มองตลาดสินค้าฮาลาลในจีน ... มองโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 12:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ตลาดอาหารฮาลาลในจีนตะวันออก

จากสถิติของ Wikipedia พบว่า ณ ปี 2552 มีชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่กว่า 2,000 ล้านคนในกว่า 110 ประเทศ และประเมินว่า ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าปีละ 547,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกรรมของโลก ตลาดดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเมินว่า ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลจะมีมูลค่ากว่า 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 นอกจากนี้ ผลจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลาม ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์คาดว่าชาวมุสลิมจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรโลกในปี 2568 ซึ่งนั่นหมายถึงตลาดสินค้าอาหารฮาลาลขนาดมหึมาที่รออยู่

ในประเทศจีน คาดว่ามีจำนวนชาวมุสลิมอยู่กว่า 30 ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของจำนวนประชากรโดยรวม ทั้งนี้ชาวมุสลิมในจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ด้านตอนในและซีกตะวันตกของประเทศ อาทิ มณฑลหนิงเซี่ยะ มณฑลกานซู่ เขตปกครองอิสระมองโกเลียใน และเขตปกครองอิสระซินเจียง และกระจายตัวไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ หากเราเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ก็จะพบเห็นร้านอาหารอิสลามอย่างดาษดื่น จากสถิติของสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน (Chinese Islamic Association) ระบุว่า ในประเทศจีน มีโต๊ะอิหม่ามแบบเต็มเวลาจำนวนกว่า 40,000 คน และจำนวนสุเหร่าที่กระจายตัวในหัวเมืองต่าง ๆ ถึงกว่า 23,000 แห่ง อาทิ

  • กรุงปักกิ่ง 200,000 คน (สุเหร่ากว่า 32 แห่ง)
  • เมืองเซินเจิ้น 120,000 คน (สุเหร่าสำคัญ 1 แห่ง)
  • นครเซี่ยงไฮ้ 70,000 คน (สุเหร่าสำคัญ 7 แห่ง)
  • นครกว่างโจว 60,000 คน (สุเหร่าสำคัญ 6 แห่ง)
  • นครซีอาน 50,000 คน (สุเหร่าสำคัญ 11 แห่ง)
  • นครเฉินตู (สุเหร่าสำคัญ 9 แห่ง)
  • เมืองกุ้ยหลิน (สุเหร่าสำคัญ 6 แห่ง)
  • นครคุนหมิง (สุเหร่าสำคัญ 6 แห่ง)
  • นครลาซ่า (สุเหร่าสำคัญ 3 แห่ง)
  • นครอูหลู่มู่ฉี (สุหร่าสำคัญ 9 แห่ง)
โอกาสทางการตลาด

ด้วยอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากร(เนื่องจากชาวจีนมุสลิมได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ของรัฐบาลจีนที่กำหนดใช้ถึง 30 ปีนับแต่เปิดประเทศ) และความมั่งคั่งของชาวมุสลิมในจีน ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาลกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน ตุรกี อียิปต์ และบราซิล จึงต่างหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิตและทำตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในจีนกันมากขึ้น

รัฐบาลของหลายประเทศถึงขนาดตั้งงบประมาณสนับสนุนจำนวนมหาศาลและยกเครื่องอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของตนอย่างจริงจังตัวอย่างเช่น รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติเงินงบประมาณ 100 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล ขณะที่นิวซีแลนด์ปรับให้ 95% ของเนื้อแกะส่งออกทั้งหมดเป็น “ฮาลาล” และจะให้สมบูรณ์ทั้ง100% ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (Port of Rotterdam) ก็จัดสรร “Halal DistriPark” สำหรับให้บริการสินค้าฮาลาลขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ในยุโรป

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและผู้ประกอบการของจีนเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับตลาดอาหารฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เฉพาะในมณฑลหนิงเซี่ยะ คาดว่ามีผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลจำนวนมากกว่า 10,000 รายในปัจจุบัน ครองสัดส่วนการตลาดในมณฑลถึงร้อยละ 80 ของตลาดทั้งหมด ผู้ประกอบการของจีนที่เริ่มปีกกล้าขาแข็งแล้วต่างได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้โบยบินออกไปบุกตลาดต่างประเทศกันมากขึ้น

อาหารจานด่วน (Fast Food) ของชาติตะวันตกที่จำหน่ายอย่างดาษดื่นในหลายมณฑลของจีนก็เป็นอาหารฮาลาล เพื่อง่ายต่อการทำตลาด และขณะเดียวกัน ก็พบว่าช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ (Modern Trade) ในจีนอาทิ คาร์ฟูร์ และวอล-มาร์ท ต่างก็เริ่มนำเอาสินค้าที่ติดฉลากรับรองสินค้าฮาลาลขึ้นจำหน่ายอย่างแพร่หลายมากขึ้น เหมือนในยุโรปและสหรัฐฯ กันแล้ว

นั่นหมายความว่า ในมิติหนึ่ง อุปสงค์สินค้าอาหารฮาลาลในจีนกำลังขยายตัว และในอีกด้านหนึ่ง ก็พบว่า อุปทานทั้งจากภายในและต่างประเทศกำลังถาโถมเข้าจีนมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการของจีนบางส่วนก็ทยอยออกไปขยายตลาดอาหารฮาลาลในตลาดโลกกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อตลาดสินค้าฮาลาลที่ไทยเคยจับอยู่

นอกจากนี้ การที่มุสลิมส่วนใหญ่ยังใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน ก็ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเร่งศึกษาวิเคราะห์และสนับสนุนส่งเสริมการทำตลาดสินค้านี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพราะตลาดนี้นับว่า “สร้างยาก” แต่เมื่อสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็ “ง่ายต่อการขยาย” ตลาด ในทางกลับกัน หากเราสูญเสียตลาดนี้ให้คู่แข่งขัน ก็จะเป็นการ“ยากที่จะเรียกคืนกลับมา”

งานแสดงสินค้า กิจกรรมสำคัญ และช่องทางการตลาด

ในด้านซีกตะวันออกของจีน เซี่ยงไฮ้นับเป็นศูนย์กลางของงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติในจีน โดยมีงานแสดงสินค้าที่สำคัญได้แก่ SIAL, HOTELEX และ FHC และเนื่องจากงานแสดงสินค้าดังกล่าวในเซี่ยงไฮ้จะมีผู้ซื้อจากหลายมณฑลในจีนและจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งผู้ที่ทำตลาดสินค้าฮาลาล เดินทางมาเยี่ยมชมงานดังกล่าว ทำให้ผู้จัดงานนิยมจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งนำเสนออาหารฮาลาลภายในงานแสดงสินค้าของตนขึ้นเป็นการเฉพาะขณะเดียวกัน ยังมีงานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลที่จัดโดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ร่วมกับรัฐบาลของมณฑลที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก แต่ตลาดส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นในนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียงเท่านั้น

งานแสดงสินค้าในมณฑลด้านซีกตะวันออกไล่ไปจนถึงอีสานจีนส่วนใหญ่เป็นงานสินค้าอาหารทั่วไป ที่มีการนำเสนอสินค้าอาหารฮาลาลปะปนอยู่ ขณะที่ศูนย์ค้าส่งสินค้าเกษตรในหลายเมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ และอี้อู ก็เป็นจุดที่มีชาวมุสลิมแวะเวียนไปซื้อหาสินค้าฮาลาลจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี

นอกจากนี้ ด้วยจำนวนกว่า 360 ล้านคนและอัตราการขยายตัวของผู้ที่เล่นเน็ต (Netizen) ในจีนก็ทำให้การขายสินค้าฮาลาลผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ECommerce) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน เว็บไซ้ท์สินค้าฮาลาลที่นำเสนอในรูปภาษาอังกฤษ อาราบิค และจีน อาทิ halal-food.cn ก็นับว่าเป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดที่ดีของสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดจีนได้เช่นกัน

แนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์สินค้าฮาลาล

ในการพัฒนาตลาดสินค้าฮาลาล ผมมีข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์และกิจกรรม/โครงการ ดังนี

4.1 “Natural Halal” สินค้าอาหารจำนวนมากที่ไทยเราสามารถผลิตได้และมิได้มีองค์ประกอบของสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องติดตรารับรองอาหารฮาลาล แต่สามารถจับตลาดคนมุสลิมได้ อาทิ ข้าว ผลไม้สด น้ำดื่มและสัตว์น้ำ (แม้ว่าในทางปฏิบัติ ผู้ผลิตจะพยายามหาตรารับรอง “ฮาลาล” มาติดไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประโยชน์ทางการตลาดก็ตาม)

4.2 “More than Muslim” นอกเหนือจากตลาดประเทศมุสลิมทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยควรพิจารณาตลาดสินค้าฮาลาลในมุมกว้าง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะประเทศหรือมณฑลที่มีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น เพราะในหลายภูมิภาคก็มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่แทบทั้งสิ้น เช่น ทวีปอเมริกาเหนือมีชาวมุสลิมกว่า 10 ล้านคน และทวีปยุโรปมีประมาณ 30 ล้านคน ขณะที่หลายประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะมีสัดส่วนของจำนวนประชากรชาวมุสลิมไม่มากนัก แต่ก็เป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีขนาดใหญ่ เช่น สิงคโปร์มีชาวมุสลิมร้อยละ 16 ของจำนวนประชากรโดยรวม แต่ธุรกิจอาหารจานด่วนอย่าง แม็คโดนัลด์สและเคเอฟซี ต่างก็ใช้เนื้อฮาลาลทั้งสิ้นเพื่อลดความยุ่งยากในการให้บริการอาหารต่อลูกค้าโดยรวม

ประการสำคัญ ในเกือบทุกประเทศ ชาวมุสลิมถือเป็นกลุ่มชนที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้นับถือศาสนาอื่น ตัวอย่างเช่น ชาวมุสลิมในทวีปยุโรปขยายตัวในอัตราร้อยละ 140 ขณะที่ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 250 ในช่วงทศวรรษนี้ ส่งผลให้ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นกัน ตลาดเนื้อฮาลาลในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในระหว่างปี 2540-2545 ประการสำคัญ เนื่องจากอาหาร “ฮาลาล” เป็นอาหารปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการด้านอาหารของโลก จึงประเมินว่ากว่าร้อยละ 20 ของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในปัจจุบันเป็นผู้คนที่มิได้นับถือศาสนาอิสลาม (Non-Muslim) ว่าง่าย ๆ คนกลุ่มหลังนี้อาจอยู่ในประเทศมุสลิม ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฮาลาล ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดอาหารฮาลาลในทางอ้อมด้วยเช่นกัน

4.3 “Beyond China” นอกเหนือตลาดจีนแล้ว ผู้ประกอบการของไทยอาจใช้จีนเป็นกระดานดีด (Springboard) ต่อไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่เข้าถึงลำบากแต่แฝงไว้ด้วยศักยภาพทางการตลาด อาทิ ปากีสถานคาซักสถาน คีร์กิซสถาน มองโกเลีย และรัสเซีย

4.4 “Super Halal” ด้วยขนาดของตลาดฮาลาลที่กำลังขยายตัวและสลับซับซ้อนมากขึ้นในหลายเมืองใหญ่ในจีน ก็สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าอาหารฮาลาลเชิงคุณภาพ เช่น อาหารฮาลาลสุขภาพ (Healthy Halal Food) และอาหารฮาลาลอินทรีย์ (Organic Halal Food) ตลอดจนการเปิดธุรกิจร้านอาหารฮาลาล สินค้าฮาลาลอื่นที่มิใช่อาหาร (เช่น เครื่องดื่ม เครื่องประทินผิว เครื่องแต่งกาย และของขวัญของตกแต่งบ้าน) โรงแรมฮาลาล (อาหาร เครื่องนอนและของใช้ในห้อง และเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นฮาลาล) โรงพยาบาลฮาลาล และแม้กระทั่งบริการด้านลอจิสติกส์สินค้าฮาลาล

ไทยต้องเดินหน้า

ในการดำเนินการตลาดดังกล่าวในตลาดจีน ผมมองว่า สิ่งแรกที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างคือ “ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น” ของสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดประเทศมุสลิม และนำกลับมาขยายผลในจีน โดยไทยควรพัฒนาต่อยอดจากวิสัยทัศน์ “Kitchen to the World” ที่มีอยู่เดิม

ในการนี้ การพัฒนาฐานการผลิต การสร้างฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลและการประกอบการธุรกิจร้านอาหารฮาลาลเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะวัยรุ่นจีนซึ่งเปิดรับและนิยมสินค้าต่างประเทศมากกว่าคนกลุ่มอื่น รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทยควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ การกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านการตลาดและกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดจีนที่หลากหลายและเป็นระบบจึงนับเป็นการบ้านใหญ่ของไทย โดยควรจำแนกแผนงาน/โครงการออกเป็นทั้งระยะสั้น (1 ปี) และระยะกลาง (3 ปี) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตลาดที่ต่อเนื่องและการติดตามประเมินผลโครงการอย่างจริงจัง

หลังจากความสำเร็จในระยะแรก ขั้นตอนต่อไปน่าจะมีความยากน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการไทยได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับชาวมุสลิมมาระยะหนึ่งแล้ว ธุรกิจไทยสามารถขยายโอกาสทางการตลาดต่อไปกลุ่มสินค้าและบริการอื่นที่ไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในตลาดจีนทั้งนี้ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายฐานลูกค้าที่สร้างไว้เดิม

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาร่วมกันลุยตลาดสินค้าฮาลาลกัน

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ