( y-y) ภาพรวมขาดดุลการค้า 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 20.3% ของรายได้จากการส่งออก คาดว่าการขาดดุลทั้งปีจะเป็น 14.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ( ส่งออก 56.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนำเข้า 71.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ) ซึ่งมากเกินกว่าเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ 8 — 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การนำเงินเข้ามาลงทุนในโครงการ FDI ( FDI disbursement )

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ปี 2552

เป้าหมาย : 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มค.— พย. 2552 : 19.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

  • โครงการใหม่ 776 โครงการ มูลค่า 14.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • โครงการเดิม 213 โครงการ มูลค่า 5.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 FDI disbursement เป็น 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกือบบรรลุเป้าที่ตั้งไว้คือ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ลดลง 10% จากปีที่แล้วคาดว่า FDI disbursement ของปี 2552 เป็น 9 — 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ของปี 2551

กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนามคาดว่า การนำเงินเข้ามาลงทุนใน FDI ปี 2553 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2552 คือมีจำนวน 10 — 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งเงินจากเวียดนามโพ้นทะเล

ในปี 2552 คาดว่าจะเป็น 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐของปีที่แล้วลดลง 5.6 %

**ชาวเวียดนามที่อาศัยและทำงานใน 101 ประเทศทั่วโลกจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนมีรายได้ทั้งหมด 50 — 60 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ชาวเวียดนามโพ้นทะเลเหล่านี้ได้ลงทุนเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเวียดนามและส่งเงินกลับมายังแผ่นดินแม่ทุกปี ส่วนใหญ่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ( 1.7 ล้านคน ) กัมพูชา ( 600,000 คน ) ฝรั่งเศส ( 250,000 คน) ไต้หวัน ( 120,000 — 200,00 คน ) แคนาดา ( 150,000 คน ) ออสเตรเลีย ( 150,000 คน ) และรัสเซีย ( 150,000 คน **

การท่องเที่ยว

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเวียดนามประมาณ 3.4 ล้านคน ลดลง 12.3% ( y-y) โดยแยกตามวัตถุประสงค์การเดินทางเข้ามาได้ ดังนี้

  • ท่องเที่ยว 2.00 ล้านคน ลดลง 16.2 %
  • ธุรกิจ 0.70 ล้านคน ลดลง 10.2 %
  • เยี่ยมญาติ 0.47 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8 %
  • อื่นๆ 0.23 ล้านคน ลดลง 8.1 %

ทั้งนี้ เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก จีน ( 14.0 %) สหรัฐอเมริกา ( 10.8 %) เกาหลีใต้ ( 9.6 %) ญี่ปุ่น ( 9.6 %) ไต้หวัน ( 7.2 %) และจากประเทศอื่น ๆ ( 48.8%)

ยกเลิกการใช้มาตรการอุดหนุนเร็วกว่ากำหนด

มาตรการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ที่รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้เมื่อต้นปี 2552 และเพิ่งจะประกาศ ( ตุลาคม 2552 ) ขยายเวลาการใช้มาตรการดังกล่าวออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 แต่เมื่อเกิด ‘foreign currency crisis ’ ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณาทบทวน และได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ยกเลิกการให้การอุดหนุนสำหรับเงินกู้ระยะสั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 แต่ยังคงให้การอุดหนุนสำหรับเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวสำหรับบางสินค้า คือ การผลิตและการค้าภาคเกษตรกรรม ( รวมทั้งป่าไม้และประมง ) การผลิตภาคอุตสาหกรรม การดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการค้าเกลือ โดยลดระดับการอุดหนุนจาก 4% เหลือเพียง 2% มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553

คาดการณ์ปี 2553........ความท้าทายที่รอการแก้ไข
เป้าหมายเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ปี 2553
GDP                       106 พันล้านเหรียญสหรัฐ
GDP growth                6.5 %
GDP / capita              1,200 เหรียญสหรัฐ
CPI                       7 %
รายได้จากการส่งออก          62.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นำเข้า                     75.0  พันล้านเหรียญสหรัฐ
ดุลการค้า                   -12.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การสร้างงานใหม่             1.6  ล้านงาน
  - แรงงานส่งออก           850,000  คน
ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ           730,000  ด่อง/เดือน ณ วันที่ 1 พค. 2553
( เดิม 650,000  ด่อง)
อัตราความยากจน             ต่ำกว่า  10 %  ( จาก  11 %  ในปัจจุบัน )
นักท่องเที่ยว                 4.2 — 4.5 ล้านคน
ที่มา  :  กระทรวงวางแผนและการลงทุน  ( MoIP )

แต่อุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่นักลงทุนต่างชาติมักพากันบ่น คือ

  • โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนน ไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึก
  • ขั้นตอนและระเบียบของทางการที่ซับซ้อนและไม่โปร่งใส
  • ขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีทักษะ

ดังนั้น เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมาย นายกรัฐมนตรีเวียดนามจึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกต่อ :

(1) การลงทุนในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเวียดนามคาดว่าในปี 2553 จะลงทุนประมาณ 41 % ของ GDP เพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนภาคเอกชนไม่สนใจเพราะให้ผลตอบแทนล่าช้าซึ่ง 23% ของเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากพันธบัตรรัฐบาล

(2) การปฏิรูประบบการบริหารงาน เวียดนามตั้งเป้าว่าในปี 2553 จะพิจารณาทบทวน ปรับปรุงหรือยกเลิกกฏระเบียบต่าง ๆ จำนวน 30 ฉบับ ซึ่งหากดำเนินการตามแผนแม่บท "Project 30" บรรลุผลตามเป้าหมายจะช่วยลดขั้นตอนของทางการที่ยุ่งยากซับซ้อนลงอย่างน้อย 30%

(3) การเพิ่มสัดส่วนของแรงงานฝีมือ ปัจจุบันแรงงานฝีมือของเวียดนามมีเพียง 30% ของกำลังแรงงาน ซึ่งมีผลต่อการชะลอการวางแผนทำธุรกิจในเวียดนามของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ในปี 2553 รัฐบาลเวียดนามจะลงทุนจำนวนมหาศาลด้านการศึกษาโดยเฉพาะการตั้งสถาบันฝึกอบรมสอนวิชาชีพให้มากขึ้น

ประเด็นที่น่าจับตามองในปี 2553
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลปรับใช้ใหม่นั้นไม่น่ามีผลเท่าใดนักเพราะ
  • ธนาคารกลางของเวียดนามได้ปรับ base rate ขึ้น 1% ( จาก 7% เป็น 8%) จึงเท่ากับระดับของการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเพียง 1% เท่านั้น
  • การอุดหนุนเฉพาะเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวแทบไม่มีผลต่อผู้ประกอบการเวียดนาม ซึ่งมักไม่มีการวางแผนการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น หากอุปสงค์ภาคเอกชนไม่สามารถขยายตัวได้และรัฐบาลเวียดนามไม่ออกมาตรการใดมาเสริม เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 คงไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ตั้งเป้าไว้

  • บรรดานักการธนาคารต่างชาติคาดว่าในปี 2553 หลังช่วงเทศกาลตรุษเวียดนาม ( กลางเดือนกุมภาพันธ์) ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามอาจจะปรับเพิ่ม base rate จาก 8% เป็นประมาณ 10% และจะ ลดค่าเงินด่องลงอีกเพราะค่าเงินด่องในปัจจุบันยังไม่สะท้อนค่าเงินที่แท้จริงในภาวะที่เวียดนามประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง และรัฐบาลมีโครงการที่จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลรออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุง infrastructure และโครงการก่อสร้างในกรุงฮานอยหลายโครงการที่ต้องแล้วเสร็จก่อนวาระการฉลองครบรอบ 1,000 ปี ของการเป็นเมืองหลวง ทั้งนี้ คาดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 % ของ GDP
  • เวียดนามเป็นประเทศที่กำหนดราคาสินค้าเป็นเงินเหรียญสหรัฐ แม้รัฐบาลจะสั่งห้ามมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ในทางปฏิบัติสินค้าส่วนใหญ่ที่วางขายในเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์มักจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดมาเป็นฐานในการคำนวณการตั้งราคาสินค้า ดังนั้นงานสำคัญที่สุดของรัฐบาลเวียดนามขณะนี้ คือ การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพ และการลดภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาสำคัญในปี 2553 เพราะคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 — 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (IMF คาด ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2552) และราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 570 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในปี 2552 เป็น 750 เหรียญสหรัฐ/ตัน ( ราคาข้าว 5% ของไทย ) ในปี 2553

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ