พฤติกรรมผู้บริโภคอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 8, 2010 16:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในวันที่ 1 มกราคม 2553 FTA อาเซียน-อินเดียจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่สู่ตลาดพันล้านคนของอินเดียให้กับสินค้าจากไทยและอาเซียนเกือบ 5 พันรายการให้สามารถทะลักเข้าไปขายได้อย่างเสรี เรารู้จักตลาดอินเดียดีแค่ไหน และเรารู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคอินเดียดีเพียงใด นั่นเป็นคำถามที่เราจะมาหาคำตอบกันในวันนี้

การทำความรู้จักกับการค้าปลีกอินเดียเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นได้ถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนอินเดียได้เป็นอย่างดี การค้าปลีกอินเดียปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีสัดส่วน 10% ของ GDP และมีการจ้างงาน 8% ของการจ้างงานรวม ด้วยวิวัฒนาการของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กำลังซื้อที่สูงขึ้น ไลฟไสตล์ที่เปลี่ยนไป และโครงสร้างประชากรที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ช่วยส่งผลให้การค้าปลีกมีการเติบโตถึง 10% ต่อปี ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ก็มีการเติบโตรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในปี 2550 ธุรกิจค้าปลีกอินเดียมีมูลค่า 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนนี้เป็นธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันคนอินเดียมีรายได้ที่ใช้จ่ายได้ (Disposable income)ที่ช่วยให้คนอินเดียสามารถฟุ่มเฟือยได้มากขึ้นก็มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลาง การเติบโตของสังคมเมือง รวมทั้งกำลังซื้อในเขตชนบทที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยเพิ่มเชื้อไฟความร้อนแรงของธุรกิจค้าปลีกอินเดียให้คึกคักเป็นพิเศษ

เป็นที่คาดการณ์ว่าธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่อินเดียจะเติบโตทะลุหลัก 3 หมื่นล้านในปี 2553 อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุน เช่น สังคมอินเดียเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ผู้หญิงอินเดียเป็นผู้หญิงทำงานกันมากขึ้น ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน เวลาน้อยลง การไปเดินห้างสะดวกกว่าสอดคล้องกับไลฟไสตล์ใหม่ๆ และมีสินค้าหลากหลายมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทุกวันนี้เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ ผุดขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วอินเดียอย่างรวดเร็ว จากจำนวน 300 แห่งในปี 2550 เป็น 600 แห่งในปี 2553 นั้นหมายถึงมีการขยายตัวถึงเท่าตัวภายใน 3 ปี

1. ขายอะไรดีในอินเดีย?

ความหลากหลายของประเภทสินค้าในร้านและห้างค้าปลีกอินเดียยังมีไม่มาก ถ้าคุณไปห้างในเมืองไทย โอกาสที่เงินคุณจะหมดกระเป๋าเป็นไปได้สูง เพราะมีสินค้าแปลกใหม่น่าสนใจมากมายให้เลือกซื้อเสมอ แต่สำหรับห้างในอินเดีย โอกาสที่เงินในกระเป๋าคุณจะพร่องไปเพียง ? มีความเป็นไปได้มาก กล่าวง่ายๆ ก็คือเดินห้างเมืองไทยสนุกกว่ามาก คนอินเดียยังเน้นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นอันดับหนึ่งอยู่ ขณะที่คนอินเดียเป็นมังสะวิรัติราว 50% ซึ่งแน่นอนว่าราคาผักผลไม้ถูกกว่าเนื้อสัตว์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในธุรกิจซ๊อฟแวร์มีเงินเป็นกอบเป็นกำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว(ส่วนใหญ่อยู่กันในเมืองที่มีซ๊อฟแวร์พาร์คกระจุกตัวอยู่มาก เช่น เชนไน มุมไบ บังกะลอร์ ไฮเดอราบัด) ซึ่งกลุ่มนี้ เพิ่งแต่งงาน อยู่ในวัยที่ยังสนุกกับชีวิต ชอบลองสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ และท้าทาย กำลังกินกำลังใช้ เพิ่งมีลูก มีเรื่องที่ต้องจับจ่ายใช้สอยอยู่เสมอ จึงเป็นกลุ่มที่เป็นที่จับตามองของนักการตลาดเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยซึ่งมีความหลากหลายกว่าของอินเดียจะสามารถเข้าไปทำตลาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สัดส่วนของการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันจึงมีสัดส่วนที่สูงราว 70% ของสินค้าที่มีจำหน่ายกันโดยมีมูลค่าตลาดราว 1.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

1.1 อาหารและของชำ

อาหารและของชำเป็นสินค้ากลุ่มที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 54% โดย ห้างสรรพสินค้ายุคใหม่ที่เน้นอาหารและของชำมีมูลค่าตลาดเพียง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ทั้งนี้อินเดียเป็นผู้ผลิตนมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่เป็นผู้ผลิตผักและผลไม้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้หลายราย ไม่ว่าจะเป็น Reliance Fresh หรือ More ด้วยการเปิดร้านสะดวกซื้อแบบเครือข่ายสำหรับสินค้าผักและผลไม้โดยเฉพาะ โดยเป็นตลาดที่เล่นไม่ยากและกำไรแน่นอนเพราะคนอินเดียส่วนใหญ่เป็นมังสะวิรัติ อาหารและของชำเป็นตลาดที่เติบโตสูงถึง 35% ต่อปี ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยสำหรับครัวโลกอย่างประเทศไทย

1.2 เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

แขกขายผ้าเป็นสิ่งที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดีในบ้านเรา สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่อังกฤษยกโรงงานไปตั้งในอินเดีย มูลค่าธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่มอินเดียมีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จจรูปชาย หญิงและเด็ก โดยมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 7.92 , 6.6 และ 4.63 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

การแทรกเข้าสู่ตลาดของห้างค้าปลีกยุคใหม่ประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทำได้ดีในเขตเมืองสำคัญๆ รวมทั้งเมืองอื่นๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งการพัฒนา กลุ่มผู้บริโภคสำคัญเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความแปลกใหม่ ให้ความสำคัญกับแบรนด์ดัง และมีการโฆษณาบ่อย รวมทั้งมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย ณ จุดขายสม่ำเสมอ ทั้งในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ไฮเปอร์มาร์ต ร้านเครือข่าย และร้านค้าปลีกแบบครอบครัว แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกอินเดียจะยังไม่เปิดเสรีให้ต่างชาติ แต่ก็เปิดโอกาสทำธุรกิจค้าปลีกประเภทแบรด์เดี่ยวให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% จึงสามารถพบเห็นร้านเครือข่ายสินค้าแบรนด์ดังอยู่ทั่วไป เช่น Arrow, Reebok และ Nike

1.3 สินค้าคงทน

สินค้าคงทนเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานนานพอสมควร ได้แก่ รถยนต์ โทรทัศน์ เครื่องเรือน เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ แลพคอมพิวเตอร์ เป็นต้น มีมูลค่าตลาด 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ ห้างค้าปลีกยุคใหม่มีมูลค่า 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม 93.7% หรือมีมูลค่าการตลาด 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดรถยนต์มีซูซูกิ และฮุนได เป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมีสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลีแข่งกันเพียงสองประเทศในตลาดอินเดีย ตลาดโทรศัพท์มือถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก ถึง 80% ต่อปีโดยมีมูลค่าตลาด 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับคอมพิวเตอร์ แลปทอป เครื่องเล่นเกมส์ กล้อง และอุปกรณ์มือถือต่างๆ ก็มีการเติบโตสูงถึง 50% ต่อปี ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าคงทนต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นสำคัญ ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่จึงสามารถแทรกตลาดได้เป็นอย่างดีในเขตเมืองและชนบน ส่งผลให้มีการขยายตัวของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ในครัวเรือนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น กำลังซื้อที่สูงขึ้นและธนาคารปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้นสำหรับสินค้าคงทนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตสำหรับสินในกลุ่มนี้

พฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนอินเดียในรอบปีที่ผ่านมา
           สถานที่ช้อปปิ้ง                                                                  %
ซุปเปอร์มาร์เก็ตสะดวกซื้อแบบเครือข่าย/ซูปเปอร์ขนาดใหญ่ที่ขายของชำและของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน          20
ห้างดีพาร์ทเมนต์สโตร์ที่มีจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน และสินค้าคงทน               18
ร้าน/ห้างที่จำหน่ายเฉพาะแบรนด์ดัง สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า และสินค้าคงทน                     15
ร้านขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าหลักเป็น หนังสือ ซีดีเพลง หนัง เครื่องเขียน ของขวัญ                            11
ไฮเปอร์มาร์ต                                                                             16
ร้านขายอาหาร ยาและสินค้าเพื่อสุขภาพในลักษณะบริการตนเอง                                         20

1.4 อื่นๆ

ประกอบด้วยอัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน หนังสือ และ ซีดีเพลงก็มีการเติบโตในอัตราที่สูงโดยได้รับอานิสงค์โดยตรงจากการเติบโตของห้างค้าปลีกยุคใหม่ โดยรวมแล้วสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าตลาด 83.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากการจับจ่ายผ่านช่องทางปกติแล้ว ผู้บริโภคยังนิยมซื้อหาสินค้ากลุ่มนี้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ปัจจุบันมีบริษัท Rock worth ของไทยเข้าไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่เมืองเจนไนแล้ว

2. ทำความรู้จักกับธุรกิจค้าปลีกอินเดีย

ผลจากการวิจัยของบริษัท Knowledge Company เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของคนอินเดียพบว่า แม้ว่าคนอินเดียจะยังคงชอบซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมอยู่มาก แต่ความนิยมในการจับจ่ายสินค้าในห้างค้าปลีกยุคใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ความนิยมในห้างที่มีสินค้าหลากหลายก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของประเภทสินค้าก็ยังมีไม่มากเหมือนในประเทศไทย มักจะเน้นสินค้า 1-2 อย่าง เช่น เน้นเสื้อผ้า และอาหาร 70% ของพื้นที่ห้าง ส่วนที่เหลือก็เป็นสินค้าอื่นๆ แซมบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงภาคอุตสาหกรรมยังโตไม่ทันการเติบโตของห้างสรรพสินค้ายุคใหม่ ห้างส่วนใหญ่จึงต้องแก้ปัญหาด้วยนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จากจีน และประเทศไทย เหมือนห้างเซ็นทรัลเมื่อ 30 ปีก่อนที่เน้นสินค้านำเข้าเพื่อจูงใจคนไปเดินห้าง จุดนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่ยังมีคู่แข่งท้องถิ่นไม่มากในตลาดอินเดีย

ธุรกิจค้าปลีกของอินเดียส่วนใหญ่ยังเป็นแบบดังเดิมและเป็นธุรกิจในครอบครัวที่พนักงานเป็นคนในครอบครัวหรือญาติๆ มีจำนวนถึง 12 ล้านแห่งทั่วประเทศ การบริหารจึงดูวุ่นวายสับสนอยู่สักหน่อยเพราะใช้การตัดสินใจของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจ

ซ็อฟแวร์และคอลเซนเตอร์ ทำให้คนอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้น ประกอบกับคนรุ่นใหม่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศ เช่นประเทศไทย และดูไบ ซึ่งมีห้างหรูให้จับจ่ายอย่างเพลิดเพลิน ขณะที่สินค้าอินเดียมีความหลากหลายน้อย จำเจ ไม่มีความแปลกใหม่ คนอินเดียจึงเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมการเดินห้างจากต่างประเทศมากขึ้น โดยห้างยุคใหม่มีส่วนแบ่งตลาด 5% ในปัจจุบัน ทั้งนี้คาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่จะขยายตัวจาก 5%เป็น 30% ของตลาดธุรกิจค้าปลีก โอกาสจึงมีสูงสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปร่วมทุนในการทำธุรกิจประเภทนี้ ปัจจุบันห้าง Indi Shopee กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับห้าง Central ของไทยในการร่วมทุน เพื่อเปิดห้าง Indi Central ในอินเดีย(บริษัทอินเดียได้จดทะเบียนชื่อ Central และดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งหากสำเร็จก็จะเป็นช่องทางกระจายสินค้าสำคัญที่สำหรับสินค้าไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าห้างควรเน้นสินค้าตัวไหน คำตอบก็คือจะต้องดูรายสาขากันไป เช่น ห้างยุคใหม่ที่เน้นสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีค่อนข้างดาษดื่น โดยมีสัดส่วนการแทรกตลาด (penetration level)สูงถึง 15% ในขณะที่ห้างยุคใหม่ที่เน้นสินค้าคงทนมีสัดส่วนการแทรกตลาดเพียง 5% เพราะผู้ซื้อยังนิยมซื้อจากร้านค้าใกล้บ้านมากกว่า นั่นก็หมายความว่าหากคุณจะส่งสินค้าคงทนไปขายคงต้องพึ่งพาร้านห้องแถวเป็นหลักไปพลางๆ ก่อน แต่อาหารและของชำมีสัดส่วนการแทรกตลาดเพียง 1% นั่นก็หมายความว่า สินค้าอาหารและของชำต้องพึ่งพาร้านโชห่วยเป็นหลักในการกระจายสินค้า หรือร้านค้าปลีกชนิดเครื่อข่ายอย่างร้าน Reliance fresh และ More ซึ่งปัจจุบันผลไม้ไทย เช่น ลำใย มะขามและแก้วมังกร ก็มีให้เห็นใน ร้าน Reliance fresh และ More และเป็นที่นิยมของคนอินเดียเป็นอย่างมาก เนื่องจากอินเดียไม่มีมะขามหวาน ส่วนลำใยและแก้วมังกรอินเดียไม่มี จึงไม่มีคู่แข่ง

ห้างค้าปลีกยุคใหม่ประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดของตลาดอินเดีย ดังที่กล่าวมาแล้ว คนอินเดียยังมีค่านิยมประหยัดอย่างเหนียวแน่น จะใช้ของที่จำเป็นพวกปัจจัย 4 ก่อนสิ่งอื่นๆ เราจะพบเห็นห้างขายเสื้อผ้าใหญ่โตจำนวนมากกว่าห้างประเภทอื่นๆ ห้างดังๆ ก็อย่างเช่น Fab India, Westsite, pantaloon และ Chennai Silk ต่างก็ขายเสื้อผ้าล้วนๆ และก็รวยกันเป็นเศรษฐี รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารและของชำ รองเท้า และสินค้าคงทนตามลำดับ

3. มหัศจรรย์แห่งเศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโต 9% ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่ปี 2551 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวแบบติดลบ แต่อินเดียก็ยังเติบโตที่ 7% เป็นผลให้คนอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้นและธุรกิจค้าปลีกที่ขยายตัวตามมา ตัวแปรที่สำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกมีดังต่อไปนี้

3.1 โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป

มากกว่า 50% ของคนอินเดียเป็นคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี (ประมาณ 550 ล้านคน) เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก อันเนื่องมากจากปริมาณที่มากจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของครัวเรือนสูง คนรุ่นใหม่นิยมทำงานกับบริษัทซ้อฟแวร์และคอลเซนเตอร์ที่มีรายได้ดีและร่ำรวยได้ในเวลาที่รวดเร็ว นอกจากนั้นสังคมอินเดียยังมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น โดยจะเพิ่มจากระดับ 28% ในปัจจุบันเป็น 40% ของประชากรภายในปี2563 (ค.ศ. 2020)

3.2 การเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ธนาคารมีการให้สินเชื่อง่ายขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้นของคนรุ่นใหม่ งานที่มั่นคงและรายได้ดีในบริษัทต่างชาติหาได้ง่ายกว่าคนรุ่นพ่อ-แม่ทำให้ธนาคารเต็มใจปล่อยสินเชื่อมากกว่าเดิม แม้ว่าปัจจุบันการถือครองบัตรเครดิตจะอยู่ที่ระดับเพียง 15 ใบต่อประชากร 1,000 คน แต่ความถี่ของการรูดบัตรก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูง ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มีแนวโน้มที่จะออกบัตรเครดิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการทำธุรกรรมของห้างค้าปลีกผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นตามไปด้วย

3.3 การเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนของคนชั้นกลางค่อนข้างรวย(upper middle class)และคนชั้นกลาง (middle class)ได้ขยายตัวถึง 158.6%และ 62% ตามลำดับซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลุ่มที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกอย่างสำคัญเป็นกลุ่มล่าง 80% ของคนชั้นกลางค่อนข้างรวยรวมกับกลุ่มบน 50%ของคนชั้นกลาง ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่าเศรษฐีใหม่

3.4 เมืองที่มีการศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก

ผลจากการวิจัยของบริษัท Ernst & Young เกี่ยวกับเมืองที่มีศักยภาพสูงในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านระดับความมั่งคั่ง (Affluence levels)ขนาดของประชากรที่มีรายได้สูงกว่า 3 แสนรูปีต่อปี และขนาดของตลาดใน 5 ปีข้างหน้า พบว่าเมืองที่มีความน่าสนใจ 10 เมืองตามลำดับมากไปหาน้อย ได้แก่ กรุงนิวเดลี มุมไบ บังกะลอร์ ไฮเดอราบัด ปูเน่ จันดิการ์ ตีรูวานานธาปูรัม เชนไน ไจปูร์ และโบปาล

จำนวนธุรกิจค้าปลีกในเมืองต่างๆ ของอินเดีย ในปี 2009

   เมือง                จำนวนร้านค้าปลีก       ประชากร (หน่วย: ล้านคน)       จำนวนห้างสรรพสินค้ายุคใหม่
กรุงนิวดลี                    40,000                  15.3                         32
มุมไบ                      151,184                  20.3                         28
บังกะลอร์                   43,199                    6.6                          9
ไฮเดอราบัด                 29,504                    5.7                         15
ปูเน่                       34,742                    5.1                          9
จันดิการห์                    5,500                    1.1                          5
ตีรูวานานธาปูรัม               4,769                    1.1                          3
เชนไน                     30,000                    6.9                          4
ไจปูร์                       5,000                    3.4                          7
โบปาล                      6,642                    2.8                          2
โกลกัตตา                   42,185                   13.8                          9
จัมเชสปู                     7,776                    1.2                          0
ปัตนะ                      14,548                    2.3                          0
อาเมดาบัด                  30,636                    4.8                          5
โคชิน                       7,600                    1.5                          1
วิจายาวาดา                  6,010                    1.3                          0
นาคปูร์                     13,227                    2.5                          4
ไวแซก                      7,253                    1.6                          1
สุรัต                       17,318                    4.0                          2
คอมบาตอร์                  14,823                    1.7                          2
นาซิก                       9,076                    2.3                          3
วาโดดารา                   7,123                    1.8                          1
ไอโดรี                      7,956                    2.0                          1
มาดูไร                      5,035                    1.5                          3
ลักเนา                      8,500                    2.6                          5
ลูเธียนา                     5,000                    1.5                          2
กานปูร์                      8,000                    2.7                          2
อัมฤตสาร์                    3,500                    1.9                          2

3.5  พฤติกรรมการบริโภคของ 20 เมืองดาวเด่น

สภาวิจัยเศรษฐกิจของอินเดีย (NCAER) เมื่อเร็วๆ ได้รายงานถึงพฤติกรรมการบริโภคของเมืองดาวเด่น 20 เมืองโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มหานคร (megacity) นครใหญ่ (Boomtown) และเมืองดาวรุ่ง (Niche City)

กลุ่มเมือง                ลักษณะตลาด                          ชื่อเมือง
มหานคร          Consumer market เติบโตสูง             มุมไบ นิวเดลี โกลกัตตา เชนไน บังกาลอร์ ไฮเดอราบัด อาห์เมดาบัด ปูเน่
นครใหญ่          Consumer market เติบโตรวดเร็ว         สุรัต กันปูระ ไชยปุระ ลักเนา นาคปุระ โบปาล คอย์มบาตอร์
เมืองดาวรุ่ง       การเติบโตของConsumer market
                รองจากกลุ่มนครใหญ่ไม่มาก                ฟาริดาบัด อมฤตษา ลุธิอานา จันทิการห์ จาลันธาร์

ทั้งสามกลุ่มมีความคล้ายกันในแง่ของการใช้จ่ายในด้านอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบโดยที่มีสัดส่วนประมาณ 1/3 ของการใช้จ่ายทั้งหมด แต่เมื่อดูในด้านสุขอนามัย จะเห็นได้ว่าเมืองดาวรุ่งมีสัดส่วนสูงสุดเนื่องจากการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมีน้อยกว่ามหานครและนครใหญ่ สำหรับนครใหญ่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางสูงเนื่อมาจากโครงสร้างพื้นฐานเติบโตไม่ทันกับการเติบโตของเมืองจึงทำให้มีต้นทุนการเดินทางสูง

โครงสร้างการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของคนชั้นกลางในเมืองต่างๆ

% ของครัวเรือนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน               มหานคร    นครใหญ่      เมืองดาวรุ่ง
รถยนต์                                      57.48      43.45        46.79
จักรยานยนต์                                  47.08      60.85        43.66
โทรศัพท์มือถือ                                 76.81      79.05        76.23
โทรทัศน์                                     90.46      87.42        85.78
เครื่องเล่น DVD                               63.13      63.19        59.16
คอมพิวเตอร์                                  16.76      20.12         16.8
ตู้เย็น                                        90.2      89.52        91.34
เครื่องซักผ้า                                  65.98      55.28        62.03
เตาอบไมโครเวฟ                              13.68      14.12         14.3
เครื่องปรับอากาศ                               9.95      14.19          9.8

เป็นที่น่าสังเกตว่าคนชั้นกลางให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของโทรทัศน์ เครื่องเล่น DVD และตู้เย็นอยู่ในเกณฑ์ที่สูง แต่สำหรับเครื่องปรับอากาศมีการซื้อหาเป็นเจ้าของกันน้อย เนื่องจากคนส่วนใหญ่สู้ค่าไฟไม่ไหว และกอบกับไฟฟ้าดับบ่อยจึงไม่สะดวกต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ

4. บุกตลาดตอนไหนดี

ช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์เป็นช่วงเทศกาลแต่งงานของคนอินเดียซึ่งโดยปกติคนอินเดียทุ่มไม่อั้นและเฉลิมฉลองกันมโหฬาร นอกจากนั้นช่วงเดือนตุลาคม-มกราคมและมีนาคม-พฤษภาคมเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ มากมาย เช่น เทศการดิวาลีในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นวันปีใหม่ของอินเดีย เทศกาลพระพิฆเณศวรต้นเดือนสิงหาคม (เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ไม่แพ้ดิวาลี) เทศกาลปงกอลในเดือนมกราคม หรือวันปีใหม่ของชาวอินเดียใต้ รวมทั้งเทศกาลเฉลิมฉลองเทพเจ้าต่างๆ ที่มีมากมายนับหมื่นองค์ ในเทศกาลเหล่านี้คนอินเดียมักมีการซื้ออาหาร เสื้อผ้า ของใช้ในครัวเรือน ของขวัญ ฯลฯ กันมากกว่าช่วงอื่นๆ

5. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
  • ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ของอินเดียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ขณะที่ผู้ประกอบการค้าสรรพสินค้าไทยมีประสบการณ์การการบริหารสูง โอกาสการเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจห้างสรรพสินค้าให้ประสบความสำเร็จมีความเป็นไปได้มาก
  • ควรเน้นการเจาะตลาดสินค้าอาหารเนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดถึง 54 % ของตลาดอินเดีย โดยจะต้องปรับปรุงสูตรอาหารให้สอดคล้องให้พฤติกรรมการบริโภคของคนอินเดีย เช่น แกงสำเร็จรูปของไทยเป็นที่นิยมในอินเดียเป็นอย่างสูงแต่ควรให้มีความข้นมากขึ้น เนื่องจากคนอินเดียกินแกงกับโรตีจึงต้องทำแกงให้เหมาะกับการกินพร้อมโรตี เป็นต้น
  • สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปทำตลาดค่อนข้างยาก เนื่องจากคนอินเดียนิยมของสดมากกว่า เช่น ไก่ที่เชือดสดๆ ไก่แช่แข็ง หรือไก่กระป๋องมีความนิยมน้อยมาก แถมราคาก็แพงกว่ามาก
  • ไทยมีความเข้มแข็งในธุรกิจอาหารเจ มีศักยภาพสูงที่จะเจาะตลาดมังสะวิรัติของอินเดียที่มีขนาด 50% ของประชากร ควรแนะนำสินค้าไทยที่แปลกใหม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแถมได้บุญเข้าสู่ตลาด เช่น โปรตีนเกษตร นมถั่วเหลือง (แบรด์อินเดียมีและอร่อยสู้ของไทยไม่ได้) น้ำนมข้าวยาคู (อาหารเพื่อสุขภาพ เด็ก คนไข้ คนใช้สมอง) เต้าหู้ สาหร่ายเกลียวทอง แกงสำเร็จรูปแบบมังสะวิรัติ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเป็นครัวโลกของไทย
  • ควรสร้างกระแสกินเจแบบไทย(ที่อร่อยกว่าเจอินเดีย) ในเทศกาลสำคัญของอินเดีย เช่น ดิวาลี เทศกาลพระพิฆเณศวรเพื่อเปิดโอกาสให้อาหารเจไทยทะลักเข้าไปตลาดมังสะวิรัติใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศอินเดีย
  • สินค้าในอินเดียยังมีความหลากหลายน้อย ขณะที่ผู้บริโภคมีลักษณะ individualism มากขึ้น จุดนี้เป็นโอกาสที่สินค้าไทยสามารถตอบสนองได้ดีกว่า เนื่องจากมีความหลากหลายให้เลือกมากกว่า ในราคาที่ไม่แพง จึงควรเน้นจุดแข็งนี้ในการเจาะตลาด
  • ควรเน้นการเจาะตลาดใน 20 เมืองดาวเด่น โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐีใหม่ในเมืองดังกล่าวที่มีกำลังซื้อสูง

โดย ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

ผอ. สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ