สถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 12:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาพการณ์ด้านการผลิตโดยรวม

จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้าเครื่องหนังที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ด้วยผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีของรัฐบาลจีนในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาและปัจจัยการผลิตภายในประเทศที่เอื้อต่อการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังในประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นอุตสาหกรรมเบา (Light Industry) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ซึ่งช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลากหมายมิติ อาทิ การสร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศ การจ้างแรงงานฝีมือ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต

ลักษณะทั่วไปของอุตสาหกรรมเครื่องหนังในจีนประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญได้แก่ การฟอกหนัง การผลิตรองเท้า การผลิตสินค้าที่ทำจากเฟอร์ และการผลิตสินค้าเครื่องหนัง รวมถึงการผลิตเครื่องมือเครื่องจักร สารเคมีและวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตหนังประมาณร้อยละ 70 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีนตั้งอยู่ในภาคตะวันออกและตอนกลางของจีนโดยจีนมีศูนย์ปศุสัตว์สำคัญอยู่ในมณฑลชิงไฮ่ (Qinghai Province) ขณะที่แหล่งผลิตสินค้าเครื่องหนังสำคัญอยู่ในมณฑลทางภาคใต้และตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้ง จีนยังมีเมืองไฮ่หนิง(Haining) ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang Province) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองเครื่องหนัง” (Leather City) ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย โดยมีพื้นที่ตอนใต้เป็น “Town of Leather” ตะวันตกเป็น “Leather Corridor” และตอนกลางเป็นศูนย์กระจายสินค้าส่งออกและมีมณฑลแถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีนเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตรองเท้า ขณะที่หนังเทียมมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ทางตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian Province)

          ในอดีต กิจการผลิตหนังของจีนส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและเน้นการใช้แรงงานเป็นหลักซึ่งโดยทั่วไปแล้วต้องเผชิญกับปัญหาเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่มีคุณภาพและขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง กล่าวคือ หนังสัตว์ (หนังฟอก) โดยทั่วไปจะใช้หนังที่มีรูปร่างไม่แน่นอน มีรอยขูดขีด และมีการถอนขนแบบหยาบๆ ดังนั้น อุปสงค์สินค้าหนัง
คุณภาพดีจึงมีระดับสูงกว่าของอุปทานภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องมีการนำเข้าสินค้าหนังจากต่างประเทศ
          ด้วยความได้เปรียบทางด้านราคา เนื่องจากจีนมีแรงงานค่าจ้างที่ถูกกว่าของค่าจ้างเฉลี่ยของตลาดโลก และความพร้อมในด้านแรงงาน จีนนับเป็นประเทศผู้ผลิตหนังดิบรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยผลิตได้ประมาณ 130 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการผลิตหนังเบา (Light Leather) โดยรวม ร้อยละ 90 ของหนังหมู (Pig Leather) โดยรวม และร้อยละ 35 ของหนังหนัก (Heavy Leather) โดยรวม
          ประเทศจีนมีโรงงานหนังขนาดใหญ่ที่มีพนักงานถึง 1,500 คน เป็นจำนวนมาก กอรปกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำทำให้หนังดิบที่ผลิตขึ้นในจีนมีราคาค่อนข้างต่ำ เช่น โรงผลิตหนังโคจากอำเภอหม่านจู๋ (Manzu) มณฑลจี๋หลิน (Jilin) อยู่ที่ราว 300 หยวนต่อแผ่น (ไม่รวมค่าขนส่ง) และราคาจากมณฑลเจ้อเจียงอยู่ที่ประมาณ 160 หยวนต่อตารางเมตร (ไม่รวมค่าขนส่ง) ขณะที่หนังโคจากสหรัฐฯ มีราคาอยู่ที่ประมาณ 52-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแผ่น (ประมาณ 354-380 เหรียญสหรัฐฯ)นอกจากนี้ ราคาขายส่งยังค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทำให้เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก
          ในส่วนของหนังฟอก พื้นที่บริเวณทางตอนใต้และตะวันตกของจีนได้แก่ นครฉงชิ่งมณฑลหนิงเซียะ และมณฑลกวางตุ้งโดยเฉพาะนครกวางโจว มีชื่อเสียงด้านการผลิตหนังฟอก
          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าส่งออกหนังดิบมาอย่างต่อเนื่องโดยนำไปปรับปรุงคุณภาพที่ฮ่องกง กอรปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องหนังภายในประเทศทำให้ความต้องการหนังดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกหนังโค-กระบือดิบที่มีแนวโน้มลดลง (และมีตลาดกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศไทย) จึงได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการผลิตและส่งออกหนังโคกระบือฟอก และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแทน

          ในอดีต จีนผลิตสินค้าส่วนใหญ่เป็นลักษณะการรับคำสั่งซื้อจากฮ่องกงและไต้หวันเนื่องจากยังเป็นการยากที่จะผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ลูกค้าชาวต่างชาติได้เข้ามาสั่งซื้อสินค้าในจีนเอง และนำแบบสินค้าที่ต้องการนำมาให้บริษัทของจีนที่รับจ้างผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อผลิตสินค้าให้ โดยสินค้าส่วนนี้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 90 ของทั้งหมดส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 10 จำหน่ายภายในประเทศ
          ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุน มีแรงงานจำนวนมหาศาล และอัตราค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งยังมีความพร้อมของวัตถุดิบ ทำให้สินค้าเครื่องหนังของจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งขัน ส่งผลให้จีนมีศักยภาพในการแข่งขันสูงในด้านราคา
          ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีนมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่ว่าจ้างแรงงานโรงงานละประมาณ 1,500 คนอยู่เป็นจำนวนมาก และมีคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเรียงรายอยู่อาทิ ฐานการผลิตขนาดใหญ่ แรงงานสนับสนุน ความพร้อมและสลับซับซ้อนของตลาดภายในประเทศ (จำแนกตามเพศ อายุ ระดับรายได้ อาชีพ ฤดูกาล และภูมิภาค) สถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญเครื่องหนัง และด้านการวิจัยและออกแบบ และเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโทรคมนาคม
          อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ผู้ประกอบการจีนได้นำเอาระบบบัญชี (Book Keeping) มาใช้ในการวางแผนและควบคุมการผลิตมากขึ้น ทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าจีนเริ่มขยับขึ้นไปจำหน่ายในกลุ่มเป้าหมายในตลาดระดับบนมากขึ้นโดยลำดับ
          ภายหลังการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเครื่องหนังรายใหญ่ของโลก แซงหน้าอิตาลีนับแต่ปี 2542 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนในจีนได้ขยายตัวไปด้านทิศตะวันตกของประเทศมากขึ้นเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบและลดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน อาทิ การจัดตั้ง Western China Shoe Industrial Park ณ เมืองปี้ชาน (Bishan) ในด้านตะวันตกของนครฉงชิ่ง (Chongqing) ซึ่งมีพื้นที่รวม 1.73 ล้านตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านหยวนโครงการนี้แล้วเสร็จเมื่อในปี 2549 และมีผู้ประกอบการกว่า 100 รายเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรองเท้า โดยที่แต่ละโรงงานจะมีกำลังการผลิตรองเท้าประมาณ 100 ล้านคู่ต่อปี
          อุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีนก็พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2551 จีนมีผู้ประกอบการเครื่องหนังอยู่ประมาณ 16,000 ราย ในจำนวนนี้ถูกจัดชั้นเป็นผู้ประกอบการชั้นนำอยู่เกือบ 800 ราย และอุตสาหกรรมนี้ว่าจ้างแรงงานทั้งสิ้น 5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมเฉลี่ยปีละร้อยละ 10 โดยส่วนหนึ่งเป็นแรงงานจากชนบท
          ในเชิงมูลค่า จีนมีสัดส่วนการผลิตสินค้าเครื่องหนังในตลาดโลกประมาณร้อยละ 17 (ขณะที่ไทยมีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 2)โดยประมาณร้อยละ 55 ของการผลิตหนังในจีนถูกใช้ในการผลิตเป็นรองเท้า(ประมาณ 2,500 ล้านคู่) ร้อยละ 20 ผลิตเป็นที่นั่งรถยนต์ (นับล้านตัว) ร้อยละ 15 ผลิตเป็นเสื้อผ้าและถุงมือ (เสื้อหนัง 65 ล้านตัว) และที่เหลือผลิตเป็นสินค้าเครื่องหนังอื่น
          จากการประเมินของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมของกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ในปี 2552 ตลาดเครื่องหนังของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นทั้งในด้านการผลิตเครื่องหนัง และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากการกำหนดมาตรการสนับสนุนและแผนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเครื่องหนังของรัฐบาลอันเห็นได้จากตารางต่อไปนี้ (กราฟแท่งเป็นปริมาณ (ล้านตัน) และกราฟเส้นเป็นอัตราการขยายตัว)

ตลาดสินค้าเครื่องหนังในจีน
          ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นสำหรับการจับจ่ายใช้สอย ตลาดภายในประเทศของจีนจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ผลจากการวิจัยของที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจอย่างโกลแมน ซาร์ช ระบุว่า ชาวจีนใช้เงินซื้อหาสินค้าเครื่องหนังคิดเป็นร้อยละ 37 ของมูลค่าตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย รองลงมาได้แก่ นาฬิกา(ร้อยละ 24) เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ร้อยละ 19) และเครื่องประดับ (ร้อยละ 12) ทั้งนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มสุดรวย และกลุ่มวัยรุ่นมีตังค์
          ในส่วนของสินค้าเครื่องหนังนั้น นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาสินค้าฟุ่มเฟือย แบรนด์สินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลกอาทิ Louis Vuitton, Prada และ Giorgio Armani ต่างเข้ามาทำตลาดในจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว นครต้าเหลียน และเมืองชิงเต่า
          ขณะเดียวกันแบรนด์ชื่อดังเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทำให้ผลประกอบการในระยะแรกของหลายรายยังติดลบอยู่ แต่จากการสอบถามผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายเชื่อมั่นในตลาดจีนและมองเม็ดเงินที่ใช้ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นเสมือนการลงทุนสร้างแบรนด์เพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจในระยะยาว
          จีนมีตลาดเครื่องหนังหลักอยู่ประมาณ 10 แห่ง โดย 3 อันดับแรกอยู่ที่มณฑลเหอเป่ย มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งคิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 29.3 ร้อยละ 26.2 และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ มณฑลกวางตุ้งนับเป็นเขตการผลิตรองเท้าหนังที่มีศักยภาพและเติบโตมากที่สุดในจีนโดยเฉพาะบริเวณชานเมืองของนครกวางโจวระหว่างสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ซึ่งเป็นตลาดขายส่งสินค้าที่สำคัญของจีน
          ตลาดสินค้าเครื่องหนังของจีนนับว่าใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ฉะนั้น สินค้าเครื่องหนังจึงมีความหลากหลายทั้งในด้านชนิดและราคาขายส่ง เช่น ในมณฑลกวางโจว ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เน้นตลาดรองเท้าหนังโค กระเป๋าถือผู้หญิง เข็มขัดหนังทั้งผู้ชายและผู้หญิง และกระเป๋าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เป็นต้น ขณะที่มณฑลเจ้อเจียงให้ความสำคัญกับแผ่นหนังโค-กระบือดิบซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าเครื่องหนังที่มุ่งส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย
          นอกจากผลิตภัณฑ์จากหนังโค-กระบือแล้ว ชาวจีนยังนิยมเครื่องหนังที่ผลิตจากหนังสัตว์ประเภทอื่น อาทิ หนังจระเข้ หนังงู หนังนกกระจอกเทศ และหนังปลากระเบน เนื่องจากสวยงามแปลกใหม่ และชาวจีนมีความเชื่อว่า “กระเป๋าหนังปลากระเบนสามารถเรียกเงินให้ไหลเข้ากระเป๋าได้” และ “หนังจระเข้นำโชคลาภมาให้” ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในการผลิตเครื่องหนังประเภทนี้และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจีนนักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อกลับไปเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่
เป็นที่ต้องการของตลาดจีนอย่างมากเช่นกัน

สถานการณ์การนำเข้าและส่งออกหนังและเครื่องหนังของจีน
          การส่งออก
          จีนมีการส่งออกสินค้าเครื่องหนังที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยในแต่ละปี จีนส่งออกเครื่องหนังทั้งระบบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าเครื่องหนังที่จีนส่งออกมากที่สุด ได้แก่ สินค้ารองเท้าหนัง รองลงมาคือ สินค้ากระเป๋าที่ใช้ในการเดินทาง
          เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังขาดแคลนวัตถุดิบ ความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ไม่เน้นรูปแบบและความประณีตมากนัก และส่วนใหญ่ประกอบการในรูปแบบของการรับจ้างผลิตในปริมาณมาก ทำให้สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มีระดับคุณภาพไม่สูงนัก จึงทำให้จีนมีศักยภาพสูงเฉพาะในตลาดระดับกลางและระดับต่ำ
          ผู้ประกอบการจีนยังออกไปบุกตลาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่งานแสดงสินค้าเครื่องหนังในเมืองใหญ่ของจีน อาทิ All China Leather Exhibition (ACLE) ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น และเป็นช่องทางในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในอีกทางหนึ่ง
          การนำเข้า
          การที่ประเทศจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเครื่องหนังรายใหญ่ของโลก ทำให้จีนเป็นตลาดนำเข้าหนังรายใหญ่ของโลกด้วยเช่นกัน จีนนำเข้าหนังดิบจากต่างประเทศในมูลค่าที่สูงในแต่ละปีโดยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ (กว่าร้อยละ 60) แคนาดา (ร้อยละ 12) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 12)
          อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจีนมิได้ให้ความสนใจกับหนังดิบของไทยเนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณ
          สำหรับหนังฟอก จีนนำเข้าหนังฟอกจากหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งคิดสัดส่วนรวมกว่าร้อยละ 50 ของการนำเข้ารวม ตามด้วยอิตาลี บราซิล สหรัฐฯ และมีการนำเข้าบางส่วนจากไทย กล่าวคือ คิดเป็นร้อยละ 2.4 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของจีน
          อย่างไรก็ดี ในปี 2551 ตลาดเครื่องหนังของจีนได้รับความกระทบกระเทือนจากวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลก ความต้องการสินค้าเครื่องหนังทั้งในและต่างประเทศลดน้อยลง ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกหนังโค-กระบือดิบของจีนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 70.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -32.6 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

จุดอ่อนและจุดแข็งของอุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีน
          อุตสาหกรรมเครื่องหนังของจีนมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง โดยในส่วนของจุดแข็งสามารถสรุปได้ ดังนี้
          1. จีนสามารถรองรับการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงได้ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (1,000-1,500 คน/โรงงาน)
          2. ผู้ประกอบการจีนรับจ้างผลิตสินค้า OEM ได้ในทุกระดับ แต่มีศักยภาพสูงมากในสินค้าระดับล่างและกลาง
          3. นอกจากแรงงานจีนจะมีจำนวนมากแล้ว ยังมีการพัฒนาฝีมือที่รวดเร็วและมีความพร้อมสูง ขณะที่การผลิตในจีนยังมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงงานและผลิตเครื่องจักรที่ต่ำ รวมทั้งในระยะหลัง ภาครัฐและเอกชนของจีนยังมีการวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
          4. จีนมีฐานการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กอรปกับการมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องหนังที่มีชื่อเสียง ดึงดูดลูกค้าจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการของจีน และความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่ายทางธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีน
          ขณะเดียวกัน ตลาดจีนยังเป็นแหล่งโอกาสสำหรับนักธุรกิจทั่วโลก เพราะยังมีจุดอ่อนดังนี้
          1. สินค้าเครื่องหนังของจีนยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดระดับบน เพราะในอดีต การผลิตส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพื่อการตอบสนองต่อตลาดในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการสินค้าคุณภาพปานกลาง ไม่มีการออกแบบที่เก๋ไก๋ และมีราคาถูก เป็นสำคัญ การขาดตราสินค้าที่แข็งแกร่ง และภาพลักษณ์ของสินค้าจีนยังเป็นสินค้าด้อยคุณภาพในสายตาของผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะของประเทศพัฒนา
          2. อุปสรรคด้านการสื่อสาร และจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ ทำให้ชาวต่างชาติประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจกับชาวจีน
          3. วัตถุดิบหนังที่ผลิตได้ในประเทศจีนยังมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าหนังคุณภาพดีจากต่างประเทศ
          4. ปัญหาขั้นตอนการนำเข้า และข้อกฎหมายในประเทศไม่ชัดเจน และหรือไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในการดำเนินการ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติ การเปิดช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของตนเองในจีนจำเป็นต้องมีใบอนุญาตค้าส่ง-ค้าปลีกตามแต่ธุรกรรม อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มาก จึงคาดว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในระยะยาว


          สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ