จีนใช้ “ส่วนลดภาษีส่งออก” พยุงการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 11:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

คำนำ

สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามเศรษฐกิจและการค้าของจีนจะพบว่า “ส่วนลดภาษีส่งออก”(Export-tax Rebate) หรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า “มุมน้ำเงิน” นับว่าเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลจีนใช้ในการบริหารการค้าระหว่างประเทศของตน โดยในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนประกาศปรับลดส่วนลดภาษีฯ ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

การปรับลดครั้งใหญ่สุดครั้งหลังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ครอบคลุมสินค้าถึง 2,831 รายการ คิดเป็นร้อยละ 37 ของจำนวนรายการสินค้าในทะเบียนภาษีศุลกากรของรัฐบาลจีนโดยเฉพาะ

  • สินค้าที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการค้า (commodities that tend to cause trade frictions) อาทิ ผลิตภัณฑ์เคมีบางประเภท พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ กล่องและถุง ผลิตภัณฑ์หนังและขนสัตว์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กระเป๋า ร่ม ผลิตภัณฑ์ขนสัตว์ หินบางประเภท เซรามิค แก้ว ไข่มุก อัญมณี โลหะมีค่าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ คุณภาพต่ำ เครื่องจักรออกแบบ เครื่องหยอดเหรียญ เครื่องตัด เครื่องเจาะ เครื่องยนต์ดีเซล ปั๊ม พัดลม วาล์วและชิ้นส่วน เครื่องดูดควัน เครื่องเย็บ รถกอล์ฟ รถหิมะ รถจักรยานยนต์ จักรยานยนต์ รถพ่วง รถยกและชิ้นส่วน เครื่องพันสายไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมทองเหลือง เฟอร์นิเจอร์ นาฬิกา ของเด็กเล่น และผลิตภัณฑ์ขนสัตว์บางประเภท
  • สินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงและใช้พลังงานและปัจจัยการผลิตมาก (highly polluting products that consumes heavy amounts of energy and resources) อาทิ เกลือ โซลเว่นท์ (solvent) นาพต้า(naphtha) ปูนซิเมนท์ โพรเพนเหลว บิวเทนเหลว ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลิตภัณฑ์เคมี (เช่น ปุ๋ย คลอรีนน้ำยากัดสี) หนัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เหลือใช้ ท่อหล่อที่ทำจากคาร์บอน และผลิตภัณฑ์โลหะไร้สนิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกินดุลการค้าของจีนและแรงกดดันของต่างชาติที่เรียกร้องให้เพิ่มค่าเงินหยวนท่ามกลางการเกินดุลการค้ามูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2551 การส่งออกสินค้าของจีนเริ่มชะลอตัวลง และลดลงอย่างมากนับแต่ปลายปีที่ผ่านมา อันเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มอัตราส่วนลดภาษีส่งออกระลอกใหม่ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนก็เพิ่มส่วนลดดังกล่าวตามมาอีกถึง 6 ครั้ง สรุปว่า ในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศเพิ่มอัตราส่วนลดดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งเข้าไปแล้ว

ดังนั้น คงไม่ผิดนัก หากผมจะกล่าวว่า “ส่วนลดภาษีส่งออก” กลายเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลจีนที่นำมาใช้เพื่อเหตุผลในเชิงการค้าและการจ้างแรงงานเป็นสำคัญ รัฐบาลจีนทำตัวเป็นเสมือนคนแก่ใจปล้ำที่แจกเงินผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่รอให้เทศกาลตรุษจีนมาถึงกันเลย การดำเนินมาตรการดังกล่าวในระลอกใหม่นี้ถูกใช้เพื่อต้องการฟื้นเศรษฐกิจและช่วยพยุงภาคการส่งออกของจีนโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Products)

ประสบการณ์การเพิ่มอัตราส่วนลดภาษีส่งออก 7 ครั้งของจีน
  • เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 การเบิกร่องดำเนินมาตรการนี้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 โดยในครั้งนั้นมุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้า โดยเพิ่มจากอัตราร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 13
  • เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 อีกตัวอย่างหนึ่งของการเพิ่มส่วนลดภาษีส่งออกเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งในครั้งนั้น กระทรวงการคลังของจีนได้ประกาศเพิ่ม “ส่วนลดภาษีส่งออก” แก่สินค้าส่งออกของจีนจำนวน 3,486 รายการ หรือประมาณร้อยละ 28 ของจำนวนรายการสินค้าระหว่างประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551ทั้งนี้ รายการสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น สินค้าเทคโนโลยี และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อันได้แก่

o ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 14 (ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2)

          o ของเล่น (บางส่วน)         เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 14
          o เฟอร์นิเจอร์               เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 13

o เครื่องครัว (บางส่วน) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11

o ผลิตภัณฑ์พลาสติก (บางส่วน) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9

  • เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มส่วนลดฯ อีกครั้ง ห่างจากครั้งที่แล้วเพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยครอบคลุมถึง 3,770 รายการ ได้แก่ สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเพิ่มส่วนลดฯ จากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 14

การเพิ่มส่วนลดฯ ใน 3 ครั้งแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการชะลอตัวของตลาดโลก

  • เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 รัฐบาลได้ประกาศการปรับส่วนลดฯ ครั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ว่าจะเพิ่มอัตราส่วนลดฯ แก่สินค้าจำนวน 553 รายการจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 17 อันได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มสูง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นไป
  • เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 มาตรการนี้นับการกำหนดเพิ่มส่วนลดฯ 4 เดือนต่อเนื่องกัน โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 15
  • เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 กระทรวงการคลังได้ประกาศเพิ่มอัตราส่วนลดฯ กับสินค้าส่งออกจำนวน 3,800 รายการ ซึ่งนับการดำเนินมาตรการครั้งที่ 6 ต่อเนื่องกันนับแต่เดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้มีรายการสินค้าอุตสาหกรรมมากมาย โดยเฉพาะ

o ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16

          o หลอดภาพโทรทัศน์          เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17
          o เหล็กและเหล็กกล้า         เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17
          o ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี          เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17
  • เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มส่วนลดฯ ห่างจากครั้งที่ผ่านมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น และนับเป็นการกำหนดมาตรการครั้งที่ 7 ในรอบ 10 เดือนเท่านั้น โดยในครั้งนี้ จีนปรับเพิ่มอัตราส่วนลดภาษีส่งออกให้แก่สินค้าจำนวนกว่า 2,600 รายการ โดยในครั้งนี้ จีนเน้นไปที่สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเดิมที่การส่งออกชะลอตัวไม่มากนัก อาทิ

o กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15

o รองเท้าและหมวก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15

          o ของเด็กเล่น          เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15
          o เฟอร์นิเจอร์          เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15
          o เซรามิก             เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 และขยายไปยังสินค้าอีก 2 กลุ่ม ได้แก่

o สินค้าเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศ และจักรเย็บผ้า ซึ่งการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นเต็มพิกัดเป็นร้อยละ 17

o ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ซึ่งไม่อยู่ในรายการสินค้าที่ได้รับความช่วยเหลือในการดำเนินมาตรการดังกล่าว 6 ครั้งก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น อาหารกระป๋อง และน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15 ขณะที่แอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5

ผลจากการประกาศเพิ่มอัตราส่วนลดฯ ในครั้งนี้ทำให้อัตราส่วนลดฯ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.8 เป็นร้อยละ 12.4 ขณะที่ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ได้เพิ่มขึ้นครั้งก่อนจนมีอัตราส่วนลดฯ ที่ร้อยละ 16 ไม่ได้อยู่ในรายการสินค้าในครั้งนี้ ผู้ประกอบการของประเทศอื่นต่างหวังว่านี่จะเป็นการปรับเพิ่มอัตราส่วนลดครั้งสุดท้ายในปี 2552 ของรัฐบาลจีน

ประสิทธิผลของการเพิ่ม “ส่วนลดภาษีส่งออก” ต่อการส่งออก

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกของจีนมีมูลค่า 846,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การเพิ่มส่วนลดภาษีส่งออกจำนวนหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวมุ่งไปที่สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นสำคัญ ซึ่งช่วยให้อัตราการลดลงของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไม่รุนแรงเท่ากับของอัตราการส่งออกสินค้าโดยรวม โดยการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวมีอัตราดังนี้

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 19.5 (206,380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          - เครื่องจักรและอุปกรณ์            ลดลงร้อยละ 18.0 (164,770 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูปและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 10.2 (78,540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          - เส้นใยและผ้าผืน                ลดลงร้อยละ 13.7 (43,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          - รองเท้า                      ลดลงร้อยละ  5.6 (20,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          - เฟอร์นิเจอร์                   ลดลงร้อยละ  8.5 (17,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          - เส้นใยและผ้าผืน                ลดลงร้อยละ 13.7 (43,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการในการขอคืนภาษีส่งออกของจีนใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับของหลายประเทศ รวมทั้งของไทย ข้อมูลของสำนักงานจัดการภาษีแห่งชาติจีน (China National Administration of Taxation) ระบุว่า การเพิ่มส่วนลดดังกล่าวในเดือนกันยายนมีมูลค่าถึง 42,026 ล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับของเดือนสิงหาคม แต่ก็นับว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับของเดือนก่อนหน้านั้น

ความกังวลใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแรงกดดันจากนานาประเทศ

ผมมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลจีนดูเหมือนจะกังวลใจอย่างมากกับวิกฤตการณ์การเงินโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจและตลาดโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าจีน รวมทั้งการทยอยปิดกิจการของผู้ส่งออกรายย่อยจำนวนมากของจีนในระยะหลัง อันส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานที่กำลังเพิ่มขึ้นในจีน จึงได้ประกาศเพิ่มส่วนลดภาษีส่งออกดังกล่าวในสินค้ากว่า 3,700 รายการ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มส่วนลดภาษีส่งออกเป็นครั้งที่ 2 ในระยะ 3 เดือน หลังจากที่รัฐบาลเคยประกาศลดส่วนลดภาษีส่งออกเมื่อกลางปี 2550 ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการทั้งสองครั้งดังกล่าวจะส่งผลให้สินค้าจีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4-5 เมื่อเทียบกับราคาสินค้าส่งออก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันของไทยในระดับหนึ่งอย่างไรก็ดี หลายฝ่ายได้ออกมาคัดค้านการดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง การดำเนินมาตรการดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลของหลายประเทศออกมาเรียกร้องและแม้กระทั่งออกโรงขู่ว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างจริงจัง เพราะหลายประเทศพิจารณาว่าการปรับเพิ่มอัตราส่วนลดภาษีส่งออกดังกล่าวเข้าข่ายการอุดหนุนการส่งออกวิธีหนึ่ง จึงเตรียมมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) สินค้าจีนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ด้านภาษีจำนวนมหาศาลในแต่ละปี และสร้างกลไกความช่วยเหลือหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศของสินค้าส่งออกนั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่จัดเก็บและกำกับภาษีที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะกำหนดมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแต่กลับพบว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกลับเห็นว่าอัตราส่วนลดภาษีส่งออกดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก และอาจไม่สามารถกระตุ้นการส่งออก ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้(ทั้งที่การส่งออกของจีนีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง) รวมทั้งพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มส่วนลดฯ ระลอกใหม่ และออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต

ผมเห็นว่า กรมส่งเสริมการส่งออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรจะได้จัดประชุมหารือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องและรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในเชิงลบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ