ตลาดสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านในสวิตเซอร์แลนด์กับโอกาสของสินค้าไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2010 15:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2010-2011

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่ง ที่เศรษฐกิจมั่นคงและมีเสถียรภาพในลำดับต้นๆ ของโลกในช่วงปี 2005-2008 มีอัตราเฉลี่ยการขยายตัวของ GDP อยู่ระหว่างร้อยละ 2-4 ต่อปี แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคบริการทางการเงินอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน โดยภาวะเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ หดตัวถึงจุดต่ำสุดที่ ร้อยละ 2.9 ในช่วงกลางปี 2009 (เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2008)

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (KOF Swiss Economic Institute) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 1.5 ในปี 2010 และ 2011 ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาคการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ที่มี แนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 2.2 ในปี 2010) และการบริโภคของภาคเอกชนที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ในปี 2010

2. ขนาดตลาด และความสำคัญของตลาดสวิตเซอร์แลนด์

สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาด ที่มีขนาดประชากรจำนวน 7.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีประชากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economically Active Population) อยู่ถึงจำนวน 4.3 ล้านคน และคิดเป็นประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) สูงถึงร้อยละ 81.8 ในปี 2008

2.1 รายได้ของประชากร กับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

ในด้านรายได้ของประชากร สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีค่าจ้าง/เงินเดือนสูงสุดเป็นอันดับสองของภูมิภาคยุโรป รองมาจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และจากงานวิจัยของธนาคาร UBS เมื่อปี 2007 พบว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ (เงินเดือน ค่าจ้าง) ของครัวเรือนในสวิตเซอร์แลนด์เพียงร้อยละ 1.0 ส่งผลให้ครัวเรือนดังกล่าวมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย

ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น จากการคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศ พบว่าปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ ที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง คือ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนในประเทศ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์และประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Federal Statistical Office) พบว่า ในช่วงปี 2010-2015 กลุ่มครัวเรือนสวิสมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสูงที่สุดในกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและของใช้/ของตกแต่งภายในบ้าน (Housing, Household Goods and Services) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 28 ของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนสวิสทั้งหมด

2.2 ความสำคัญของตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ในด้านตำแหน่งที่ตั้งและความสัมพันธ์ด้านการค้ากับ EU

เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรปและมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) อย่างเหนียวแน่น โดยอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่ง EU เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ การค้ากับสหภาพยุโรปคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของการนำเข้า และกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับต้น ของ EU และมีความสำคัญใกล้เคียงกับคู่ค้าอันดับต้นอื่นๆ ของ EU อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า (Distribution/Redistribution Centre)สำหรับการค้าสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก EU โดย สินค้าที่ผลิตใน EU สามารถขนส่งจากประเทศสมาชิก EU ผ่านทางสวิตเซอร์แลนด์ไปยังประเทศสมาชิก EU อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี (Corporate Tax) จึงเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันได้อย่างดีมาก

3. สถิติการส่งออกสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านของไทย ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1998-2009 (ม.ค.-ต.ค.)

การระบุประเภทสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสวิตเซอร์แลนด์นั้นสามารถดูได้จากสถิติการส่งออกของ World Trade Atlas ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เทียนไข ไม้ กระดาษ ตะกร้าและเครื่องจักสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องเซรามิกส์ เครื่องแก้ว และรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ โดยการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ของไทยมายังตลาดสวิสโดยรวมแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา (ระหว่างปี 1998-2009) ซึ่งดูได้จากตารางที่ 1 และการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก ดังแสดงไว้ใน รูปที่ 2

ตารางที่ 1: มูลค่าการส่งออกสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านของไทย ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ปี 1998-2009 (ม.ค.-ต.ค.)
(หน่วย: ล้าน USD)
 HS    Description          1998  1999  2000  2001  2002  2003  2004  2005  2006   2007   2008  2009
3406  Candles               0.03  0.12  0.14  0.12  0.11  0.18  0.44  0.37  0.53   0.91   0.94  0.99
3924  Plasticware           0.28  0.44  0.24  0.14  0.18  0.18  0.23  0.26  0.20   0.33   0.29  0.34
4420  Woodware              0.89  1.35  1.31  2.88  3.25  3.24  3.63  5.98  8.74  14.76  17.19  7.41
4602  Wickerware            0.03  0.05  0.03  0.00  0.03  0.05  0.08  0.08  0.08   0.07   0.07  0.04
4818  Paperware             0.01  0.01  0.00  0.00  0.00  0.00  0.04  0.00  0.00   0.00   0.02  0.00
6702  Artificial Flowers    0.13  0.25  0.16  0.10  0.11  0.09  0.37  0.14  0.12   0.05   0.09  0.11
6913  Ceramicware           0.04  0.06  0.15  0.11  0.02  0.03  0.06  0.04  0.06   0.05   0.10  0.07
7013  Glassware             0.14  0.12  0.17  0.05  0.06  0.17  0.27  0.18  0.29   0.26   0.24  0.49
8306  Metalware             0.10  0.10  0.12  0.07  0.07  0.03  0.11  0.23  0.29   0.24   0.18  0.32
ที่มา: World Trade Atlas, December 2009

4. ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้นำเข้าและ Trader สินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านของไทยรายใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์

คุณ Georg Simon เจ้าของและผู้ก่อตั้ง บริษัท Wilai GmbH ตั้งอยู่ที่เมือง Wiesenena ประเทศเยอรมนี (www.wilai.de) เป็นบริษัทผู้นำเข้าสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า สินค้าของไทยได้รับความนิยมอย่างมากในทั้งสองประเทศ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ของตกแต่งบ้านและสวน ประเภทที่เป็นรูปปั้นจากหินทราย น้ำพุไม้แกะสลัก และรูปภาพวาดรูปแบบไทยๆสำหรับติดข้างฝาผนังแจกันไม้แกะสลัก โคมไฟตั้งโต๊ะ รวมทั้งประเภทของขวัญขนาดเล็กๆ อย่างเช่น กรอบรูปที่ทำจากไม้ และผ้าไหม ตะกร้าใส่ไวน์ และเครื่องจักสานใช้บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น โดยในแต่ละสัปดาห์บริษัทฯ จะส่งสินค้าไทยที่นำ เข้ามาเหล่านี้ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ผ่านทางบริษัท Karawane-Shop (www.karawane-shop.ch) ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าของตน คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 3,000 — 5,000 ยูโรต่อสัปดาห์

คุณ Simon ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุผลสำคัญที่สินค้าดังกล่าวของไทยได้รับความนิยมในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ คือ design และคุณภาพของสินค้าไทย ประกอบกับชาวสวิสนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อไปพบศิลปะการตกแต่งอาคารบ้านเรือนและร้านอาหาร ตลอดจนสถานบริการด้านสุขภาพและความงาม สปา ในรูปแบบไทยๆ ทำให้เกิดความนิยมชมชอบในสินค้าตกแต่งบ้านแบบไทยอย่างยิ่ง รวมทั้งคนสวิส ส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างในการจัดสวนและตกแต่งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ประกอบกับคนสวิสมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง มีรายได้อยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงนิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาวสวิส (รวมทั้งชาวเยอรมัน) มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคนิยมเลือกและสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากเหตุผลของความสะดวกสบาย อีกทั้งประหยัดเวลาในการเดินทางและประกอบกับระบบ IT ในสวิตเซอร์แลนด์เอื้ออำนวยให้การทำธุรกรรมผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บริษัทของคุณ Simon รวมทั้งบริษัท partner ในสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ปรับปรุงช่องทางการขายสินค้าของตนผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตด้วยซึ่งผู้ซื้อชาวสวิสได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดีทั้งๆที่จะต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าก็ตาม

เมื่อได้สอบถามถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด คุณ Simon ให้ความเห็นว่า เนื่องจากภาวะค่าครองชีพของชาวสวิสที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทำให้ผู้บริโภคพิจารณาเลือกซื้อสินค้าราคาถูกกว่าจากประเทศจีนอินโดนีเซีย และเวียดนาม มากขึ้นด้วย

5. วิเคราะห์ จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค (S-W-O-T Analysis) ของสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านของไทย ในตลาดสวิตเซอร์แลนด์

ตารางที่ 2: จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค (S-W-O-T Analysis)
จุดแข็ง (Strengths)
  • Design ของสินค้า และคุณภาพสินค้าตรงตามรสนิยม และความต้องการของผู้ซื้อ
  • เอกลักษณ์ความเป็นไทยๆ ของสินค้า
จุดอ่อน (Weaknesses)
  • ค่าขนส่งสินค้า มีราคาสูง
  • ระยะเวลาที่ล่าช้าในการส่งมอบสินค้าจากผู้ส่งออกไทย บางครั้งทำให้สูญเสียโอกาสทางการตลาด
โอกาส (Opportunities)
  • ภาวะเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์มีแนวโน้มขยายตัว ในปี 2010-2011
  • ผู้บริโภคชาวสวิสมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อสูง
  • ผู้บริโภคคำนึงถึงคุณภาพสินค้าประโยชน์การใช้สอยมากกว่าราคาของสินค้า
  • ชาวสวิสนิยมใช้เวลาว่างในการจัดตกแต่งบ้านและสวน
  • ผู้ซื้อนิยมสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น
  • การนำ เสนอสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าทั้งในเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ทำให้ได้รับทราบสถานการณ์การตลาดในปัจจุบัน ทั้งของคู่ค้าและคู่แข่ง
อุปสรรค (Threats)
  • การแข่งขันด้านราคาจากสินค้าของประเทศคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ