ภาวะการค้าข้าวในฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 14:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาวะการค้าข้าวในฮ่องกง

1.1 การค้าและการบริโภคข้าวของฮ่องกง

ข้าวเป็นสินค้าที่ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่บริโภคทุกวัน โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อคนประมาณ 48-50 กก. ต่อปี ฮ่องกงไม่ผลิตข้าว แต่จะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 300,000 ตันต่อปี มูลค่าปีละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองตลาดร้อยละ 80-85 ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ส่วนที่เหลือจะส่งต่อไปยังประเทศ ที่สาม อาทิ มาเก๊า จีน แคนาดา สหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลในการเลือกซื้อข้าวของชาวฮ่องกง ได้แก่ ราคา คุณภาพ และรสชาด โดยชาวฮ่องกงนิยมบริโภคทั้งข้าวเมล็ดยาว(ข้าวหอมมะลิจากไทย) และข้าวเมล็ดสั้น

1.2 มาตรการของรัฐบาลฮ่องกงเกี่ยวกับการค้าข้าว

ข้าวถือเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ (Strategic Commodities) ของฮ่องกง การจะนำเข้าต้องขออนุญาตจากกรมการค้าและอุตสาหกรรม(Department of Trade and Industry) เมื่อปี 2498(ค.ศ.1955) รัฐบาลฮ่องกงได้ดำเนินโครงการควบคุมการค้าข้าว(rice control scheme) เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ฮ่องกงจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค และมีข้าวสำรองในยามฉุกเฉินด้วย ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้นำข้าวจะได้รับการจัดสรรโควต้าการนำเข้าข้าว ต่อมา หลังจากที่ฮ่องกงเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2538 (ค.ศ.1995) รัฐบาลฮ่องกงจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันการค้าข้าวอย่างเสรีมากขึ้น จึงได้ทบทวนโครงการนี้ใหม่ และดำเนินมาตรการเปิดเสรีการค้าข้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2539 (ค.ศ.1996) เป็นต้นมา โดยในปี 2546 (ค.ศ.2003) รัฐบาลได้คงมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมการค้าข้าวไว้บางมาตรการเท่านั้น เพื่อเป็นการประกันการมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค โดยผู้ที่มีความประสงค์จะค้าข้าวในฮ่องกงต้องลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้าข้าว หรือประกอบกิจการค้าข้าว (การขายส่งและการขายปลีก)

หลังจากปี พ.ศ.2546 รัฐบาลฮ่องกงได้ยกเลิกข้อกำหนดในการนำเข้าข้าว และปล่อยให้ราคาข้าว จำนวนของผู้ประกอบการ และส่วนแบ่งตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของการแข่งขันอย่างเสรีในตลาด ทำให้จำนวนผู้ค้าข้าวเพิ่มขึ้นจาก 50 รายในปี 2546 เป็นประมาณ 121 รายในปัจจุบัน (พ.ย.2552) โดย Trade and Industry Department ของฮ่องกงมีหน้าที่หลักในการติดต่อ/ประสานงานกับผู้ค้าข้าว ตลอดจนตรวจสอบการนำเข้า การเก็บสินค้า และการขายข้าวอย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 รัฐบาลฮ่องกงได้มอบหมายให้ Consumer Council ดูแลและสำรวจการเคลื่อนไหวของราคาอาหารและสินค้าที่จำเป็น(รวมถึงข้าว) โดยได้เพิ่มความถี่ของการสำรวจจาก 1 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ เป็น 1 ครั้งต่อสัปดาห์ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.2551 และเผยแพร่ผลการสำรวจผ่านเว็ปไซค์ของ Consumer Council และผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

2. ข้าวไทยในฮ่องกง

2.1 ข้าวไทยและการแข่งขันในตลาดฮ่องกง

ข้าวไทยเป็นที่นิยมในตลาดฮ่องกงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิ เนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี โดยสามารถครองส่วนแบ่งของตลาดได้มากที่สุด (ประมาณร้อยละ 81.0) เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่นๆ อาทิ จีน(ร้อยละ 13.1) เวียดนาม(ร้อยละ 4.9)ออสเตรเลีย(ร้อยละ0.6) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 0.1) ทั้งนี้ เวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีสถิติการนำเข้าข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังฮ่องกงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002-2009(ม.ค.-พ.ย.) ดังนี้

(หน่วย: พันตัน)

ปีค.ศ/พันธ์ข้าว           2002       2003       2004       2005       2006          2007        2008     2009(ม.ค.-พ.ย.)
ไทย
ข้าวหอมมะลิ            260.0      227.2      203.9      222.5      218.4         235.0       208.2         192.0
ข้าวขาว                13.0       26.2       60.3       69.5       56.7          49.0        71.0          34.9
อื่นๆ                   13.1       11.5       16.1       15.8       16.1          15.0        15.3          12.4
รวม                  286.1      264.9      280.3      307.8      291.2         299.0       294.5         239.3
                   -86.70%    -86.90%    -88.70%    -90.70%    -90.90%       -90.60%     -88.00%       -81.70%
จีน
ข้าว See Mew            3.3        3.7        2.9        2.4        1.6          1.7          1.8           7.5
ข้าว Yu Jien            8.8       13.7       13.0       10.5       16.5         13.3         28.0          31.3
อื่นๆ                    0.1        0.2        0.4        0.7        0.6          0.6          0.5           0.3
รวม                   12.2       17.6       16.3       13.6       18.7         15.6         30.3          39.1
                    -3.70%     -5.70%     -5.10%     -4.00%     -5.90%       -4.70%       -9.00%       -13.40%
Australia
ข้าว Inga              15.4       13.7        8.3        4.1        2.1          3.3          1.5           0.6
ข้าว Calrose            9.3        6.4        6.9        5.3        5.1          4.9          3.4           1.8
อื่นๆ                    0.2         -          -          -          -            -            -              -
รวม                   24.9       20.1       15.2        9.4        7.2          8.2          4.9           2.4
                    -7.60%     -6.60%     -4.80%     -2.80%     -2.30%       -2.50%       -1.30%        -0.80%
เวียดนาม                0.5        0.4        0.9        0.9        1.8          0.2          1.6          10.8
สหรัฐอเมริกา             5.3        4.9        2.7        6.9        0.8          0.7          0.7           0.4
อื่นๆ                    0.2        0.4        0.7        0.3        0.7          6.1          2.7           0.9
      รวมทั้งสิ้น        329.9      308.2      315.9      339.1      320.2        329.9        334.7         292.9

2.2 โอกาสของข้าวไทยในตลาดฮ่องกง

  • ข้าวไทยนับว่าเป็นที่นิยมและติดตลาดฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีคุณภาพที่ดี ดังนั้น การรักษาคุณภาพข้าวของไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยจะต้องมีการตรวจสอบไม่ให้มีสิ่งปลอมปนในข้าว ตลอดจนไม่ให้มีการผสมข้าวหอมมะลิกับข้าวชนิดอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้าวไทยจะมีราคาแพง แต่ชาวฮ่องกงก็ยังคงเลือกที่จะบริโภค เนื่องจากมีกำลังซื้อและนิยมสินค้าที่มีคุณภาพดีมากกว่าปัจจัยด้านราคา
  • ไทยอาจจะส่งเสริมการส่งออกข้าวเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวปลอดสารพิษ ข้าวกล้อง ไปยังตลาดฮ่องกงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันชาวฮ่องกงหันมาให้ความสนใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

2.3 ปัญหา

  • ชาวฮ่องกงเริ่มหันมานิยมบริโภคข้าวจากเวียดนาม เนื่องจากราคาไม่แพง ข้าวที่นำเข้าจากเวียดนาม (อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2551 ร้อยละ 1.6 ปัจจุบัน(ม.ค.-พ.ย. 52) เพิ่มขึ้นเท่ากับ ร้อยละ 4.9) โดยราคานำเข้า เฉลี่ยแล้วถูกกว่า คิดเป็น 150/25 กก.(ข้าวขาว)
  • ตลอดจนฮ่องกงนำเข้าจากจีน(อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 9.4 ในปี 2552(ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 13.4)

2.4 การส่งเสริมการขาย

  • ไทยอาจสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไปฮ่องกงได้มากขึ้น โดย

o การส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางร้านอาหารไทยในฮ่องกงให้มากขึ้น

o การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยตามเทศกาลต่างๆ หรือตามงาน in-store promotion โดยอาจสาธิตการทำอาหารโดยใช้ข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ

o ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ข้าวหอมมะลิไทย ผ่านสื่อต่างๆ

o ร่วมมือกับผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบ่อยๆ ครั้ง

o ร่วมมือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวในฮ่องกง จัดกิจกรรมหรือสร้างความเชื่อมั่นของข้าวหอมมะลิไทย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ฮ่องกง   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ