เวียดนาม..บุก???..กัมพูชา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2010 15:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเวียดนามโดยเฉพาะการที่เวียดนามให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเพื่อปลดแอกการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งปกครองกัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 โดยทหารเวียดนามได้พลีชีพหลายหมื่นคน ดังจะเห็นได้วจากอนุสาวรีย์เพื่อรำรึกถึงวีรกรรมของทหารเวียดนามในเกือบทุกจังหวัดของประเทศกัมพูชา ต่อมาเวียดนามได้เข้าปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 13 ปี ก่อนที่กัมพูชาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์ จากรัฐกัมพูชา เป็น ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข

ความสัมพันธ์ ของกัมพูชากับเวียดนาม กำลังดีวันดีคืน และรู้สึกว่าคนกัมพูชาจะหันไปปันใจให้เวียดนามมากกว่าไทย ด้วยประวัติการต่อสู้ที่ยาวนานทำให้กัมพูชาและเวียดนามมีความร่วมมือกันภายใต้สนธิสัญญามิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์แบบพิเศษต่อกัน กล่าวคือรัฐบาลกัมพูชาจะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่เวียดนามในทุกๆด้านเป็นกรณีพิเศษ(ไม่ว่าแม้ว่าจะมีการอพยพของคนเวียดนามเข้ามาอาศัย แย่งอาชีพ และแย่งที่ดินทำกินของประชาชนกัมพูชา) ประกอบกับกรณีข้อพิพาทพรมแดนกับไทยในเรื่องดินแดนรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งรัดให้กัมพูชาทดแทน ความ สัมพันธ์ทุกทาง ด้วยการไปเพิ่มพูนสายสัมพันธ์อันเข้มแข็งที่มีอยู่กับเวียดนามให้แนบแน่นยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนทั้งสองประเทศให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

รัฐบาลเวียดนาม มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติสู่ความทันสมัย โดยวางเป้าหมายแผนการไว้อย่างชัดเจนว่าจะพัฒนาให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆด้านมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมไทยในทุกๆด้าน หรือต้องสามารถแซงไทยให้ได้ภายในปี พ.ศ.2567 ขณะที่กัมพูชา มีแผนยุทธศาสตร์ คือการที่ประชาชนไม่อดตาย ดังที่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์ของกัมพูชา คือ การส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ และเหลือสำหรับเก็บไว้ในอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารของกัมพูชา" ถือว่าภาคเกษตรมีความสำคัญในด้านการพัฒนาประเทศ

ด้านการค้า

กัมพูชาอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก โดยเฉพาะจากเวียดนามและไทย ขณะนี้สินค้าเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาเป็นอันดับสองรองจากไทย มีธุรกิจเวียดนามลงทุนในกัมพูชาทั้งในภาคการค้า การเงิน และการผลิต จำนวน 400 ราย

สินค้าหลักที่กัมพูชานำเข้าจากเวียดนามได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติก ยาสูบ ลูกกวาด เมล็ดข้าวโพด สินค้าใช้ในครัวเรือน และพืชผัก ขณะที่กัมพูชาส่งออกวัตถุดิบสำหรับสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ ไม้ และยางพารา

ปัจจุบันสินค้าเวียดนามได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าไทยและจีน และคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งเวียดนามใช้ยุทธศาสตร์การโฆษณาสินค้าของตน โดยเน้นคำว่า คุณภาพสูง

การคมนาคมที่ดีขึ้นและการเปิดด่านเพิ่มเป็น 9 ด่านในระยะ 1,000 กม. เพื่อให้สินค้าผ่านได้สะดวกประกอบกับการที่มีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างผู้นำของประเทศทั้งสองส่งผลให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น บรรยากาศการค้าเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างกัมพูชา-เวียดนาม มีมูลค่ารวม 1,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 1,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดร้อยละ 29.74 แยกเป็นการนำเข้าจากเวียดนามมูลค่า 892 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกไปเวียดนาม มูลค่า 157 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าตลอดปี 2552 การค้ารวมจะลดลงร้อยละ 20

ด้านการลงทุน

นับแต่ปี พ.ศ.2537 ถึงสิ้นเดือน มิถุนายน 2552 เมื่อรัฐบาลกัมพูชา เปิดรับการลงทุนจากทั่วโลก ให้สิทธิพิเศษหลายประการเพื่อส่งเสริมการลงทุน ทำให้มียอดเงินลงทุน 8,248.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมฯ จำนวน 1,706 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนของเวียดนาม 28 โครงการ เงินลงทุน 74.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นนักลงทุนอันดับ 10 ในกัมพูชา

ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) CIB อนุมัติการลงทุน 78 โครงการ เงินลงทุน 99.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนต่างชาติที่ไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่จีน 23 โครงการ เงินลงทุน 30.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ เวียดนาม 10 โครงการ เงินลงทุน 7.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกาหลีใต้ 8 โครงการ เงินลงทุน 5.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์ 6 โครงการ เงินลงทุน 5.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทย 5 โครงการ เงินลงทุน 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากพิจารณาจากจำนวนเงินลงทุนพบว่า นักลงทุนไทยลงทุนมากเป็นอันดับสองรองจากจีน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ลงทุนในกัมพูชาแบบก้าวกระโดด มูลค่าเงินลงทุนที่แท้จริง รวมแล้วประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่มีสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เวียดนามก็ยังคงโหมลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะการลงทุนที่เรียกว่า ล้นเกินความต้องการ หรือ ไม่มีนักลงทุนรายใดให้ความสนใจแล้ว เช่น การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธนาคาร การปิโตรเลียม สายการบิน บริษัทผลิตปุ๋ย บริษัทน้ำตาล บริษัทอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง เป็นต้น

การลงทุนของเวียดนามที่น่าสนใจได้แก่

1. ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

ระบบโทรศัพท์ในกัมพูชา มีผู้ให้บริการถึงสิ้นปี 2547 จำนวน 3 ราย จนถึงสิ้นปี เพิ่มเป็นจำนวน 9 ราย โดยโทรศัพท์บ้านไม่ได้รับความนิยม เท่ากับโทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือ หรืออาจกล่าวได้ว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือ มีจำนวนถึงร้อยละ 95 ทำให้กัมพูชาเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือ ก่อนและมากกว่าโทรศัพท์บ้าน คาดว่าถึงสิ้นปี 2552 จะมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ 4.4 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร 14 ล้านคน

กัมพูชามีผู้ใช้โทรศัพท์บ้านน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากพม่า ขณะที่ค่าบริการสูงที่สุดลำดับที่ 132 จาก 150 ประเทศทั่วโลก

ผู้ให้บริการ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในกัมพูชา ได้แก่

  • ธุรกิจสื่อสารโทรศัพท์บ้าน (Fixed Phone)
  • กระทรวง MPTC - ธุรกิจโทรศัพท์บ้าน (Land Line)
  • บริษัท CAMINTEL - ธุรกิจโทรศัพท์บ้าน (WLL & Land Line)
  • บริษัท CAMSHIN - ธุรกิจโทรศัพท์บ้าน (WLL)
  • ธุรกิจสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone)

(1) บริษัท MOBITEL - 012,017,089,092,077

(2) บริษัท CAMSHIN - 011,085,099

(3) บริษัท Telekom Malaysia International Cambodia หรือ TMIC (เดิมคือ Samart Telecom ของไทย) ให้บริการ Hello 015,016,081

(4) บริษัท Applifone จำกัดให้บริการ Star-cell 098 เริ่มให้บริการเมื่อตุลาคม 2007 โดยนักลงทุนจากคาซัสถานและเนปาล

(5) บริษัท CADCOMMS ให้บริการ QB (CUBE) 013 เทคโนโลยี 3 G สามารถดาวโหลดไฟล์สู่ระบบมือถือได้เร็ว 7 เท่าของเทคโนโลยีเก่า(internet และ VOIP)

(6) บริษัท EXCELL 018

(7) บริษัท Viettel 097

(8) บริษัท Smart Mobile 010,093 SMS ให้บริการโทรภายในและต่างเครือข่าย บริการ SMS โทรไปต่างประเทศผ่านระบบ Fresh Internet, GPRs Package

(9) บริษัท Beeline 090,068

บริษัท Viettel เป็นบริษัทของ Vietnamese military จากเวียดนาม เริ่มเข้าสู่ตลาดกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ใช้กลยุทธ์แจกซิมการ์ดฟรี ขายเครื่องโทรศัพท์พร้อมซิมการ์ดในราคาถูก รวมถึงการแจกซิมให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไปใช้ในจำนวนเงินที่กำหนด ทำให้มียอดผู้ใช้ซิมการ์ดที่แจกประมาณ 2.5 ล้านเลขหมาย ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 2 ของส่วนแบ่งการตลาดโดยจำนวน 2 ใน 3 ของเลขหมายดังกล่าวใช้เป็นประจำ และตั้งเป้าหมายที่จะพิชิตคู่แข่งเดิมที่อยู่ในตลาดนี้มานานกว่า 16 ปี โดยจะกระจายสถานีเครือข่ายไปสู่ร้อยละ 90-95 ของพื้นที่ โดยเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกที่ใช้เงินลงทุน 80 ล้านดอลลาร์ฯ

จากขนาดของประเทศและจำนวนประชากร 14 ล้านคน ผู้ให้บริการที่เหมาะสมควรเป็น 3-4 รายเท่านั้น จากจำนวนผู้ให้บริการมากดังที่เป็นอยู่ จึงทำให้การแข่งขันสูงมาก

2. ธุรกิจพลังงาน

โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ - ขนาด 400 เมกกะวัตต์ ตามโครงการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเซซานล่าง 2 ความสูงเขื่อน 75 เมตร ใน อ.เซซาน จ.สตึงแตรง เงินลงทุน 816 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัท Electricite du Vietnam ซึ่งตามแผนจะมีคนงานเวียดนามประมาณ 3 000 คน เข้ามาทำการก่อสร้าง ผลิตไฟฟ้าขายให้ประชาชนในจังหวัดสตรึงแตรง กระแจะ และ รัตนคีรี ที่เหลือส่งไปเวียดนาม ซึ่งโครงการนี้ต้องใช้พื้นที่ 30,000 เฮกตาร์ เพื่อเก็บน้ำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ 5,000 ครอบครัวได้รับผลกระทบ

กัมพูชาซื้อไฟฟ้าจากเวียดนาม 400,000 kw ต่อชั่วโมง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 จนปัจจุบันคิดเป็นการซื้อไฟร้อยละ 27 ของจำนวนไฟฟ้าที่นำเข้าเพื่อใช้ในเขตจังหวัดตาแก้ว สวายเรียงและพนมเปญ ขณะที่ซื้อจากไทย ร้อยละ 73 ของจำนวนไฟฟ้าที่นำเข้าเพื่อใช้ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนจัย พระตะบอง และเสียมเรียบ

3. ธุรกิจการเกษตร

3.1 ยางพารา-กัมพูชามีพื้นที่ปลูกยางพาราในจังหวัดกัมปงจามและในจังหวัดใกล้เคียง 65,880 เฮกตาร์ ผลผลิตปีละ 500,000 ตัน มีโรงงานแปรรูป 4 แห่ง กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือในการลงทุนปลูกยางพาราในประเทศกัมพูชาบนเนื้อที่ 1 แสนเฮกตาร์ (ประมาณ 625 000 ไร่) ให้แล้วเสร็จในปี 2558 ในปี 2552 ได้เพาะปลูก 1 หมื่นเฮกตาร์ ในเขตจังหวัดมณฑลคีรี รัตนคีรี กำปงธม กรอแจะ และพระวิหารคาดว่าในปี 2553 จะเพาะปลูก 2 หมื่นเฮกตาร์ และในปี 2554 จะเพาะปลูก 3 หมื่นเฮกตาร์ และจะเพาะปลูกเพิ่มเติมจนกว่าจะครบตามจำนวนที่ระบุในโครงการซึ่งคาดว่าภายในปี 2555 จะปลูกเสร็จเรียบร้อยก่อนกำหนด3 ปี ขณะที่ CIB ได้อนุมัติการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราของเวียดนาม จำนวน 10 โครงการ

3.2 ข้าว- องค์การ Cambodia Green Trade ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้รลงนามร่วมทุนกับฝ่ายเวียดนาม 2 บริษัท เพื่อร่วมค้าข้าวในกัมพูชาในนามบริษัท Cambodia Vietnam Foods Company (Cavifoods) ทุนจดทะเบียน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Cambodia Green Trade ถือหุ้นร้อยละ 30 ส่วนฝ่ายเวียดนาม คือบริษัท Vina food II ถือหุ้น ร้อยละ37 และบริษัท Investment Development Company of Cambodia (IDCC) ถือหุ้น ร้อยละ 33 โดย Cavifoods วางแผนใช้เงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อข้าวเปลือกจำนวน 200,000 ตันจากชาวนาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรป ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ข้าวที่ส่งออกจากกัมพูชา ซึ่งการลงทุนเรื่องข้าวนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการแซงหน้าไทยขึ้นไปเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกให้ได้ภายในปี 2563 นั่นเอง

ทั้งนี้ บริษัทวีนาฟู๊ดของเวียดนามจะดำเนินการก่อสร้างโกดังเก็บสต็อกข้าวเปลือกและลงทุนสำหรับรับซื้อข้าวในประเทศกัมพูชา จำนวน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีโครงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาประมาณ 30 - 40 ตัน ในปี 2553 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยขจัดปัญหาความยากจนในกัมพูชา

4. ธุรกิจสายการบิน

"กัมโบเดีย อังกอร์ แอร์"Cambodia Angkor Air เป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งผู้ลงทุนหลักคือสายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ ได้รับสิทธิร่วมเป็นเจ้าของสายการบินแห่งชาติของกัมพูชาเป็นเวลา 30 ปี ถือหุ้น 49% และ บริษัทร่วมทุนในกัมพูชา ถือหุ้น 51% เปรียบเสมือนสัญญาใจที่เวียดนามให้กับกัมพูชา หลังจากที่กัมพูชาว่างเว้นการมีสายการบินแห่งชาตินานถึง 8 ปี เมื่อที่สายการบินแห่งชาติ "รอยัล แอร์ กัมโบดจ์" ล้มละลายเพราะขาดทุนถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ และ เพื่อเป็นการปูทางแก่เวียดนามในการเข้าสู่เส้นทางการบินในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้อันประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม และอนาคตคือการยึดตลาดการบิน ด้วยขุมกำลังการซื้อเครื่องบินที่มากที่สุดในโลก

ปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลนส์มีเครื่องบินชนิดต่างๆ ใช้งานประมาณ 50 ลำ เป็นสายการบินอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์แอร์ไลนส์ การบินไทย และมาเลเซีย เปิดบิน 29 เส้นทางในประเทศกับ 36 เส้นทางระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะเป็นสายการบินอันดับสองของเอเชียในปี 2558 พร้อมเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ในฝูง 104 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 150 เครื่องในปี 2563

เวียดนามแอร์ไลนส์ ได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ไปแล้วจำนวน 39 ลำ เป็นโบอิ้ง787 -9 แอร์บัส A350-900 และ A321 และจะนำเครื่องบินแบบ ATR72-500 ลำละ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าแทนที่ ATR72-200 รุ่นเก่าทั้งหมดระหว่างกลางปี 2552 ถึงกลางปี 2553

5. การให้บริการทางการแพทย์เนื่องจากขาดแคลนเรื่องการรักษาพยาบาลที่ดีพอในประเทศทำให้คนกัมพูชาส่วนหนึ่งเมื่อมีการเจ็บป่วยต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ โดย เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันเช่นไทยและเวียดนามจะได้รับความนิยมที่สุด คนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางจะเดินทางไปเวียดนาม ส่วนคนที่ฐานะดีจะเดินทางไปไทย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และมาเลเซีย

6. การท่องเที่ยว ใน 7 เดือนแรกของปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากัมพูชา1,284,085 คน หรือเพิ่มร้อยละ 0.3 จากยอด 1,246,685 คน ของระยะเดียวกันในปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีลดลงร้อยละ 33 ขณะที่นักท่องเที่ยวเวียดนามเพิ่มร้อยละ 40 จาก 105,278 คน เป็น 147,721 คน เพราะมีการเปิดการเดินรถตรงจากเวียดนามสู่กัมพูชารวมถึงสู่จังหวัดเสียมเรียบ

การหาทางเพิ่มนักท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ 1 วีซ่า 3 ประเทศการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เกาะ Phu Quoc (เดิมเป็นของกัมพูชา) ปัจจุบันเป็นของเวียดนาม ฝ่ายกัมพูชา ได้สร้าง Tourist Port ที่จังหวัดกัมปอต มูลค่าลงทุน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่บรรทุกผู้โดยสารเที่ยวละ 220 คน ใช้เวลาเดินทาง 90 นาที

7. การธนาคารในปี 2552 มีการเปิดธนาคารของเวียดนามในกัมพูชา จำนวน 2 แห่ง คือ

(1) sacom bank จาก Hochiminh City

(2) The Bank fo r Investment and Development of Vietnam or BIDV จาก Hanoi

8. การพัฒนาระบบการขนส่ง มีการสร้างส้นทางขนส่งในกัมพูชาเพื่อเชื่อมต่อไปเวียดนามทางถนนและรถไฟ พอสรุปได้ดังนี้

8.1 การสร้างสะพานเปรกตาเมียะ ข้ามแม่น้ำโขง ยาว 1 066.5 เมตร กว้าง 13.50 เมตร ด้วยเงินกู้จำนวน 42 208 733 ดอลลาร์จากประเทศจีน และเงินสมทบของรัฐบาลอีก 2 221 512 ดอลลาร์ สร้างโดยบริษัทเซี่ยงไฮ้ คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป เจเนอรัล คอมพานี ตรวจสอบโดยบริษัทกวางสู วานัน คอนสตรัคชั่น ซูเปอร์วิชั่น จำกัด โดยสมเด็จเดโชฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า สะพานแห่งนี้จะกลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เชื่อมกับพรมแดนกัมพูชา-เวียดนาม

8.2 การขนส่งทางน้ำหลังจากที่มีการเปิดท่าเรือแห่งใหม่ในเวียดนามคือ Cai Mep deep water จังหวัด Ba Ria Vung Tau ทำให้มีคอนเทนเนอร์ส่งออกจากท่าเรือพนมเปญ เพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 22.7 ในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2552 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ขณะที่การส่งออกทางท่าเรือกัมปงโสม มี จำนวนตู้ลดลดร้อยละ 23 ในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2552 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 คือจากจำนวน 36,079 ตู้ เหลือเพียง 32,087 ตู้

8.3 การขนส่งทางรถไฟ เส้นทางรถไฟในประเทศกัมพูชา มีสองสาย รวมระยะทาง 650 กิโลเมตร เส้นทางสายเหนือ(กรุงพนมเปญถึงปอยเปต) ระยะทาง 386 ก.ม (ก่อสร้างโดยฝรั่งเศส ช่วงปี 2472-2485 และ มีการก่อสร้างต่อจากศรีโสภณถึงปอยเปตเพื่อเชื่อมกรุงพนมเปญกับกรุงเทพ ในปี 2485- 2504) เส้นทางสายใต้(กรุงพนมเปญไปถึง กรุงพระสีหนุวิลล์) ระยะทาง 166 กิโลเมตร (ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากฝรั่งเศส เยอรมัน และจีน ช่วงปี 2503-2512)

ในอดีตการขนส่งทางรถไฟได้รับความนิยมอย่างมาก มีการเดินรถทุกวัน แต่หลังจากเกิดสงคราม ระบบการขนส่งดังกล่าวได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันมีการเดินรถจากกรุงพนมเปญถึงจังหวัดพระตะบอง เพียงสัปดาห์ละ1 เที่ยว (ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง ขณะที่ถยนต์ใช้เวลา 4 ชั่วโมง)

รัฐบาลมีโครงการที่จะเพิ่มเส้นทางรถไฟในทุกภาคส่วนของประเทศ เช่น เส้นทางจากศรีโสภณ-เสียมเรียบ ระยะทาง 105 กิโลเมตร, เสียมเรียบ-สกุล ระยะทาง 239 กิโลเมตร สนวน-สตรึงเตรง ระยะทาง 273 กิโลเมตร และจากพนมเปญ ไปสวายเรียง ระยะทาง 240 กม. ไปเข้าชายแดนเวียดนามที่เมืองล๊อกนิง (Loc Ninh) จ.ห่าไต (Ha Tay) ปลายทางนครโฮจิมินห์

การพัฒนาเส้นทางรถไฟดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดความมั่นใจด้านการบริการ ยังทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพราะต้นทุนการขนส่งที่ลดลง เส้นทางสายเดิม รัฐบาลมีโครงการซ่อมแซมและสร้างเพิ่มเติม ทั้งสายเหนือและสายใต้ เช่น การสร้างเส้นทางใหม่เชื่อมระหว่างกัมพูชากับไทย ระยะทาง 48 กิโลเมตร และ การปรับปรุงสถานีรถไฟกรุงพนมเปญ รวมมูลค่าลงทุน 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ องค์กรผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลกัมพูชา 15.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรัฐบาลมาเลเซีย 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2554 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการรถไฟจากออสเตรเลีย (Snowy Mountains Engineering Corporation of Australia : SMEC) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคโดยทำการปรับปรุงสถานีรถไฟกรุงพนมเปญ การสร้างและซ่อมแซมสะพานในเส้นทางสายใต้ และสร้างสะพานเหล็กข้ามในเส้นทางสายเหนือ

โครงการที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ถึงนครคุณหมิง มณฑลยูนาน ประเทศจีน รวมระยะทาง 5 382 กิโลเมตร ในเส้นทางที่เรียกว่า "Singapore-Kunming Rail Link (SKRL)" ซึ่งเป็นความริเริ่มของรัฐบาลมาเลเซีย

.......................................

รวบรวม เรียบเรียง และ วิเคราะห์ ...

โดย จีรนันท์ วงษ์มงคล

ผู้อำนวยการ สคต.กรุงพนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ