ข้อมูลเบื้องต้นเมืองเหยียนเฉิง (Yancheng)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 16:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

เหยียนเฉิงเป็นเมืองที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลเจียงซูโดยมีพื้นที่รวมถึง 16,920 ตารางกิโลเมตร จำแนกเป็นพื้นที่เพาะปลูก 12,370 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ชายหาดรวมเกาะแก่งต่าง ๆ อีกประมาณ 4,550 ตารางกิโลเมตร เมืองเหยียนเฉิงตั้งอยู่ในบริเวณกลางค่อนไปทางด้านทิศเหนือของมณฑลเจียงซู โดย

  • ทิศเหนือมีแม่น้ำก้วนคั่นระหว่างเมืองเหลียนหยุนกั่ง (Lanyungang)
  • ทิศใต้ติดกับเมืองหนานทง (Nantong) หนึ่งในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของมณฑลเจียงซู
  • ทิศตะวันออกใกล้กับทะเลเหลือง (Yellow Sea)
  • ทิศตะวันตกติดกับเมืองหวยอาน (Huaian)
  • ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับเมืองหยางโจว (Yangzhou) และเมืองไท้โจว (Taizhou) ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้แรงงานฝีมือและเทคโนโลยีเข้มข้น

เมืองนี้มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดของมณฑลเจียงซู กล่าวคือมีความยาวเกือบ 600 กิโลเมตร คิดเป็น 56% ของมณฑลเจียงซู พื้นที่ชายฝั่งทะเลรวมเกือบ 18,900 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่แม่น้ำ 12,144 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง 6,753 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แหล่งน้ำอีกมากกว่า 2,700 ตารางกิโลเมตร จนถูกเรียกว่าเป็น “เมืองแห่งแม่น้ำ” อีกแห่งหนึ่งของจีน

ภูมิอากาศ

เหยียนเฉิงอยู่ในภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนแถบเอเชียมีมรสุมอบอุ่นพัดผ่าน โดยมีทางทดน้ำของเจียงซูเหนือเป็นเขตแบ่งส่วนทางน้ำ ด้านทิศใต้จัดอยู่ในเขตมรสุมร้อน ทางน้ำด้านทิศเหนือจัดอยู่ในมรสุมอบอุ่น ภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากทะเลซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองทางด้านทิศตะวันตกของมณฑลเจียงซู จะมีอุณหภูมิต่ำในฤดูใบไม้ผลิและอุณภูมิเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ฤดูใบไม้ร่วงอุณภูมิลดลงค่อนข้างช้า แต่มีอุณหภูมิสูงกว่าฤดูใบไม้ผลิ ปริมาณฝนมากกว่าทิศตะวันตกมาก

อากาศในแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างอย่างชัดเจนโดยเฉพาะฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิกและแผ่ขยายไปยังทิศใต้ ซึ่งทำให้มีอากาศอบอุ่นและชื้นและมีฝนตกโดยทั่วไป โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-1,600 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37.2 องศาเซลเซียส ณ เมืองฟู้หนิงและเมืองเหยียนตู อุณหภูมิต่ำสุด -10.6 องศาเซลเซียส ณ เขตเมืองเซี้ยงสุย

ประชากรและเศรษฐกิจ

จากสถิติสำมะโนประชากร ณ ปลายปี 2551 เมืองเหยียนเฉิงมีประชากรรวมประมาณ 8.15 ล้านคน ในด้านเศรษฐกิจ เมืองเหยียนเฉิงมี GDP ประมาณ 162,300 ล้านหยวนในปี 2551 เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมาคิดเป็นเฉลี่ยต่อคนมากกว่า 21,000 หยวน (หรือ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ) โดยโครงสร้างเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากการพึ่งพาภาคการเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเข้ามาลงทุนของกิจการผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างเกีย (Kia) แห่งเกาหลีใต้ ขณะที่รายได้กองคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 2 ปี จากแต่เดิมมีรายได้เพียง 9,030 ล้านหยวน เพิ่มเป็น 21,610 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45.7% ต่อปี

การส่งออกโดยรวมมีมูลค่า 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 53% อยู่ในลำดับ 2 ของมณฑลมูลค่าการจดทะเบียนการลงทุนจากต่างประเทศสุทธิ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 23.3% สินทรัพย์ฝ่ายทุน 112,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 35.6% มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรม 61,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 40.3% ธุรกิจส่วนบุคคลรายใหม่ 14,000 ราย รายได้เฉลี่ยของประชาชนในเมืองเท่ากับ 15,862 หยวน และในชนบท 6,790 หยวน เพิ่มขึ้น 14.5% และ 11.5% ตามลำดับ

ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เมืองเหยียนเฉิงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลาง ได้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญ 8 ประเภท และขยายโครงการต่าง ๆ อีก 10 โครงการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. โครงการสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ 8 ประเภท เมืองเหยียนเฉิงมีโครงการสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ 8 ประเภท จำแนกเป็น 80 โครงการใหญ่ และ 154 โครงการย่อย ซึ่งคาดว่าจะมียอดการลงทุนทั้งปีรวม 17,400 ล้านหยวน ซึ่งมียอดรวมของการลงทุน 2 ไตรมาสแรกของปีถึง 9,200 ล้านหยวน คิดเป็น 53% ของแผนการลงทุนประจำปีทั้งนี้ โครงการสำคัญทั้งหมด 154 โครงการยังสามารถแบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 63 โครงการ และโครงการใหม่ 91 โครงการ ปัจจุบันมีโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วทั้งหมด 70 โครงการ และอยู่ในระหว่างก่อสร้างโครงการอีก 133 โครงการ

2. การพัฒนาโครงการต่าง ๆ

2.1 โครงการท่าเรือต้าเฟิงระยะที่ 2 หลังจากที่ท่าเรือต้าเฟิงระยะแรกเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2550 ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้พิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ครบครันและให้ท่าเรือต้าเฟิงเป็นท่าเรือน้ำลึกที่เปิดให้บริการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ และสามารถรับขนาดเรือได้ถึง 50,000-100,000 ตัน

2.2 โครงการก่อสร้างท่าเรือเซ้อหยาง ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับประเทศอิตาลี และลงนามในบันทึกความเข้าใจไปเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ปัจจุบัน เขตมณฑลเซ้อหยางยังมีการเตรียมความพร้อมก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการในปลายปี 2551

2.3 โครงการก่อสร้างท่าเรือปินไฮ่ ท่าเรือปินไฮ่ได้รับการพิจารณาเป็นโครงการในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 อีกทั้งยังมีโครงการใหญ่ ๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า โครงการ LNG และโรงกลั่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น China Huadian Cooperation และ Preto China เป็นต้น

2.4 โรงงานไฟฟ้าท่าเรือเฉินเจีย โครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาเข้าร่วมแผนพัฒนาเศรฐกิจฉบับที่ 11 และผ่านการประเมินคุณภาพด้านพลังงานไฟฟ้าแล้ว

2.5 โรงงานไฟฟ้าท่าเรือเฉินหยางระยะที่ 3 ได้ผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงพลังงานของจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้รับการยอมรับจาก State Grid of China ให้สามารถเข้าร่วมระบบอินเตอร์เน็ทได้

2.6 แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแรงลมในบริเวณเขตชายฝั่งทะเล 5 เขต ทั้งนี้ โครงการพลังงานลมตงไถเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ขณะที่โครงการพลังงานลมต้าเฟิงประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการแล้ว และยังมีโครงการที่ได้ผ่านการพิจารณาและสามารถดำเนินโครงการแล้ว เช่น เขตเซ้อหยาง และเขตปินไฮ่ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้เช่นกัน

2.7 โครงการปิโตรเคมี CPP งบประมาณลงทุนทั้งหมดประมาณ 4,600 ล้านหยวน

2.8 โครงการก่อสร้างศูนย์กลางระบบขนส่ง เขตพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งอะไหล่รถยนต์ศูนย์กลางระบบขนส่งผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำวัน ศูนย์กลางระบบขนส่งเมืองเจียงซูเหนือ ศูนย์กลางระบบขนส่งผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นต้น

2.9 โครงการ Membrane Caustic Soda เขตมณฑลเซี้ยงสุย

2.10 โครงการทางรถไฟเมืองเหยียนเฉิง โครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาเข้าร่วมแผนพัฒนาจราจรฉบับที่ 11 ของมณฑลเจียงซู

การแบ่งเขตการปกครอง

เหยียนเฉิงมีสถานะตามประเภทการปกครองเป็น “เมือง” โดยมีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 เขต 5 เขตมณฑล และ 2 เมืองเทียบเท่าอำเภอ

                    ชื่อ                          จำนวนประชากร (คน)     พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร)
          เขตถิงหู (Tinghu District)                 839,000                   732
          เขตเหยียนตู (Yandu District)               747,500                 1,047
          เขตมณฑลเซี้ยงสุย (Xiangshui County)         605,900                 1,461
          เขตมณฑลปินไฮ่ (Binhai City)              1,146,000                 1,915
          เขตมณฑลฟู้หนิง (Funing County)            1,081,800                 1,439
          เขตมณฑลเซ้อหยาง (Sheyang County)          993,700                 2,885
          เขตมณฑลเจี้ยนหู (Jianhu County)             804,300                 1,160
          เมืองเทียบเท่าอำเภอตงไถ (Dongtai City)    1,152,300                 3,221
          เมืองเทียบเท่าอำเภอต้าเฟิง (Dafeng City)      727,400                 3,059

นอกจากนี้ เมืองเหยียนเฉิงยังเป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” กับอีกหลายเมืองสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่
  • Chieti อิตาลี (นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535)
  • Namwon เกาหลีใต้ (นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2531)
  • Deva โรมาเนีย (นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541)
  • Kashima ญี่ปุ่น (นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2545)
  • San Diego สหรัฐฯ (นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2546)
เกษตรกรรม

เมืองเหยียนเฉิงเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลเจียงซู และเป็นเมืองแห่งอาหารลำดับที่ 8 ของประเทศ ซึ่งมีแหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพสูง 1 แห่ง และแหล่งผลิตฝ้ายที่มีชื่อเสียงอีก 6 เขต นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ทางทะเลและพืชพรรณธรรมชาติ น้ำมันพืช ต้นหม่อน และไข่ปลา ซึ่งมีปริมาณเป็นอันดับต้น ๆ ของมณฑล

ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 เขตที่เข้าร่วมโครงการอาหารของมณฑล และมีอุตสาหกรรมที่ผ่านการพิจารณาด้านผลิตภัณฑ์เพาะปลูกปลอดสารพิษรวม 212 แห่ง พื้นที่ 22.3 หมู่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ 87 แห่ง ซึ่งผลิตปศุสัตว์ประมาณ 180 ล้านตัว ซีพีของไทยเองก็เข้าไปร่วมลงทุนในฟาร์มเพาะลูกหมูขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ Jiangsu Chia Tai Swine Business Co., Ltd. ในเมืองนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เกษตรกรรมตัวอย่างของประเทศและมณฑลอีก 5 เขต และแหล่งผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออกอีก 6 แห่ง พื้นที่ที่ผ่านการพิจารณาเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ 2 แห่ง ขนาดพื้นที่ 10.2 หมู่ แหล่งอาหารฉลากเขียว (Green Foods) อีก 6 แห่ง พื้นที่รวม 22,000 หมู่

โดยสรุป เมืองเหนียนเฉิงมีปริมาณผลิตภัณฑ์เพาะปลูกปลอดสารพิษ อาหารฉลากเขียวและผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ที่มีตราสัญลักษณ์รวมทั้งหมด 179 ชนิด

ทรัพยากรน้ำมัน

ที่ผ่านมา มีการสำรวจพบทรัพยากรน้ำมันปริมาณถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ว่าอาจจะมีปริมาณมากว่านั้นมาก ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลและรอบชายฝั่งของทะเลหวงอีกประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นพื้นที่สะสมของชั้นตะกอนน้ำมันเป็นอับดับ 2 ของประเทศ

พลังงาน

เมืองเหยียนเฉิงมีพลังงานไฟฟ้าและถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยปัจจุบันเมืองเหยียนเฉิงมีโรงงานไฟฟ้าในหลายเขตเมือง เช่น โรงงานไฟฟ้าเมืองปินไฮ่ และโรงงานไฟฟ้าท่าเรือเช้อหยาง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 14 ล้านกิโลวัตต์ และในปี 2553 จะมีปริมาณกระแสไฟฟ้าถึง 30 ล้านกิโลวัตต์

เมืองเหยียนเฉิงยังเป็นเขตที่มีแก๊ซธรรมชาติมากที่สุดในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกมีปริมาณถึง 210,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ เมืองเหยียนเฉิงยังเปิดกว้างออกสู่ทะเลและเป็นช่องรับและระบายลมสำคัญของมณฑล โดยในแต่ละรอบปี จะมีลมที่มีระดับความเร็วมากกว่า 4 เมตรต่อวินาทีอยู่ถึง 63-156 วัน จึงนับเป็นแหล่งพัฒนาพลังงานจากแรงลมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจีน

คมนาคม

เมืองเหยียนเฉิงมีเส้นทางคมนาคมที่มีประสิทธิภาพหลายรูปแบบ ทั้งทางรถไฟ ถนน ทางอากาศ และทางน้ำ สรุปได้ดังนี้

ทางรถไฟ นับแต่วันที่ 1 เดือนกรกฏาคม 2548 เป็นต้นมาได้เปิดบริการใช้รถไฟไปยังทั่วประเทศ ปัจจุบันมีรถไฟ 8 สายมาเทียบสถานีรถไฟเหยียนเฉิง และมีรถไฟวิ่งตรงไปยังเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง ฮาร์บิน เฉิงตู ชิงเต่า เป็นต้น

ทางด่วน เส้นทางสายหลักถึง 240 เส้นทาง โดยมีทางด่วนเชื่อมโยงเข้าออกเมืองเหยียนเฉิงถึง 5 สาย อาทิ ทางด่วนหนิงจิ้งเหยียนที่อยู่ในเมืองเหยียนเฉิงเชื่อมไปยังทิศตะวันตก ทิศใต้สามารถเชื่อมไปยังเมืองหนานจิง ทิศเหนือสามารถเชื่อมไปยังเหลียนหยุนกัง นอกจากนี้ ยังมีทางด่วนที่ขนานกับชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ซึ่งทางด่วนทั้งสองนี้เป็นทางด่วนที่สำคัญของเมืองเหยียนเฉิง

ทางอากาศ สนามบินเหยียนเฉิงตั้งอยู่ในเขตถิงหู (ตำบลหนานหยาง) ระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ 8.3 กิโลเมตร สามารถเชื่อมไปยังทางด่วนหนิงเหยียนเหลียนเหยียน หวยเหนียน และเหยียนทงเป็นต้น ทั้งนี้ สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารปีละ 300,000 คน-ครั้ง ปัจจุบัน มีการเปิดเส้นทางการบินจากเหยียนเฉิงไปยังปักกิ่ง กวางโจว และเกาหลี อีกทั้งสนามบินเหยียนเฉิงยังประสบความสำเร็จในการเป็นสนามบินเปิดที่มีเครือข่ายของสายการบินจากต่างประเทศให้บริการมากมาย ปัจจุบันในส่วนของอาคารผู้โดยสารต่างประเทศกำลังจะติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ และมีการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ รวมทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มควมสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น

ทางน้ำ เมืองเหยียนเฉิงมีโครงการพัฒนาและก่อสร้างท่าเรือในหลายเขต และมีโครงข่ายแม่น้ำเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ซึ่งเมื่อผนวกกับโครงข่ายเส้นทางคมนาคมรูปแบบอื่น ๆ แล้ว ก็จะทำให้เมืองเหยียนเฉิงพัฒนาเป็นจุดขนถ่ายสินค้าสำคัญของมณฑลเจียงซูและพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต

สถานที่ท่องเที่ยว

เมืองเหยียนเฉิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยมีทรัพยากรท่องเที่ยวการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เมืองเหยียนเฉิงมีจุดชมวิวทิวน์ต่าง ๆ ที่เปิดให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วไปมากกว่า 40 แห่ง ซึ่งมีการจัดลำดับดังนี้ เขตชมวิวระดับ AAA จำนวน 2 แห่ง และเขตชมวิวระดับ AA จำนวน 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงมาก 1 แห่ง และเขตคุ้มครองธรรมชาติระดับประเทศ 2 เขต

ทิศตะวันออกของเมืองมีอาณาเขตของพื้นที่ทะเลแปซิฟิกตะวันตก และเป็นเมืองชายฝั่งชุ่มชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเขตคุ้มครองพื้นที่ชุ่มชื้น (Yancheng Coastal Wetlands) ที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เขตระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มชื้นเมืองเหยียนเฉิง "Yancheng Nature Reserve" แห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มชื้นในระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออก เขตคุ้มครองพื้นที่ชุ่มชื้นดังกล่าวยังถูกจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าระดับโลก และเขตคุ้มครองสัตว์หายากของประเทศ อาทิ นกกระเรียนหัวแดง (Red-crowned Crane) ห่าน (Swan) และนกนานาพันธุ์

ปัจจุบัน เขตคุ้มครองกวางเมืองต้าเฟิง (Dafeng Milu Nature Reserve) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจในหมู่คนที่รักสัตว์และธรรมชาติภายหลังการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เขตคุ้มครองดังกล่าวได้เพาะเลี้ยงจนมีกวางพันธุ์พิเศษจำนวนมากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งเป็นปริมาณในระดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้เมืองเหยียนเฉิงยังเป็นแหล่งกำเนิดของงิ้วหวยจวู้ และเมืองแห่งการแสดงต่าง ๆ โดยสรุปเมืองเหยียนเฉิงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ 11 แห่ง ดังนี้

  • ฮ่ายเทียนเฮ้อเซียง เขตคุ้มธรรมชาติเมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู
          - จินทานเจินลู่           เขตคุ้มครองกวางต้าเฟิง
          - คูจือฉีเยี้ยน            สวนดอกไม้เมืองเหยียนเฉิง
          - จ้งหูชิวเซ้อ            จุดชมวิวตำบลต้าจ้งหู เขตเหยียนตู
          - จิ่วหลงซี้จู             การละเล่นไข่มุกตำบลจิ่วหลงโข่ว เขตเจี้ยนหู
          - เที่ยจวุนเฟิงผาย        พิพิธภัณฑ์รำลึกทหารเมืองเหยียนเฉิง
          - ซือกงอี๋จง             พิพิธภัณฑ์ซือน้ายอัน
          - ซีสีกู่ยวุ้น              วัดไท้ซานเมืองตงไถ
          - จินถาหลิวฮุย           ตึกหนงหางเมืองเหยียนเฉิง
          - อิ๋งปินจี๋เซี๋ยน           สวนสาธารณะอิ๋งปินเมืองเหยียนเฉิง
          - ชือตี้กงหยวน           สวนสาธารณะเหยียนตู

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ