วิกฤติเศรษฐกิจในกรีซและผลกระทบต่อสถานการณ์โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2009 14:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากที่ดูไบ เวิลด์ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขนาดใหญ่ที่มีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ มีการประกาศเลื่อนชำระหนี้จำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์ไปอีก 6 เดือนจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า พร้อมกับถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาอยู่ในระดับต่ำมากนั้น ล่าสุดบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซ จากอันดับ 'A' เนื่องจากฐานะการคลังที่อ่อนแอ ลงมาสู่ 'BBB+' ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 'A' ด้วยเหตุผลว่า การลดอันดับครั้งนี้ สะท้อนถึงความวิตกต่อแนวโน้มในระยะกลางสำหรับฐานะการคลังในภาครัฐของกรีซ จากการพิจารณาความน่าเชื่อถือในระดับต่ำ และกรอบนโยบาย ซึ่งได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยที่ก่อนหน้านี้ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ 'A-' โดยมีแนวโน้มเชิงลบในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เปิดเผยตัวเลขขาดดุลที่สูงขึ้นอย่างมาก แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรประบุว่า กรีซจะต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินเอง ขณะเดียวกับที่สหภาพยุโรปจะคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ล่าสุดนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซ ได้ประกาศในระหว่างการแถลงนโยบายเศรษฐกิจแผนใหม่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 ว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะตัดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลด้านต่างๆลงอย่างขนานใหญ่ ซึ่งรวมทั้งการใช้จ่ายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม และยกเลิกการจ่ายโบนัสให้กับเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของธนาคารที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล และเก็บภาษี 90 เปอร์เซ็นต์สำหรับเงินโบนัสที่แบงก์เอกชนจ่ายให้พนักงานรัฐบาล รวมถึงเรียกเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก คาดใช้เวลานับสิบปี จึงจะแก้ปัญหาลุล่วง

การที่กรีซต้องรีบเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเพราะปีนี้คาดกันว่า กรีซจะขาดดุลงบประมาณราว 12.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตัวเลขหนี้สาธารณะของกรีซเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนี้สินของรัฐบาลคาดว่าจะถึง 121 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปีหน้า หรือสูงถึง 15 ล้านล้านบาท มากที่สุดรองจากอิตาลี

นอกจากนี้ทางการเอเธนส์ให้คำมั่นที่จะเร่งหามาตรการปรับปรุงด้านการคลังของรัฐบาล เพื่อรับมืออันดับความน่าเชื่อถือลดลง ซึ่งรัฐมนตรีคลังของกรีซชี้ว่า หากมีความจำเป็น รัฐบาลกรีซอาจดำเนินมาตรการการคลังเพิ่มเติมในปี 2553 เพื่อลดตัวเลขขาดดุล และขจัดแรงกดดันที่ต่อพันธบัตรของประเทศ ที่เป็นผลสะท้อนจากความกังวลในเรื่องแนวโน้มระยะกลางของสถานภาพทางการเงินภาคสาธารณะของรัฐบาล ซึ่งได้รับผลพวงมากขึ้นจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและสมดุลหรือไม่

พร้อมกันนี้ ได้ยืนยันว่ารัฐบาลกรีซจะทำในสิ่งที่จำเป็น และสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะกลางของรัฐบาลในปีหน้า แต่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการขาดความน่าเชื่อถือ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ โดยย้ำว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินกู้ เพียงแต่ต้องออกมาชักชวนตลาด นักลงทุน และประชาชนให้ออกมาลงทุน เพราะการที่กรีซถูกลดอันดับลงไปอยู่ในระดับแย่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่ใช้สกุลเงินยูโร ส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตกถึงอนาคตของเศรษฐกิจกรีซ และผลกระทบที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมาในระดับสากล โดยเฉพาะเมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปได้ขู่ว่าจะคว่ำบาตร หากกรีซไม่ใช้มาตรการเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณมากกว่านี้

บทเรียนจากดูไบที่ส่งผลกระทบไปถึงกรีซ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของผลสะท้อนจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกตกต่ำ ซึ่งเริ่มต้นมาจากวิกฤตการณ์ของสหรัฐในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ อันตรายจากผลพวงของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลภายในประเทศของตนเอง โดยที่วิกฤติดูไบนั้นเกิดขึ้นจากการแตกของฟองสบู่ทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ฐานะรายได้ไม่สมดุลกับหนี้สินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กรีซเกิดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก เพราะต้องอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจนนำไปสู่ฐานะการคลังที่อ่อนแอในที่สุด ดังนั้น ภาพรวมที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศอาจจะเป็นบทเรียนที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังและใส่ใจในนโยบายการเงินการคลังของหลายๆประเทศสำหรับหลายๆประเทศ

ยูเครนและฮังการีต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟ

ประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศหนักตามมาขนาดที่ต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟคือยูเครนและฮังการี คณะกรรมการไอเอ็มเอฟให้การช่วยเหลือเป็นเงินกู้เร่งด่วนกับสาธารณรัฐยูเครนมูลค่า 16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากยูเครนได้รับความเสียหายจากวิกฤตตลาดการเงินที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

การช่วยเหลือยูเครนเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวโดยเร็ว เนื่องจากสถานภาพด้านการเงินของยูเครนวิกฤตหนัก โดยยูเครนระงับไม่ให้คนในประเทศถอนเงินออกจากธนาคาร หลังมีการถอนเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งออกจากบัญชีของธนาคารในยูเครนทั้งหมด การแห่ถอนเงินมีผลทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นพากันเทขายหุ้นอย่างหนัก มูลค่าหุ้นลดลง 70% ภายในปีนี้

ค่าเงินของยูเครนอ่อนตัวอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลได้นำเงินสำรองสกุลต่างประเทศไปต่อสู้กับค่าเงินที่อ่อนตัวในตลาด ทำให้ทุนสำรองลดลงจนเป็นอันตราย นอกจากนี้ยูเครนมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง เป็นเพราะความต้องการสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ และในระยะหลายปีที่ผ่านมายูเครนต้องระดมเงินทุนเพื่อชดใช้หนี้สินต่างประเทศ และเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ

ส่วนฮังการีนั้นก็เผชิญปัญหาคล้ายๆกัน โดยฮังการีจะต้องปฏิรูปด้านการเงินเพราะค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำ พร้อมทั้งมีภาระหนี้สินต่างประเทศสูง และเพื่อช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นให้นักลงทุนหันมาซื้อขายค่าเงินมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาอยู่ที่ 11.5%

สเปน ไอร์แลนด์และออสเตรีย

สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ เอสแอนด์พี ได้ออกมาประกาศลดอันดับเครดิตทางเศรษฐกิจของประเทศสเปนจากระดับเสถียรภาพลงมาอยู่ที่ระดับติดลบพร้อมทั้งส่งสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มที่ประเทศนี้ต้องเผชิญกับภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในแบบต่อเนื่องและยาวนาน อันเนื่องมาจากภาวะหนี้สินของประเทศ ที่พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 67% ของจีดีพีอีกทั้งภาวะขาดดุลงบประมาณที่เคยคาดกันไว้ว่าจะพยายามลดระดับลงมาเหลือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2556 ให้จงได้แต่จากแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณในปีหน้า ตัวเลขก็ยังสูงอยู่ที่ประมาณ 11เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าสเปนจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกับกรีซค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอียูด้วยกันคือ ไอร์แลนด์และออสเตรียที่มีปัญหาหนี้สินรุมเร้าอยู่ในเวลานี้ กำลังทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยุโรป และตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า วิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนและใน 16 ประเทศที่ใช้เงินยูโร ยังไม่จบ อาจกลายเป็นปัญหาลุกลามไปทั่วสหภาพยุโรปได้อีกรอบจากยอดหนี้มโหฬารของทั้ง 3 ประเทศ

สกุลเงินยูโรแข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 เดือน อยู่ที่ 1.5144 ดอลลาร์สหรัฐในปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ดิ่งลงมาแตะที่ 1.4526 ดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ เงินยูโรเคยแข็งสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6038 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2551

แม้เศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสขยายตัวขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสเปนซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปด้วยกันฟื้นตัวขึ้นด้วย แม้รัฐบาลในหลายประเทศของยุโรปใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันก็ตาม และแม้ว่ารัฐบาลสเปนวางแผนที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีก 2.3% ของตัวเลขจีดีพีในปีนี้ แต่องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสเปนจะหดตัวลงอีก 4.2% ในปีนี้ และ 0.9% ในปีหน้า

แนวโน้มที่จะว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดูท่าว่าจะยังใกล้ความจริงเท่าใดนัก และอาจจะต้องหันพึ่งพางเศรษฐกิจของประเทศในซีกโลกตะวันออกกันเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่เชื่อๆ กันว่าจะเติบโตจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกหรือมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 8.42 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก (5.263 ล้านล้านดอลลาร์) เบียดแซงประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2553

ไทยเตรียมรับมือกับผลกระทบ

ส่วนกระทรวงการคลังของไทยได้เตรียมรับสถานการณ์ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมีแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในการปฎิรูปเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าในส่วนของนโยบายการคลัง เนื่องจากประเมินว่า วิกฤติเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดที่ผ่านพ้นไปได้ ทั้งนี้ นโยบายการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะถูกนำมาผลักดันตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป

ปีหน้านั้น ถือว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะเริ่มดีขึ้น แต่ประเทศที่ยังประสบปัญหา เช่น เหตุการณ์ที่ดูไบ ปัญหาที่เกิดในประเทศกรีซ ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกยังไม่ผ่านพ้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเพิ่มบทบาทในการรักษาเสถียรภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเม็ดเงิน 3.5 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาทในปีหน้า ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่จะผลักดัน

ฐานะการคลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากรายได้ของรัฐบาลที่คาดว่า จะเก็บได้มากกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้การขาดดุลการคลังหรือการกู้เงินของรัฐบาลน้อยลง ก็ถือเป็นข่าวดี ฉะนั้น รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้งบฯรายจ่ายอยู่ในเป้าหมาย.

สรุปภาวะเศรษฐกิจของกรีซ

กรีซ เป็นประเทศเล็กที่ยากจนและเป็นหนึ่งในสมากชิกอียู และประเทศยูโรโซน มีประชากรประมาณ 10 ล้านคนมีรายได้ส่งออกไม่มาก แต่มียอดหนี้สูงถึง 300,000 ล้านยูโร หรือ 442,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ผ่านมากรีซเป็นประเทศที่มีระดับความสามารถในการชำระเงินต่ำสุดในบรรดาประเทศอียู และเป็นประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เข้าสู่สภาวะถดถอยมาเป็นเวลาหลายปี

ปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) กรีซ ขาดดุลการค้า มูลค่า 29,547.776 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 43.02 และขณะนี้กำลังประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ตลาดยุโรปเกิดความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลกำลังพยายามอย่างหนักที่จะตัดลดค่าใช้จ่าย พร้อมกับยอมขาดดุลที่เกินควบคุม ทั้งนี้การขาดดุลงบประมาณของกรีซ (เพราะต้องการนำเงินอัดฉีด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน จนนำไปสู่ฐานะการคลังที่อ่อนแอ) อาจสูงถึงร้อยละ 12.7 ของจีดีพีในช่วงปี 2553 ซึ่งส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น บริษัทฟิทช์ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง โดยล่าสุด ฟิทช์ เรตติ้ง ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซลงไปสู่อันดับต่ำสุดใน 16 ประเทศของประชาคมยุโรป และลดเกรดพันธบัตรระยะยาวอยู่ที่ BBB+ ที่มีแนวโน้มเชิงลบ จากระดับ A ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า A ทั้งนี้การลดอันดับดังกล่าวสะท้อนถึงความวิตกต่อแนวโน้มในระยะกลาง สำหรับฐานะการคลังในภาครัฐของกรีซ

Key indicators                                          2009      2010      2011      2012      2013     2014
Real GDP growth (%)                                     -2.7      -0.1       1.2       2.1       2.4      2.5
Consumer price inflation (av; %)                         1.0       1.5       1.9       1.8       2.0      2.0
Consumer price inflation (av, %; EU harmonised           1.0       1.5       1.9       1.8       2.0      2.0
measure)
Government balance (% of GDP)                          -13.0     -13.4     -11.8     -10.7      -9.4     -8.6
Current-account balance (% of GDP)                     -12.2     -11.2     -10.8     -10.6     -10.6    -10.8
Commercial banks' prime rate (av; %)                     6.9       6.4       5.7       5.5       4.8      5.6
Exchange rate US$:E (av)                                 1.4      1.42      1.40      1.42      1.44     1.45
Exchange rate US$:E (year-end)                          1.48      1.39      1.41      1.43      1.45     1.46
Exchange rate ฅ:E (av)                                130.85    128.03    124.38    124.96   125.28    124.70
(c) Economist Intelligence Unit

ปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) กรีซ เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 50 ของโลก มีมูลค่าส่งออก 14,506.724 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยตลาดคู่ค้าหลักของกรีซ ได้แก่

ตลาดส่งออกหลัก ปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.):

1. เยอรมนี มูลค่า 1,582.717 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.69 สัดส่วนร้อยละ 10.91

2. อิตาลี มูลค่า 1,561.582 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 34.34 สัดส่วนร้อยละ 10.77

3. ไซปรัส มูลค่า 1,047.285 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.93 สัดส่วนร้อยละ 7.22

          4. บัลแกเรีย มูลค่า     958.245   ล้านเหรียญสหรัฐ   ลดลงร้อยละ   32.26   สัดส่วนร้อยละ    6.61
          5. สหรัฐฯ   มูลค่า     786.083   ล้านเหรียญสหรัฐ   ลดลงร้อยละ    8.54   สัดส่วนร้อยละ    5.42

สินค้าส่งออกหลัก: แร่และเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เครื่องจักรกล พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 สินค้าส่งออก 15 รายการแรกมีอัตราการขยายตัวลดลงเกือบทุกสินค้า ยกเว้น บุหรี่และอากาศยานและยานอวกาศ ซึ่งมีอัตราขยายตัวร้อยละ 1.25 และ 34.82 ตามลำดับ

ตลาดนำเข้าหลัก ปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.):

1. เยอรมนี มูลค่า 5,894.611 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.87 สัดส่วนร้อยละ 13.38

          2. อิตาลี    มูลค่า  5,467.451  ล้านเหรียญสหรัฐ   ลดลงร้อยละ    32.46   สัดส่วนร้อยละ   12.41
          3. จีน      มูลค่า  3,261.902  ล้านเหรียญสหรัฐ   ลดลงร้อยละ    11.44   สัดส่วนร้อยละ    7.40

4. เกาหลีใต้ มูลค่า 2,960.797 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.06 สัดส่วนร้อยละ 6.72

          5. ฝรั่งเศส  มูลค่า  2,614.371  ล้านเหรียญสหรัฐ   ลดลงร้อยละ    26.03   สัดส่วนร้อยละ    5.93

สินค้านำเข้าหลัก: เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า แร่และเชื้อเพลิง ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 สินค้านำเข้า 15 รายการแรกมีอัตราการขยายตัวลดลงทุกรายการ ยกเว้น เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของกรีซ มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.35

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ